รองเท้าวิ่งน้ำหนักเบาทำให้นักวิ่งได้เปรียบในการแข่งขันจริงหรือ ? และน้ำหนักของรองเท้ามีผลแค่ไหนในการวิ่ง ? วันนี้เราจะไขข้อสงสัยโดยอ้างอิงจากผลงานวิจัยกันครับ
“ผลงานวิจัยพบว่าน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นเพียง 1 กรัม ก็ส่งผลกระทบต่อระยะเวลาในการวิ่ง”
รองเท้าวิ่งที่หนัก ทำให้นักวิ่งวิ่งได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เนื่องจากมันเป็นการบังคับให้นักวิ่งต้องใช้พลังงานที่มากขึ้นในการคงความเร็วเพซที่ต้องการ แต่มันทำให้นักวิ่งใช้แรงเพิ่มขึ้นเท่าไรกัน ?
ย้อนกลับไปในปี 1980 ได้มีผลงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ โดยมีข้อสรุปว่า การเพิ่มขึ้นของน้ำหนักทุก ๆ 100 กรัม จะทำให้นักวิ่งใช้พลังงานเพิ่มขึ้นถึง 1 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว ความเร็วในการวิ่งและการใช้พลังงานจะแปรผันตามกัน ดังนั้นการเพิ่มขึ้นของมวล 1 เปอร์เซ็นต์ ควรจะส่งผลทำให้วิ่งช้าลง 1 เปอร์เซ็นต์เช่นกัน
แต่การกล่าวอ้างแบบนั้น ไม่ได้มีงานวิจัยมารองรับมากมาย ดังนั้น นี้คือสิ่งที่ทีมวิจัยในห้องแลปที่ศึกษาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของ Rodger Kram (Rodger Kram’s Locomotion Laboratory) ณ มหาวิทยาลัย Colorado Boulder จะทำการทดสอบ ซึ่งการวิจัยครั้งนี้นำโดยนักวิจัยนามว่า Wouter Hoogkamer (ผู้ซึ่งต่อมาจะวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพรองเท้า Nike Vaporfly 4% ในปี 2017) และผลงานวิจัยนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Medicine & Science in Sports & Exercise ของสหรัฐอเมริกาในปี 2016 ในชื่อว่า Altered Running Economy Directly Translates to Altered Distance-Running Performance (การเปลี่ยนแปลงในประสิทธิภาพของการวิ่ง ส่งผลโดยตรงต่อการวิ่งระยะไกล)

ในการวิจัยครั้งนี้ ทีมวิจัยได้นำรองเท้า Nike Zoom Streak 5 มาดัดแปลงใส่ลูกตะกั่วขนาดเล็กบริเวณลิ้นของรองเท้าเพื่อเพิ่มน้ำหนักให้กับรองเท้าแต่ละข้าง ทีละ 100 กรัม และ 300 กรัม จากนั้นจึงนำไปให้นักวิ่งชาย 18 คน (ที่สามารถทำสถิติ 5 กม. ภายใน 20 นาที) ทดสอบวิ่งบนลู่ในระยะทาง 3 กม. จากนั้นทีมวิจัยจะวัดอัตราการใช้ออกซิเจนและอัตราการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งคำนวณอัตราการเผาผลาญและบันทึกระยะเวลาในการวิ่งแต่ละครั้ง โดยทีมวิจัยตั้งสมมุติฐานว่า การเพิ่มขึ้นของน้ำหนัก 100 กรัม และ 300 กรัม จะทำให้ประสิทธิภาพในการวิ่งลดลง 1 และ 3 เปอร์เซ็นต์ รวมไปถึงจะทำให้นักวิ่งวิ่งช้าลงถึง 1 และ 3 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยเกรงว่างานวิจัยนี้จะไม่เป็นที่ยอมรับ เพราะอาจจะเกิดเหตุการณ์ที่ว่า นักวิ่งสามารถรับรู้ได้ถึงน้ำหนักของรองเท้า แล้วส่งผลต่อประสิทธิภาพของนักวิ่ง ฉะนั้น นักวิจัยจึงต้องทำการทดลองเพิ่มเติม นั่นคือ ให้นักวิ่งลองจับและถือรองเท้าที่เพิ่มน้ำหนักด้วยมือ แล้วถามถึงความแตกต่าง รวมทั้งให้นักวิจัยเป็นผู้สวมและถอดรองเท้าให้นักวิ่ง จากนั้นถามนักวิ่งว่ารองเท้าคู่ไหนหนักกว่ากัน ซึ่งการทดลองครั้งนี้ได้พบว่า นักวิ่งสามารถรับรู้ถึงน้ำหนักของรองเท้าได้จากการจับและถือด้วยมือของพวกเขา แต่พวกเขาจะไม่สามารถรับรู้ได้เมื่อรองเท้าถูกสวมในเท้าของพวกเขา ดังนั้น การรับรู้ถึงน้ำหนักของรองเท้าจะไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพของนักวิ่ง
ผลการวิจัยเป็นไปดังคาด เมื่อน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น 100 กรัม จะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการวิ่ง (Running Economy) ของนักวิ่งลดลงถึง 1.11 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งยังส่งผลให้ต้องใช้ระยะเวลาในการวิ่ง (Running Time) ที่เพิ่มขึ้น 0.78 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น นี้คือข้อพิสูจน์ว่าการเปลี่ยนแปลงของประสิทธิภาพในการวิ่งส่งผลต่อระยะเวลาในการวิ่ง ซึ่งมีผลในการแข่งขันอย่างไม่ต้องสงสัย
แม้ว่า อัตราส่วนระหว่างประสิทธิภาพในการวิ่งกับระยะเวลาในการวิ่ง จะไม่ใช่อัตราส่วน 1 : 1 อย่างที่ทีมวิจัยคาดการไว้ (แต่เป็น 1.11 กับ 0.78 เปอร์เซ็นต์) ซึ่งเกิดจากการทดลองในย่านความเร็วเพซที่ต่างกัน โดยการวัดประสิทธิภาพในการวิ่ง (Running Economy) นั้น ทีมวิจัยให้นักวิ่งวิ่งในความเร็วเพซ 4:46 นาทีต่อกม. ในขณะเดียวกันการวิ่งแบบทำความเร็ว นักวิ่งจะต้องวิ่งด้วยความเร็วเพซ 3:27 นาทีต่อกม. ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ว่าการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักของรองเท้าจะส่งผลมากน้อยแค่ไหน ก็จะขึ้นอยู่กับความเร็วที่นักวิ่งกำลังวิ่งอยู่ด้วย ?
