วันนี้เรามาเล่าถึงประวัติความเป็นมาและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับไม้โพลในการวิ่งเทรล รวมไปถึงเทคนิคในการเลือกและใช้งานไม้โพลอย่างถูกต้อง พร้อมกับการรีวิวไม้โพลวิ่งเทรลวัสดุคาร์บอนอย่าง EVADICT 3-Piece Carbon Folding Trail Running Pole ซึ่งถือเป็นไม้โพลคาร์บอนพับได้ที่ดีที่สุดจากแบรนด์ Decathlon โดยจะน่าสนใจแค่ไหน เชิญติดตามได้เลยครับ
ประวัติความเป็นมาของไม้โพล

หลักฐานต้นกำเนิดของไม้โพลหรือไม้ค้ำยันมีมาอย่างยาวนานตั้งแต่ 4,000 ถึง 6,000 ปีก่อน โดยเป็นภาพเขียนบนผนังหิน ที่เหล่าผู้คนกำลังใช้สกีในการเดินทางบนหิมะและมีการถือไม้สำหรับค้ำยัน เพื่อช่วยในการเคลื่อนที่ ซึ่งภาพเขียนบนผนังเหล่านี้ถูกพบทั้งในประเทศนอร์เวย์ ประเทศรัสเซีย และภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีน
ซึ่งสกีและไม้โพลถือเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของกลุ่มคนในประเทศเขตหนาวในฐานะอุปกรณ์ที่ใช้ในการเดินทางบนหิมะ ทำให้การเดินทางด้วยสกีบนหิมะมีชื่อเรียกที่หลากหลายตามแต่ละประเทศ โดยประเทศในแถบสแกนดิเนเวียอย่างประเทศสวีเดน นอร์เวย์ และฟินแลนด์ มักเรียกว่า “Nordic skiing” และประเทศในแถบเทือกเขาแอลป์อย่างประเทศฝรั่งเศสและอิตาลี จะถูกเรียกว่า “Ski touring” ซึ่งในชื่อสามัญแล้วจะถูกเรียกว่า “Cross country skiing” หรือมีความหมายว่า “การเดินทางข้ามประเทศโดยใช้สกี”

ต่อมา Cross country skiing หรือ “สกีครอสคันทรี” ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนพลของเหล่ากองทัพในสงคราม โดยกองทหาร ณ เมือง Trondheim ประเทศนอร์เวย์ ได้เริ่มใช้งานสกีตั้งแต่ในช่วงปี 1675
ซึ่งตั้งแต่อดีตจนถึง ณ ช่วงเวลา นี้ ไม้โพลยังคงเป็นเพียงไม้ค้ำยันที่มีเพียงข้างเดียว จนกระทั่งในปี 1741 ผู้ใช้งานสกีได้เริ่มมีการทดลองใช้ไม้โพลคู่ แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก

และในปี 1747 กองทัพเดนมาร์ก-นอร์เวย์ ได้มีการก่อตั้งกองพันสกีเฉพาะขึ้น และได้มีการเริ่มฝึกซ้อมการใช้สกีอย่างเป็นระบบ ทำให้ในปี 1767 กองทัพนอร์เวย์ได้เป็นชาติแรกที่ประกาศจัดการแข่งขันสกีขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยมีเงินรางวัลในการแข่งขัน

ทำให้ในช่วงต้นของปี 1800 สกีครอสคันทรีได้พัฒนาจากวิถีการเดินทางสัญจรกลายมาเป็นกิจกรรมสันทนาการและกีฬาในฤดูหนาว ซึ่งส่งผลให้สกีครอสคันทรีเริ่มได้รับความนิยมและแพร่หลายที่มากยิ่งขึ้น โดยในปี 1836 ผู้อพยพชาวนอร์เวย์ก็ได้นำเสนอการใช้สกีเป็นครั้งแรกในประเทศสหรัฐอเมริกา
ต่อมาในปี 1887 เหล่านักสกีได้เปลี่ยนมาใช้ไม้โพลคู่อย่างเป็นทางการ เนื่องจากไม้โพลคู่สามารถช่วยในการทรงตัวได้ดีกว่าและช่วยให้การเคลื่อนที่บนหิมะมีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่าการใช้ไม้โพลเพียงข้างเดียว

และตั้งแต่ในอดีต ณ ช่วงฤดูหนาว นักสกีจะมีการใช้สกีและไม้โพลในการฝึกซ้อมและแข่งขันอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามในช่วงฤดูร้อนที่ไม่มีหิมะ อุปกรณ์สกีและไม้โพลจะไม่ได้ถูกนำมาใช้งาน จนกระทั่งในช่วงปี 1930 เหล่านักสกีชาวฟินแลนด์ได้มีการเริ่มนำไม้โพลมาใช้ฝึกซ้อมในช่วงฤดูร้อน เพื่อเตรียมตัวแข่งขันในช่วงฤดูหนาว ทำให้ไม้โพลไม่ได้ถูกจำกัดให้ใช้งานเฉพาะบนหิมะอีกต่อไป
และในด้านของวัสดุไม้โพล ในอดีตจะทำขึ้นจากต้นสนและไม้ไผ่ ก่อนที่จะพัฒนาขึ้นเป็นเหล็กในปี 1933 จนกระทั่งในปี 1959 Edward L. Scott วิศวกรและนักประดิษฐ์ชาวอเมริกันได้ประดิษฐ์ไม้โพลสกีวัสดุอลูมิเนียมน้ำหนักเบาคู่แรกของโลกได้สำเร็จ

และเขายังได้คิดค้นและจดสิทธิบัตรสายคล้องข้อมือในไม้โพลเป็นครั้งแรกของโลกในปี 1960 โดยสายคล้องข้อมือนี้ในปัจจุบันกลายมาเป็นส่วนประกอบสำคัญของไม้โพลทุกประเภท

ต่อมาในปี 1966 Leena Jääskeläinen อาจารย์พลศึกษาจากมหาวิทยาลัย University of Jyväskylä ณ ประเทศฟินแลนด์ ได้นำเสนอแนวคิดการเดินโดยใช้ไม้โพลขึ้นเป็นครั้งแรกในชั้นเรียนของเธอ โดยเธอเรียกแนวคิดนี้ว่า “Sauvakävely” ในภาษาฟินแลนด์ โดยมีความหมายในภาษาอังกฤษว่า “Pole walking” หรือ “การเดินโดยใช้ไม้โพล”

และอดีตหัวหน้าโค้ชสกีครอสคันทรีชาวฟินแลนด์ Mauri Repo ได้นำเทคนิคการเดินโดยใช้ไม้โพลในช่วงฤดูร้อนมาบรรจุเป็นหนึ่งในหลักสูตรสำคัญในการฝึกซ้อมของนักสกี ก่อนที่ต่อมา การเดินโดยใช้ไม้โพลจะถูกเรียกอย่างเป็นทางการว่า “Nordic Walking” หรือ “การเดินแบบนอร์ดิก” ที่ในปัจจุบันกลายมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการออกกำลังกาย
ทำให้ ณ ช่วง เวลานั้น ไม้โพลได้ถูกประดิษฐ์และพัฒนาขึ้นในหลากหลายรูปแบบ และในปี 1974 ไม้โพลพับได้แบบ Telescopic หรือแบบยืดหดได้ก็ถูกประดิษฐ์ขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก โดยวิศวกรชาวเยอรมัน Karl Lenhart เพื่อใช้สำหรับพกพาไปใช้ในการพิชิตและสำรวจยอดเขา หรือ Mountaineering ทำให้ถือได้ว่านี้คือไม้โพลสำหรับเดินป่าแบบพับได้คู่แรกของโลก

และ 4 ปีต่อมา ในปี 1978 นักปีนเขาชาวอิตาลี Reinhold Messner และนักปีนเขาชาวออสเตรีย Peter Habeler ร่วมกันพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้สำเร็จ โดยใช้ไม้โพลคู่นี้ และยังเป็นครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ของการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์โดยไม่ใช้ถังออกซิเจนช่วย
และการใช้ไม้โพลของพวกเขายังเป็นการปฏิวัติแนวคิดการใช้ไม้โพลของเหล่านักปีนเขาและเดินป่า ที่ในอดีตเหล่านักปีนเขาจะใช้ไม้ค้ำยันขนาดยาวที่ถือไว้เพียงข้างเดียวสู่การใช้ไม้โพลเดินป่าคู่ที่เป็นมาตรฐานในปัจจุบัน

ซึ่งนวัตกรรมทางด้านวัสดุในช่วงปี 1970 ถือได้ว่ามีการพัฒนาที่ก้าวกระโดดเป็นอย่างมาก โดยวัสดุคาร์บอนที่ค้นพบขึ้นครั้งแรกในปี 1860 ก็ได้ถูกพัฒนาต่อยอดจนสามารถผลิตออกมาใช้งานได้อย่างแพร่หลายมากขึ้นที่ ณ ช่วงเวลานี้
ทำให้ในปี 1976 บริษัท EXEL อดีตบริษัทผลิตระเบิดสัญชาติฟินแลนด์ที่ผันตัวมาทำอุปกรณ์กีฬาและสกี ได้เปิดตัวไม้โพลสกีครอสคันทรีวัสดุคาร์บอนคู่แรกของโลก โดยถูกส่งไปให้นักสกีในการแข่งขันโอลิมปิคฤดูหนาว ที่จัดขึ้น ณ เมือง Innsbruck ประเทศออสเตรีย ในปี 1976

