การวิ่งเป็นกีฬาที่เข้าถึงง่ายที่สุดในโลก การวิ่งไม่ต้องการอุปกรณ์ที่พิเศษหรือสิ่งของราคาแพงในการเริ่มที่จะออกไปวิ่ง แต่มีสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม นั้นก็คือ “รองเท้าวิ่งที่ดีสักคู่หนึ่ง” ท่านเคยรู้สึกไหมว่ารองเท้าบางคู่พื้นแข็งจนใส่วิ่งได้แค่ในระยะสั้น ๆ ส่วนอีกคู่พื้นนุ่ม แต่ทำความเร็วได้ยาก หรือ จะต้องซ้อมตามแผน 10k, 21k, 42k ที่มีการฝึก Easy days, Long run, Interval และ Tempo เราจะต้องใส่รองเท้าวิ่งประเภทไหนถึงจะเหมาะกับแต่ละการฝึก แล้วรองเท้ามันมีกี่ประเภท แล้ววัตถุประสงค์ของรองเท้าแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยกัน นักวิ่งทั้งหลายจะหยิบไปใช้ได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของรองเท้าแต่ละประเภท
แต่ก่อนที่เราจะไปรู้จักรองเท้าทั้ง 5 ประเภทแบบละเอียด เราจะพาทุกท่านไปดูภาพรวมของรองเท้าในท้องตลาดก่อน ซึ่งเป็นการแบ่งตามหลักสากลที่นิยมของนักวิ่งทั้งไทยและในต่างประเทศ โดยจะแบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก
- รองเท้าทางเรียบ หรือ Road running shoes
- รองเท้าเทรล หรือ Trail running shoes
- รองเท้าตะปู หรือ Spikes
โดยแต่ละประเภท จะถูกแบ่งย่อยไปอีก เช่น รองเท้าทางเรียบ จะแบ่งเป็น 3 คลาสหลัก คือ
- Daily Trainers (รองเท้าวิ่งใส่ซ้อมทุกวัน)
- Lightweight Trainers (รองเท้าวิ่งตัวซ้อมทำความเร็ว)
- Competition shoes หรือ Race day (รองเท้าวิ่งตัวแข่ง)
ซึ่งแต่ละคลาสจะแบ่งไปอีก 2 สายย่อย คือ
- สำหรับคนเท้าปกติ (NEUTRAL & UNDERPRONATOR)
- สำหรับคนเท้าแบน (NEUTRAL & OVERPRONATOR)

ต่อจากนี้คือ รายละเอียดของ 5 ประเภทรองเท้าที่นักวิ่งควรรู้
1. Daily Trainers (รองเท้าใส่ซ้อมทุกวัน)

คือ รองเท้าที่นักวิ่งใช้ในการวิ่งและซ้อมมากที่สุด เอนกประสงค์ เหมาะสำหรับการวิ่งที่ไม่หนักมาก หรือ วิ่งไกล (Long run) ในความเร็วเพซที่ไม่สูงมาก เช่น เพซ 6-8 นาที/กม. หรือ Aerobic pace ซึ่งขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของนักวิ่งแต่ละท่าน
โดยปกติรองเท้าประเภทนี้จะมีความนุ่มปานกลางไปจนถึงนุ่มมาก (Cushioning) และมีความทนทานที่สูง เพราะออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานเป็นประจำทุกวัน จึงทำให้มีน้ำหนักที่มากตามไปด้วย โดยน้ำหนักเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณข้างละ 280 กรัม ขึ้นไป
ตัวอย่างรองเท้าวิ่งประเภท Daily Trainers เช่น New balance 1080 v10, Nike Pegasus 36, Nike Epic React, Nike Infinity React Run, Adidas Ultraboost 20, Asics Gel-Nimbus 22
2. Lightweight Trainers (รองเท้าวิ่งตัวซ้อม)