คำตอบคือ “ใช่” จากงานวิจัยก่อนหน้าที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับ “การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักของรองเท้าวิ่งว่าส่งผลกระทบอย่างไรต่อประสิทธิภาพในการวิ่งในย่านความเร็วที่แตกต่างกัน” พบว่า น้ำหนักของรองเท้าจะมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการวิ่งน้อยลง เมื่อความเร็วเพิ่มขึ้น หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือ นักวิ่งที่วิ่งช้าจะได้รับผลกระทบจากน้ำหนักของรองเท้ามากกว่านั่นเอง
ดังนั้น ทีมนักวิจัยจึงยกตัวอย่างที่น่าสนใจถึง สถิติโลกมาราธอนเก่าในปี 2014 ของ Dennis Kimetto ซึ่งทำเวลาไว้ที่ 2:02:57 ชั่วโมง โดยสวมใส่รองเท้า Adidas Adizero Adios Boost 2 ซึ่งมีน้ำหนักอยู่ 230 กรัม ฉะนั้นถ้าหากลดน้ำหนักรองเท้าไป 100 กรัมแล้ว ในทางทฤษฎีจะทำให้ Dennis Kimetto วิ่งได้ไวขึ้นถึง 57.5 วินาที และถ้าลดน้ำหนักของรองเท้าทั้งหมดออกจะทำให้วิ่งได้ไว้ขึ้นถึง 2:12 นาทีเลยทีเดียว

เกร็ดความรู้ สำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) จากประเทศอังกฤษได้มีบทความเกี่ยวกับ สถิติโลกมาราธอนใหม่ที่ถูกทำลายโดย Eliud Kipchoge ในปี 2018 ด้วยระยะเวลา 2:01:39 ชั่วโมง โดยได้อ้างอิงถึงคำพูดของนักวิทยาศาสตร์การกีฬานามว่า Ross Tucker ไว้อย่างน่าสนใจว่า ประสิทธิภาพทางร่างกายของ Kipchoge ในการทำสถิติ 2:01:39 ชั่วโมง ซึ่งสวมใส่รองเท้า Nike Vaporfly จะมีค่าเท่ากับ นักวิ่งมาราธอนที่สามารถทำสถิติ 2:03:00 ชั่วโมงในรองเท้า Racing Flats แบบดั้งเดิม
แต่การลดน้ำหนักออก จนเป็นการวิ่งเท้าเปล่านั้น จะทำให้สูญเสียประโยชน์ของพื้นโฟม EVA จากงานวิจัยก่อนหน้าของ Dr. Rodger Kram อย่าง Metabolic Cost of Running Barefoot versus Shod: Is Lighter Better? พบว่า การใส่รองเท้าที่มีพื้นโฟม EVA จะทำให้วิ่งได้มีประสิทธิภาพมากกว่าการวิ่งเท้าเปล่า 3 ถึง 4 เปอร์เซ็นต์ (ในการทดลองมีการเพิ่มน้ำหนักให้เท้าเปล่ามีน้ำหนักเท่ากับการใส่รองเท้าปกติ) ซึ่งประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นเกิดจาก 2 สาเหตุหลักคือ การก้าวเท้าที่ยาวขึ้น และการรับแรงกระแทกของโฟม EVA ที่ทำให้กล้ามเนื้อขาไม่ต้องทำหน้าที่รับแรงกระแทกโดยตรงนั่นเอง
แอดมินหวังว่าบทความนี้เป็นจะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิ่งหรือผู้ที่สนใจในการวิ่งหลาย ๆ ท่าน ถ้าหากท่านใดมีคำถามสามารถเข้าไปถามได้ในเพจ FB: Running Profiles ได้เลยครับ ถ้าอ่านแล้วชอบก็ฝากกดไลค์และติดตามเพจด้วยครับ เราจะมีบทความดี ๆ แบบนี้ให้อ่านตลอดครับ ขอให้วิ่งให้สนุกครับ
ข้อมูลอ้างอิง: