วันนี้เราจะพานักวิ่งทุกท่านมาทำความรู้จักกับแบรนด์หมวกวิ่งที่มาแรงที่สุดในโลก ณ เวลานี้ อย่าง Ciele Athletics ว่ามีต้นกำเนิดมาอย่างไร? และเหตุผลที่นักวิ่งจะต้องมีไว้ในครอบครอง รวมทั้งกรณีศึกษาทางธุรกิจ เชิญติดตามรับชมได้เลยครับ

สองนักออกแบบที่รังสรรค์งานศิลป์ที่เรียบง่ายที่สุด

แนวความคิดที่เรียบง่ายมักจะเป็นความคิดที่ดีที่สุดเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่ซับซ้อนของเราในทุกวันนี้ ที่พวกเราส่วนใหญ่มักมองข้ามรายละเอียดเล็กๆ เสมอ ซึ่งตรรกะความต้องการสิ่งที่ล้ำสมัยและสิ่งที่เป็นกระแสนิยมได้กลายมาเป็นสิ่งที่บดบังความจริงที่ว่า “เราไม่ได้ต้องการสิ่งของเหล่านั้นหรอก แต่สิ่งที่เราต้องการทั้งหมด คือ สิ่งของที่สามารถคงอยู่กับเราได้อย่างยาวนาน”
“ไม่ใช้ความนิยมเพียงชั่วข้ามคืนหรือหนึ่งถึงสองอาทิตย์ก็หมดค่า แต่มันต้องเป็นความนิยมที่คงอยู่ไปเป็นศตวรรษ”
ซี่งนี่คือแนวคิดของ Jeremy Bresnen และ Mike Giles สองผู้ก่อตั้งแบรนด์ Ciele Athletics และสองสมองที่ร่วมกันสร้างสิ่งที่เรียบง่ายที่สุด ซึ่งนั่นคือ “หมวกวิ่งที่ดีที่สุดที่เคยมีมา” ที่ไม่ใช่การปฏิวัติวงการ แต่เป็นการแก้ไขและเปลี่ยนนิยามของหมวกสำหรับใส่วิ่งไปตลอดกาล

ย้อนกลับไปก่อนช่วงที่ทั้งคู่จะเริ่มก่อตั้งแบรนด์ Ciele Athletics ในปี 2014 Jeremy Bresnen และ Mike Giles ทั้งคู่อาศัยอยู่ ณ เมืองมอนทรีออล (Montreal) ประเทศแคนาดา ซึ่ง ณ ขณะนั้น พวกเขายังไม่สนิทกันอย่างในปัจจุบัน แต่ก็ได้มีโอกาสร่วมงานกันในโปรเจค BACKWARD ซึ่งเป็นโปรเจคธรุกิจเกี่ยวกับกีฬาสเก็ตบอร์ด
โดย Jeremy Bresnen คือผู้คร่ำหวอดในวงการอุปกรณ์กีฬาที่มีประสบการณ์กว่า 20 ปี ทั้งในด้านการตลาดและการออกแบบ ซึ่งในอดีตเขาเริ่มต้นทำธรุกิจจากร้านค้าปลีกแบบซื้อมาขายไป ก่อนที่ในภายหลังเขาจะเปิดร้านขายอุปกรณ์กีฬาสเก็ตบอร์ดเป็นของตัวเองและได้ขายธรุกิจนี้ออกไป แล้วผันตัวไปเป็นหัวหน้าฝ่ายออกแบบชุดเสื้อผ้าสกีและสโนว์บอร์ดของแบรนด์ Orage จากประเทศแคนาดา
ในทางกลับกัน ในส่วนของ Mike Giles เขาคือผู้ประกอบการที่เติบโตมาจากธรุกิจออกแบบเฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ก่อนที่ในภายหลัง เขาจะมาเปิดเว็บไซต์จำหน่ายถุงมือและชุดจักรยานสไตล์วินเทจ
โดยในการร่วมงานกันในโปรเจค BACKWARD ครั้งนั้น ทั้งคู่ช่วยกันระดมออกความคิดและลงมือทำอย่างสนุกสนาน ซึ่งแม้ว่าโปรเจคนี้จะไม่ได้มีความจริงจังมากนัก เพราะพวกเขาทำไปเพื่อความสนุกเท่านั้น แต่มันกลับทำให้พวกเขาได้ค้นพบว่าเคมีในการทำงานของพวกเขาทั้งคู่ช่างเข้ากันเสียเหลือเกิน