คือ รองเท้าวิ่งน้ำหนักเบาและมีความนุ่มที่ไม่มากนัก เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการใช้ซ้อมทำความเร็ว เช่น การซ้อม interval, tempo, หรือ farleks โดยเฉลี่ยรองเท้าวิ่งประเภทนี้ มีน้ำหนักอยู่ที่ข้างละประมาณ 200 – 270 กรัม
นักวิ่งบางท่านอาจจะชอบใส่รองเท้าประเภท Lightweight Trainers ในวันแข่งแทนที่ Racing flats เนื่องจากรองเท้าประเภทนี้มีความนุ่ม (Cushioning) ที่มากกว่า แต่หากคุณไม่เคยวิ่งด้วยรองเท้าประเภทนี้มาก่อน หรือ ใส่แต่รองเท้าที่มีความหนาและนุ่มของพื้นรองเท้ามาโดยตลอด เราแนะนำว่าให้เริ่มจากการเดินหรือวิ่งจ๊อกกิ้งเบาๆ ให้เท้าเริ่มสร้างความแข็งแรงก่อน จากนั้นค่อยๆ เพิ่มระยะทางในการวิ่งแต่ละอาทิตย์ขึ้นไป
ตัวอย่างรองเท้าวิ่งประเภท Lightweight Trainers เช่น Adidas Adizero Boston 8, Adidas Adizero Tempo 9, New Balance Fresh Foam Tempo, New Balance FuelCell Rebel, HOKA ONE ONE Rincon
3. Competition shoes หรือ Race day shoes (รองเท้าวิ่งตัวแข่ง)

ตามชื่อของประเภทรองเท้านี้ ถ้าจะลงแข่ง ก็ต้องมีรองเท้าวิ่งสำหรับวันแข่ง โดยรองเท้าประเภทนี้ในสมัยก่อนมีลักษณะคล้ายกับรองเท้า Spikes ที่มีพื้นไว้สำหรับรองรับแรงกระแทกบนพื้นถนน แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีรองเท้าพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว จึงทำให้รองเท้าวันแข่ง มีลักษณะที่มีพื้นสูงและมีแผ่นคาร์บอนข้างในโดยน้ำหนักเฉลี่ยของรองเท้าประเภทนี้จะอยู่ข้างละประมาณ 150 – 230 กรัม
รองเท้าประเภทนี้อาจจะแตกต่างกันในด้านของระบบรับแรงกระแทกของพื้น (Cushioning) โดยจะมีตั้งแต่
- รองเท้าแข่งพื้นบางที่เหมาะสำหรับการวิ่งระยะสั้น เช่น 5 – 10 กม. บางครั้งถูกเรียกว่า Racing flats
- รองเท้าแข่งที่มีพื้นที่หนาและนุ่มกว่าที่เหมาะสำหรับ ระยะทางไกล เช่น 21 – 42 กม
รองเท้าวิ่งประเภท Competition ควรถูกนำมาใส่ฝึกซ้อมเพื่อให้นักวิ่งคุ้นเคยกับรองเท้าในวันแข่ง แต่อย่างไรก็ตาม รองเท้าประเภทนี้ส่วนใหญ่จะถูกเก็บไว้ในชั้นวางรองเท้า เพราะมันไม่ได้มีความทนทานที่จะใส่ซ้อมในทุก ๆ วัน
นอกจากนี้เนื่องจากรองเท้าแข่งที่เป็น Racing flats จะมีที่พื้นบางและแข็งมาก จึงอาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บจากการวิ่งได้แทนที่จะเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
ตัวอย่างรองเท้าวิ่งประเภท Competition
- พื้นบาง (เหมาะกับวิ่งระยะสั้น 5 – 10 กม.) – Asics Tartheredge, Asics Tartherzeal 6, Adidas Takumi Sen 6, Nike Zoom Streak 7, Adidas Adizero Adios 5
- พื้นหนา (เหมาะกับวิ่งระยะไกล 21 – 42 กม.) – Nike Air Zoom Alphafly NEXT%, Saucony Endorphin Pro, Asics Meta Racer, Adidas Adizero Pro, Brook Hyperion Elite, Skechers Speed Elite Hyper
4. Spikes (รองเท้าตะปู)

รองเท้า Spikes คือ รองเท้าวิ่งที่เบาที่สุดโดยส่วนใหญ่ จะหนักข้างละไม่เกิน 150 กรัม และตามชื่อของมัน “รองเท้าตะปู” ใต้พื้นรองเท้าจะมีเหล็กแหลมเล็ก ๆ ติดตั้งไว้บริเวณหน้าเท้าที่เป็นแผ่นพลาสติกแข็งเพื่อทำให้เกาะพื้นได้ดีที่สุดและเหมาะสำหรับการทำความเร็วในระยะสั้นๆ
รองเท้า Spikes มักจะเป็นรองเท้าที่มีความแข็งของพื้นมากที่สุดในบรรดารองเท้าวิ่งประเภทอื่น เพราะพื้นเป็นเพียงแผ่นพลาสติกแข็ง อย่างไรก็ตามยังมีรองเท้า Spikes ที่ออกแบบเอาไว้ใช้ในระยะไกล เช่น ระยะ 10,000 เมตร ที่จะมีพื้นรับสำหรับรับแรงกระแทก แต่จะบางกว่ารองเท้าวิ่งประเภทอื่น

ภาพล่าง คือ Nike Air Zoom Viperfly ที่ออกแบบมาให้ใช้ทำความเร็วในระยะ 100 เมตร
กล่าวโดยสรุป วัตถุประสงค์หลักของรองเท้าตะปู คือ การสปริ้นทำความเร็วในช่วงระยะ 100 เมตร หรือไปจนถึง 10,000 เมตร ในสนามประเภทลู่ยาง
ตัวอย่างรองเท้าวิ่งประเภท Spikes เช่น ASICS hyper MD 6, Altra Golden spike, Saucony spitfire, New balance XC, Nike Air Zoom Victory และ Nike Air Zoom Viperfly
5. Trail Shoes (รองเท้าเทรล หรือ รองเท้าเดินป่า)

รองเท้าเทรลคือ รองเท้าที่ออกแบบมาสำหรับเส้นทางทุรกันดาร (off-road) เช่น ทางที่มีหิน โคลน หรือ บนถนนที่พื้นผิวไม่เรียบ
รองเท้าเทรลมีหลากหลายแบบ เช่น รองเท้าเทรลที่มีน้ำหนักเบาและพื้นบาง (Lightly cushioning) ที่เหมาะสำหรับเอาไว้แข่งวิ่งทำความเร็วในทางทรุกันดาร ไปจนถึง รองเท้าเทรลที่มีลักษณะคล้ายรองเท้าบูทเดินป่าที่มีความหนาของหน้าผ้าเพื่อป้องกันอันตรายจากเศษหินที่คม ๆ
ฉะนั้น การเลือกรองเท้าเทรลจึงขึ้นอยู่กับว่า คุณใช้วิ่งมากแค่ไหน สภาพอากาศ และ ภูมิประเทศแบบไหนที่คุณกำลังวิ่งอยู่ อย่างไรก็ตาม รองเท้าเทรลจะมีคุณลักษณะที่คล้ายกันอยู่ 3 ประการ
1. ดอกและปุ่มยื่นออกมาจากพื้น (Lugs)

ทำหน้าที่ จิก ยึด เกาะ พื้น ซึ่งแบ่งออกเป็นดอกสั้นเหมาะสำหรับการวิ่งพื้นดินที่ค่อนข้างแข็งและ ดอกยาวที่เหมาะสำหรับพื้นโคลนหรือหญ้าเปียกแผ่นพลาสติกกันตะปูหรือเศษหิน (Rock plate)
2. แผ่นพลาสติกกันตะปูหรือเศษหิน (Rock plate)

ทำหน้าที่ป้องกันเท้าจากการเหยียบหินแหลมหรือไม้แหลมซึ่งสามารถเจาะผ่านพื้นรองเท้ามาได้ โดยรองเท้าเทรลส่วนมากมักจะมี Rock plate ติดมาให้เสมอ
3. หน้าผ้าที่มีความหนา (Reinforced upper)
หน้าผ้าของรองเท้าเทรลส่วนใหญ่มีความหนาและทนทานกว่ารองเท้าวิ่งประเภทอื่น ๆ เนื่องจากการวิ่งในทางทรุกันดารมีแนวโน้มที่รองเท้าจะขูดกับหินหรือสิ่งมีคมต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้นบางยี่ห้อหน้าผ้าสามารถกันน้ำได้ (Waterproof) จึงทำให้รองเท้าเทรลมีน้ำหนักที่มากกว่ารองเท้าวิ่งประเภทอื่น ๆ โดยเฉลี่ยหนักข้างละ 250 – 400 กรัม
ตัวอย่างรองเท้าวิ่งประเภท Trail เช่น On Cloudventure, On Cloudventure Peak, Nike Zoom Terra Kiger 6, Nike Zoom Wildhorse 6, Nike Zoom Pegasus 36 Trail, New Balance Fresh Foam Hierro v5, Altra LONE PEAK 4.5
แอดมินหวังว่าบทความนี้เป็นจะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิ่งหรือผู้ที่สนใจในการวิ่งหลาย ๆ ท่าน ถ้าหากท่านใดมีคำถามสามารถเข้าไปถามได้ในเพจ FB: Running Profiles ได้เลยครับ ฝากกดไลน์และติดตามเพจด้วยครับ ขอให้วิ่งให้สนุกครับ