วันนี้เราจะมาแปลบทความน่าสนใจบทความหนึ่งที่ทาง Runner World ได้เขียนไว้เกี่ยวกับสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับรองเท้าคาร์บอนที่กำลังเป็นกระแสฮิตอยู่ในตอนนี้ โดยมีชื่อว่า Will Magic Shoes Work for You? (รองเท้าคาร์บอนสุดวิเศษณ์เหล่านั้น เหมาะกับคุณจริงหรือ? ) เนื้อหาจะเป็นอย่างไรติดตามได้เลยครับ

“ไม่ใช่นักวิ่งทุกคนที่วิ่งได้เร็วขึ้นจากรองเท้าคาร์บอน อ้างอิงตามผลงานวิจัยใหม่”
ย้อนกลับไปในปี 2018 ณ งานแข่ง Grandma’s Marathon นักวิ่งสาวชาวอเมริกันนามว่า Amy Schlotthauer ได้ตั้งใจว่าจะทำลายสถิติมาราธอนต่ำกว่า 3 ชั่วโมงของเธอลงให้ได้ ดังนั้นเธอจึงทำในสิ่งที่นักวิ่งหลายคนทำ นั้นคือ ลงทุนเงิน $250 (8,xxx บาท) ในการซื้อรองเท้า Nike Vaporfly 4% หลังจากนั้น เธอใส่มันซ้อมวิ่งแบบ Tempo เป็นระยะทาง 14 กม. และเธอกล่าวว่า “รองเท้าคู่นี้ให้ความรู้สึกที่เร็วราวกับว่าเธอกำลังจะกระเด้งออกนอกถนน”

Nike Vaporfly 4% ไม่ทำให้เธอผิดหวัง เธอเข้าเส้นชัยด้วยระยะเวลา 2:59:50 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ณ กิโลเมตรที่ 32 เธอได้เกิดมีอาการขาซ้ายสั่น และหลังจากจบงานแข่งเธอแทบจะเดินต่อไม่ได้
Amy Schlotthauer ปัจจุบันอายุ 39 ปี อาศัยอยู่ในรัฐวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอไม่เคยมีประวัติเข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บจากการวิ่ง ซึ่งเธอเพียงแค่พักผ่อนให้กล้ามเนื้อรักษาตัวเองเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในครั้งที่สองที่เธอลงแข่ง Marathon ด้วย Nike Vaporfly 4% อาการบาดเจ็บก็กลับมาอีกครั้ง และเธอต้องจบการแข่งขันด้วยระยะเวลา 3:01:58 ชั่วโมง
เธอไม่แน่ใจว่าอาการบาดเจ็บเกิดจากอะไรกันแน่ และเธอกล่าวเสริมว่า “ฉันได้ทำการค้นหาและศึกษาเกี่ยวกับท่าวิ่งและการเคลื่อนไหวของฉันหลังจากจบการแข่งขันมาราธอน จึงทำให้ฉันได้เข้าใจว่ารองเท้าคาร์บอนเหล่านั้นไม่ได้เหมาะกับฉัน”
ในขณะที่นักวิ่งหลายคนเปลี่ยนไปใส่รองเท้าสุดวิเศษณ์ที่มีแผ่นคาร์บอน แต่ Amy Schlotthauer กลับเลือกที่จะย้อนกลับไปใส่รองเท้าคู่เดิมของเธออย่าง Adidas Adizero Boston 7 ซึ่งไม่ได้มีแผ่นคาร์บอนและเป็นรองเท้าประเภท Lightweight Trainer ในการแข่งขัน Chicago Marathon ปี 2019 ทำให้ในปีนั้น เธอทำสถิติเวลาที่ดีที่สุดในชีวิตเธอ โดยใช้ระยะเวลาไปเพียง 2:55:36 ชั่วโมง โดยไม่มีอาการบาดเจ็บใด ๆ ทั้งสิ้น หลังจากนั้น เธอก็ได้ตั้งใจที่จะใส่รองเท้าที่ไม่มีแผ่นคาร์บอนในงานแข่งครั้งต่อ ๆ ไป
ช้าก่อน สรุปแล้ว Nike Vaporfly จะเหมาะกับทุกคนไหม ?
มันเป็นเหมือนกระแสนิยมในปัจจุบัน เมื่อนักวิ่งใส่รองเท้า Vaporfly แล้วทำลายสถิติโลกกันเป็นว่าเล่น ใคร ๆ ก็ไม่อยากเป็นรองใคร รวมถึงผลงานวิจัยที่บ่งชี้ชัดเจนว่า Vaporfly ช่วยให้นักวิ่งวิ่งได้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นถึง 4-5 เปอร์เซ็นต์ ที่กล่าวมานี้ยังไม่รวมถึงรองเท้ารุ่นใหม่ของทาง Nike อย่าง Alphafly Next% ที่ยังไม่ได้มีนักวิจัยมาทดสอบถึงประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ Amy Schlotthauer พบเจอ คงไม่สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่ารองเท้าวิ่งคาร์บอนเหล่านี้จะเหมาะกับนักวิ่งทุกคน
Geoff Burns นักชีวกลศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกนและเป็นผู้เขียนบทความในวารสารการแพทย์เวชศาสตร์อังกฤษ (British Journal of Sports Medicine) ผู้ซึ่งเรียกร้องให้มีการออกกฏควบคุมการออกแบบรองเท้า ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “ถ้าหากคุณให้กลุ่มนักวิ่งทดสอบรองเท้าวิ่งหนึ่งคู่ ผลลัพธ์ที่ได้จากแต่ละคนก็มักจะแตกต่างกันไป”