ในขณะเดียวกัน แนวคิดด้านความปลอดภัยของการใช้ไม้โพลสกีก็เริ่มเป็นที่พูดถึงและถูกให้ความสนใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของสายคล้องข้อมือแบบดั้งเดิม ที่แม้ว่าจะมีหน้าที่เพิ่มความกระชับและป้องกันไม้โพลไม่ให้หล่นหายระหว่างการใช้งาน แต่มันก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่สามารถสร้างอันตรายในแก่ผู้ใช้งานได้ในเวลาเดียวกัน
โดยเมื่อปลายไม้โพลไปติดกับหินหรือรากไม้ที่มองไม่เห็นใต้หิมะ ซึ่งหากไม่ได้มาด้วยความเร็วก็อาจไม่ได้มีความอันตรายมากนัก แต่สำหรับสกีหิมะที่มีการลงเขาด้วยความเร็ว ทำให้การที่ไม้โพลไปติดกับหินอาจนำไปสู่อุบัติเหตุที่ร้ายแรงได้ และอีกหนึ่งปัญหาคือ เมื่อนักสกีเกิดพลาดล้มและถูกกลบอยู่ใต้หิมะ สายคล้องมือแบบดั้งเดิมที่ติดกับไม้โพลจะทำให้นักสกีไม่สามารถขยับแขนและมือมาช่วยชีวิตของตนเองได้
ทำให้ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา ได้เกิดการประดิษฐ์สายคล้องข้อมือ โดยมีลักษณะคล้ายกับถุงมือที่สามารถปลดออกมาจากตัวไม้โพลได้ทันทีขึ้น ซึ่งต่อมานวัตกรรมนี้จะกลายมาเป็นมาตรฐานในไม้โพลสกีครอสคันทรีส่วนใหญ่ ที่ไม้โพลกับสายคล้องข้อมือสามารถปลดออกจากกันได้

และในปัจจุบันสายคล้องข้อมือแบบปลดออกจากไม้โพลได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้ในไม้โพลประเภทต่างๆ ทั้งในไม้โพลวิ่งเทรลและไม้โพลสำหรับการเดินแบบนอร์ดิก โดยไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในวงการสกีอีกต่อไป
และในปี 2013 ไม้โพลพับได้แบบ 3 ท่อน สำหรับวิ่งเทรลโดยเฉพาะคู่แรกของโลกก็ถูกประดิษฐ์ขึ้น

ความรู้พื้นฐานของลักษณะการใช้พลังงานระหว่างการเดินและวิ่งของมนุษย์

ก่อนที่เราจะไปอธิบายเกี่ยวงานวิจัยและประโยชน์ของไม้โพลในขณะวิ่งเทรล เราต้องมาทำความเข้าใจพื้นฐานของลักษณะการใช้พลังงานระหว่างการเดินและวิ่งของมนุษย์กันก่อน
โดยข้อสรุปจากงานวิจัยชิ้นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินและวิ่ง ชี้ให้เห็นว่า การเดินของมนุษย์จะมีการใช้พลังงานที่น้อยกว่าการวิ่ง ณ ความเร็วที่ช้ากว่า 7.2 กม.ต่อชม. (หรือเพซ 8:20 นาทีต่อกม. ขึ้นไป) โดยสามารถสังเกตได้จากลักษณะการวิ่งที่ไม่มีการลอยตัวในอากาศ ซึ่งหมายความว่าจะมีเท้าข้างหนึ่งสัมผัสกับพื้นอยู่ตลอดเวลา
แต่โดยปกติแล้ว การวิ่งจะมีประสิทธิภาพและประหยัดแรงได้มากกว่าการเดิน ในกรณีที่การวิ่งมีความเร็วที่สูง เนื่องจากเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อของมนุษย์จะทำหน้าที่เป็นเสมือนกับสปริง ที่คอยกักเก็บและปล่อยพลังงานในแต่ละก้าว

ในขณะเดียวกัน ในด้านของการวิ่งเทรลได้มีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการใช้พลังงานขณะวิ่ง ที่ไม่ว่าจะเป็นพื้นผิวของดินที่สามารถซับแรงกระแทกได้ดีกว่าถนน สภาพเส้นทางที่ทรุกันดารและมีเนินเขา ส่งผลให้การวิ่งมีการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้น และไม่สามารถใช้ความเร็วได้อย่างเต็มที่และสม่ำเสมอ
โดย ดร. Nicola Giovanelli โค้ชนักวิ่งเทรลชาวอิตาลี และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย University of Udine ณ ประเทศอิตาลี ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญที่บุกเบิกการทำวิจัยเกี่ยวกับการวิ่งเทรล ได้เกิดคำถามที่ว่า “หากนักวิ่งเทรลอยู่ในสนามแข่งแล้วเผชิญหน้ากับเนินเขาที่สูงชัน พวกเขาควรจะเดินหรือวิ่งขึ้นเขา วิธีไหนจะมีประสิทธิภาพและประหยัดแรงได้มากกว่ากัน?”
และเพื่อตอบคำถามนี้ เขาและ ดร. Rodger Kram นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้านสรีรวิทยาและชีวกลศาสตร์ของการเคลื่อนไหวของมนุษย์ จากมหาวิทยาลัย University of Colorado Boulder ณ สหรัฐอเมริกา ได้ร่วมกันวิจัยในผลงานวิจัยในปี 2015 ที่มีชื่อว่า “Energetics of vertical kilometer foot races; is steeper cheaper?“ หรือ “ลักษณะการใช้พลังงานในการแข่งขัน Vertical Kilometer, การเดินหรือวิ่งขึ้นเขาชัน วิธีไหนประหยัดพลังแรงมากกว่ากัน?”

โดยงานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นการเปรียบเทียบลักษณะการใช้พลังงานของนักวิ่งเทรลระหว่างการเดินและวิ่งขึ้นเขาในระดับความชันต่างๆ ตั้งแต่ความชัน 16.5% (9.4 องศา), 28.3% (15.8 องศา), 37.2% (20.4 องศา) ไปจนถึง 81.5% (39.2 องศา) โดยเป็นการทดสอบบนลู่ไฟฟ้าที่ออกแบบพิเศษ ที่สามารถปรับความชันได้มากถึง 45 องศา หรือ ความชัน 100 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งผลงานวิจัยชิ้นนี้พบว่า “การวิ่งขึ้นเขาที่มีความชันต่ำกว่า 9.4 องศา หรือ ความชัน 16.5% ลงมา จะมีประสิทธิภาพและประหยัดแรงได้มากกว่าการเดิน ณ ความเร็วเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ความชันที่ชันมากเป็นพิเศษตั้งแต่ 15.8 องศา หรือ ความชัน 28.3% ขึ้นไป การเดินจะมีประสิทธิภาพและประหยัดแรงได้มากกว่าการวิ่งอยู่ถึง 8%”

ทำให้สำหรับการขึ้นเขาที่มีความชันเป็นพิเศษ การเดินสามารถช่วยประหยัดแรงได้เป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับการวิ่งด้วยความเร็วที่เท่ากัน ซึ่งข้อสรุปนี้ สามารถอธิบายได้จาก
“ลักษณะการเคลื่อนไหวขณะวิ่งของนักวิ่งที่เมื่อถึงความชันที่ชันมากระดับหนึ่ง จะส่งผลให้เท้าของนักวิ่งกลับมาสัมผัสพื้นอยู่ตลอดเวลา หรือไม่มีการลอยตัวจากการวิ่งอีกต่อไป ซึ่งไม่ต่างจากการเดินปกติ โดยที่การวิ่งในระดับความชันเหล่านี้ ยังมีผลทำให้รอบขามีจำนวนรอบที่สูงขึ้นและมีระยะก้าวที่สั้นกว่าการเดิน”

และเมื่อไม่มีการลอยตัวก็มีความหมายว่า “การรับและส่งแรงแบบสปริงที่เกิดขึ้นในการวิ่งบนทางราบจะไม่เกิดขึ้นในแบบที่ควรจะเป็น” ส่งผลให้เกิดเป็นลักษณะท่าทางในการวิ่งที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือใช้พลังงานในการวิ่งที่มากจนเกินไป
ทำให้โดยสรุปแล้ว การเดินจะถูกแนะนำเมื่อต้องขึ้นเขาที่มีความชันโดยเฉลี่ย 15 องศา หรือความชัน 27% ขึ้นไป และในทางกลับกัน หากเป็นเนินเขาที่ไม่สูงชันและสามารถทำความเร็วได้ การวิ่งจะมีประสิทธิภาพและประหยัดพลังงานได้มากกว่าการเดิน

งานวิจัยและความสำคัญของไม้โพลในการวิ่งเทรล

และเมื่องานวิจัยบ่งชี้ว่า การเดินขึ้นเขาชันเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและช่วยประหยัดแรงได้มากกว่าการวิ่ง แล้วหากเมื่อมีการใช้ไม้โพลช่วยจะยิ่งทำให้การขึ้นเขาง่ายขึ้นและประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม่? คำถามนี้นำไปสู่ตอบในงานวิจัยชิ้นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของไม้โพล ซึ่งมีการวิจัยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในวงการสกี เดินป่า และการเดินแบบนอร์ดิก
โดยงานวิจัยที่อธิบายถึงลักษณะการใช้พลังงานของร่างกายขณะใช้ไม้โพลถูกวิจัยไว้โดยมหาวิทยาลัย University of Verona ณ ประเทศอิตาลี ในปี 2016 จากงานวิจัยที่มีชื่อว่า “Mechanical energy patterns in nordic walking: comparisons with conventional walking“ หรือ “การเปรียบเทียบรูปแบบการใช้พลังงานระหว่างการเดินแบบนอร์ดิกและการเดินแบบปกติ”

ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการเปรียบเทียบการใช้พลังงานหรืออัตราการใช้ออกซิเจนของร่างกายขณะใช้ไม้โพลระหว่างการเดินออกกำลังกายแบบนอร์ดิก (Nordic Walking) กับการเดินแบบปกติที่ไม่ใช้ไม้โพลบนทางราบ
โดยผลการวิจัยพบว่า “เมื่อใช้ไม้โพลในการเดิน ร่างกายของมนุษย์จะมีการเผาผลาญพลังงานที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 20 เปอร์เซ็นต์” ซึ่งเกิดจากการทำงานและการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อส่วนบนและแขนที่เพิ่มขึ้นขณะใช้ไม้โพล ที่จะทำงานเพิ่มขึ้นโดยรวมอยู่ที่ 10.2 เปอร์เซ็นต์
ทำให้ในด้านของการประหยัดพลังงานดูเหมือนการใช้ไม้โพลในทางราบจะไม่ได้ช่วยในการประหยัดแรงมากนัก
อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของไม้โพลกลับมีความโดดเด่นในงานวิจัยในปี 2011 ที่ถูกวิจัยโดย ดร. Glyn Howatson จากมหาวิทยาลัย Northumbria University ณ ประเทศอังกฤษ ที่ได้ตั้งสมมุติฐานที่ว่า “การใช้ไม้โพลในการเดินป่าจะสามารถช่วยลดความล้าและอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้” ในงานวิจัยที่มีชื่อว่า “Trekking Poles Reduce Exercise-Induced Muscle Injury during Mountain Walking“ หรือ “ไม้โพลสามารถลดอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อในระหว่างการเดินป่า”

ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นการทดสอบโดยกลุ่มนักเดินป่า ที่ถูกแบ่งเป็นกลุ่มที่ใช้ไม้โพลและกลุ่มที่ไม่ได้ใช้ ในการเดินป่าที่มีการขึ้นและลงเขาเป็นระยะทาง 11.2 กม. ที่มีความชันสะสมอยู่ที่ 756 เมตร โดยที่ทั้ง 2 กลุ่มจะมีการสะพายเป้น้ำหนัก 5.6 กม. ติดตัวไปด้วย
หลังจากนั้น ทีมนักวิจัยจะทำการประเมินแต่ละกลุ่มทุก 24, 48, และ 72 ชั่วโมง หลังจากการเดินป่า โดยมีการเก็บค่าต่างๆ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ, แบบประเมินความรู้สึกเหนื่อย (RPE), ระดับความล้าของกล้ามเนื้อ, และระดับเอนไซม์ครีเอตีน ไคเนส (Creatine kinase: CK) ในเลือด
ซึ่งระดับเอนไซม์ครีเอตีน ไคเนส หรือ CK ในเลือดจะเป็นตัวบ่งบอกว่า กล้ามเนื้อมีอาการฉีกขาดหรือบาดเจ็บมากแค่ไหน เนื่องจากเอนไซม์ตัวนี้จะอยู่ภายในกล้ามเนื้อของมนุษย์ และเมื่อกล้ามเนื้อได้รับอาการบาดเจ็บหรือถูกใช้งานรุนแรงจนมีการฉีดขาดภายในเนื้อเยื่อ เอนไซม์ตัวนี้จะมีการไหลเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้สามารถบ่งบอกถึงระดับอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้
และผลการวิจัยชิ้นนี้พบว่า อัตราการเต้นของหัวใจของทั้ง 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน แต่คะแนนจากแบบประเมินความรู้สึกเหนื่อย (RPE) ของกลุ่มที่ใช้ไม้โพลให้ความรู้สึกที่เหนื่อยน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ณ บริเวณ ที่เดินขึ้นเขา และอาการปวดกล้ามเนื้อก็ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งช่วงเวลา 24 ชม. และ 48 ชม. หลังจากการเดินป่า


และจุดที่สำคัญคือ ระดับเอนไซม์ครีเอตีน ไคเนส ที่วัดจากการเจาะเลือดก็มีระดับความเข้มข้นที่ต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้ไม้โพลอย่างมีนัยสำคัญ ณ ช่วงเวลา 24 ชม. หลังจากการเดินป่า
ทำให้สามารถสรุปได้ว่า ไม้โพลสามารถช่วยลดความรู้สึกเหนื่อยล้าในการขึ้นยอดเขา และช่วยลดอาการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อได้ รวมทั้งช่วยให้กล้ามเนื้อยังคงทำหน้าที่ได้ตามปกติหลังจากการเดินป่า และลดโอกาสที่จะเกิดอาการบาดเจ็บแทรกซ้อนภายหลังได้

และงานวิจัย 2 ชิ้นล่าสุดจาก ดร. Nicola Giovanelli ที่เป็นการทดสอบโดยเหล่านักวิ่งเทรลระยะไกลยิ่งเป็นการตอกย้ำความสำคัญและประโยชน์ของไม้โพลเหล่านี้ โดยงานวิจัยในปี 2019 ที่มีชื่อว่า “Do poles save energy during steep uphill walking?“ หรือ “ไม้โพลสามารถช่วยประหยัดพลังงานขณะเดินขึ้นเขาชันได้หรือไม่?”

ซึ่งงานวิจัยชิ้นแรกนี้พบว่า การใช้ไม้โพล ณ ความชันที่เกินกว่า 20 องศา หรือ ความชัน 36% ขึ้นไป จะมีอัตราการใช้พลังงานที่น้อยกว่าการเดินโดยไม่ใช้ไม้โพลโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 เปอร์เซ็นต์ และคะแนนจากแบบประเมินความรู้สึกเหนื่อย (RPE) ของกลุ่มที่ใช้ไม้โพลจะให้ความรู้สึกที่เหนื่อยน้อยกว่าตั้งแต่ความชัน 15 องศา หรือ ความชัน 26% ขึ้นไป

รวมทั้ง ระดับความเข้มข้นของแลคเตทหรือปริมาณกรดแลคติกในเลือดของกลุ่มที่ใช้ไม้โพลก็มีค่าที่ต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้ไม้โพล ตั้งแต่ความชัน 15 องศา หรือ ความชัน 26% ขึ้นไป นอกจากนี้ สิ่งที่ทีมวิจัยค้นพบเพิ่มเติม คือ การใช้ไม้โพลยังทำให้รอบขามีจำนวนรอบที่น้อยลง และมีระยะก้าวที่ยาวขึ้นกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้ไม้โพลในการขึ้นเขาในทุกระดับความชัน

ทำให้งานวิจัยชิ้นแรกสามารถสรุปได้ว่า การใช้ไม้โพลในการขึ้นเขาชันสามารถช่วยนักวิ่งเทรลประหยัดแรงได้จริง และการใช้ไม้โพลในการวิ่งระยะไกลยังช่วยชะลอการรับรู้ถึงความรู้สึกเมื่อยล้าที่จะเกิดขึ้นได้
และเมื่อไม้โพลสามารถช่วยประหยัดแรงขณะขึ้นเขาชันได้ คำถามต่อไปของพวกเขา คือ “การใช้ไม้โพลจะมีส่วนช่วยลดแรงกระแทกที่ขาและเท้าได้หรือไม่?” คำถามนี้ได้นำไปสู่งานวิจัยชิ้นที่สอง ที่เพิ่งได้รับการตีพิมพ์ไปในเดือนกรกฎาคม ปี 2023 ที่ผ่านมา โดยมีชื่อว่า “Do poles really “save the legs” during uphill pole walking at different intensities?” หรือ “การใช้ไม้โพลสามารถลดแรงกระแทกที่ขาและเท้าได้จริงหรือไม่?”

ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ถูกทดสอบขึ้นทั้งบนลู่ไฟฟ้าพิเศษในห้องปฏิบัติการและทดสอบบนภาคสนาม โดยเป็นการวัดแรงที่กระทำ ณ บริเวณเท้า ขณะขึ้นเขาของกลุ่มที่ใช้ไม้โพลและกลุ่มที่ไม่ใช้ไม้โพล รวมทั้งวัดแรงที่กระทำต่อไม้โพล ณ ระดับความชันต่างๆ
โดยงานวิจัยชิ้นนี้พบว่า เมื่อทดสอบบนลู่ไฟฟ้า ไม้โพลสามารถช่วยลดแรงที่กระทำ ณ บริเวณเท้าได้สูงสุดอยู่ที่ 2.8 เปอร์เซ็นต์ และโดยเฉลี่ยสามารถลดแรงที่กระทำต่อเท้าได้อยู่ที่ 2.4 เปอร์เซ็นต์ และในส่วนการทดสอบภาคสนามบนเส้นทางเทรลจริง ไม้โพลจะสามารถลดแรงกระแทกที่กระทำต่อเท้าได้สูงสุดถึง 5 เปอร์เซ็นต์ และโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.6 เปอร์เซ็นต์

ซึ่งการลดแรงกระแทกที่กระทำต่อเท้าขณะใช้ไม้โพลเป็นผลมาจากการถ่ายแรงขึ้นไปยังไม้โพล โดยแรงที่กระทำต่อไม้โพลจะมีการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับความชันที่เพิ่มขึ้น หรือในอีกความหมายหนึ่ง คือ ยิ่งภูเขาชัน แรงที่กระทำต่อไม้โพลยิ่งเพิ่มมากขึ้น และจะยิ่งทำให้สามารถลดแรงที่กระทำต่อขาและเท้าได้มากขึ้นตาม

นอกจากนี้ เมื่อทั้ง 2 กลุ่มใช้แรงเต็มที่ในการวิ่งขึ้นเขา กลุ่มที่ใช้ไม้โพลจะมีความเร็วที่เร็วกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้ไม้โพลโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5% หรือถึงยอดเขาได้เร็วกว่าประมาณ 30 วินาที
ทำให้ในปัจจุบัน มีข้อสรุปที่ชัดเจนที่ว่า การใช้ไม้โพลขณะขึ้นเขาสามารถช่วยลดแรงกระแทกที่ขาและเท้าได้จริง ซึ่งมีผลในการแข่งขันที่จะช่วยให้กล้ามเนื้อขาและเท้าของนักวิ่งเทรลระยะไกลไม่เมื่อยล้าเร็วหรือหมดแรงก่อนเหมือนอย่างที่ควรจะเป็น

และงานวิจัยอีกหนึ่งชิ้นที่น่าสนใจ คือ งานวิจัยในปี 2013 จากมหาวิทยาลัย Université Savoie Mont Blanc ณ ประเทศฝรั่งเศส ที่มีชื่อว่า “Effect of using poles on foot-ground kinetics during stance phase in trail running“ หรือ “การใช้ไม้โพลส่งผลอย่างไรต่อการรับแรงของเท้าบริเวณต่างๆ ขณะวิ่งเทรล” ซึ่งเป็นการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับบริเวณต่างๆ ที่เท้ารับแรง ขณะใช้ไม้โพลในการวิ่งเทรลขึ้นเขาและลงเขา

โดยผลการวิจัยพบว่า “ขณะใช้ไม้โพลในการวิ่งขึ้นเขา แรงกระแทกต่อเท้า ณ บริเวณปลายเท้าด้านใน (Medial Forefoot หรือ MF) จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อใช้ไม้โพลขณะวิ่งลงเขา แรงกระแทกต่อเท้า ณ บริเวณส้นเท้าด้านใน (Medial Heel หรือ MH) จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน”

ดังนั้น การใช้ไม้โพลไม่เพียงแต่ช่วยลดแรงกระแทกต่อเท้าขณะวิ่งขึ้นเขาเพียงอย่างเดียว แต่การใช้งานไม้โพลขณะวิ่งลงเขาก็สามารถช่วยลดแรงกระแทกได้
และแม้ว่าตัวเลขในการช่วยประหยัดพลังงานและการลดแรงกระแทกอาจจะดูเหมือนไม่มาก แต่ในด้านอื่นๆ อย่างการช่วยในการทรงตัวขณะวิ่งก็ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการใช้พลังงานของนักวิ่ง
โดยหลักฐานทางงานวิจัย พบว่า “การวิ่งบนทางเรียบ ร่างกายของมนุษย์จะมีการนำพลังงานบางส่วนมาใช้สำหรับการทรงตัวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์”

แต่ในการวิ่งบนเส้นทางทรุกันดารจะมีการใช้พลังงานที่มากกว่านั้น ซึ่งงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในปี 2015 จากมหาวิทยาลัย University of Michigan ณ สหรัฐอเมริกา ที่มีชื่อว่า “Biomechanics and energetics of running on uneven terrain“ หรือ “ชีวกลศาสตร์และการใช้พลังงานในการวิ่งบนเส้นทางที่ทรุกันดาร” ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการใช้พลังงานของนักวิ่งเมื่อมีการวิ่งและเดินบนเส้นทางที่ทรุกันดาร โดยทดสอบขึ้นบนลู่ไฟฟ้าพิเศษที่มีพื้นผิวที่ไม่เรียบ


โดยงานวิจัยชิ้นนี้พบว่า “การวิ่งบนเส้นทางทรุกันดาร นักวิ่งจะมีการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้นกว่าการวิ่งบนทางเรียบโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ และการเดินบนทางทรุกันดารยิ่งใช้พลังงานที่มากขึ้นกว่าการเดินบนทางเรียบอยู่ถึง 27 เปอร์เซ็นต์”

เนื่องจากการเดินและวิ่งบนทางทรุกันดารจะส่งผลให้กล้ามเนื้อขาและเท้าทำงานมากขึ้น เพื่อช่วยในการทรงตัว ทำให้เกิดการใช้พลังงานที่สูงขึ้นกว่าที่เกิดขึ้นบนทางเรียบ
และงานวิจัยหลายชิ้นที่เกี่ยวข้องกับไม้โพลได้มีการบ่งชี้ว่า การใช้ไม้โพลในการเดินและวิ่งมีส่วนช่วยให้ผู้ใช้สามารถทรงตัวได้ดีขึ้นและให้ความรู้สึกที่มั่นคงเพิ่มขึ้น ทำให้ในปัจจุบันมีการยอมรับว่า ไม้โพลมีประโยชน์เป็นอย่างมากสำหรับนักวิ่งเทรล โดยเฉพาะในการแข่งขันระยะไกล

กล่าวโดยสรุป ความสำคัญและประโยชน์ของไม้โพลในการวิ่งเทรล คือ การกระจายและเปลี่ยนถ่ายแรงบางส่วนที่จะกระทำต่อกล้ามเนื้อขาและเท้า ขึ้นไปสู่การใช้กล้ามเนื้อส่วนบนของร่างกายที่โดยปกติไม่ได้ทำงานมากนัก เพื่อช่วยลดภาระให้กับกล้ามเนื้อสำคัญ ที่ต้องถูกใช้งานอย่างหนักในการแข่งขันวิ่งเทรลระยะไกลอย่างกล้ามเนื้อขาและเท้า ทำให้นักวิ่งเทรลสามารถชะลอความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อหรือไม่หมดแรงก่อนอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งการขึ้นเขาและลงเขา
และโดยรวมไม้โพลยังสามารถช่วยในการประหยัดแรงขณะขึ้นเขาชันได้เป็นอย่างดี รวมทั้งสามารถช่วยในการทรงตัวและป้องกันอาการบาดเจ็บที่จะเกิดขึ้นต่อกล้ามเนื้อได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงท้ายของการแข่งขันระยะไกล ที่กล้ามเนื้อของนักวิ่งเริ่มมีอาการล้าและหมดแรง ทำให้ไม่สามารถทรงตัวได้ดีนัก
และแน่นอนว่า ก่อนจะนำไม้โพลไปใช้ในการแข่งขัน นักวิ่งเทรลควรจะต้องมีการฝึกซ้อมการใช้งานมาก่อน รวมไปถึงการเวทเทรนนิ่งกล้ามเนื้อส่วนบน โดยเฉพาะแขน ที่จะมีการใช้งานเพิ่มมากขึ้นขณะใช้ไม้โพล ซึ่งจะทำให้นักวิ่งสามารถใช้งานไม้โพลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในการแข่งขัน

ไม้โพลวิ่งเทรลจากแบรนด์ Decathlon

และหลังจากทราบประวัติและความสำคัญของไม้โพลในการวิ่งเทรลแล้ว เรามาอธิบายถึงไม้โพลจากแบรนด์ Decathlon ที่ในปัจจุบัน มีหลากหลายรุ่นและหลากหลายประเภทการใช้งาน ตั้งแต่ไม้โพลสำหรับเดินป่าไปจนถึงไม้โพลสำหรับการเดินแบบนอร์ดิก ซึ่งไม้โพลบางรุ่นในกลุ่มนี้มีคุณสมบัติที่สามารถใช้งานแทนไม้โพลวิ่งเทรลได้
อย่างไรก็ตาม จุดเด่นหลักของไม้โพลสำหรับวิ่งเทรล คือ ในด้านของน้ำหนักที่เบาเป็นพิเศษ และในด้านของการใช้งานที่สามารถพับเก็บและนำออกมาใช้งานได้อย่างรวดเร็วและคล่องตัว
และกลุ่มอุปกรณ์วิ่งเทรลทุกชิ้นของแบรนด์ Decathlon จะอยู่ภายใต้ชื่อที่ถูกเรียกว่า “EVADICT”

เสริมเพิ่มเติม
- ชื่อ EVADICT เป็นชื่อแบรนด์อุปกรณ์วิ่งเทรลของแบรนด์ Decathlon ที่ถูกนำมาใช้ครั้งแรกอย่างเป็นทางการในปี 2020 ซึ่งเข้ามาแทนที่ชื่อเดิมอย่าง Kalenji Kiprun Trail
- โดยชื่อ EVADICT เป็นการรวมกันของคำ 2 คำ คือ คำว่า ESCAPE (หรือในภาษาฝรั่งเศส คือ EVADE) ที่มีความหมายถึงการเป็นอิสระของนักวิ่งเทรลที่จะแสวงหาเส้นทางและประสบการณ์ใหม่ๆ อยู่เสมอ และคำว่า ADDICTION หรือความหลงไหลที่ผลักดันให้พวกเขาออกวิ่งนั่นเอง
ฉะนั้น ในบทความนี้ เราจะมาอธิบายเฉพาะไม้โพลพับได้แบบ 3 ท่อน ที่ออกแบบมาวิ่งเทรลโดยเฉพาะของแบรนด์ Decathlon ที่จะมีทั้งหมด 2 รุ่น โดยแบ่งตามวัสดุที่นำมาใช้ ได้แก่ วัสดุอลูมิเนียมและวัสดุคาร์บอน

EVADICT 3-Piece “Aluminium” Folding Trail Running Poles เป็นไม้โพลวิ่งเทรลพับได้แบบ 3 ท่อน วัสดุอลูมิเนียม ที่โดดเด่นในด้านของความทนทานในการใช้งานและราคาที่เข้าถึงง่าย ทำให้เหมาะกับผู้ที่กำลังเริ่มต้นวิ่งเทรล
ข้อมูลจำเพาะของไม้โพล EVADICT วัสดุอลูมิเนียม
- น้ำหนัก:
- ไซส์ 110 ซม. มีน้ำหนัก 173 กรัม ต่อข้าง
- ไซส์ 120 ซม. มีน้ำหนัก 184 กรัม ต่อข้าง
- ไซส์ 130 ซม. มีน้ำหนัก 194 กรัม ต่อข้าง
- ความยาวไม้โพลเมื่อกางและพับเก็บ:
- ไซส์ 110 ซม. เมื่อพับเก็บจะมีขนาด 37 ซม.
- ไซส์ 120 ซม. เมื่อพับเก็บจะมีขนาด 40 ซม.
- ไซส์ 130 ซม. เมื่อพับเก็บจะมีขนาด 43 ซม.
- ราคา: 1,800 บาท (ต่อคู่)

EVADICT 3-Piece “Carbon” Folding Trail Running Poles เป็นไม้โพลวิ่งเทรลพับได้แบบ 3 ท่อน วัสดุคาร์บอน ที่มีคุณสมบัติที่โดดเด่นทั้งในด้านของน้ำหนักที่เบา (เบากว่าวัสดุอลูมิเนียมโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 35 กรัม) และมีความสามารถในการซับแรงกระแทกที่ดีกว่าวัสดุอลูมิเนียม ทำให้การแข่งขันวิ่งเทรลระยะไกล แรงกระแทกที่กระทำต่อแขนในทุกครั้งที่ปักไม้โพลจะน้อยกว่าการใช้ไม้โพลวัสดุอลูมิเนียม

ทำให้ไม้โพลวัสดุคาร์บอนจะเหมาะสำหรับนักวิ่งเทรลที่ลงแข่งขันในระยะทางไกล ที่ต้องการลดความเมื่อยล้าของแขน จากทั้งน้ำหนักของไม้โพลที่เบากว่าและซับแรงกระแทกได้ดีกว่าไม้โพลวัสดุอลูมิเนียม
ข้อมูลจำเพาะของไม้โพล EVADICT วัสดุคาร์บอน
- น้ำหนัก:
- ไซส์ 110 ซม. มีน้ำหนัก 141 กรัม ต่อข้าง
- ไซส์ 120 ซม. มีน้ำหนัก 148 กรัม ต่อข้าง
- ไซส์ 130 ซม. มีน้ำหนัก 154 กรัม ต่อข้าง
- ความยาวไม้โพลเมื่อกางและพับเก็บ:
- ไซส์ 110 ซม. เมื่อพับเก็บจะมีขนาด 37 ซม.
- ไซส์ 120 ซม. เมื่อพับเก็บจะมีขนาด 40 ซม.
- ไซส์ 130 ซม. เมื่อพับเก็บจะมีขนาด 43 ซม.
- ราคา: 3,000 บาท (ต่อคู่)

และทั้ง 2 รุ่น วัสดุด้ามจับจะเป็นการขึ้นรูปวัสดุโฟม EVA ให้เป็นรูปทรงตามหลักสรีรศาสตร์ (Ergonomics) ที่มีการโค้งเว้าเข้ากับรูปมือของผู้ใช้ และทางแบรนด์จะมีการหุ้มโฟมด้ามจับให้ยาวลงมา (หรือที่ในต่างประเทศเรียกส่วนนี้ว่า Extended Grip) ทำให้ด้ามจับสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
- ด้ามจับส่วนบน (High Grip) เป็นด้ามจับส่วนหลักที่ผู้ใช้งานจะใช้งานอยู่ตลอดเวลาขณะใช้ไม้โพล
- ด้ามจับส่วนล่าง (Low Grip หรือ Extended Grip) เป็นด้ามจับพิเศษที่จะใช้ในกรณีที่ต้องขึ้นเขาชัน ซึ่งการเปลี่ยนมาใช้งานด้ามจับส่วนล่างจะช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการวางแขนมากขึ้นในขณะที่ต้องขึ้นเขาที่ชันเป็นพิเศษ

และในส่วนปลายไม้โพลของทั้ง 2 รุ่น จะมาพร้อมกับปลายวัสดุทังสเตนคาร์ไบด์ (Tungsten Carbide) ตามมาตรฐานสากลของการออกแบบไม้โพล ที่มีคุณสมบัติแข็งแกร่ง ทนทานและไม่สึกง่าย
ความรู้เพิ่มเติม วัสดุทังสเตนคาร์ไบด์ (Tungsten Carbide) เป็นวัสดุที่เกิดจากการผสมแร่ทังสเตนกับคาร์บอน ทำให้มีคุณสมบัติที่แข็งเป็นอย่างมากและทนทานต่ออุณหภูมิสูงได้ดี โดยมีความแข็งกว่าเหล็กกล้า 2 เท่า ทำให้วัสดุทังสเตนคาร์ไบด์ถูกใช้อย่างแพร่หลายในเครื่องมืดตัดต่างๆ เช่น ใบตัดและดอกสว่าน รวมไปถึงไม้โพลที่การใช้งานมีการกระแทกกับหินอยู่เป็นประจำจึงมีการใช้ปลายเป็นวัสดุทังสเตนคาร์ไบด์ เพื่อเพิ่มความทนทานในการใช้งาน

และทางแบรนด์ Decathlon ยังมีปลายวัสดุทังสเตนคาร์ไบด์เป็นอะไหล่วางจำหน่ายอีกด้วย ในกรณีที่ใช้งานไปยาวนานจนปลายวัสดุทังสเตนคาร์ไบด์มีอาการสึก

นอกจากนี้ ทางแบรนด์ Decathlon ได้มีการทดสอบความเร็วในการกางไม้โพลและพับเก็บไม้โพล โดยการกางไม้โพลออกใช้เวลาไม่ถึง 2 วินาที และการพับเก็บใช้เวลาไม่ถึง 3 วินาที

และในส่วนของความยาวไม้โพลวิ่งเทรลของแบรนด์ Decathlon จะมีทั้งหมด 3 ไซส์ โดยทางแบรนด์จะแบ่งตามส่วนสูงของผู้ใช้งาน ที่ได้แก่
- ไซส์ 110 ซม. สำหรับผู้ที่มีความสูง 155 ถึง 169 ซม.
- ไซส์ 120 ซม. สำหรับผู้ที่มีความสูง 170 ถึง 179 ซม.
- ไซส์ 130 ซม. สำหรับผู้ที่มีความสูง 180 ถึง 200 ซม.

ซึ่งการเลือกไซส์ไม้โพลอย่างละเอียด ทางเราจะมาอธิบายเพิ่มเติมในหัวข้อถัดไป
และอุปกรณ์ Decathlon ทุกชิ้นมีรับประกันสินค้าอยู่ที่ 2 ปี ซึ่งหากไม้โพลมีปัญหาจากการผลิตสามารถเคลมสินค้าได้
เทคนิคการเลือกไซส์ไม้โพลวิ่งเทรล

การเลือกไซส์ไม้โพลสำหรับวิ่งเทรลตามมาตรฐานสากลทั้งในงานวิจัยและจากคำแนะนำของแบรนด์ไม้โพลต่างๆ จะมีการแนะนำให้ไม้โพลควรมีความยาวอยู่ที่ 68% ของความสูงของผู้ใช้งาน ซี่งความยาวนี้จะมีผลทำให้แขนและข้อศอกทำมุมใกล้เคียงกับตั้งฉาก หรือทำมุม 90° กับพื้น
โดยความยาวไม้โพลนี้เกิดจากการทำสถิติของกลุ่มผู้ใช้ไม้โพลตั้งแต่ในอดีต ที่ให้ข้อสรุปไปในทิศทางเดียวกันว่า “ความยาวไม้โพลที่มีความยาวเป็น 68% ของส่วนสูงให้ความรู้สึกในการใช้งานที่สบายมากที่สุด”

ซึ่งงานวิจัยชิ้นต่างๆ ที่ได้วิจัยเปรียบเทียบการใช้พลังงานขณะใช้งานไม้โพลที่มีความยาวต่างกันอย่างงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในปี 2009 จากมหาวิทยาลัย Norwegian School of Sport Sciences ณ ประเทศนอร์เวย์ ที่มีชื่อว่า “Energy Expenditure and Comfort During Nordic Walking With Different Pole Lengths“ หรือ “ระดับการใช้พลังงานและความสบายขณะใช้ไม้โพลที่มีความยาวต่างกันในการเดินแบบนอร์ดิก”

โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการทดสอบเปรียบเทียบระดับการใช้พลังงานขณะใช้ไม้โพลในการเดินแบบนอร์ดิก ทั้งการขึ้นเขา ลงเขา และทางเรียบ ระหว่างไม้โพลขนาดมาตรฐานที่มีความยาวอยู่ที่ 68% ของส่วนสูงของผู้ใช้ กับไม้โพลขนาดสั้นที่มีความยาวอยู่ที่ 63% ของส่วนสูงผู้ใช้ หรืออีกความหมายหนึ่ง คือ ไม้โพลขนาดสั้นจะสั้นกว่าไม้โพลขนาดมาตรฐานอยู่ที่ 7.5 ซม.
และงานวิจัยชิ้นนี้พบว่า “ณ การเดินขึ้นเขาที่มีความชัน 12 องศา หรือ ความชัน 21% การใช้ไม้โพลขนาดสั้นจะมีการใช้พลังงานที่มากกว่าการใช้ไม้โพลขนาดมาตรฐานอยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์ แต่ในส่วนการเดินทางเรียบและการเดินลงเขา การใช้พลังงานระหว่างไม้โพลทั้งสองขนาดไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ”

“และในด้านของความรู้สึกสบายโดยรวมขณะใช้ไม้โพลทั้งสองขนาดไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน แต่คะแนนความรู้สึกสบาย ณ บริเวณขา ของไม้โพลขนาดมาตรฐานจะมีคะแนนที่สูงกว่าไม้โพลขนาดสั้นเล็กน้อยทั้งการขึ้นเขา ลงเขา และทางเรียบ”

ทำให้การเลือกไม้โพลสั้นสำหรับการเดินขึ้นเขาไม่ได้ช่วยประหยัดแรงอย่างที่เราคิด อย่างไรก็ตาม การเดินแบบนอร์ดิกอาจจะไม่ตรงตามกับการวิ่งเทรลทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบัน ทางเรายังไม่พบงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความยาวไม้โพลกับการวิ่งเทรลโดยตรง และบางงานวิจัยก็ไม่ได้มีการเปรียบเทียบระดับการใช้พลังงาน
แต่สำหรับนักวิ่งเทรลส่วนใหญ่ที่มีการเดินขึ้นเขา โดยเป็นรูปแบบเดียวกันกับการเดินแบบนอร์ดิก ซึ่งไม่ใช่การวิ่งขึ้นเขาในแบบของนักวิ่งเทรลอาชีพ ทำให้งานวิจัยชิ้นนี้ก็ถือว่าสามารถนำมาใช้อ้างอิงได้
นอกจากนี้ งานวิจัยส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับความยาวของไม้โพล ทั้งในวงการสกีครอสคันทรีและการเดินแบบนอร์ดิก พบผลการทดลองที่ไปในทิศทางเดียวกัน คือ “ไม้โพลขนาดมาตรฐานจะสามารถประหยัดแรงได้ดีกว่าไม้โพลขนาดสั้น และประหยัดแรงกว่าไม้โพลที่มีความยาวเกินไป”

โดยข้อสรุปส่วนใหญ่จากงานวิจัยอธิบายว่า “ความยาวของไม้โพลมีผลกระทบต่อการใช้พลังงานมากกว่าน้ำหนักของไม้โพล โดยไม้โพลที่ยาวกว่าจะทำให้ผู้ใช้ได้ประโยชน์จากแรงส่งที่มากกว่าในแต่ละก้าว ในขณะที่ไม้โพลสั้นให้แรงส่งในแต่ละก้าวที่น้อยกว่า ทำให้ต้องมีการเพิ่มจำนวนรอบในการปักไม้โพล หรือมีรอบขาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เป็นไปได้ของการใช้พลังงานที่เพิ่มมากขึ้น”
ทำให้การหาความยาวไม้โพลสามารถทำได้จากสมการนี้ คือ
- ความยาวไม้โพล = (ความสูงของผู้ใช้ + ความสูงของพื้นรองเท้า) X 0.68
เช่น ผู้ใช้สูง 176 ซม. ➞ ความยาวไม้โพล = (176 + 4) X 0.68 = 122.4 ซม. ทำให้ผู้ใช้สูง 176 ซม. ควรเลือกไม้โพลขนาด 125 ซม.
ปล. ความสูงของรองเท้าวิ่งเทรลในปัจจุบัน (รวมความสูงพื้นทั้งหมดและดอกยาง) ส่วนใหญ่จะมีความสูงโดยประมาณ 30 – 40 มม. (หรือ 3 – 4 ซม.)

อย่างไรก็ตาม การเลือกความยาวไม้โพลโดยใช้ทั้งความสูงของผู้ใช้และความสูงของรองเท้าอาจจะทำให้เกิดความสับสนได้ ทำให้บางแบรนด์ยักษ์ใหญ่เลือกที่จะคำนวณความสูงเฉลี่ยของรองเท้าเข้ามาในสูตรคำนวณ โดยใช้สูตรดังนี้
- ความยาวไม้โพล = ความสูงของผู้ใช้ X 0.70
เช่น ผู้ใช้สูง 176 ซม. ➞ ความยาวไม้โพล = 176 X 0.7 = 123.2 ซม. ทำให้ผู้ใช้สูง 176 ซม. ควรเลือกไม้โพลขนาด 125 ซม. เช่นกัน
นอกจากนี้ การเลือกไซส์ไม้โพลขนาดมาตรฐานจะมีการบวกลบความยาวที่ไม่เกิน 3 – 4 ซม. (โดยแขนและศอกจะทำมุมระหว่าง 80 ถึง 100 องศา) เช่น ผู้ใช้สูง 176 ซม. สามารถเลือกใช้งานไม้โพลขนาด 120 ซม. ได้ โดยไม่ถือว่าสั้นเกินไปและอยู่ในความยาวที่พอดี แต่ไม่ควรเลือกใช้ไม้โพลขนาด 115 ซม. ที่ถือว่าสั้นเกินไป

การใช้งานของไม้โพลคาร์บอนพับได้ EVADICT 3-Piece Carbon Folding Trail Running Pole
และในส่วนของการใช้งานของไม้โพล EVADICT 3-Piece Carbon Folding Trail Running Pole สามารถแบ่งประเด็นได้ดังนี้
การใช้งานเบื้องต้น
มาเริ่มกันจากการใช้งานเบื้องต้นอย่างการกางและการพับเก็บไม้โพล รวมไปถึงวิธีการจับไม้โพลที่ถูกต้องตามหลักการออกแบบ และหน้าที่ของส่วนประกอบสำคัญต่างๆ ในไม้โพลที่นักวิ่งเทรลควรรู้จัก ดังนี้
- การกางและพับเก็บไม้โพล
การกางไม้โพลจะเป็นการจับบริเวณก้านไม้โพลส่วนบน แล้วดึงออกจนปุ่มล็อคก้านไม้โพลโผล่ออกมาหรือได้ยินเสียง “คลิก”
และในส่วนของการพับเก็บไม้โพลจะเป็นการกดปุ่มล็อคลง แล้วดันก้านไม้โพลส่วนบนกลับเข้าไปด้านใน จากนั้นจึงค่อยดึงก้านไม้โพลแต่ละท่อนออกจากกันและพับเก็บ
- วิธีการจับไม้โพลที่ถูกต้องตามหลักการออกแบบ
วิธีการจับไม้โพลที่ถูกต้องตามหลักการออกแบบ คือ ผู้ใช้ต้องนำมือสอดจาก “ด้านล่าง” ของสายคล้องและเข้ามาจับที่ด้ามจับ โดยจะมีลักษณะที่สายคล้องอยู่ภายในฝ่ามือของผู้ใช้ ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถใช้ฝ่ามือในการช่วยเพิ่มแรงยันและส่งแรงได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้นขณะใช้ไม้โพล
และการจับไม้โพลในท่าที่ถูกต้องนี้ยังมีผลในด้านของความปลอดภัยในการใช้งาน ที่เมื่อผู้ใช้เกิดอุบัติเหตุพลาดล้มหรือปลายไม้โพลไปติดกับซอกหิน ไม้โพลจะหลุดออกจากมือทันที ไม่มีการติดอยู่กับมือ โดยจะหลุดลงมาคล้องอยู่ ณ บริเวณข้อมือแทน
โดยจะแตกต่างจากการสอดมือเข้าไปโดยตรง ที่การพลาดล้มจะทำให้ไม้โพลติดอยู่กับมือ และด้ามจับไม้โพลจะกระแทกเข้า ณ บริเวณช่วงโคนนิ้วโป้ง ที่อาจนำไปสู่อาการบาดเจ็บได้ หรือในกรณีที่ปลายไม้โพลติดกับซอกหิน ไม้โพลจะไม่หลุดออกจากมือและดึงข้อมือของผู้ใช้ ซึ่งอาจทำให้ข้อมือเคล็ดได้
- ส่วนประกอบสำคัญต่างๆ ในไม้โพลที่นักวิ่งเทรลควรรู้จัก
(1) ปลายด้ามจับด้านบน (หรือ Knob) เป็นปลายด้ามจับที่มีลักษณะเป็นปม ที่อยู่บริเวณปลายบนสุดของไม้โพล โดยถูกออกแบบมาเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการจับไม้โพลขณะเดินลงเขา ซึ่งจะช่วยในการประคองตัวให้มีความมั่นคงมากขึ้น รวมทั้งยังสามารถใช้ในการวางฝ่ามือเมื่อต้องการที่พักแขนได้ ซึ่งในไม้โพลสำหรับวิ่งเทรล ปลายด้ามจับด้านบนนี้จะมีขนาดที่เล็กกว่าในไม้โพลสำหรับเดินป่า เพื่อลดน้ำหนักของไม้โพลให้ได้มากที่สุด
(2) ด้ามจับส่วนล่าง (หรือ Extended Grip) เป็นด้ามจับพิเศษที่ยาวลงมาจากบริเวณด้ามจับหลัก โดยถูกออกแบบมาเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการจับไม้โพลขณะขึ้นเขาที่ชันมากเป็นพิเศษ ซึ่งการเปลี่ยนมาใช้งานด้ามจับส่วนล่างนี้จะสามารถช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการวางแขนขณะขึ้นเขาชันมากขึ้น
(3) แผ่นกันจม (หรือ Basket) เป็นแผ่นลักษณะวงกลมที่อยู่ ณ บริเวณปลายไม้โพล โดยมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้ไม้โพลจมพื้นผิวที่เปียกแฉะ เช่น โคลนหรือหิมะ
ซึ่งในครั้งแรกตามประวัติศาสตร์แผ่นกันจมถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้ไม้โพลจมหรือเลื่อนไหลขณะใช้งานบนพื้นผิวที่เป็นหิมะ ซึ่งเป็นปัญหาที่เมื่อไม้โพลจมหิมะ ผู้ใช้จะไม่สามารถใช้ไม้โพลในการยันตัวขณะเคลื่อนที่ได้ ทำให้แผ่นกันจมในยุคแรกและแผ่นกันจมของไม้โพลสกีในปัจจุบันมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่เป็นพิเศษ
โดยแผ่นกันจมของไม้โพลวิ่งเทรลในปัจจุบันได้ถูกปรับให้มีขนาดที่เล็กลง ซึ่งเพียงพอต่อการทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ไม้โพลจมหิมะและดินโคลนขณะใช้งานและโดยส่วนใหญ่ แผ่นกันจมของไม้โพลวิ่งเทรลจะทำมาจากวัสดุพลาสติกแข็ง เพื่อลดการเกิดอาการน้ำหนักถ่วงบริเวณปลายไม้โพล
และอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของแผ่นกันจม คือ การช่วยป้องกันไม่ให้ไม้โพลเข้าไปติดในซอกหินที่ลึกจนเกินไป ซึ่งในกรณีที่ไม่มีแผ่นกันจม จะมีโอกาสที่ไม้โพลหลุดเข้าไปติดในซอกหินที่ลึกเกินไปโดยไม่ตั้งใจ ทำให้เมื่อผู้ใช้งานดึงไม้โพลกลับจะมีโอกาสสูงที่ไม้โพลจะงัดกับหินอย่างรุนแรงและทำให้ก้านไม้โพลหักได้
นอกจากนี้ ในแผ่นกันจมของไม้โพลวิ่งเทรลจะมีการเซาะร่องไว้สำหรับการพับเก็บไม้โพลอีกด้วย
เทคนิคพื้นฐานการใช้ไม้โพล 3 ท่าหลัก
มาถึงเทคนิคพื้นฐาน 3 ท่า ในการใช้ไม้โพลในการวิ่งเทรล ซึ่งแต่ละเทคนิคจะเหมาะกับการใช้งานในสถานการณ์ที่แตกต่างกันและสามารถใช้ได้ทั้งขณะเดินและวิ่ง โดย 3 เทคนิคพื้นฐานมีดังนี้
- เทคนิคการปักไม้โพลแบบ 1 ต่อ 1 (Alternating Pole Technique)
เทคนิคการปักไม้โพลแบบ 1 ต่อ 1 หรือ Alternating Pole Technique เป็นการปักไม้โพลสลับกับการลงเท้าแบบ 1 ต่อ 1 ที่คล้ายกับการเดินตามธรรมชาติของมนุษย์ที่จะมีการแกว่งแขนสลับกับขา
ซึ่งเทคนิคนี้จะถูกใช้ในการขึ้นเขาที่ต้องการทำความเร็ว รวมไปถึงในการแข่งขันแบบ VK (Vertical Kilometer) ซึ่งเทคนิคนี้จะไม่ได้ช่วยในการประหยัดแรงหรือมีประสิทธิภาพในการใช้พลังงานมากนัก เนื่องจากกล้ามเนื้อส่วนบนและแขนจะถูกใช้งานอย่างหนัก แต่เทคนิคนี้จะมุ่งเน้นไปที่การทำความเร็วในการขึ้นเขาเป็นหลัก หรือมีเป้าหมายเพื่อใช้ในการขึ้นยอดเขาให้ไวที่สุด ทำให้เทคนิคนี้ไม่เหมาะสำหรับการใช้ในการแข่งขันระยะไกล
โดยเทคนิคการปักไม้โพลแบบ 1 ต่อ 1 จะเริ่มจาก
(1) ปักไม้โพลสลับกับการลงเท้า เช่น ลงเท้าขวาจะปักไม้โพลข้างซ้าย และลงเท้าซ้ายจะปักไม้โพลข้างขวา
(2) และตำแหน่งที่ปักไม้โพลจะอยู่ขนานกับจุดที่ลงเท้า โดยที่ไม้โพลจะไม่ล้ำเกินกว่าจุดที่เท้าลง และไม้โพลจะทำมุมแนวเฉียงไปด้านหลังอยู่เสมอ ซึ่งจะไม่ได้เป็นการปักไม้โพลลงพื้นแนวดิ่งตรงๆ เนื่องจากเราต้องการให้ไม้โพลช่วยในการยันตัวส่งแรงไปด้านหน้า ไม่ใช่การลอยตัวขึ้นด้านบน
(3) และในขณะที่ใช้ฝ่ามือส่งแรงในจังหวะยันตัวสุดท้าย ควรมีการปล่อยมือออกจากไม้โพลเล็กน้อย เพื่อช่วยเพิ่มแรงส่งและลดแรงเครียดให้กับแขน รวมทั้งทำให้จังหวะในการยันไม้โพลมีความลื่นไหลมากยิ่งขึ้น
(4) สุดท้ายหลังจากปล่อยมือออกจากไม้โพลในจังหวะยันตัวสุดท้ายแล้ว ให้กลับมาจับไม้โพลแล้วดึงกลับมาในแนวเฉียง โดยใช้กล้ามเนื้อหัวไหล่ช่วยในการแกว่งแขนกลับ ก่อนที่จะปักไม้โพลลงพื้นต่อไป
ปล. ตำแหน่งการปักไม้โพลที่ถูกต้อง สามารถสังเกตได้จากแขนและข้อศอกที่จะทำมุมใกล้เคียงกับมุมตั้งฉาก หรือทำมุม 90° ในจังหวะที่ไม้โพลปักลงพื้นครั้งแรก หรืออีกความหมาย คือ แขนและข้อศอกจะไม่หนีบแคบเป็นรูปตัว V มากนัก
นอกจากนี้ เทคนิคนี้ยังรู้จักกันในอีกชื่อ คือ Nordic Walking Technique หรือเป็นท่าทางที่ถูกใช้ในการเดินแบบนอร์ดิก เนื่องจากการเดินแบบนอร์ดิกในปัจจุบันได้กลายมาเป็นทางเลือกใหม่ในการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ จากการหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บและลดแรงกระแทกบริเวณข้อต่อต่างๆ
ทำให้ท่าทางในการใช้ไม้โพลของการเดินแบบนอร์ดิกจำเป็นต้องมีการใช้พลังงานที่สูง เพื่อช่วยในการเผาพลาญพลังงานและไขมันได้อย่างเต็มที่ จึงเป็นเหตุผลให้การเดินแบบนอร์ดิกเลือกใช้เทคนิคการปักไม้โพลแบบ 1 ต่อ 1 เป็นหลัก
- เทคนิคการปักไม้โพลแบบคู่ (Double Pole Technique)
เทคนิคการปักไม้โพลแบบคู่ หรือ Double Pole Technique เป็นการปักไม้โพลไปด้านหน้าพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง และยันตัวส่งแรงไปด้านหลังพร้อมกัน โดยการปักไม้โพลแบบคู่นี้จะมีจังหวะในการปักไม้โพลแบบ 1 ต่อ 3 คือ ปักไม้โพล 1 ครั้ง ต่อการเดิน 3 ก้าว
ซึ่งเทคนิคนี้จะถูกใช้ในการขึ้นเขาที่มีความชันเป็นพิเศษ โดยการปักไม้โพลไปด้านหน้าห่างจากลำตัวพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง และดึงตัวขึ้นไป ก่อนที่จะยันไม้โพลออกในจังหวะสุดท้าย จะช่วยให้ผู้ใช้สามารถไต่ขึ้นเขาชันได้อย่างประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากเทคนิคนี้จะเป็นการใช้กล้ามมัดใหญ่อย่างกล้ามเนื้อต้นแขน หัวไหล่และปีกในการช่วยดึงตัวของผู้ใช้คล้ายกับการดึงข้อบนบาร์
โดยเทคนิคการปักไม้โพลแบบคู่จะเริ่มจาก
(1) ยกไม้โพลขึ้นสูงในระดับใกล้เคียงกับศรีษะ โดยโน้มตัวไปด้านหน้า
(2) ปักไม้โพลไปด้านหน้าของผู้ใช้พร้อมกันทั้ง 2 ข้าง โดยจุดที่ปักไม้โพลจะอยู่ห่างจากจุดที่ลงเท้า
(3) ดึงตัวขึ้นไปด้านหน้า โดยใช้กล้ามเนื้อต้นแขน หัวไหล่และปีก
(4) ก้าวเดินไปข้างหน้า 3 ก้าว และใช้ไม้โพลยันตัวส่งแรงในจังหวะสุดท้าย
(5) และในขณะที่ใช้ฝ่ามือส่งแรงในจังหวะยันตัวสุดท้าย ควรมีการปล่อยมือออกจากไม้โพลเล็กน้อย เพื่อช่วยเพิ่มแรงส่งและลดแรงเครียดให้กับแขน
(6) สุดท้ายหลังจากปล่อยมือออกจากไม้โพลในจังหวะยันตัวสุดท้ายแล้ว ให้กลับมาจับไม้โพลแล้วดึงกลับมาในแนวเฉียง ก่อนที่จะยกไม้โพลขึ้นสูงในระดับใกล้เคียงกับศรีษะและปักไม้โพลลงพื้นต่อไป
ปล. เมื่อต้องขึ้นเขาที่มีความชันเป็นพิเศษ ผู้ใช้สามารถเลื่อนมือมาจับ ณ บริเวณด้ามจับส่วนล่าง (หรือ Extended Grip) ได้
- เทคนิคการปักไม้โพลแบบ 1 ต่อ 3 (Off-Set Pole Technique)
เทคนิคการปักไม้โพลแบบ 1 ต่อ 3 หรือ Off-Set Pole Technique เป็นการปักไม้โพลสลับกับการลงเท้าแบบ 1 ต่อ 3 คือ ปักไม้โพล 1 ครั้ง ต่อการเดิน 3 ก้าว
โดยเทคนิคนี้เข้ามาแก้ปัญหาการใช้พลังงานที่มากจนเกินไปของการปักไม้โพลแบบ 1 ต่อ 1 ที่จำเป็นต้องใช้แรงแขนดึงไม้โพลกลับมาให้ทันการลงเท้า ซึ่งเป็นการใช้พลังงานที่สูง เนื่องจากไม้โพลมีความยาวเป็นอย่างมาก ทำให้เกินอาการหน่วงในทุกครั้งที่ต้องดึงไม้โพลกลับ
แต่การปักไม้โพล 1 ครั้ง ต่อการเดิน 3 ก้าว จะทำให้รอบแขนและรอบขามีจังหวะที่สัมพันธ์กันอย่างเป็นธรรมชาติและไม่มีอาการหน่วง ซึ่งช่วยในการประหยัดแรงได้เป็นอย่างดีในการแข่งขันระยะไกล โดยจะมีลักษณะเป็นการใช้ไม้โพลคอยช่วยส่งแรงและลดแรงกระแทกให้กับขาไปเรื่อยๆ ตลอดการแข่งขัน ซึ่งไม่ใช่การเน้นทำความเร็วเหมือนการปักไม้โพลแบบ 1 ต่อ 1
ทำให้เทคนิคนี้เป็นที่นิยมในการแข่งขันระยะไกล และเป็นเทคนิคหลักสำคัญที่จะถูกใช้มากที่สุดตลอดทั้งการแข่งขัน
โดยเทคนิคการปักไม้โพลแบบ 1 ต่อ 3 จะเริ่มจาก
(1) ปักไม้โพลสลับกับการลงเท้า เช่น ลงเท้าขวาจะปักไม้โพลข้างซ้าย และลงเท้าซ้ายจะปักไม้โพลข้างขวา
(2) และตำแหน่งที่ปักไม้โพลจะอยู่ขนานกับจุดที่ลงเท้า โดยที่ไม้โพลจะไม่ล้ำเกินกว่าจุดที่เท้าลง และไม้โพลจะทำมุมแนวเฉียงไปด้านหลังอยู่เสมอ ซึ่งจะไม่ได้เป็นการปักไม้โพลลงพื้นแนวดิ่งตรงๆ เนื่องจากเราต้องการให้ไม้โพลช่วยในการยันตัวส่งแรงไปด้านหน้า ไม่ใช่การลอยตัวขึ้นด้านบน
(3) หลังจากปักไม้โพล ก้าวเดินไปข้างหน้า 3 ก้าว และใช้ไม้โพลยันตัวส่งแรงในจังหวะสุดท้าย
(4) และในขณะที่ใช้ฝ่ามือส่งแรงในจังหวะยันตัวสุดท้าย ควรมีการปล่อยมือออกจากไม้โพลเล็กน้อย เพื่อช่วยเพิ่มแรงส่งและลดแรงเครียดให้กับแขน
(5) สุดท้ายหลังจากปล่อยมือออกจากไม้โพลในจังหวะยันตัวสุดท้ายแล้ว ให้กลับมาจับไม้โพลแล้วดึงกลับมาในแนวเฉียง โดยใช้กล้ามเนื้อหัวไหล่ช่วยในการแกว่งแขนกลับ ก่อนที่จะปักไม้โพลลงพื้นต่อไป
โดยทั้ง 3 เทคนิคนี้ถือเป็นหลักการใช้ไม้โพลสำคัญ ที่สามารถนำไปใช้ได้ตลอดทั้งการแข่งขัน ซึ่งในแต่ละช่วงการแข่งขันอาจจะต้องใช้เทคนิคที่แตกต่างกันตามความเหมาะสมกับสถานการณ์
และจุดสำคัญของการใช้ไม้โพลทั้ง 3 เทคนิค คือ การใช้กล้ามเนื้อหัวไหล่และปีกในการแกว่งแขน เพื่อช่วยลดภาระการทำงานของข้อพับแขนและช่วยทำให้สามารถยันตัวส่งแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สุดท้าย แน่นอนว่า การใช้ไม้โพลจำเป็นต้องมีการฝึกซ้อมให้คุ้นชินก่อนใช้ในการแข่งขัน และควรจะมีการเล่นเวทกล้ามเนื้อส่วนบนเพิ่ม เพื่อให้สามารถใช้ไม้โพลได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
และในบทความ “ตำราการใช้ไม้โพลวิ่งเทรลกับไม้โพลคาร์บอนพับได้ EVADICT 3-Piece Carbon Folding Trail Running Pole จากแบรนด์ Decathlon” นี้ ต้องขอขอบคุณทาง Decathlon Thailand ที่ส่งไม้โพลมาให้ทางเราทดสอบนะครับ
และท่านใดที่สนใจไม้โพลวิ่งเทรล EVADICT 3-Piece Carbon Folding Trail Running Pole ณ เวลานี้ มีวางจำหน่ายแล้วในราคา 3,000 บาท ที่ Decathlon ทุกสาขา หรือสามารถเข้าไปเลือกชมแบบออนไลน์ได้ที่ลิงค์นี้เลยครับ
หวังว่าบทความนี้เป็นจะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิ่งหรือผู้ที่สนใจในการวิ่งหลาย ๆ ท่าน ขอให้วิ่งให้สนุกครับ
สามารถติดตาม Running Profiles ได้ทั้งใน
- FB: Running Profiles
- Website: https://runningprofiles.com/
- Youtube: Running Profiles