วันนี้เป็นบทความใหม่แกะกล่องจากทางเรา ที่จะเป็นการนำเอาประสบการณ์ในการใช้รองเท้าวิ่งจากนักแข่ง ที่นำไปลงสนามแข่งจริงมาพูดคุยและรีวิวรองเท้าวิ่งที่แต่ละท่านใช้งานกันนะครับ เพื่อเป็นความรู้และส่งต่อแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อ่านและนักวิ่งทุกท่าน
ในหัวข้อใหม่ที่มีชื่อว่า [รีวิวจากประสบการณ์นักแข่งจริง] โดยนักวิ่งที่จะมาบอกเล่าประสบการณ์ในวันนี้คือ พี่อาร์ม นักแข่งมากประสบการณ์จากเพจ อีแตะอัลตร้า ผู้นำอีแตะไปเยือนงานต่างๆ มากมายและล่าสุดคืองาน CM6 ในระยะ CM5 (110 กม.) และจบด้วยอันดับที่ 12 Overall
ซึ่งประสบการณ์การใช้รองเท้าแตะในสนามแข่งของพี่อาร์มจะน่าตื่นเต้นและน่าสนใจแค่ไหน เชิญติดตามได้เลยครับ

พี่อาร์ม อีแตะอัลตร้า “เพราะการวิ่งระยะทางไกล คือ ความสุขในการวิ่งของผม”
ก่อนอื่นเลยเรามาทำความรู้จักกับพี่อาร์มกันก่อน

ข้อมูลนักแข่ง (Elite Profiles)
พี่อาร์ม หรือ ณัฐทวี ลพอุทัย (Nattawee Lopauthai) จากเพจ FB: อีแตะอัลตร้า และช่อง Youtube: อีแตะ อัลตร้า นักวิ่งวัย 41 ปี ผู้ที่รักในการวิ่งระยะไกลและเจ้าของวลีว่า “เพราะการวิ่งระยะทางไกล คือ ความสุขในการวิ่งของผม”
- ส่วนสูง: 168 ซม.
- น้ำหนัก: 61 กก.
- รายการแข่งที่จบ:
- Columbia Trail Masters 2020 (ระยะ 50 กม.) เข้าเป็นอันดับที่ 34 Overall
- Phahob Trail 2020 (ระยะ 50 กม.) เข้าเป็นอันดับที่ 1 (แต่ถูกตัดสิทธิ์ เนื่องจากไม่ได้ Check Point 1cp (หลงทาง) ที่จริงเป็นอันดับ 2 อยู่ ณ เวลาในเรซ
- Cuesta X Trail 2021 (ระยะ 55 กม.) เข้าเป็นอันดับที่ 25 Overall
- CM6 2021 ระยะ CM5 (ระยะ 110 กม.) เข้าเป็นอันดับที่ 12 Overall
- ลักษณะเท้า: เท้าปกติ (Neutral)
- ความกว้างของหน้าเท้า: หน้าเท้ากว้าง (Wide)
- ความยาวเท้า: 25 ซม. และความกว้างของหน้าเท้า 12 ซม.
- ลักษณะการลงเท้า: กลางเท้า
- ไซส์รองเท้าที่ใส่ปกติ: 40EU

จุดเริ่มต้น ทำไมถึงใช้รองเท้าแตะครับพี่อาร์ม? และทำไมถึงได้ไปไกลถึง 100 กม.?
เริ่มมาจากเมื่อราวๆ 3 ปีก่อน ผมก็ใช้รองเท้าวิ่งผ้าใบเหมือนๆ กับนักวิ่งโดยส่วนใหญ่ครับ ใส่ซ้อม ใส่แข่ง ลงงานวิ่งระยะ 10 กม. บ้าง
จำได้ว่าช่วงวิ่งใหม่ๆ บ้าวิ่งมาก อาจจะเหมือนนักวิ่งหลายๆ คน 555 สัปดาห์นึง ผมวิ่งทั้งเช้าและเย็น (วิ่ง ไป-กลับ จากบ้านไปที่ทำงาน) แรกๆ ก็ไปกลับ 6 – 7 กม. พอวิ่งสักระยะก็ค่อยๆ เพิ่มระยะเป็นเช้า 20 กม. เย็น 10 กม. มีวันพักบ้าง ตามอาการล้าของร่างกาย

แน่นอนครับ วิ่งเยอะ การสึกหรอของรองเท้าก็เร็วตามระยะเป็นธรรมดา จากนั้นก็ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายไปเพื่อซื้อรองเท้าวิ่งคู่ใหม่จึงเป็นที่มาของการหารองเท้าที่ประหยัดและราคาถูกมาใช้วิ่ง
วันนึงเห็นรองเท้าแตะจากน้องท่านนึง น้องเค้าซื้อมาใส่เดินเล่นครับ เลยไปจับๆดู…
เฮ้ย!!! น่าจะใช้วิ่งได้นี่หว่า (คิดในใจ) จากนั้นก็สั่งซื้อ รองเท้าแตะแบบนั้นมา 1 คู่ครับ จาก Shopee ในราคาคู่ละ 80 บาท

หลังจากวันนั้น คู่นั้น ใช้วิ่งผ่านมาเกือบ 1,200 กม. เลยทีเดียว (ปัจุบันยังคงเก็บไว้อยู่)
นั้นละครับเป็นที่มาของการใช้รองเท้าแตะวิ่งของผม เพื่อนๆ สามารถดูคลิปเพิ่มเติมที่ผมให้สัมภาษณ์กับเพจ “วิ่งแถวบ้าน” ต่อได้ครับ
และถามว่าทำไมต้อง 100 กม. โดยส่วนตัวจากที่ได้ลองวิ่งแรกๆ ลองแบบวิ่ง 5 กม. และ 10 กม. แล้วกดเวลาลงเรื่อยๆ…
โอ้ว!! รู้สึกว่ามันเหนื่อยมากครับ ทรมาณตอนวิ่งจัง 555 เลยลองหันมาวิ่งช้าลง แต่เพิ่มระยะให้มากขึ้นและมากขึ้น จนพบว่า การวิ่งให้ช้าลงและระยะทางไกลขึ้น นี่คือ “ความสุขในการวิ่ง” ของผมครับ
“การวิ่งให้ช้าลงและระยะทางไกลขึ้น นี่คือ ความสุขในการวิ่ง ของผมครับ” – พี่อาร์ม อีแตะอัลตร้า

รีวิวรองเท้าวิ่งจากประสบการณ์นักแข่ง
ก่อนอื่นต้องขอออกตัวก่อนครับว่า ผมเพิ่งเริ่มวิ่งมาแค่ราว 3 ปี ประสบการณ์ของผมน้อยมากๆ ลงงานแข่งไม่กี่งาน ทางเรียบก็ไม่เกิน 5 งาน ระยะสั้นๆ เท่านั้น (ระยะ 10 กม.)
ในส่วนของการวิ่งเทรลนั้นได้เริ่มจากวันนึงที่ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับนักวิ่งท่านนึง (เฮียเอ๋) ซึ่งแกเป็นนักวิ่งสายเทรลครับ เมื่อได้พูดคุยก็เหมือนโดนป้ายยาว่าการวิ่งเทรล คือ มันสนุกและมีความสุขมาก (ส่วนตัวเป็นคนชอบป่า ภูเขา ลำธาร น้ำตกเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว)

จากนั้นจึงหาโอกาส พาตัวเองไปสู่สนามวิ่งเทรลครับ จึงได้เริ่มซ้อมครับ ซ้อมวิ่งซิตี้รันในกรุงเทพนี่แหละครับ 555 จำได้ว่าก่อนไปสนามแรก Columbia Trail Masters 2020 ผมซ้อมที่เขาฉลากได้แค่ 1 ครั้งก่อนแข่งเท่านั้น และเวทร่างกายเพิ่มขึ้นกว่าปกติครับ ซึ่งในหลายๆ สนามก็ต้องขอความรู้ รวมถึงเทคนิคต่างๆ จากพี่ๆ เพื่อนๆ นักวิ่งหลายๆ ท่าน และนำมาปรับใช้กับตัวเองครับ
อ่ะมาพูดถึงรองเท้าที่ผมใช้ในแต่ละสนามแข่งกันเลยดีกว่าครับ
รองเท้าแตะเคยใช้รุ่นไหนบ้างครับพี่อาร์ม ใช้ในงานแข่งไหนและเป็นอย่างไรบ้าง เล่าประสบการณ์หน่อยครับพี่?
มีหลากหลายรุ่นเลยครับ คู่แรกที่ใช้ลงงานแข่งทางเป็นทางการ “แตะพี่หมอ“ ครับ (แบบทางเรียบ) ลงแข่งงานแรกคือ Columbia Trail Masters 2020 ระยะ 50 กม. ใช้จบอันดับ 34 Overall ซึ่งเส้นทางโดยส่วนใหญ่เป็นหินลอยครับ ลงน้ำ ดินโคลนก็มี เรซนี้ตื่นเต้นมากๆ ครับ เพราะเป็นเทรลแรกเลย

จากนั้นก็ Phahob Trail 2020 ระยะ 50 กม. เรซนี้ใช้ “แตะอีลิท” ครับ (ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณ แตะอีลิท ด้วยสำหรับการสนับสนุนรองเท้าแตะ ปัจุบันก็ยังคงส่งรองเท้ามาเพื่อซ้อมและใส่แข่งเสมอมา)

ซึ่งในเรซนี้เข้าเส้นมาเป็นอันดับที่ 1 ครับ แต่เนื่องจากผมไม่ได้ Check Point ไป 1 Cp เนื่องจากหลงทางครับ ระยะหายไป 5 – 6 กม. จึงถูกตัดสิทธิ์ไปครับ ซึ่งเส้นทางเรซนี้ก็มีลำธารหลายจุด หินลอยบ้างครับ โดยรวมวิ่งสนุกมากๆ

งานที่ 3 ผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้เองครับ คือ งาน Cuesta X Trail 2021 ระยะ 55 กม. ซึ่งเรซนี้ผมใช้ แตะ Gambol + แตะอีลิท แบบ Custom เองครับ ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างรองเท้าแตะวิ่ง Gambol และแตะอีลิท โดยพื้นเป็น Gambol ส่วนสายตัวล๊อคต่างๆ เป็นของแตะอีลิทครับ
โดยในงานนี้เข้าเส้นมาอันดับที่ 25 Overall ครับ งานนี้วิ่งสนุกเหมือนเดิมครับ อากาศร้อนมาก (โชคดีตอนซ้อมซิตี้รันโดนแดดมาเยอะ 555) เส้นทางหลากหลายครับสำหรับเรซนี้ จุดโหดร้ายของงานนี้คือ อากาศครับ 555


งานต่อไปของผมก็ล่าสุดเลยครับ CM6 ซึ่งผมได้ลงระยะ CM5 (ระยะ 110 กม.) โดยงานนี้ห่างจากงาน Cuesta X Trail 2021 เพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น แอบกังวลมากๆ ครับกับระยะที่ไกลถึง 110 กม. และเกนความสูง 6,500 เมตร
พูดง่ายๆ เลย เป็นสนามเทรลแรกที่วิ่งเกินระยะที่เคยสัมผัสครับ (งานก่อนหน้านี้ก็ราวๆ 50 กม.) ซึ่งงานนี้ผมใช้ อีแตะคู่เดิมครับจากสนามที่แล้ว คือ แตะ Gambol + แตะอีลิท แบบ Custom

แต่เรซนี้ผมเพิ่มตัวช่วยเสริมมาครับ คือใส่ถุงเท้าด้วย เพื่อความมั่นใจในการวิ่งครับ และได้ผลจริงๆ ถุงเท้าช่วยให้ผมดาวน์ฮิลได้ดีขึ้น (ไม่เจ็บง้ามเท้า) และเสริมด้วยสายหนัง ทำให้ช่วยลดการเสียดสีของตัวล๊อคสาย ซึ่งถุงเท้าที่ผมใช้คือ ถุงเท้านินจาของ “Ving“ ครับ (ขอขอบคุณครับสำหรับการสนับสนุน)
ด้วยความที่วิ่งสนามนี้เป็น 100 กม. แรกในเทรล ถึงแม้จะซ้อม 100 กม. ทางเรียบมากหลายครั้งแล้วก็ตาม แต่ระยะเกิน 100 กม. เทรล เป็นครั้งแรกจริงๆ กลัวมากครับ กลัวจะ DNF

ก่อนแข่งเลยพยายามถาม พี่ๆ ที่เคยมีประสบการณ์หลายๆ ท่านเลย ซึ่งทุกคนก็ให้คำปรึกษาในหลายๆ เรื่อง ว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร ซ้อมอย่างไร แล้วผมก็นำมาปรับใช้ให้เข้ากับตัวเองให้มากที่สุด ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณพี่ๆ ที่ให้คำปรึกษาด้วยครับ
และท้ายที่สุดผมก็ผ่านสนามนี้มาได้ครับ จากที่กลัว DNF กับกลายเป็นเข้าเส้นมาเป็นอันดับที่ 12 Overall ดีใจมากๆ ครับ ที่ตัวเองสามารถผ่านมันมาได้

เส้นทางเรซนี้สำหรับผม ถือว่าโหดเอามากๆ เพราะเกนความสูงที่ขึ้นสุด และแน่นอนครับลงสุดๆเหมือนกัน แถมต้องวิ่งผ่านกลางคืนอีก ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมต้องวิ่งเทรลผ่านช่วงกลางคืน
เป็นความกังวลในหลายๆ เรื่องเลยที่อยู่ในใจ แต่สนามนี้ผมเหมือนปลดล๊อคตัวเองครับ ได้รู้ ได้ทำ ได้วิ่งในเรซนี้จนจบมาได้
อ่ออีกอย่าง เรซนี้รวมถึงทุกๆ เรซ ผมไม่ได้ใช้ไม้โฟลในการวิ่งเลยครับ ติดปัญหาหลายๆ ด้านครับ เรื่องค่าใช้จ่ายเอ่ยเรื่องวิธีการใช้เอ่ย ก็เลยไปแบบตัวเปล่าๆ นี่เลยครับ 555
ปกติพี่อาร์มลงแข่งขันวิ่งระยะไกลด้วยรองเท้าแตะต้องพันเท้าด้วยไหมครับ?
แข่งระยะไกลแรกๆ ก็ไม่พันไม่อะไรกับเท้าเลยครับ จนมาถึงเรซ CM6 จึงนำถุงเท้า Ving มาใส่ครับ ลดการเสียดสี และดาวน์ฮิลที่ดีขึ้นครับ ซึ่งมันได้ผลดีอย่างมาก

ความรู้สึกและประสบการณ์ในการใช้งานรองเท้าแตะของพี่อาร์มเป็นอย่างไรบ้างครับ? รวมทั้งต้องใช้เทคนิคในการวิ่งอย่างไร?
การใช้งานอีแตะวิ่งเทรลนั้น สำหรับผม ใส่แล้วรู้สึกสบายมากๆ ครับ มันโล่งโปร่ง ไม่มีปัญหาเรื่องเล็บม่วงเล็บหลุด แต่ข้อเสียก็มี ในการวิ่งเทรลนั้นเราอาจมีโอกาสพลาดไปเตะหิน เตะตอไม้สั้นๆ ด้วยความโล่งโปร่งของรองเท้าแตะ ทำให้มีโอกาสบาดเจ็บสูงมาก ซึ่งในเรซผมเองก็เตะและสะดุดบ่อยครั้งมากๆ 555
ในส่วนของรองเท้าแตะ พื้นของแตะ Gambol ไม่นุ่มไปและไม่แข็งไปครับ เมื่อรวมๆ กับสายอีลิทแล้ว วิ่งสบายมากๆ สำหรับผมตอนนี้ แบบนี้คือที่สุดแล้วครับกับการใช้แตะวิ่งเทรล

สำหรับเทคนิคการใช้อีแตะวิ่งเทรลสำหรับผมนั้น ผมใช้ถุงเท้านินจาของ Ving เพิ่มครับ ช่วยลดการเสียดสีและดาวน์ฮิลดีขึ้นไม่เจ็บง้ามนิ้ว แต่การลงเท้าในจังหวะดาวน์ฮิล ก็ต้องมีสมาธิครับ ตาต้องมองในทุกๆ ก้าวที่จะวางเท้า ต้องมองว่าหินหรือพื้นที่จะวางเท้าในก้าวนั้นๆ มีความมั่นคงแข็งแรงขนาดไหน
“การลงเท้าในจังหวะดาวน์ฮิล ก็ต้องมีสมาธิครับ ตาต้องมองในทุกๆ ก้าวที่จะวางเท้า ต้องมองว่าหินหรือพื้นที่จะวางเท้าในก้าวนั้นๆ มีความมั่นคงแข็งแรงขนาดไหน” – พี่อาร์ม อีแตะอัลตร้า
ซึ่งถ้าเหยียบโดนหินลอย หรือตำแหน่งหินที่ไม่มีความมั่นคง ก็อาจทำให้ข้อเท้าพลิกและบาดเจ็บได้เลยครับ
ฉะนั้น การใช้รองเท้าแตะวิ่งเทรล มันก็ไม่ได้ดีเสมอไปครับ ด้านความปลอดภัย เนื่องด้วยความโล่งของตัวรองเท้า แต่สำหรับผม ผมชอบโดยส่วนตัวครับ วิ่งสนุก เท้าไม่อับชื้น เล็บไม่ม่วง ไม่หลุด แต่ต้องเพิ่มสมาธิการวางเท้าในแต่ละก้าวให้มากขึ้นกว่าเดิมมากๆ ครับ
พี่อาร์มมีการเตรียมตัววิ่งระยะไกลอย่างไรบ้างครับ?
สำหรับการเตรียมตัวการวิ่งระยะไกลสำหรับผม ก็คือ การซ้อมครับ ซ้อมให้ได้ระยะไกลๆ คือเข้าถึงระยะให้ได้ครับ ซ้อมยาวของผมก็ 100 กม. ครับ และเก็บระยะต่อวันให้ได้ 15 – 30 กม. ต่อวัน โดยถ้าวิ่ง 15 กม. ก็เพิ่มความเร็วขึ้น อาจวิ่งเพซ 4 เพซ 5 บ้างตามโอกาส
ถ้าวิ่งยาวกว่านั้นก็ลดความเร็วลงมาครับ อาจเป็นเพซ 6 เพซ 7 บ้างครับ เหนื่อยก็เดิน เมื่อยก็หยุด เสริมการวิ่งกับสะพานลอยบ้าง ไปเก็บเนินภูเขาบ้างตามโอกาสครับ

ฝากถึงนักวิ่งที่อยากจะเข้าร่วมสำนักอีแตะหน่อยครับว่าต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
555 ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเลยครับ แค่ลองเปิดใจก่อนครับว่า “อีแตะก็สามารถวิ่งได้” ถ้าคุณได้ลองคุณอาจจะหลงรักมันก็ได้ครับ
“แค่ลองเปิดใจก่อนครับว่า อีแตะก็สามารถวิ่งได้ ถ้าคุณได้ลองคุณอาจจะหลงรักมันก็ได้ครับ” – พี่อาร์ม อีแตะอัลตร้า

จบกันไปแล้วนะครับสำหรับประสบการณ์นักแข่งจริงบนสนามแข่ง 100 กม. ด้วยรองเท้าแตะของพี่อาร์ม อีแตะอัลตร้า
ซึ่งท่านใดต้องการคำปรึกษาหรือต้องการรับฟังประสบการณ์การใช้รองเท้าแตะของพี่อาร์มเพิ่มเติม สามารถเข้าไปติดตามได้ทั้งเพจ FB: อีแตะอัลตร้า และช่อง Youtube: อีแตะ อัลตร้า ได้เลยครับ

และทางเรา Running Profiles ก็จะมีบทความประสบการณ์ในการใช้รองเท้าวิ่งจากนักแข่ง ที่นำไปลงสนามแข่งจริง มาให้นักวิ่งได้รับชมกันอีกนะครับ เพื่อเป็นความรู้และส่งต่อแรงบันดาลใจให้แก่ผู้อ่านและนักวิ่งทุกท่าน
หวังว่าบทความนี้เป็นจะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิ่งหรือผู้ที่สนใจในการวิ่งหลาย ๆ ท่าน ขอให้วิ่งให้สนุกครับ
สามารถติดตาม Running Profiles ได้ทั้งใน
- FB: Running Profiles
- Website: https://runningprofiles.com/
- Youtube: Running Profiles