รองเท้าวิ่งคาร์บอนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่จะเป็น Nike Air Zoom Alphafly NEXT%, New Balance FuelCell TC, Brooks Hyperion Elite, ASICS Metaracer, HOKA Rocket X, Saucony Endorphin Pro, Nike ZoomX Vaporfly NEXT%, New Balance FuelCell 5280, และ HOKA Carbon X ล้วนเป็นผลผลิตจากความรู้และการทดลองในอดีต วันนี้เราจะมาเล่าถึงประวัติและที่มารองเท้าวิ่งคาร์บอนกัน

จุดเริ่มต้นของรองเท้าคาร์บอนคู่แรกของโลกในช่วงปี 1990

Reebok เป็นบริษัทรองเท้าเจ้าแรกที่นำแผ่นคาร์บอนมาใช้ในรองเท้าวิ่งครั้งแรกของโลก เนื่องจากความต้องการที่จะลดน้ำหนักของรองเท้าวิ่งลง โดยในช่วงปี 1990 ทาง Reebok ได้ทำการทดลองตัดเนื้อโฟมบางส่วนออก แล้วนำแผ่นคาร์บอนมาเป็นสะพานเชื่อมโฟม เรียกว่า Graphite Composite Bridge ซึ่งทำให้ลดน้ำหนักของรองเท้าไปได้ถึง 20% (ไซต์ US9 มีน้ำหนักเพียง 269 กรัม) และยังให้รองเท้ามีความเสถียรและซัพพอร์ทบริเวณอุ้งเท้าอีกด้วย รวมทั้งเสริมเทคโนโลยีรับแรงกระแทกลักษณะคล้ายรังผึ้งบริเวณส้นเท้า เรียกว่า Hexalite โดยรองเท้ารุ่นแรกนี้มีชื่อว่า Reebok Graphite Road

ในปี 1992 ณ งานแข่ง Boston Marathon นักวิ่งหญิงชาวรัสเซียนามว่า Olga Markova ได้สวมใส่รองเท้า Reebok Graphlite Road คว้าแชมป์อันดับที่หนึ่ง ด้วยระยะเวลา 2:23:43 ชั่วโมง และในปีต่อมา ณ งานแข่ง 1993 Boston Marathon นักวิ่งหญิงคนเดียวกันนี้และรองเท้าคู่เดิมของเธอก็ได้ทำการคว้าแชมป์อันดับที่หนึ่งอีกครั้ง ด้วยระยะเวลา 2:25:27 ชั่วโมง

หลังจากนั้น ในปี 1993 Reebok ก็ได้ทำการเข็นรองเท้าที่มีแผ่นคาร์บอนออกมาอีกหลายรุ่น เช่น Reebok the Pump Graphlite และ Reebok Instapump Trainer


ต่อมาในปี 1994 Reebok Graphlite Road ได้ถูกนำมาปัดฝุ่นและเปลี่ยนสถานะจากรองเท้าวิ่งเป็นรองเท้าแฟชั่นโดยได้นักออกแบบชื่อดังอย่าง Steven Smith มาออกแบบ (ผู้ซึ่งเคยออกแบบรองเท้าให้ทาง New Balance ในรุ่น 574, 996, 997, และ 1500 รวมทั้งปัจจุบันยังออกแบบให้กับ YEEZY) จนได้รองเท้ายอดฮิต ขวัญใจสายแฟชั่นอย่าง Reebok InstaPump Fury

จุดเริ่มต้นการวิจัยแผ่นคาร์บอนในช่วงปี 2000
ในช่วงปี 2000 นักศึกษาปริญญาเอก คณะวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว (Kinesiology) ของ University of Calgary ณ ประเทศแคนาดา นามว่า Darren Stefanyshyn ผู้ซึ่งกำลังทำวิจัยจบในหัวข้อของการพัฒนารองเท้ากีฬา และ Dr. Benno Nigg ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาในการตรวจงานวิจัยของ Stefanyshyn ได้ทำการศึกษาการเคลื่อนไหวแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งหรือการกระโดด และเก็บข้อมูลเหล่านั้นมาทำการวิเคราะห์ จนพวกเขาพบว่า รองเท้าในสมัยนั้นมีการออกแบบให้ซับแรงกระแทกเพียงอย่างเดียว ดังนั้นพวกเขาจึงหาทางที่จะทำให้รองเท้าส่งแรงได้ดีขึ้น โดยวิธีการนั้นแสนจะง่ายดาย เพียงแค่ใส่แผ่นคาร์บอนเข้าไปในรองเท้า

ความรู้เพิ่มเติม ภายหลังในช่วงปี 2010 Darren Stefanyshyn จะได้มาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของเด็กหนุ่มชาวจีนนามว่า Geng Luo ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Nike Vaporfly Elite และ Nike Vaporfly 4%
แต่ Stefanyshyn ได้อธิบายว่าในสมัยนั้นแผ่นคาร์บอนไม่ใช่สิ่งที่มีขายอยู่ทั่ว ๆ ไป หรือหาได้ง่าย ๆ ดังนั้นเราต้องติดต่อกับบริษัทรองเท้าวิ่ง โดยเสนอว่า “บริษัทรองเท้าจะได้งานวิจัยของเรา ส่วนเราได้ทรัพยากรของบริษัท” ในช่วงเวลานั้น ทาง Adidas ได้สนใจในการใช้แผ่นคาร์บอนในรองเท้าวิ่ง จึงได้ให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยแก่พวกเขา

จากงานวิจัยการใส่แผ่นคาร์บอนเข้าไปในรองเท้าพบว่า นักวิ่งวิ่งทำความเร็วระยะสั้นได้ดีขึ้นและวิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่ง Stefanyshyn ได้อธิบายว่า การสร้างรองเท้าที่ให้ประสิทธิภาพสูงที่สุด หมายถึง การเข้าใจว่านักวิ่งสูญเสียพลังงานในส่วนใดบ้าง เช่น ข้อต่อของเท้าและขา ดังนั้นแผ่นคาร์บอนที่ใส่เข้าไปก็เพื่อที่จะลดการเคลื่อนไหวของเท้านั้นเอง ซึ่งทำให้นักวิ่งประหยัดแรงมากขึ้น
ในปี 2003 ทาง Adidas ได้ทำการออกรองเท้าคาร์บอนรุ่นแรก นั้นคือ Adidas Adistar Comp โดยวางแผ่นคาร์บอนไว้บนพื้นรองเท้า ทำให้นักวิ่งหลายคนเมื่อใส่แล้วถึงกับถอดใจ เพราะความแข็งของแผ่นคาร์บอน จนทำให้รองเท้าคู่นี้มีวางจำหน่ายเพียงแค่ 1 ปีก็เลิกผลิตไป

ในปี 2005 กลุ่มนักลงทุนได้เข้าซื้อบริษัท Zoot Sport ที่โดดเด่นด้านสินค้าไตรกีฬา โดยหนึ่งในนั้นเป็นผู้ร่วมออกแบบรองเท้า Reebok Graphite Road ดังนั้น เขาจึงนำแนวคิดของการใช้แผ่นคาร์บอนมาเป็นสะพานเชื่อมโฟมมาพัฒนาต่อ จนได้แผ่นคาร์บอนอันเป็นเอกลักษณ์ที่มีลักษณะเป็นปลายคาร์บอนยื่นออกมาบริเวณปลายเท้า และถูกนำมาใช้ในรองเท้ารุ่นใหม่ของ Zoot อย่าง Zoot Ultra Race ในปี 2007

การกลับมาอีกครั้งของรองเท้าคาร์บอนของ Adidas
ความล้มเหลวจากยอดขายของรองเท้าคาร์บอนอย่าง Adidas Adistar Comp ไม่ทำให้ Adidas วางมือจากรองเท้าคาร์บอน ในเมื่อผลงานทดลองในห้องแลปบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า มันสามารถทำให้นักวิ่งวิ่งทำความเร็วระยะสั้นได้ดีขึ้นและวิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น ในปี 2008 Adidas จึงออกรองเท้าตะปู (Spike) คู่แรกของโลก ที่มีพื้นทำจากแผ่นคาร์บอน โดยรองเท้าตะปูคู่นี้มีชื่อว่า Adidas Lone Star Spike

Adidas Lone Star Spike ถูกสวมใส่โดย Jeremy Wariner ในการเข้าแข่งขันในงาน Beijing Olympics ในปี 2008 ซึ่งเขาคว้าเหรียญเงินอันดับสองในระยะ 400 เมตร ด้วยระยะเวลา 44.74 วินาที และเหรียญทองประเภท 4×400 เมตร นี้จึงเป็นการกลับมาของรองเท้าคาร์บอนอีกครั้ง

หลังจากนั้นแบรนด์อื่น ๆ ก็ได้นำคาร์บอนมาใช้ในรองเท้าตะปูอีกหลายรุ่น จนกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของรองเท้าตะปูในปัจจุบัน
การกลับมาของรองเท้าถนนที่มีแผ่นคาร์บอน
หลังจากการประสบความสำเร็จจากการนำแผ่นคาร์บอนมาใช้ในรองเท้าตะปู แบรนด์อื่น ๆ อย่าง Reebok ก็ได้คิดที่นำจะแผ่นคาร์บอนกลับมาใช้ในรองเท้าวิ่งถนนอีกครั้ง และในปี 2013 Reebok ก็ได้ออกรองเท้าวิ่งรุ่น Reebok ZigCarbon รองเท้าคาร์บอนแบบเต็มแผ่นรุ่นแรกของแบรนด์

โดย Reebok ZigCarbon ได้ใช้แผ่นคาร์บอนแบบยาวเต็มแผ่น (Full-length carbon fiber plate) ตั้งแต่ส้นเท้าถึงปลายเท้า ซึ่งสามารถงอได้บริเวณปลายเท้า แต่กลางเท้าถึงส้นเท้าจะแข็งเป็นโครงให้รองเท้า โดยทาง Reebok กล่าวว่าแผ่นคาร์บอนนี้นำมาจากอุตสาหกรรมทหาร (Military Industry) ซึ่งใช้ในการทำตัวถังเครื่องบินรบ ทำให้รองเท้าคู่นี้มีน้ำหนักเบาเพียง 226 กรัมเท่านั้น ซึ่ง Reebok วางขายผ่านเว็บไซต์แบบจำนวนจำกัดเท่านั้นและลูกซื้อสามารถเลือกสีและดีไซต์ได้ตามที่ตัวเองชอบ โดยวางจำหน่ายในปี 2013 ในราคา $150 หรือราว ๆ 4,9xx บาท

ในปี 2014 Adidas ได้ออกรองเท้าวิ่งพรีเมี่ยมตัวใหม่ที่มีการออกแบบร่วมกับแบรนด์รถสปอร์ตสัญชาติเยอรมันอย่าง Porsche โดยออกมาในชื่อรุ่น Porsche Design Bounce S4 ซึ่งบริเวณส้นเท้าเป็นเหมือนระบบรับแรงกระแทกของรถยนต์ และครั้งนี้ Adidas ได้นำคาร์บอนกลับมาใส่ไว้ในรองเท้าวิ่งถนนอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ใส่ไว้เฉพาะบริเวณส้นเท้าเพื่อเพิ่มความเสถียรให้กับรองเท้าเท่านั้น
ยุคทองของรองเท้าคาร์บอน
หลังจากมีรองเท้าคาร์บอนออกสู่ตลาดปีต่อปี จนในปี 2017 ได้มีรองเท้าวิ่ง Prototype ของทาง Nike ที่มีแผ่นคาร์บอนแทรกอยู่ในพื้นโฟม ซึ่งได้ทำการทดสอบในแลปแล้วพบว่า ทำให้นักวิ่งประหยัดแรงได้ถึง 4% และได้ถูกเปิดตัวในปีเดียวกันในงาน Nike Breaking 2 project ซึ่งถูกจัดขึ้นด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการก้าวข้ามขีดจำกัดของนักวิ่ง เพราะยังไม่มีนักวิ่งคนใดทำเวลาในระยะมาราธอนได้ต่ำกว่า 2 ชั่วโมงมาก่อน

โดยทาง Nike ได้ถือโอกาสเปิดตัวรองเท้าคาร์บอนที่พัฒนาจนเสร็จ ในชื่อรองเท้ารุ่น Nike Vaporfly Elite ซึ่งสวมใส่โดยนักวิ่งมาราธอนชาวเคนย่านามว่า Eliud Kipchoge แม้ว่าในปีนั้นเขาจะพลาดเป้าไปเพียงแค่ 26 วินาที แต่ในปีถัดมาเขาได้ทำลายสถิติโลกมาราธอน ณ งาน Berlin Marathon ปี 2018 ซึ่งต่อมา Nike จึงได้เปิดตัวรองเท้าวิ่งคาร์บอนรุ่นแรกลงขายสู่ตลาดอย่างเป็นทางการ โดยใช้ชื่อว่า Nike Zoom Vaporfly 4% ซึ่งเป็นการจุดกระแสรองเท้าวิ่งคาร์บอนอย่างแท้จริง จนมีแบรนด์อื่น ๆ ออกรองเท้าคาร์บอนมาตาม ๆ กัน



อย่างไรก็ตาม Nike ไม่ได้เป็นเจ้าแรกของการนำแผ่นคาร์บอนมาใช้ แต่มันผลผลิตและการทดลองจากอดีตที่ส่งต่อมาถึงปัจจุบัน โดยผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Nike Vaporfly Elite และ Nike Zoom Vaporfly 4% คือชายหนุ่มชาวจีน นามว่า Geng Luo (罗耿) ผู้ซึ่งคลั่งไคล้ในรองเท้าของ Nike ตั้งแต่อายุ 11 ปี และใฝ่ฝันว่าวันหนึ่งเขาจะออกแบบรองเท้าของแบรนด์ Nike

Geng Luo (罗耿 อ่านว่า หลัวเกิ่ง) เป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกในคณะวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหว (Kinesiology) ของ University of Calgary ณ ประเทศแคนาดา ในระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่นั้น เขาได้เข้าร่วมโปรเจคทดสอบรองเท้าตะปูของทาง Adidas ซึ่งต่อมาจะถูกใช้ในงาน London Olympics ปี 2012 ซึ่งรองเท้ารุ่นนั้นคือ Adidas Adizero Prime SP รองเท้าตะปูคาร์บอนที่มาสานต่อความสำเร็จของ Adidas Lone Star Spike ในปี 2008 นั่นเอง หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาเอก เขาได้เข้าร่วมทำงานกับบริษัท Nike อย่างที่เขาใฝ่ฝันมาโดยตลอด จึงไม่แปลกเลยที่เขาจะนำความรู้และประสบการณ์ของเขามาพัฒนารองเท้าจนออกมาเป็น Nike Vaporfly Elite

จบไปแล้วนะครับสำหรับประวัติที่มาของรองเท้าคาร์บอนแบบจัดเต็ม แอดมินหวังว่าบทความนี้เป็นจะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิ่งหรือผู้ที่สนใจในการวิ่งหลาย ๆ ท่าน ถ้าหากท่านใดมีคำถามสามารถเข้าไปถามได้ในเพจ FB: Running Profiles ได้เลยครับ ถ้าอ่านแล้วชอบก็ฝากกดไลค์และติดตามเพจด้วยครับ เราจะมีบทความดี ๆ แบบนี้ให้อ่านตลอดครับ ขอให้วิ่งให้สนุกครับ
ข้อมูลอ้างอิง: