วันนี้เรามาเล่าถึงประวัติและความเป็นมาของฟิตเนส โรงยิม และกีฬา CrossFit ซึ่งถือได้ว่ามีความเป็นมาที่ยาวนานและเติบโตมาพร้อมกับประวัติศาสตร์ของมนุษย์ โดยจะน่าสนใจแค่ไหน และเริ่มต้นมาได้อย่างไร รวมไปถึงการเติบโตในแต่ละยุคสมัยของวงการฟิตเนส เชิญติดตามได้เลยครับ

ประวัติและความเป็นมาของฟิตเนสและโรงยิม

แนวคิดฟิตเนสหรือยิมสำหรับการออกกำลังกายถูกบันทึกไว้ว่ามีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมาตั้งแต่ช่วง 2000 ปีก่อนคริสต์ศักราช (หรือมากกว่า 4,000 ปีที่แล้ว) โดยชาวอียิปต์ ที่ได้ริเริ่มการแสดงกายกรรม ซึ่งถูกมองว่าเป็นทั้งการแสดงเพื่อความบันเทิงสำหรับฟาโรห์และเหล่าขุนนางของอียิปต์ และถือเป็นการกีฬาชนิดหนึ่ง
ซึ่งนักกายกรรมในยุคนั้นจำเป็นต้องมีการฝึกฝนร่างกายอย่างเหมาะสม ทำให้เกิดเป็นการเริ่มต้นของหลักสูตรการออกกำลังกายอย่างเป็นระบบในรูปแบบคล้ายคลึงกับการเพาะกายในปัจจุบัน

และแม้ว่าชาวอียิปต์จะเป็นผู้ริเริ่มการออกกำลังกายอย่างเป็นระบบ แต่ก็ไม่ได้มีความแพร่หลาย จนกระทั่งในยุคสมัยของชาวกรีก ที่ได้เริ่มต้นการฝึกซ้อมร่างกายอย่างเป็นทางการสำหรับการแข่งขันของนักกีฬา โดยการออกกำลังกายถือเป็นสิ่งที่ชาวกรีกได้ให้การยอมรับและถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของพวกเขา
โดยในยุครุ่งเรืองถึงขีดสุดของอารยธรรมกรีก ความแข็งแรงของร่างกายถูกมองว่ามีความสำคัญทั้งในด้านของการต่อสู้ ความสามารถในการฟื้นฟู (ทั้งทางด้านของร่างกายและจิตใจ) และได้ถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในระบบการศึกษาของชาวกรีก

และหลักฐานที่สามารถบ่งบอกว่า อารยธรรมกรีกได้ให้ความสำคัญในด้านของการกำลังกายเป็นอย่างมาก คือ คำพูดของ ฮิปพอคราทีส (Hippocrates) แพทย์ชาวกรีก ที่มีชีวิตอยู่ระหว่าง 460 ถึง 377 ปีก่อนคริสตกาล (หรือประมาณ 2,400 ปีก่อน) ที่ว่า “ถ้าเราสามารถให้สารอาหารและการออกกำลังกายในปริมาณที่เหมาะสมกับร่างกายของคนคนหนึ่ง ที่ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป เราก็จะพบหนทางที่ดีที่สุดสำหรับการรักษาสุขภาพ”
และคำพูดของ เพลโต (Plato) นักปรัชญาที่โด่งดังของชาวกรีก ที่ว่า “หากขาดการออกกำลังกายจะเป็นการทำลายสภาพที่ดีของมนุษย์ทุกคน ในขณะที่การเคลื่อนไหวและการออกกำลังกายที่เป็นระบบจะช่วยรักษาและคงสภาพร่างกายที่ดีไว้”

อย่างไรก็ตาม หลังจากการล่มสลายของอารยธรรมกรีก แนวคิดเกี่ยวกับฟิตเนสก็ได้หายไปจากประวัติศาสตร์กว่า 2,000 ปี
จนกระทั้งในปี 1569 กิโรลาโม แมร์คูเรียเล่ (Girolamo Mercuriale) แพทย์ชาวอิตาลีได้ตีพิมพ์หนังสือที่สร้างชื่อเสียงที่สุดให้แก่เขา ที่มีชื่อว่า “De Arte Gymnastica Aput Ancientes” หรือ “ศิลปะกีฬายิมนาสติกโบราณ” โดยเป็นหนังสือที่ได้อธิบายถึงหลักกายภาพบำบัด และการออกกำลังกายแบบบอดี้เวท และการเคลื่อนไหวร่างกายในแบบของนักยิมนาสติกสำหรับการฝึกฝนร่างกาย ซึ่งหนังสือเล่มนี้ในปัจจุบันถูกยกให้เป็น “ตำราเวชศาสตร์การกีฬาเล่มแรกของโลก”

และหลังจากการตีพิมพ์ของหนังสือเล่มนี้ ทำให้เกิดการกระตุ้นให้การออกกำลังกายแบบฟิตเนสกลับมาอีกครั้งในหน้าประวัติศาสตร์
และในปี 1799 ฟรันซ์ นัคเตกัลล์ (Franz Nachtegall) แห่งเดนมาร์ก ครูสอนยิมนาสติกของโรงเรียน Vesterbro school ได้ก่อตั้งสโมสรยิมนาสติกส่วนตัวแห่งแรกของโลกขึ้น ซึ่งปัจจุบันเราอาจเรียกว่า โรงยิม ซึ่งเป็นอาคารพื้นที่โล่งสำหรับออกกำลังกายและการสอนเกี่ยวกับกายบริหาร ที่มีอุปกรณ์ยกน้ำหนัก เช่น ดัมเบลไม้ และลูกบอลน้ำหนัก

ต่อมาในช่วงปี 1816 ฮิปโปไลต์ ไตรเอต (Hippolyte Triat) เด็กกำพร้าที่ถูกลักพาตัวโดยคนเรร่อนตอนอายุ 4 ขวบ และถูกขายให้คณะกายกรรมจากเมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส โดยทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวนำโชคให้แก่คณะ ซึ่งคณะกายกรรมได้เดินทางไปแสดงทั่วยุโรปก่อนที่จะมาหยุดลงที่ประเทศสเปน ก่อนที่ในปี 1828 เขาจะได้กลายเป็นหนึ่งในนักกายกรรมดัดตน และได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงในวัย 16 ปี

แต่หลังจากนั้น เขาได้รับการดูแลโดยผู้อุปถัมภ์จากเมืองบูร์โกส ประเทศสเปน โดยผู้อุปถัมภ์ได้ให้ความรู้และการศึกษา รวมไปถึงเขายังคงไม่ละทิ้งการฝึกซ้อมกีฬา ทำให้ต่อมาในปี 1834 เขาได้เดินสายไปแสดงกายกรรมเกี่ยวกับกีฬาด้วยตนเอง และการแสดงของเขาได้รับเสียงตอบรับที่ดีและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนสามารถนำพาเขาไปที่นครบรัสเซลส์ เมืองหลวงของประเทศเบลเยียม
และในปี 1840 เขาได้เปิดโรงยิมแห่งแรกของเขาที่นครบรัสเซลส์ ก่อนที่จะย้ายโรงยิมมาตั้งอยู่ที่เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในปี 1846 โดยมีชื่อว่า “Gymnase Triat” ซึ่งเป็นโรงยิมขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ณ เวลานั้น ที่มีขนาดใหญ่ถึง 9,500 ตารางเมตร และมาพร้อมกับอุปกรณ์สำหรับออกกำลังกายอย่างครบครัน ที่เหมือนกับในปัจจุบัน รวมไปถึงการคิดค้นบาร์เบลสำหรับยกน้ำหนักรุ่นแรกๆ ของโลก

นอกจากนี้ สิ่งที่ฮิปโปไลต์ ไตรเอต ได้ทำและกลายมาเป็นมรดกที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน คือ ระบบสมาชิกในการเข้าใช้ยิมครั้งแรกของโลก ซึ่งในปัจจุบัน ทางฝรั่งเศสได้ยกให้เขาเป็นหนึ่งในบิดาผู้ริเริ่มของวงการฟิตเนสและวัฒนธรรมการออกกำลังกายสมัยใหม่
หลังจากนั้น ฟิตเนสก็ได้มีความแพร่หลายมากยิ่งขึ้น และเริ่มขยายความนิยมไปยังประเทศต่างๆ อย่างสหรัฐอเมริกา
และในปี 1947 วิค แทนนี่ (Vic Tanny) นักเพาะกายชาวอเมริกัน และน้องชายของเขาได้เปิดฟิตเนสท้องถิ่น ที่มีชื่อว่า “Vic Tanny Health Clubs” ที่คล้ายคลึงกับฟิตเนสขนาดเล็กในปัจจุบัน เพื่อเข้าถึงชนชั้นกลางชาวอเมริกัน โดยพวกเขาเป็นผู้บุกเบิกแนวคิดการออกกำลังกายสำหรับทั้งผู้ชายและผู้หญิง และเป็นที่รู้จักกันดีในด้านของผู้บุกเบิกเทคนิคการขายของฟิตเนส เช่น สัญญาการเป็นสมาชิก โปรโมชั่น และค่าคอมมิชชั่นของพนักงาน ซึ่งธรุกิจนี้เป็นฟิตเนสแรกที่สามารถเปิดสาขาได้มากกว่า 100 แห่ง ในสหรัฐอเมริกา

ต่อมา โจ โกลด์ (Joe Gold) อดีตช่างเครื่องของกองทัพเรือสหรัฐในสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นผู้รอดชีวิตจากการถูกจรวดตอปิโดยิงบนเรือรบในน่านน้ำประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งหลังจากที่เขาเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานานกว่า 6 เดือน เขาตัดสินใจกลับไปยังรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อทำการฝึกยกน้ำหนักและเพาะกายอีกครั้ง

จนกระทั่งในปี 1965 เขาได้เปิดยิมของเขาเอง ในชื่อ “Gold’s Gym” ณ หาดเวนิส รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งยิมของเขามีความโดดเด่นในด้านของอุปกรณ์และเครื่องเล่นต่างๆ ที่แปลกใหม่และไม่เคยมีมาก่อนสำหรับใช้ในการเพาะกายโดยเฉพาะ ทำให้ชื่อเสียงของเขากลายมาเป็นที่โด่งดังในวงการเพาะกาย

โดย อาร์โนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ (Arnold Schwarzenegger) หรือนักแสดงในบทของคนเหล็ก (The Terminator) หลังจากเดินทางมายังสหรัฐอเมริกาก็ได้ฝึกซ้อมอยู่ที่ Gold’s Gym ซึ่งอาร์โนลด์ได้กล่าวว่า “โจ โกลด์เป็นเหมือนเพื่อนที่ไว้ใจได้และเป็นเสมือนบิดาแห่งวงการเพาะกาย”

ซึ่งต่อมาโจ โกลด์ได้ตัดสินใจขายยิมของเขาและสิทธิ์ในการใช้งานชื่อของเขา เพื่อให้ยิม Gold’s Gym ได้เดินหน้าต่อไป ซึ่งเจ้าของคนใหม่ได้ทำให้ Gold’s Gym กลายเป็นธรุกิจในรูปแบบของแฟรนไชส์เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นต้นแบบของแฟรนไชส์ธรุกิจฟิตเนสในปัจจุบัน และยิม Gold’s Gym ยังเป็นยิมเก่าแก่เพียงยิมเดียวที่ในปัจจุบันยังคงดำเนินกิจการอยู่ ซึ่งในปี 2019 มีข้อมูลว่า Gold’s Gym มีสาขามากถึง 700 แห่ง ใน 29 ประเทศทั่วโลก
และในปี 1968 เลส มิลส์ (Les Mills) นักกีฬาทีมชาตินิวซีแลนด์ ประเภทขว้างจักรและทุ่มน้ำหนัก ซึ่งเป็นตัวแทนในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกถึง 4 สมัย โดยหลังจากเกษียณตัวจากการเป็นนักกีฬา เขาได้เปิดฟิตเนสของเขา ในชื่อ “Les Mills” ณ เมืองโอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ โดยไม่ได้มีความตั้งใจว่าชื่อเสียงของเขาจะเป็นที่โด่งดังในระดับโลก

แต่ในปี 1979 ลูกชายของเขา ฟิลิปส์ มิลส์ (Phillip Mills) ผู้เคยอาศัยอยู่ ณ รัฐแคลิฟอร์เนีย และได้มองเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธรุกิจฟิตเนส ทำให้เขาได้ตัดสินใจกลับเข้ามาเดินหน้าสานต่อกิจการฟิตเนสของครอบครัวให้เติบโตยิ่งขึ้น โดยเขามีแนวคิดที่ว่า “การออกกำลังกายต้องเป็นเรื่องที่สนุก และต้องไม่น่าเบื่อหรือโดดเดี่ยว”

ทำให้ในปี 1990 เขาได้คิดค้นหลักสูตรการออกกำลังรูปแบบใหม่ ที่จะออกกำลังกายตามจังหวะของเสียงเพลง และเป็นการออกกำลังกายพร้อมกันแบบกลุ่ม โดยเขาเรียกว่า “คลาสออกกำลังกายแบบ BODYPUMP” ก่อนที่ต่อมาจะพัฒนาหลักสูตรให้มีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หลักสูตรการออกกำลังกายของเขากลายมาเป็นที่รู้จักทั่วโลก และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มผู้ออกกำลังกายผู้หญิง

ซึ่งถือได้ว่าหลักสูตรของเขาเป็นเสมือนต้นแบบของคลาสออกกำลังกายฟิตเนสส่วนใหญ่ในปัจจุบัน และในปัจจุบัน คลาสออกกำลังกายของ Les Mills ถูกนำไปฝึกสอนในฟิตเนส 20,000 กว่าแห่ง ใน 100 ประเทศทั่วโลก และถูกยกให้เป็นคลาสออกกำลังกายที่มีชีวิตชีวาที่สุดในโลก
จุดเริ่มต้นของเกมกีฬา CrossFit เกมกีฬาฟิตเนสที่ปฎิวัติการออกกำลังกาย
และในปี 1995 เกร็ก กลาสแมน (Greg Glassman) ผู้เป็นทั้งนักยิมนาสติก ฟิตเนสเทรนเนอร์และเจ้าของฟิสเนส ณ เมืองซานตาครูซ รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ถูกว่าจ้างให้ไปฝึกอบรมเหล่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกรมตำรวจซานตาครูซ

โดยเขาได้นำเสนอการฝึกซ้อมรูปแบบใหม่ที่มีการผสมผสานทักษะทางกายภาพที่หลากหลาย เช่น การฝึกซ้อมในรูปแบบความเข้มข้นสูง (high-intensity interval training, HIIT), การยกน้ำหนัก, การฝึกทักษะในด้านของความยืดหยุนและการทรงตัว, การออกกำลังกายโดยใช้แรงต้านจากน้ำหนักตัว (เช่น การวิดพื้นและดึงข้อ)
ซึ่งแนวคิดของเขาที่ผสมผสานทักษะทางกายภาพต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยไม่จำกัดอยู่เพียงทักษะเดียว จะทำให้เหล่าเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ดีมากยิ่งขึ้น

และเขาได้เรียกการออกกำลังกายรูปแบบใหม่นี้ว่า “CrossFit” โดยย่อมาจาก “Cross-discipline fitness” หรือ “การออกกำลังกายแบบผสมผสานที่มีแบบแผนและเป็นระบบ”

และในปี 2000 เขาได้ก่อตั้งบริษัท “CrossFit Inc” และตั้งยิมแห่งแรกอย่างเป็นทางการในชื่อ “CrossFit North” ซึ่งเป็นยิมที่มีหลักสูตรการออกกำลังกายแบบผสมผสานที่เขาคิดค้นขึ้น และเป็นการออกกำลังกายในแบบกลุ่ม ณ เมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน
โดยโรงยิมนี้จะถูกออกแบบมาเพื่อการออกกำลังกายแบบ CrossFit โดยเฉพาะ และเขาได้นิยามและเรียกโรงยิมรูปแบบนี้ว่า “Box” ซึ่งจะเป็นชื่ออย่างเป็นทางการที่ใช้เรียกสถานที่ออกกำลังกายของ CrossFit
และหลังจากการก่อตั้งยิม เขาได้เริ่มนำแผนการฝึกซ้อมรายวัน หรือที่เขาเรียกว่า “Workout of the day” หรือ “WOD” โพสลงไปบนโลกอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เหล่าผู้คนที่สนใจได้นำไปทดลองฝึกในแต่ละวัน ทำให้ชื่อเสียงของ CrossFit เริ่มเป็นที่จดจำ และยังถูกนำไปใช้ในการฝึกในหมู่ตำรวจ ทหาร และนักดับเพลิงอย่างแพร่หลาย
และเมื่อชื่อเสียงเริ่มโด่งดัง ประกอบกับการสร้างพันธมิตรกับฟิตเนสต่างๆ ให้เริ่มมีการเปิดสอน CrossFit อย่างเป็นทางการ ทำให้ต่อมาในปี 2007 เขาได้ทำการจัดการแข่งขันเกมกีฬา CrossFit ขึ้นเป็นครั้งแรก ภายใต้ชื่อ “CrossFit Games”

โดยในครั้งแรกมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันเพียง 70 คน เท่านั้น และมีผู้เข้าชมประมาณ 150 คน ซึ่งเกมในการแข่งก็เป็นการสุ่มเลือกท่าทางในการออกกำลังกายโดยให้เด็กเป็นผู้สุ่มหยิบลูกบอลสี

และในการแข่งขันครั้งแรกใช้เวลาในการแข่งขัน 2 วัน โดยมีทั้งหมด 3 กิจกรรม โดยในวันแรกจะมีการแข่งขัน 2 กิจกรรม และวันที่สองจะมี 1 กิจกรรม สำหรับตัดสินผู้ชนะ ซึ่งผู้ชนะจะวัดจากคะแนนรวมสูงสุดจากความเร็วที่ทำได้เสร็จก่อนของทั้ง 3 กิจกรรม ที่ประกอบไปด้วย
- กิจกรรมที่ 1: กรรเชียงบก 1,000 เมตร + 5 รอบของ (ดึงข้อ 25 ครั้ง+ ยกบาร์เบลน้ำหนัก 61 กก. สำหรับผู้ชาย และน้ำหนัก 43 กก. สำหรับผู้หญิง ในท่า Push Jerk 7 ครั้ง)
- กิจกรรมที่ 2: วิ่งเทรลขึ้นลงเนินเขา ระยะทาง 5 กม.
- กิจกรรมที่ 3: ยกบาร์เบลในท่าต่างๆ ในน้ำหนักที่มากที่สุดที่ผู้เข้าแข่งขันจะสามารถยกได้ โดยสามารถยกได้ทั้งหมด 3 ครั้ง ซึ่งจะนับคะแนนจากน้ำหนักที่มากที่สุดที่สามารถยกได้เพียงครั้งเดียว
และการแข่งขันในครั้งแรกนี้ ผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลอยู่ที่ 500 ดอลลาร์ หรือมีมูลค่าในปัจจุบันราวๆ 24,000 บาท และจะได้รับฉายา “Fittest on Earth” หรือ “ผู้แข็งแกร่งที่สุดบนโลก”
ซึ่งความหมายที่แท้จริงของคำว่า Fittest แทนที่จะใช้คำว่า Strongest (ที่แปลตรงตัวว่าผู้ที่แข็งแกร่งที่สุด) จะหมายถึง “ผู้ที่แข็งแกร่งและสามารถปรับตัวได้ดีที่สุดในทุกสถานการณ์” โดยเป็นคำที่อ้างอิงมาจากวลีอย่าง “Survival of the fittest” หรือ “ผู้เหมาะสมที่สุดเท่านั้นจึงอยู่รอด” ในหนังสือของ On the Origin of Species ของ ชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) ซึ่งเป็นการสื่อได้เป็นอย่างดีถึงผู้ชนะของเกมกีฬา CrossFit
และหลังจากเกมการแข่งขันครั้งแรกได้ผ่านไป ชื่อเสียงของ CrossFit เริ่มเป็นที่รู้จักและโด่งดังมากยิ่งขึ้น ทำให้ดึงดูดผู้คนจากทั้งในสหรัฐอเมริกาและจากต่างประเทศเข้ามาร่วมแข่งขันในแต่ละปี ที่เรียกได้ว่าเป็นการก้าวกระโดดของเกมกีฬา CrossFit และจำนวนพันธมิตรฟิตเนสก็มีการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนกว่า 1,000 แห่ง ทั่วโลกภายในปี 2009

ซึ่งในปี 2010 การแข่งขัน CrossFit Games ครั้งที่ 4 มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันมากถึง 4,000 คน และมีการแข่งขันเพิ่มเป็น 9 กิจกรรม ใน 3 วัน รวมทั้งมีการเพิ่มการแข่งขันประเภททีมเข้ามา นอกจากนี้ เงินรางวัลสำหรับผู้ชนะการแข่งขันถูกเพิ่มขึ้นเป็น 25,000 ดอลลาร์ หรือราวๆ 1 ล้านบาท ต่อคน
จนกระทั่งในปี 2011 แบรนด์อุปกรณ์กีฬาสัญชาติอังกฤษ Reebok ได้มองเห็นการเติบโตนี้ และเข้ามาเป็นสปอนเซอร์หลักในการแข่งขันเกมกีฬา CrossFit อย่างเป็นทางการ โดยกลายเป็นการแข่งขันที่ชาวโลกจะได้รู้จักกันในชื่อ “Reebok CrossFit Games” เป็นต้นมา

โดยการแข่งขัน Reebok CrossFit Games ในปี 2011 ถือเป็นการปฏิวัติวงการ CrossFit ไปตลอดกาล ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้ ได้ให้ผู้สมัครได้คัดตัวผ่านการถ่ายวิดีโอในการทำกิจกรรมตามที่กำหนดแล้วส่งมาทางออนไลน์ โดยไม่ต้องเดินทางมาคัดตัวเองให้เสียเวลา
ทำให้มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันกว่า 26,000 คน และเป็นการแข่งขันครั้งแรกที่มีการแข่งขันว่ายน้ำ ทำให้การแข่งขันมีทั้งหมด 10 กิจกรรม ภายใน 3 วัน รวมทั้งเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะการแข่งขันถูกยกระดับขึ้นเป็น 250,000 ดอลลาร์ หรือราวๆ 8 ล้านบาท ต่อคน
อย่างไรก็ตาม กระแสวิจารณ์ที่โจมตีเกมกีฬา CrossFit ก็ไม่ได้น้อย ซึ่งกีฬา CrossFit ถูกโจมตีจากงานวิจัยอย่างหนักว่า การออกกำลังกายของพวกเขาทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่มากกว่าการออกกำลังกายของกีฬาชนิดอื่นๆ
โดยงานวิจัยในปี 2013 จากมหาวิทยาลัย Ohio State University อธิบายว่า “จากการติดตามผู้เข้าร่วมการฝึกซ้อม CrossFit จำนวน 54 คน เป็นเวลา 10 สัปดาห์ ได้มีจำนวนผู้ที่ไม่สามารถจบการฝึกซ้อมมากถึง 16 เปอร์เซ็นต์” และผู้วิจัยอ้างว่า “เหตุผลที่ทำให้ผู้เข้าร่วมการฝึกไม่สามารถจบการฝึกซ้อมได้คาดว่าเกิดจากลักษณะการฝึกซ้อมที่มีความรุนแรงเกินไปจนก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บ”

อย่างไรก็ตาม ในปี 2014 ทาง CrossFit ก็ได้ทำการยื่นฟ้องต่อสมาคม National Strength and Conditioning Association (NSCA) ผู้ที่ตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นนี้ โดยให้เหตุผลว่า “ข้อมูลในงานวิจัยมีความเป็นเท็จ และตั้งใจจะทำให้ผู้คนกลัวกีฬา CrossFit”
ซึ่งในครั้งแรก สมาคม NSCA ก็ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาของทาง CrossFit แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลภายในงานวิจัยกลับมีความผิดพลาดจริง โดยพวกเขาได้ออกมายอมรับว่า “ข้อมูลเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บไม่ตรงตามความเป็นจริง โดยในการวิจัยครั้งนั้น ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการฝึกซ้อม CrossFit เลยแม้แต่คนเดียว” ส่งผลให้งานวิจัยชิ้นนี้ต้องถูกถอดถอน (Retraction) ไปในปี 2017

โดยการถอดถอนงานวิจัย (หรือ Paper Retraction) ไม่ใช่เรื่องตลก ซึ่งผู้วิจัยที่งานวิจัยถูกถอดถอน ไม่ต่างจากการเป็นบุคคลล้มละลายทางวิชาการ ที่จะทำลายชื่อเสียงของผู้วิจัยอย่างถาวร และบางครั้งต้องสูญเสียตำแหน่งในที่ทำงาน รวมทั้งมีโอกาสน้อยมากที่งานวิจัยชิ้นใหม่ของผู้ที่เคยถูกถอดถอนผลงานวิจัยจะสามารถกลับมาตีพิมพ์ได้อีกครั้ง
ซึ่งในกรณีนี้ หนึ่งในผู้วิจัยต้องลาออกจากมหาวิทยาลัย Ohio State University หลังจากงานวิจัยถูกถอดถอน และทาง CrossFit ได้ชนะการฟ้องร้อง โดยศาลกล่าวว่า “ทางสมาคม NSCA มีแรงจูงใจทางด้านการค้าในการปลอมแปลงข้อมูล และเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ โดยมีเจตนาเพื่อดูหมิ่นกีฬา CrossFit และทำให้สาธารณชนเข้าใจในทางที่ผิด”
ทำให้ทาง CrossFit จะได้รับเงิน 74,000 ดอลลาร์ หรือราวๆ 3 ล้านบาท และได้รับอนุญาตให้ดำเนินการตรวจสอบสมาคม NSCA ต่อไป และหากพบว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเพิ่มเติม ทาง CrossFit สามารถยื่นคำร้องเรียน เพื่อลงโทษเพิ่มเติมและชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป

นอกจากนี้ ทาง CrossFit ยังได้ทำการวิจัยอย่างเป็นทางการและถูกต้องตามกฎหมายเกี่ยวกับอัตราและปัจจัยเสี่ยงที่เกิดอาการบาดเจ็บในการฝึกซ้อมแบบ CrossFit หรือในชื่องานวิจัย “Rates and risk factors of injury in CrossFitTM: a prospective cohort study” ซึ่งถูกตีพิมพ์ในปี 2017
โดยผลการวิจัยสามารถสรุปได้เป็นเอกฉันท์ว่า “อัตราการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับการฝึก CrossFit นั้นต่ำ และไม่แตกต่างกับกิจกรรมการออกกำลังกายในรูปแบบอื่นๆ” ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่สนใจในเกมกีฬา CrossFit ขึ้นไปอีกขั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเดินทางของกีฬา CrossFit จะสวยงามและกำลังไปได้ดี แต่ในปี 2020 กลับต้องพบเจอกับกระแสด้านลบในด้านของการเหยียดสีผิว โดยผู้ก่อตั้งอย่างเกร็ก กลาสแมน ที่อดใจไว้ไม่ได้โดยเข้าไปคอมเมนต์บนโพสใน Twitter ของสถาบันวิจัยด้านสุขภาพ Institute for Health Metrics and Evaluation ที่กำลังโพสว่า “การเหยียดเชื้อชาติ คือ ปัญหาด้านสาธารณสุข”
โดยเขาได้คอมเมนต์ตอบว่า “It’s FLOYD-19″ หรือ “มันคือโรคโควิดฟลอยด์” ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ที่ตำรวจได้สังหารชายผิวสี จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) โดยตำรวจได้ใช้หัวเข่ากดไปที่คอของจอร์จ ฟลอยด์ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะขาดอากาศหายใจและขาดเลือดไปเลี้ยงสมองเขา จนทำให้เขาเสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยเหตุการณ์นี้ถือเป็นการจุดชนวนให้เกิดการประท้วงอย่างรุนแรงทั่วสหรัฐอเมริกา

ซึ่งการคอมเมนต์ของเกร็ก กลาสแมน ได้สร้างความไม่พอใจให้กับพันธมิตรยิมหลายแห่ง ทำให้มียิมกว่า 1,000 แห่งประกาศยุติความสัมพันธ์กับทาง CrossFit รวมไปถึงทางแบรนด์ Reebok ก็ได้ทำการประกาศถอนตัวจากการเป็นสปอนเซอร์หลักและจบความสัมพันธ์กับทาง CrossFit ในทันที
โดยทางแบรนด์ Reebok กล่าวว่า “ความร่วมมือของเรากับทาง CrossFit จะสิ้นสุดลง แม้ว่าเมื่อเร็วๆ นี้ เราเพิ่งได้หารือเกี่ยวกับข้อตกลงใหม่ อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ล่าสุด เราได้ตัดสินใจยุติความร่วมมือกับทาง CrossFit แต่สิ่งที่ทางเราจะไม่เปลี่ยนแปลง คือ การสนับสนุนเหล่านักกีฬาและชุมชนที่ชื่นชอบในการออกกำลังกายและกีฬานี้”

และหลังจากกระแสเชิงลบและการยุติความสัมพันธ์ ทำให้ทางเกร็ก กลาสแมนได้ออกมาประกาศขอโทษและแสดงความเสียใจต่อสิ่งที่เขาได้กระทำ และประกาศเกษียณตัวและออกจากบริษัท CrossFit ไป โดยได้ให้ผู้บริหารใหม่ขึ้นมาดำเนินการและพัฒนากีฬา CrossFit ต่อไป เพื่อดึงความน่าเชื่อถือและสร้างความเชื่อมั่นให้กับเหล่านักกีฬาอีกครั้ง
โดยในปัจจุบัน ทาง CrossFit มีฐานผู้เล่นเป็นจำนวนมาก และมีพันธมิตรยิมที่มากถึง 12,000 แห่ง ใน 150 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยมียิม CrossFit ตั้งอยู่ถึง 12 แห่งในหัวเมืองท่องเที่ยว และเกมกีฬา CrossFit Games ก็ถือเป็นหนึ่งในเกมการแข่งขันกีฬาฟิตเนสที่ได้รับความนิยมและโด่งดังที่สุดในโลก

ซึ่งเงินรางวัลการแข่งขัน CrossFit Games ในปัจจุบันถูกเพิ่มให้มีความจูงใจมากยิ่งขึ้น โดยผู้ชนะในการแข่งขันประเภทบุคคล ทั้งชายและหญิงจะได้รับเงินรางวัลที่มากถึง 310,000 ดอลลาร์ หรือราวๆ 10 ล้านบาท และอันดับที่ 2 จะได้รับเงินรางวัล 120,000 ดอลลาร์ (4 ล้านบาท), อันดับที่ 3 ได้รับเงินรางวัล 80,000 ดอลลาร์ (2 ล้านบาท) รวมทั้งจะมีเงินรางวัลให้มากถึง 40 อันดับแรก ซึ่งอันดับที่ 40 จะได้รับเงินขวัญถุงกลับบ้าน 2,250 ดอลลาร์ หรือราวๆ 76,000 บาท
และเงินรางวัลประเภททีมจะอยู่ที่ 100,000 ดอลลาร์ หรือราวๆ 3 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเงินรางวัลประเภทรุ่นอายุอีกมากมาย โดยเม็ดเงินรางวัลรวมทั้งหมดในการแข่งขัน CrossFit Games จะสูงถึง 2,845,000 ดอลลาร์ หรือราวๆ 96 ล้านบาทเลยทีเดียว
ซึ่งในบทความประวัติและความเป็นมาของฟิตเนส ยิม และกีฬา CrossFit ต้องขอจบลง ณ ที่นี้
และท่านใดที่สนใจในกีฬา CrossFit ในประเทศไทย สามารถเข้าไปติดตามข่าวสารและพูดคุยในเพจ FB: ชมรมคนรัก CrossFit ประเทศไทย ได้เลยครับ โดยนักกีฬา CrossFit ตัวแทนประเทศไทยก็ได้ลงแข่งขันใน CrossFit Games 2023 อีกด้วย

และในบทความหน้า เราจะมาเล่าถึงและรีวิวตระกูลรองเท้าเทรนนิ่ง Reebok Nano ซึ่งเป็นรองเท้าเทรนนิ่งเข้ายิม ที่ถูกพัฒนาให้ครอบคลุมการใช้งานในฟิตเนสและยิมทั้งหมด โดยพัฒนาขึ้นจากความต้องการของนักกีฬา CrossFit เป็นระยะเวลากว่า 13 ปี และสามารถถือเป็นรองเท้าเทรนนิ่งคู่แรกที่ปฎิวัติวงการรองเท้าสำหรับสวมใส่ในฟิตเนส และเป็นมาตรฐานในการออกแบบรองเท้าเทรนนิ่งจนถึงปัจจุบัน

หวังว่าบทความนี้เป็นจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจในประวัติและความเป็นมาของฟิตเนส ยิม และกีฬา CrossFit หลาย ๆ ท่าน ขอให้ออกกำลังกายให้สนุกครับ
สามารถติดตาม Running Profiles ได้ทั้งใน
- FB: Running Profiles
- Website: https://runningprofiles.com/
- Youtube: Running Profiles
แหล่งข้อมูล:
- History of health clubs: How gyms have evolved through the ages – Les Mills
- Journal retracts Ohio State CrossFit study at center of lawsuits
- Crossfit-based high-intensity power training improves maximal aerobic fitness and body composition
- Rates and risk factors of injury in CrossFitTM: a prospective cohort study
- CrossFit History
- History of Joe Gold
- History of Hippolyte Triat
- History of Les Mills