จนทำให้ Jeremy Bresnen ถึงกับเอ่ยปากชวน Mike Giles ว่า “ถ้าหากพวกเราทำงานเข้ากันได้ดีแบบนี้และชื่นชอบที่จะทำงานร่วมกัน เราก็มาช่วยกันทำสิ่งที่พิเศษกว่านี้ดีกว่า”
แน่นอนว่า Mike Giles ตอบตกลงไปอย่างไม่ต้องสงสัย และพวกเขาก็ได้เริ่มต้นระดมไอเดียออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยพวกเขาวางแผนที่จะเริ่มจากสิ่งที่เรียบง่ายและค่อยๆ เติบโตไปกับมัน แต่ความเรียบง่ายไม่ใช่สิ่งเดียวที่พวกเขาคิดไว้ โดย Jeremy Bresnen ได้กล่าวเสริมว่า “สิ่งที่เราต้องมีในผลิตภัณฑ์ของเรา คือ ความไฮเอนด์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและจับต้องได้”
แม้ว่าจะฟังดูขัดแย้งในทีแรก แต่เขาได้ให้ตัวอย่างเปรียบเทียบไว้ว่า เสื้อแจ็คเก็ตระดับไฮเอนด์ส่วนใหญ่มักจะมีราคาที่สูงถึง $600 หรือราวๆ 17,000 ถึง 18,000 บาท แต่หมวกระดับไฮเอนด์ดีๆ มีราคาเพียงแค่ $45 หรือราวๆ 1,500 บาทเท่านั้น ซึ่งการเข้าถึงง่ายคือกุญแจสำคัญในโปรเจคในครั้งนี้
กำเนิดแบรนด์ Ciele Athletics

ในระหว่างที่กำลังคิดหาไอเดียผลิตภัณฑ์ Jeremy Bresnen ณ ขณะนั้น มีงานอดิเรกคือการวิ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาทำมาโดยตลอด เพราะในอดีตเขาจะวิ่งจากบ้านไปที่โรงเรียนสอนการออกแบบ และต่อมาหลังจบการศึกษาเขาก็เปลี่ยนไปเป็นการวิ่งไปที่ทำงานแทน
ซึ่งไอเดียหมวกวิ่งผุดขึ้นมาเมื่อเขาได้ออกไปตามหาซื้อหมวกวิ่งดีๆ ใบใหม่ แต่ผลที่ตามมาคือ เขาไม่สามารถหาหมวกวิ่งประสิทธิภาพสูงที่ดูดีได้เลย ทุกใบดูเหมือนๆ กันไปหมด และหมวกแฟชั่นก็ไม่สามารถใส่วิ่งได้ดี
ใช่แล้ว!!! พวกเขาได้ค้นพบสิ่งที่ในวงการวิ่งยังไม่เคยมีมาก่อน นั่นคือ “หมวกวิ่งประสิทธิภาพสูงที่มีสามารถใช้งานได้อย่างจริงจังและมีความคลาสสิค ไม่ตกยุคสมัย”
ทำให้พวกเขาทั้งคู่ได้นำไอเดียนี้มาพูดคุยและลงมือออกแบบร่วมกัน จนในท้ายที่สุด พวกเขาได้กำหนดนิยามหมวกสำหรับใส่วิ่งของพวกเขาขึ้นมาว่า
“ต้องเป็นหมวกที่มีดีกว่าแค่การระบายอากาศ มันต้องสามารถพับเก็บใส่กระเป๋าได้สะดวกเมื่อไม่ได้ใช้งาน ต้องมีแถบสะท้อนแสงสำหรับวิ่งเวลาพลบค่ำ และเนื้อผ้าต้องระบายเหงื่อได้เร็ว ใส่แล้วไม่ร้อน รวมทั้งสิ่งที่ขาดไปไม่ได้คือ รูปทรงและสีของหมวกที่ต้องให้ความรู้สึกที่สนุกแก่ผู้ที่ใส่มันและผู้ที่พบเห็นเสมอ”
“ซึ่งทั้งหมดนี้ คือเส้นทางของเราที่จะส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมือนใครด้วยไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างจากในอดีต” – Jeremy Bresnen กล่าว

และในปี 2014 แบรนด์ CieleAthletics ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ซึ่งชื่อ Ciele มาจากคำว่า Ciel ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศสที่มีความหมายว่า “ท้องฟ้า” หรือ “สวรรค์” โดยผู้ก่อตั้งอย่าง Jeremy Bresnen ได้ออกเสียงอย่างเป็นทางการไว้ว่า “เซียล์-เล่” หรือ“เซีย-แอล-เล่” โดยคำว่า “แอล” ตรงกลางจะออกเสียงเบาๆ เท่านั้น
ปล. ประเทศแคนาดาเป็นประเทศที่ใช้ภาษาหลักอยู่สองภาษา คือ ภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส จึงไม่แปลกที่แบรนด์ Ciele Athletics จะมีชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Ciele Athlétique
อย่างไรก็ดี ดูเหมือนสองผู้ก่อตั้งจะไม่ได้ใส่ใจกับการเรียกชื่อผิดของแบรนด์ตัวเองเท่าไหร่นัก ซึ่งบนโลกอินเตอร์เน็ตต่างเรียกชื่อแบรนด์ของพวกเขาไปต่างๆ นานา เช่น ซีรีส์ ซีแอล หรือซีแอลเล่
โดยหมวกวิ่งใบแรกที่พวกเขาออกแบบและนำออกมาวางจำหน่ายถูกใช้ชื่อว่า “GOCap” ซึ่งในตอนแรกพวกเขาคิดจะวางจำหน่ายเพียงแค่สีเดียว ไซส์เดียวและรูปแบบเดียว ที่ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชายต่างก็สามารถสวมใส่ได้ แต่ในภายหลังพวกเขาก็เกิดเปลี่ยนใจและเปิดตัวด้วยหมวกที่มีถึง 9 สีให้เลือก ซึ่งทั้งหมดจะใช้รูปทรงเดียวกันคือ หมวกรูปทรง “Five-panel Cap”

- ความรู้เพิ่มเติม หมวกรูปทรง “Five-panel Cap” หรือหมวกที่ประกอบขึ้นจากผ้า 5 ชิ้น ซึ่งเป็นหมวกที่เป็นสัญลักษณ์ของแฟชั่นแนวสตรีทแวร์ ที่เป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น โดยมีที่มาจากหมวกของเด็กส่งของในช่วงตอนต้นของศตวรรษที่ 20 ก่อนที่มันจะเป็นที่นิยมในช่วงยุค 80 และยุค 90 ที่ผู้คนในยุคสมัยนั้นต่างนำไปใส่เที่ยวคลับในกรุงลอนดอนและกรุงเบอร์ลิน

- โดยความนิยมของหมวกทรงนี้กลับมาอีกครั้งจากการที่แบรนด์แฟชั่นใหญ่ๆ ของโลกอย่าง Supreme, HUF, 10 Deep และ Obey ได้นำกลับมาผลิตขายอีกครั้ง จนทำให้เกิดกระแสความต้องการในตลาดที่เพิ่มขึ้นมาอย่างล้นหลาม ส่งผลให้แบรนด์ต่างๆ พากันผลิตหมวกรูปทรงนี้ออกมาในราคาที่ถูกกว่า ทำให้ผู้ที่ชื่นชอบในแฟชั่นแนวสตรีทแวร์สามารถเข้าถึงหมวกรูปทรงนี้ได้อย่างไม่ยากนัก
- รู้หรือไม่ว่า Duckbill Cap หรือหมวกปากเป็ดที่คนไทยรู้จัก ไม่ใช่ชื่อรูปทรงหมวก แต่มันคือชื่อรุ่นหมวกของแบรนด์ Patagonia ซึ่งหมวก Patagonia Duckbill ถือได้ว่าเป็นหมวกรูปทรง “Five-panel Cap” แต่จะเป็นการออกแบบให้ด้านข้างทั้ง 4 เป็นผ้าตาข่าย โดยมีด้านหน้าเป็นผ้าทึบเท่านั้น ซึ่งจุดเด่นในอดีตของหมวกรุ่นนี้ คือ เนื้อผ้าที่ทำมาจากผ้า CoolMax ที่สามารถระเหยเหงื่อและน้ำได้อย่างรวดเร็ว

- นอกจากนี้สิ่งที่คนไทยเข้าใจผิดอีกอย่างคือการเรียกมันว่าหมวกปากเป็ด ซึ่งคำว่า Duckbill ไม่ได้แปลว่าปากเป็ดของเป็ด แต่มันคือปากของตัวตุ่นปากเป็ดต่างหาก
Jeremy Bresnen ได้กล่าวถึงประสบการณ์ในปีแรกไว้อย่างขบขันว่า “พวกเราอย่างกับเป็นตัวปัญหาให้กับผู้ผลิตหมวกของเราเลย” โดยเขาอธิบายว่าในครั้งแรกพวกเขาไม่สามารถหาผู้ผลิตหมวกในประเทศแคนาดาที่มีความเชี่ยวชาญทั้งในด้านของเนื้อผ้าและในด้านของการผลิตที่สามารถผลิตหมวกที่มีสีสันหลากหลายสีภายในหมวกใบเดียวได้ ทำให้พวกเขาต้องวุ่นติดต่อไปยังโรงงานผลิตหมวกในประเทศต่างๆ
ซึ่งนี้ไม่ใช่ปัญหาเดียวที่พวกเขาพบเจอในฐานะของผู้ประกอบการ แม้ว่าโรงงานผลิตที่ประเทศจีนจะสามารถผลิตในแบบที่พวกเขาต้องการได้ แต่มีโรงงานเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ที่จะยอมผลิตหมวกที่มีรายละเอียดทั้งในด้านของเนื้อผ้าและการออกแบบในจำนวนไม่กี่ใบส่งให้แก่พวกเขา

แต่อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดพวกเขาก็ประสบความสำเร็จในการเจรจาสัญญาการผลิตสินค้าล็อตแรก
หมวกล็อตแรกจำนวน 1,400 ใบ ได้ถูกวางจำหน่ายโดยตรงบน Instagram และเว็บไซต์ของพวกเขา แต่สิ่งที่พวกเขาค้นพบคือลูกค้าไม่เชื่อถือแบรนด์ใหม่ๆ หากไม่นำสินค้าเหล่านี้ไปวางจำหน่ายบนหน้าร้านค้าดัง ทำให้ปัญหาต่อมาคือจะทำอย่างไรให้ร้านค้าเหล่านั้นยอมรับหมวกแบรนด์เกิดใหม่ของพวกเขาเข้าไปวางจำหน่าย
วิธีการแก้ปัญหาของพวกเขาน่าสนใจเป็นอย่างมาก ซึ่งทั้งคู่เรียกมันว่า “grassroots approach” หรือ “วิธีการระดับรากหญ้า” โดยวิธีการนี้คือ การที่ติดต่อไปยังพนักงานขายของร้านค้านั้นๆ แล้วส่งผลิตภัณฑ์ให้พวกเขาได้สวมใส่ขณะอยู่ในร้าน แทนที่การติดต่อไปยังเจ้าของร้านโดยตรง และเมื่อเจ้าของร้านสังเกตเห็นว่าพนักงานของเขาสวมหมวกแปลกๆ นั่นแหละคือ โอกาสของ Jeremy Bresnen และ Mike Giles ที่จะได้นำเสนอผลิตภัณฑ์
แน่นอนว่าวิธีการนี้ได้ผล ร้านค้ายอมรับหมวกของพวกเขาเข้ามาวางจำหน่าย ประกอบกับการวางจำหน่ายบน Instagram และเว็บไซต์ ทำให้ในปีแรกพวกเขาสามารถจำหน่ายหมวก Ciele ได้ประมาณ 400 ถึง 600 ใบ ซึ่งแม้ว่ามันจะขายไม่ได้ถึงครึ่งหนึ่งของสินค้าล็อตแรก แต่ก็เพียงพอที่จะยืนยันแล้วว่าผลิตภัณฑ์ของพวกเขาเป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งเสียงตอบรับของผู้ใช้ที่ไปในทิศทางบวกเป็นอย่างมาก

ปีต่อมาถือได้ว่าเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดสำหรับพวกเขา ที่ทางผู้จัดงานแข่งขันวิ่งเก่าแก่ของประเทศแคนาดาอย่าง Canada Running Series ได้เล็งเห็นถึงแบรนด์ Ciele Athletics ซึ่งเป็นแบรนด์เกิดใหม่ในประเทศแคนาดา
ซึ่ง ณ เวลานั้น ยังเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่กระแส “Proud to be Canadian” หรือ “ภูมิใจที่เป็นชาวแคนาดา” กำลังเป็นกระแส ส่งผลให้แบรนด์ Ciele Athletics ได้รับเกียรติถูกเชิญให้เข้าเป็นผู้สนับสนุนหมวกวิ่งอย่างเป็นทางการในรายการแข่งขันวิ่งมาราธอน Toronto Waterfront Marathon ในปี 2015 ที่จัดขึ้นโดย Canada Running Series

นอกจากนี้ภายในปีเดียวกัน Jeremy Bresnen และ Mike Giles ยังได้ติดต่อไปยังคลับวิ่งหลายแห่งในประเทศแคนาดาอย่าง Parkdale Run Club เพื่อสร้างสังคมพบปะพูดคุยเกี่ยวกับการวิ่ง โดยมีหมวกวิ่ง Ciele เป็นสื่อกลางในการพบปะ รวมทั้งพวกเขายังใช้โอกาสนี้ในการสอบถามความคิดเห็นของผู้ใช้ ที่ต่างก็มีความต้องการที่หลากหลาย เพื่อนำมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่ๆ พวกเขาอยู่เสมอ

และต่อมาในปี 2016 ทั้งคู่ได้นำแบรนด์ Ciele Athletics เข้าจับมือกับแบรนด์ Janji ซึ่งเป็นแบรนด์สตาร์ทอัพด้านชุดและเสื้อผ้าสำหรับใส่วิ่งที่มาแรงจากเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในการร่วมมือกันในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการ Collab ครั้งแรกของแบรนด์ Ciele Athletics
โดยแบรนด์ Janji ถือกำเนิดจากแนวคิดอันแสนเรียบง่ายที่ว่า “จัดหาน้ำสะอาดให้แก่ผู้ที่ขาดแคลนน้ำในประเทศที่กำลังพัฒนา” ซึ่งพวกเขาจะบริจาค 5 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ที่ได้จากการขายชุดและเสื้อผ้าสำหรับใส่วิ่งไปให้แก่โครงการผลิตน้ำสะอาดในประเทศที่กำลังพัฒนาในทุกๆ ปี และสนับสนุนการใช้วัสดุเนื้อผ้าที่มาจากประเทศเหล่านั้น เพื่อสร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่น รวมทั้งการออกแบบชุดต่างๆ ก็จะเป็นการออกแบบที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปินท้องถิ่นอีกด้วย

Janji x Ciele Athletics จึงเป็นเสมือนการบ่งบอกว่าพวกเขากำลังเป็นส่วนหนึ่งของแรงผลักดันในการช่วยเหลือปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมของโลก
และการจับมือกันในครั้งนั้น ทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์หมวกวิ่ง Collab รุ่นพิเศษ อย่าง Janji x Ciele Athletics GoCap ที่ลวดลายต่างๆ บนหมวกได้รับแรงบันดาลใจมาจากชุมชนในประเทศเคนยา

โดยในการเปิดตัวและวางจำหน่ายวันแรกได้สร้างปรากฏการณ์ขายหมดเกลี้ยงภายในหนึ่งวัน ซึ่งราคาวางจำหน่ายในครั้งแรกของหมวกใบนี้มีราคาเพียงแค่ $38 หรือราวๆ 1,200 บาท เท่านั้น
ซึ่งแน่นอนว่าหมวกวิ่งรุ่นพิเศษนี้ไม่ได้มีการผลิตออกมาเพิ่มในปีต่อมา ทำให้มันได้กลายมาเป็นของสะสมหายากของโลก ที่เคยมีหลุดออกมาขายในสภาพมือสองใช้แล้วที่สกรีนหลุดด้วยราคาที่สูงถึง $75 หรือราวๆ 2,400 บาท และแน่นอนว่ามีผู้ที่ยินดีจ่ายเพื่อที่จะครอบครองหมวกใบนี้

ในปัจจุบัน แบรนด์ Ciele Athletics ได้มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในแต่ละปี ทำให้มีผู้ใช้งานหมวกวิ่งของพวกเขาจากทั่วทุกมุมโลกและมีร้านค้าที่วางจำหน่ายกว่า 400 ร้านทั่วโลก
โดยที่พวกเขามีการออกแบบหมวกวิ่งรุ่นใหม่ๆ หลากหลายรูปแบบและหลากหลายสี ที่ออกมามากกว่า 100 แบบต่อปี ซึ่งแต่ละสีจะมีวางจำหน่ายเฉพาะในแต่ละซีซั่นและจะวางจำหน่ายจนกว่าของจะหมด ซึ่งจะไม่มีการผลิตออกมาซ้ำในคอลเลกชันในซีซั่นอื่นๆ
และคอลเลคชั่นพิเศษในปีนี้ของแบรนด์ Ciele Athletics คือ “คอลเลคชั่น W.W.M.” หรือ “Worldwide Movement” ซึ่งเป็นคอลเลคชั่นที่ระลึกถึงรายการแข่งขันวิ่งที่ใหญ่ที่สุดของโลก 6 รายการ ที่ถูกจัดขึ้น ณ 6 เมืองหัวเมืองใหญ่ ได้แก่
- Berlin Marathon – กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
- New York City Marathon – กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
- Chicago Marathon – กรุงชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
- Boston Marathon – กรุงบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา
- London Marathon – กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
- Tokyo Marathon – กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

โดยรายการแข่งขันวิ่งเหล่านี้ถูกขนานนามว่าเป็นรายการแข่งขันที่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนทั่วโลก และหมวกในคอลเลคชั่นนี้ในต่างประเทศก็ขายหมดเกลี้ยงเกือบทุกลาย ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า ในประเทศไทยของเราจะมีหลุดเข้ามาจำหน่ายถึง 2 ลาย คือ ลาย Berlin ใหม่ และ Boston โดยวงในบอกกับทางเราว่าลาย Boston มีเหลือเพียง 3 ใบ และที่หายากยิ่งกว่าคือ ลาย Berlin ที่มีเหลือเพียงใบเดียวในไทยเท่านั้น นักวิ่งท่านใดที่ต้องการเป็นเจ้าของต้องรีบๆ กันหน่อยแล้ว (รายละเอียดร้านค้าที่วางจำหน่ายจะฝากไว้ด้านล่างนะครับ)

ความรู้เพิ่มเติม หากยังจำกันได้สถิติโลกระยะมาราธอนของฝ่ายชายในปัจจุบันยังคงเป็นของ Eliud Kipchoge ที่ทำไว้ในสนามแข่ง Berlin Marathon ในปี 2018 ด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 1 นาที 39 วินาที และของฝ่ายหญิงเป็นของ Brigid Kosgei ที่ทำไว้ในสนามแข่ง Chicago Marathon ในปี 2019 ด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 14 นาที 4 วินาที
นอกจากนี้ พวกเขายังจับมือกับอีกหลายแบรนด์ในการทำหมวกวิ่ง Collab พิเศษออกมาอยู่ตลอด โดยการจับมือครั้งล่าสุดของพวกเขาคือ Ciele Athletics x Tracksmith ภายใต้ชื่อรุ่นว่า GOCap – Track and Field Cap ซึ่งแบรนด์ Tracksmith เป็นแบรนด์ชุดและเสื้อผ้าจากเมืองนิวอิงแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ขึ้นชื่อในด้านของการออกแบบชุดวิ่งรูปทรงคลาสสิค
และแน่นอนว่าหมวกวิ่งรุ่นพิเศษ GOCap – Track and Field Cap ที่วางจำหน่ายในวันที่ 26 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขายหมดเกลี้ยงทุกสีภายในเวลาไม่กี่วันเท่านั้น


ในด้านของยอดขายในปัจจุบัน จากข้อมูลของ EDC (Export Development Canada) ซึ่งเป็นหน่วยงานปล่อยสินเชื่อของรัฐบาลแคนาดา ได้ให้ข้อมูลว่า “ยอดขายหมวกวิ่งของแบรนด์ Ciele Athletics ในปี 2020 มีมากกว่า 100,000 ใบทั่วโลก” ซึ่งทางรัฐบาลแคนาดาได้เล็งเห็นโอกาสโดยการเพิ่มเงินทุนหมุนเวียนให้แก่พวกเขาในการขยายตลาดเพิ่มเติม
Mike Giles ถึงกับกล่าวขอบคุณทางรัฐบาลแคนาดาว่า “เราสามารถที่จะยืมเงินที่เราต้องการเพื่อนำมาขยายสู่ตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่สามารถชำระคืนเงินกู้ได้หากเกิดปัญหาล้มละลาย ซึ่งโครงการค้ำประกันเงินกู้ทำให้เรามั่นใจว่าหากเกิดปัญหาที่ยุ่งยาก เราก็ยังมีทางออกอยู่เสมอ”
และสุดท้ายในด้านของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม พวกเขายังคงให้ความสำคัญที่ไม่เปลี่ยนแปลง โดยในปี 2020 ที่ผ่านมา หมวกวิ่งของแบรนด์ Ciele Athletics กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ใช้เส้นดายของ REPREVE ที่ทำมาจากขวดน้ำพลาสติกรีไซเคิล และในปี 2021 นี้ พวกเขาได้เพิ่มให้มีสัดส่วนที่มากขึ้นเป็น 85 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของแบรนด์อีกด้วย

คุณค่าที่ถูกส่งมอบ

Jeremy Bresnen และ Mike Giles สร้างแบรนด์ Ciele Athletics ให้เติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อที่พวกเขาจะสามารถใช้เวลาในการคิดและไตร่ตรองทำในสิ่งที่ควร
“พวกเราเร่งรีบอยู่ตลอดเวลา แต่พวกเราจะให้เวลาในการคิดและออกแบบผลิตภัณฑ์ของเราอย่างเต็มที่เสมอ” – Jeremy Bresnen กล่าว
“การออกแบบรูปร่างหน้าตาของผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับพวกเรา แต่ประสิทธิภาพและการใช้งานได้จริงของผลิตภัณฑ์คือ สิ่งที่พวกเราให้ความสำคัญยิ่งกว่า เพราะนั่นคือที่ที่ความน่าเชื่อถือของแบรนด์ Ciele Athletics ตั้งอยู่”
พวกเขาทั้งคู่ได้เข้าใจเป็นอย่างดีว่า การที่จะยืนโดดเด่นในหมู่ฝูงชนนั่นจำเป็นต้องรู้ถึงจุดเด่นของตนเองเป็นอย่างดี ซึ่งการขายสินค้าให้หมดไปอย่างรวดเร็วเป็นเรื่องที่ไม่ยาก แต่การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่น่าจดจำต้องใช้เวลาเสมอ
นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังมีการขยายสายผลิตภัณฑ์เพิ่มเข้ามาอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อตอบสนองกับความคาดหวังของลูกค้าที่เพิ่มมากขึ้น ที่ในปัจจุบันแบรนด์ Ciele Athletics มีทั้งหมวกวิ่งรูปทรงไวเซอร์และรูปทรงบักเก็ต รวมไปถึงชุดและเสื้อผ้าสำหรับใส่วิ่ง

และแน่นอนว่า ในทุกๆ ครั้งที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา ความยุ่งยากซับซ้อนในการออกแบบก็จะตามมาด้วย ซึ่งพวกเขาจะสละเวลามารับฟังความคิดเห็นของลูกค้าอยู่เสมอ
ขณะเดียวกัน เสียงเชิงลบของผู้ที่ไม่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ของพวกเขา ที่มักจะกล่าวว่าพวกเขาว่า “พวกคุณมันก็แค่หมวกที่จะพยายามดูเท่ก็เท่านั้น” ก็มีอยู่ไม่น้อย แต่ Jeremy Bresnen และ Mike Giles ก็ได้พิสูจน์ว่าพวกเขาเหล่านั้นคิดผิด โดยการให้พวกเขาได้ทดสอบหมวก และหลังจากนั้นพวกเขาจะกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “มันยอดเยี่ยมมาก”
ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งคู่ยังกล้ารับประกันผลิตภัณฑ์ด้วย “การการันตีความทนทานเกินกว่าล้านไมล์” หรือ “Million Miles Guarantee” ซึ่งถ้าหมวกมีตำหนิหรือมีปัญหาจากการตัดเย็บสามารถเข้าไปกรอกแบบฟอร์มออนไลน์ขอใบใหม่มาได้เลย หรือหากใช้งานแล้วรู้สึกไม่พอใจก็สามารถส่งคืนหรือเปลี่ยนใบใหม่ได้ภายใน 60 วันหลังจากการซื้อ
Jeremy Bresnen และ Mike Giles กล่าวปิดท้ายไว้ว่า “พวกเราได้รับรูปถ่ายจากนักวิ่งจากทั่วทุกมุมโลกที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา ซึ่งพวกเราไม่คิดว่าจะได้มายืนถึงจุดนี้ มันทำให้พวกเราทึ่งอยู่ตลอดเวลาว่าตอนนี้พวกเราได้สร้างชุมชนและสังคมที่สนุกสนานขึ้น และพวกเราอยากจะขอบคุณและพูดกับพวกคุณว่า พวกคุณเจ๋งสุดๆ ไปเลย”

สุดท้ายแล้ว แม้ว่าทั้งคู่จะมีภูมิหลังธรุกิจที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่พวกเขามีร่วมกันอย่างปฏิเสธไม่ได้คือ การเป็นนักออกแบบ ความหลงไหลและชื่นชอบในกีฬา รวมทั้งจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ ซึ่งจิตวิญญาณของผู้ประกอบการในที่นี่ ไม่ใช่ความต้องการเพียงแค่เงิน แต่มันคือ ความต้องการที่จะส่งมอบคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดและความหลงไหลที่ผู้ก่อตั้งมีให้ถึงมือของลูกค้า
ดังที่ Mike Giles เคยกล่าวเอาไว้ว่า “มาสร้างผลิตภัณฑ์ที่เรียบง่ายที่สุดและทำให้มันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และหลังจากนั้น มันจะกลายเป็นประวัติศาสตร์”

และสำหรับบทความประวัติแบรนด์ Ciele (เซียล์-เล่) ต้นกำเนิดหมวกวิ่งที่มาแรงที่สุดในโลก ทางเราต้องขอจบไว้ ณ ตรงนี้ และในบทความหน้าเราจะมาพูดคุยและอธิบายถึงรุ่นต่างๆ ของหมวกวิ่งแบรนด์ Ciele Athletics ที่ไม่ว่าจะเป็น GOCap, SC LRCap SC, TRKCap SC, ALZCap และอื่นๆ อีกมากมาย รวมไปถึงเทคโนโลยีต่างๆ โปรดติดตามตอนต่อไปครับ
ปล. บทความนี้ยังไม่จบมีช่วงพิเศษท้ายบทความ
และท่านใดที่สนใจในผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ Ciele Athletics ตอนนี้ร้าน Caveman Store ได้นำคอลเลกชั่นหมวกและชุดเสื้อผ้าใหม่ๆ เข้ามาวางจำหน่ายแล้วในประเทศไทยและราคาไม่แรงอยู่ระหว่าง 1,000 – 1,900 บาท เท่านั้น สามารถเข้าไปติดตามได้ตามช่องทางด้านล่างนี้เลยครับ

ช่วงพิเศษคุยกันท้ายบทความ
รู้หรือไม่ว่า หมวกวิ่งที่ตามกระแสของแบรนด์ Ciele Athletics ที่คนไทยอาจคุ้นตาและมีวางจำหน่ายในประเทศไทย คือ แบรนด์ Fractel จากประเทศออสเตรเลีย ที่ก่อตั้งในปี 2018 ซึ่งเป็นการดำเนินธรุกิจแบบเดียวกับแบรนด์ Ciele Athletics แทบทุกประการ

แต่แบรนด์ Fractel จะนำเสนอความเป็นหมวกสำหรับการวิ่งเทรลมากกว่าและจะมีการดึงเอาศิลปินในประเทศออสเตรเลียเข้ามาร่วมในการออกแบบ ที่บางคอลเลกชั่นเป็นการนำเอกลักษณ์ของชาวอะบอริจินท้องถิ่นมาใช้
นอกจากนี้ ในประเทศไทยยังมีแบรนด์ของไทยเองอย่าง TRAILWAY ที่ทำหมวกวิ่งทรงนี้ออกมาวางจำหน่ายเช่นเดียวกัน รวมไปถึงช่างตัดเย็บหมวกฝีมือดีของไทยอย่างเพจ Custom Duckbill Thailand ที่รับตัดหมวกรูปทรงนี้จากเสื้อ ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตประเทศไทยอาจจะมีแบรนด์หมวกวิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ที่สามารถเติบโตในระดับโลกก็เป็นได้


หวังว่าบทความนี้เป็นจะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิ่งหรือผู้ที่สนใจในการวิ่งหลาย ๆ ท่าน ขอให้วิ่งให้สนุกครับ และสามารถติดตาม Running Profiles ได้ทั้งใน