ความแตกต่างที่เกิดขึ้นเกิดจากเทคโนโลยีที่ซับซ้อนที่ถูกผสมรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนักที่เบา, โฟมที่มี Energy Return ที่สูง, และแผ่นคาร์บอนที่แข็ง สำหรับนักวิ่งบางคน รองเท้าเหล่านี้ช่วยให้พวกเขาวิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างมีนัยสำคัญ แต่กลับกันนักวิ่งบางคนอาจจะมีอาการบาดเจ็บที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงไม่นานมานี้เองได้มีการเก็บข้อมูลเบื้องต้นที่แสดงให้เห็นว่า สำหรับนักวิ่งที่ไม่ใช่มืออาชีพ รองเท้าคาร์บอนเหล่านี้แทบไม่ได้ทำให้พวกเขาวิ่งได้ดีขึ้นเลย และในบางรายกลับวิ่งได้แย่ลงไปอีก
นักวิ่งทั่วไปบางคนวิ่งได้ช้าลงเมื่อใส่ Vaporfly จริงหรือ?
ในเดือน มกราคม ปี 2020 ได้มีกลุ่มนักวิจัยจาก University of Waikato ประเทศนิวซีแลนด์ ได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพของนักวิ่งทั่วไป ในการใส่รองเท้า Vaporfly 4% เปรียบเทียบกับ Saucony Endorphin Racer 2 ซึ่งเป็นรองเท้า Racing Flat น้ำหนักเบา รวมทั้งเปรียบเทียบกับรองเท้าวิ่งที่พวกเขาใส่เป็นประจำ

โดยการทดลองครั้งนี้ ทีมนักวิจัยได้เลือกนักวิ่งทั้ง 18 คน ที่มีสถิติเวลา 5K อยู่ที่ 20-25 นาที และทั้ง 18 คนมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 33 ปี รวมทั้ง 14 คนในนี้เป็นนักวิ่งที่วิ่งลงส้นเท้า (ที่เหลือ 4 คน วิ่งลงกลางเท้าและปลายเท้า) ซึ่งทีมนักวิจัยได้ให้นักวิ่งทั้ง 18 คน วิ่งเป็นระยะเวลา 3 นาทีในความเร็วที่กำหนด เพื่อหาค่า Running Economy และให้วิ่ง 3 กม. แบบสุดความสามารถ (3K Time Trial) เพื่อหาระยะเวลาที่ดีที่สุดของพวกเขาเองในรองเท้าแต่ละคู่
ผลการทดลองพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วนักวิ่งที่ใส่ Nike Vaporfly 4% วิ่งได้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นถึง 4.2 เปอร์เซ็นต์ และวิ่งได้ไวขึ้นถึง 16.6 วินาที เมื่อเทียบกับรองเท้าที่พวกเขาใส่เป็นประจำ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับ Endorphin Racer 2 กลับมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเพียง 1.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ได้มีนัยสำคัญในทางสถิติ แต่ว่าในด้านการทำเวลานั้น Nike Vaporfly 4% ยังทำเวลาได้ดีกว่า Endorphin Racer 2 อยู่ 13 วินาที

แม้ว่าจะทำเวลาเฉลี่ยได้ดีกว่า แต่หากมองในมุมมองนักวิ่งแต่ละคน จะพบว่า มีนักวิ่งบางรายที่มีผลเชิงลบกับรองเท้า Vaporfly โดยหนึ่งในนักวิ่งมีประสิทธิภาพในการวิ่งที่ลดลงถึง 8.6 เปอร์เซ็นต์ และวิ่งได้ช้าลงถึง 4.7 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งไม่ใช่นักวิ่งทุกคนจะทำเวลาได้ดีขึ้น ซึ่งในการวิ่งแบบ 3K Time Trial มีนักวิ่งเพียง 11 คนใน 18 คน ที่ทำเวลาได้ดีกว่า และมีเพียง 5 คนเท่านั้นที่ประสิทธิภาพในการวิ่งเพิ่มขึ้นจากสองเท้าทั้งสองคู่ (Endorphin Racer 2 และรองเท้าที่พวกเขาใส่เป็นประจำ) อย่างไรก็ตาม ผลงานวิจัยนี้ยังไม่ได้ถูกตีพิมพ์ออกมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งหลังจากนี้อาจจะมีการค้นพบผลลัพธ์ใหม่ก็เป็นได้
สรุปแล้ว Vaporfly ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บจริงหรือ ?
Max Paquette นักชีวกลศาสตร์จาก University of Memphis กล่าวว่า “ความซับซ้อนของเรื่องนี้ ทำให้มันเป็นเรื่องที่ยากที่จะบอกว่ารองเท้าคู่หนึ่งจะทำให้นักวิ่งบาดเจ็บ รวมไปถึงแนวคิดที่ว่า รองเท้าวิ่งสามารถทำให้นักวิ่งเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้มีผลงานวิจัยอย่างเป็นทางการมารองรับ”
เขายังกล่าวติดตลกอีกว่า “งานวิจัยเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บจากการวิ่งเป็นงานวิจัยที่ต้องใช้เงินทุนสูง และไม่มีบริษัทรองเท้าวิ่งไหนในโลกหรอกที่จะให้เงินทุนเรามาวิจัยอะไรแบบนี้ รวมไปถึงมันเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ที่จะส่งผลต่ออาการบาดเจ็บของนักวิ่งแต่ละรายอีกด้วย”
ในส่วนของ Rich Willy นักกายภาพบำบัดและนักวิจัยจาก University of Montana ได้ให้ความเห็นว่า อาการบาดเจ็บในนักวิ่งอาจจะขึ้นอยู่กับประเภทของรองเท้า ดั่งเช่นช่วงที่รองเท้าประเภท Minimalist เป็นที่นิยม คลินิกของเขากลับมีนักวิ่งที่ได้รับอาการบาดเจ็บบริเวณน่องและเอ็นร้อยหวายเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นที่รองเท้า Minimalist ที่เพิ่มภาระให้กับบริเวณปลายเท้า
แนวคิดที่ว่านี้ ยังถูกสนับสนุนโดยงานวิจัยจาก University of Colorado ที่ว่ารองเท้าอย่าง Vaporfly ได้ทำให้กลไกการทำงานของข้อเท้านักวิ่งเปลี่ยนไป โดยเป็นการลดการทำงานของน่องและการงอของนิ้วเท้าลง ซึ่ง Rich Willy ได้กล่าวเสริมว่า “รองเท้าคาร์บอนอาจจะช่วยลดปัญหาการทำงานของนิ้วและเอ็นร้อยหวายลงก็จริง แต่การลดการทำงานของอวัยวะหนึ่งลง มักจะส่งผลให้อีกอวัยวะหนึ่งต้องทำงานหนักขึ้นแทน” และในกรณีนี้เอง เขาคาดการณ์ว่าเป็นหัวเข่าหรือสะโพกที่จะต้องรับภาระที่หนักขึ้นแทน ซึ่งอาจนำไปสู่อาการบาดเจ็บในภายหลัง
ทั้งนี้ยังมีกรณีที่นักวิ่งบางคนรายงานว่า รู้สึกไม่มั่นคง หรือรู้สึกแปลกที่เท้าลอยอยู่สูงจากพื้นเกินไป โดยความสูงที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงและยังทำให้เกิดแรงบิดที่ข้อขาและเท้ามากขึ้น
แม้ว่าแผ่นคาร์บอนที่ดูเหมือนจะเป็นตัวช่วยในการเสริมความมั่นคง แต่ยังคงเป็นที่ถกเถียงและเป็นปัญหากันอยู่อย่างกรณีนักวิ่งหญิงผู้ถือครองสถิติ 10K และ Half Marathon ที่ดีที่สุดของสหรัฐอเมริกา อย่าง Molly Huddle

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ Molly Huddle ได้รับเชิญให้ไปทดสอบรองเท้า Prototype ตัวใหม่ของทาง Saucony ในการทดสอบครั้งนั้นในห้องแลปแสดงให้เห็นว่ารองเท้า Prototype สามารถทำให้เธอวิ่งได้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นถึง 2 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตามเมื่อเธอลองดูวิดิโอบันทึกท่าทางในการวิ่งของเธอในการทดสอบครั้งนั้น เธอกลับพบว่าเท้าซ้ายของเธอดูเหมือนจะล้มและบิด ซึ่งเธอสามารถรู้สึกถึงมันได้บริเวณข้อเท้าและหลัง
หลังจากใช้งานรองเท้า Prototype ได้ไม่นาน เธอก็เริ่มมีอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรงบริเวณข้อเท้า และได้เข้ารับการสแกน MRI ซึ่งทำให้เห็นว่าเส้นเอ็น (Peroneal Tendon) ของขาข้างซ้ายเกิดอาการฉีกขาด ซึ่งรองเท้าอาจจะไม่ใส่สาเหตุหลักของอาการบาดเจ็บ โดยสาเหตุอาจจะเป็นการที่ปีก่อนเธอข้อเท้าผลิกและขาข้างซ้ายที่ยาวกว่าข้างขวา อย่างไรก็ตาม Huddle และทีมของเธอเชื่อมั่นว่า รองเท้าคาร์บอนเหล่านี้ไม่ได้ตอบโจทย์สรีระของเธอ
ต่อมา Huddle ก็ตัดสินใจว่า ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นถึง 2 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้คุ้มค่ากับอาการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้น เธอจึงหันไปใช้รองเท้าที่ทาง Saucony ผลิตออกมาเพื่อเธอโดยเฉพาะอย่าง Saucony MH1 ซึ่งเป็นรองเท้า Racing Flat ที่ใช้พื้นของ Saucony Type A8 และหน้าผ้าของ Saucony Freedom ISO ในการแข่งขันแทน

สิ่งที่นักวิ่งต้องพิจารณาก่อนซื้อรองเท้าคาร์บอน
นักกายภาพบำบัด Hebert Losier จาก University of Waikato ได้กล่าวว่า เพื่อที่จะลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บ นักวิ่งควรฝึกซ้อมในรองเท้าคาร์บอนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่หักโหม และโดยส่วนใหญ่อาการบาดเจ็บมักจะมาจากการเปลี่ยนรองเท้าแบบทันทีและหักโหมวิ่งในรองเท้าคู่ใหม่
กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อของมนุษย์เราต้องใช้เวลาในการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนวิธีการลงน้ำหนักที่แตกต่างไปจากเดิมในรองเท้าคาร์บอน อย่างไรก็ตามถ้าหากนักวิ่งใช้รองเท้าคาร์บอนในการซ้อมทุกวัน ก็คงไม่เหมาะสมนัก และอาจจะนำไปสู่อาการบาดเจ็บได้ เนื่องจากรองเท้าเหล่านี้จะไปเปลี่ยนจุดรับน้ำหนักของเอ็นและกล้ามเนื้อ รวมไปถึงเปลี่ยนลักษณะท่าวิ่ง (Gait Pattern) แต่สิ่งที่สำคัญคือ นักวิ่งจะต้องทำใส่รองเท้าคาร์บอนซ้อมก่อนการแข่งขันเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนการแข่งขันมาราธอน อย่างน้อยก็ควรเป็นการซ้อมทำความเร็ว (Fast Workout) และซ้อมวิ่งระยะไกล (Long Run)
ในท้ายที่สุดผู้เชี่ยวชาญก็บอกได้เพียงแค่ว่าอะไรที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของนักวิ่งเท่านั้น โดยทิ้งให้นักวิ่งต้องค้นหารองเท้าที่เหมาะสำหรับตัวพวกเขาเอง ฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดที่จะบอกว่ารองเท้าเหล่านี้เหมาะกับคุณหรือไม่ คือการใส่และวิ่งจับความรู้สึกด้วยตัวเอง ดังนั้นไม่มีรองเท้าไหนที่ดีที่สุดหรอกครับ แต่มันมีรองเท้าที่เหมาะสำหรับคุณที่สุดแน่นอน
แอดมินหวังว่าบทความนี้เป็นจะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิ่งหรือผู้ที่สนใจในการวิ่งหลาย ๆ ท่าน ถ้าหากท่านใดมีคำถามหรืออยากจะแชร์ประสบการณ์ในการวิ่งสามารถเข้าไปคอมเม้นได้ในเพจ FB: Running Profiles ได้เลยครับ ฝากกดไลน์และติดตามเพจด้วยครับ ขอให้วิ่งให้สนุกครับ
ข้อมูลอ้างอิง: