วันนี้เราจะพานักวิ่งทุกท่านมาทำความรู้จักกับหน้าผ้า MATRYX (อ่านว่า เมทริกซ์) ซึ่งนักวิ่งเทรลหลายท่านอาจจะคุ้นตาในรองเท้าวิ่งเทรลตัวแข่งหลาย ๆ รุ่น ไม่ว่าจะเป็น Hoka Evo Speedgoat, Hoka Evo Mafate 2, และ Salomon S/Lab Cross หรือในปี 2021 อย่าง The North Face Flight VECTIV

ฉะนั้นในบทความนี้ เราจะมาเล่าถึง รายละเอียดของหน้าผ้า MATRYX กันว่าทำมาจากวัสดุอะไร มีคุณสมบัติเด่นอย่างไร รวมทั้งในปัจจุบันมีรองเท้าวิ่งแบรนด์ไหนรุ่นไหนใช้กันบ้าง เชิญติดตามได้เลยครับ
Chamatex บริษัทสิ่งทอผู้ถือครองสิทธิบัตรหน้าผ้า MATRYX

Chamatex เป็นบริษัทสิ่งทอจากประเทศฝรั่งเศส ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1980 โดยในครั้งแรกที่ก่อตั้ง Chamatex เป็นเพียงบริษัทผลิตผ้าขนาดเล็ก สำหรับทำผ้าม่านและโซฟาเท่านั้น อย่างไรก็ตามในปี 2011 บริษัท Chamatex ได้ถูกซื้อกิจการต่อโดย Gilles Réguillon ซึ่งเขาเป็นทั้งนักบริหารชาวฝรั่งเศสและลูกเขยของผู้ก่อตั้งอีกด้วย

หลังจาก Gilles Réguillon ได้กุมบังเหียนของบริษัท เขาได้เล็งเห็นโอกาสในตลาดอุปกรณ์กีฬาที่กำลังเติบโต ทำให้ภายในปี 2011 เขาไม่รอช้าที่จะก่อตั้งแผนกเกี่ยวกับกีฬาขึ้นใน Chamatex และเป็นเวลากว่า 5 ปีในการวิจัยและพัฒนา จนในปี 2016 บริษัท Chamatex ได้เปิดตัวและจดสิทธิบัตรนวัตกรรมเนื้อผ้ารุ่นใหม่ ในชื่อที่ถูกเรียกว่า “MATRYX®” (อ่านว่า เมทริกซ์)

โดยเนื้อผ้า MATRYX ถือเป็นความสำเร็จอย่างก้าวกระโดดสำหรับบริษัท Chamatex ที่ส่งผลให้บริษัทมีมูลค่าซื้อขายในปี 2019 กว่า 25 ล้านยูโร หรือราว 908 ล้านบาท
หน้าผ้า MATRYX คืออะไรและทำมาจากวัสดุอะไร

เนื้อผ้า MATRYX เป็นเนื้อผ้าประสิทธิภาพสูงที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในรองเท้ากีฬาโดยเฉพาะ โดยทำจากเส้นใยไนลอน (High-Tenacity Polyamide) ที่มีความเหนียวและยืดหยุ่นสูง ทอผสานกับเส้นใยเคฟลาร์ (Kevlar) และมีขั้นตอนการออกแบบลวดลายและคุณสมบัติที่แตกต่างกัน เพื่อให้เข้ากับลักษณะของกีฬาประเภทนั้น ๆ เช่น รองเท้าจักรยาน รองเท้าแบดมินตัน หรือรองเท้าวิ่งเทรล ซึ่งทาง Chamatex จะเรียกว่า Unique Zoning (หรือ อัตลักษณ์ของลวดลาย)
ในขั้นตอนการผลิตหน้าผ้า MATRYX นั้นจะเริ่มจากขั้นตอนดังต่อไปนี้
ขั้นที่ 1 ผลิตเส้นด้าย MATRYX
ในผลิตเส้นด้าย MATRYX จะเป็นนำเส้นด้ายไนลอน (High-Tenacity Polyamide) ที่มีความเหนียวและยืดหยุ่นสูงมาพันรวมกันกับเส้นด้ายเคฟลาร์ (Kevlar) จนได้ออกมาเป็นเส้นด้าย MATRYX


จากนั้นจึงนำเส้นดาย MATRYX ไปเคลือบด้วยสารโพลียูรีเทน (Polyurethane) เพื่อทำให้เส้นดายมีความทนทานต่อการขีดขวนและไม่ขาดง่าย รวมทั้งจะทำให้เส้นดายมีคุณสมบัติไม่อมน้ำและระบายอากาศได้ดี

และเมื่อเคลือบด้วยโพลียูรีเทน (Polyurethane) เสร็จจะมีการทดสอบคุณสมบัติและน้ำหนักในห้องทดลองให้แน่ชัดว่า เส้นดายได้มาตรฐานที่ต้องการ

ขั้นที่ 2 สานทอผ้า MATRYX
เมื่อได้เส้นด้าย MATRYX ขั้นตอนต่อไปคือการสานทอและขึ้นรูปให้เป็นผ้า MATRYX ผืนใหญ่ โดยใช้เครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีในการทอที่ซับซ้อน เพื่อให้สามารถทอเนื้อผ้าที่มีคุณสมบัติที่ต้องการได้

โดยในขั้นตอนการทอนี้ ทาง Chamatex สามารถเพิ่มเส้นด้ายพิเศษต่าง ๆ เข้าไปได้ เช่น เส้นด้ายสังเคราะห์ (Mono Filament), เส้นด้ายคาร์บอน (Carbon Fiber), เส้นด้ายหนังสัตว์ (Leather) หรือ เส้นด้ายซิลิโคน (Silicone) เพื่อทำให้เกิดคุณสมบัติและลวดลายที่ต้องการนำไปใช้

หลังจากขั้นตอนการทอเสร็จสิ้น จะมีผู้เชี่ยวชาญตรวจเช็คเนื้อผ้าและนำไปทดสอบคุณสมบัติด้านต่าง ๆ อีกครั้ง เช่น การทดสอบแรงดึง (Tensile test), การทดสอบการขีดข่วน (Abrasion test) และการทดสอบน้ำหนัก เพื่อให้แน่ใจว่า ผ้า MATRYX มีความสมบูรณ์พร้อมที่จะนำไปใช้งาน

ขั้นที่ 3 ตัดและขึ้นรูปหน้าผ้า MATRYX สำหรับรองเท้ากีฬา
และในขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นการใช้เลเซอร์ตัดเนื้อผ้า MATRYX เพื่อนำไปใช้ในรองเท้ากีฬา โดย หน้าผ้า MATRYX ที่ได้จะเป็นแบบชิ้นเดียว (One Piece Upper) ไม่มีรอยต่อ จึงทำให้มีน้ำหนักที่เบากว่าหน้าผ้าปกติทั่วไป

และสิ่งที่พิเศษสำหรับหน้าผ้า MATRYX อีกอย่างนั้นก็คือ ทุกขั้นตอนการผลิตหน้าผ้า MATRYX ที่กล่าวมาจะเกิดขึ้นในประเทศฝรั่งเศสแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ (100% Made in France)
5 คุณสมบัติเด่นของหน้าผ้า MATRYX
- โอบกระชับเท้าและรองรับการเคลื่อนไหวแนวข้าง (Lateral Support)
- สามารถโค้งเข้ารูปกับเท้า (Flexibility)
- น้ำหนักเบา (Lightness)
- ระบายอากาศและน้ำได้เป็นอย่างดี (Breathability)
- ทนทานต่อการขีดข่วน (Abrasion Resistance)

รองเท้าวิ่งแบรนด์ไหนรุ่นไหนใช้หน้าผ้า MATRYX บ้าง ?
ในช่วงแรกเริ่มนั้น แบรนด์รองเท้าวิ่งที่ใช้หน้าผ้า MATRYX ส่วนใหญ่ล้วนอยู่ในฝั่งของแบรนด์จากยุโรป โดยเฉพาะแบรนด์ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันหน้าผ้า MATRYX ได้ถูกนำใช้ในรองเท้าวิ่งจากฝั่งอเมริกันอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
แบรนด์ Hoka One One
แบรนด์ Hoka One One เป็นแบรนด์รองเท้าวิ่งที่มีต้นกำเนิดจากประเทศฝรั่งเศส ที่ในปัจจุบันที่ซื้อไปโดยบริษัท Deckers Outdoor Corporation ของสหรัฐอเมริกา (อ่านประวัติแบรนด์ Hoka One One ได้ที่นี่)
โดยแบรนด์ Hoka One One ถือว่าเป็นแบรนด์แรก ๆ ที่นำหน้าผ้า MATRYX มาใช้ ซึ่งรุ่นแรกที่นำมาใช้คือ รุ่น Hoka One One EVO Mafate ในปี 2017 ก่อนจะตามมาด้วย Hoka One One EVO Rehi ในปี 2018 หลังจากนั้น แบรนด์ Hoka One One ก็ได้ใช้หน้าผ้า MATRYX ในรองเท้าวิ่งเทรลรุ่นต่าง ๆ โดยมีทั้งหมดดังนี้
- Hoka One One EVO Rehi (รองเท้าถนน)
- Hoka One One EVO Mafate (รองเท้าวิ่งเทรล)
- Hoka One One EVO Mafate 2 (รองเท้าวิ่งเทรล)
- Hoka One One EVO Speedgoat (รองเท้าวิ่งเทรล)
แบรนด์ Salomon
Salomon หรือ Salomon Group เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุปกรณ์กีฬากลางแจ้งจากฝรั่งเศส ที่เริ่มนำหน้าผ้า MATRYX มาใช้ในปี 2020 ที่ผ่านมา (อ่าน [คัมภีร์] รองเท้าวิ่งเทรล Salomon ของปี 2020 ทุกรุ่นได้ที่นี่) โดยรุ่นที่ใช้หน้าผ้า MATRYX จะมีทั้งหมดดังนี้
- Salomon Cross/Pro (รองเท้าวิ่งเทรล)
- Salomon S/Lab Cross (รองเท้าวิ่งเทรล)
- Salomon S/Lab Pulsar (รองเท้าวิ่งเทรล)
- Salomon Out/Pro (รองเท้าเดินป่า)
แบรนด์ Millet
แบรนด์ Millet เป็นแบรนด์อุปกรณ์ปีนเขาจากประเทศฝรั่งเศส ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการทำกระเป๋าแบ็คแพ็ค (Backpack) และเป็นเจ้าแรกของโลกที่ออกแบบกระเป๋าแบ็คแพ็คสำหรับปีนยอดเขา ซึ่งในปัจจุบันมีหันมาทำอุปกรณ์สำหรับการวิ่งเทรลมากขึ้น โดย ณ ปัจจุบันจะมีรองเท้าวิ่งเทรลอยู่เพียงรุ่นเดียว คือรุ่น Millet Light Rush
- Millet Light Rush (รองเท้าวิ่งเทรล)
แบรนด์ Decathlon
แบรนด์ Decathlon เป็นร้านค้าปลีกสินค้ากีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลก จากประเทศฝรั่งเศส โดยหน้าผ้า MATRYX ถูกนำมาใช้กับรองเท้าเดินป่าของ Decathlon อย่างรุ่น Forclaz Trek 500 และในรองเท้าวิ่งเทรลตัวแข่งระยะสั้นรุ่นใหม่อย่าง EVADICT Race Light
- Forclaz Trek 500 (รองเท้าเดินป่า)
- EVADICT Race Light (รองเท้าวิ่งเทรล)
แบรนด์ The North Face
แบรนด์ The North Face เป็นแบรนด์อุปกรณ์กีฬากลางแจ้งจากฝั่งอเมริกา โดยเริ่มนำหน้าผ้า MATRYX มาใช้ในรองเท้าวิ่งเทรลคาร์บอนรุ่นใหม่ในปี 2021 อย่าง The North Face Flight VECTIV และ VECTIV Infinite (อ่านต่อข่าวเปิดตัว The North Face ซีรีส์ VECTIV ได้ที่นี่)
- The North Face Flight VECTIV
- The North Face VECTIV Infinite
นอกจากนี้หน้าผ้า MATRYX ยังถูกในกีฬาประเภทอื่น ๆ ดังนี้
แบรนด์ Babolai เป็นแบรนด์อุปกรณ์เทนนิสและแบดมินตันสัญชาติฝรั่งเศส ใช้หน้าผ้า MATRYX ในรองเท้าเทนนิสและแบตมินตัน
แบรนด์ Kempa เป็นแบรนด์อุปกรณ์แฮนด์บอลสัญชาติเยอรมัน ใช้หน้าผ้า MATRYX ในรองเท้าแฮนด์บอล
แบรนด์ Mavic เป็นแบรนด์อุปกรณ์จักรยานสัญชาติฝรั่งเศส ใช้หน้าผ้า MATRYX ในรองเท้าสำหรับปั่นจักรยาน
แบรนด์ PUMA เป็นแบรนด์อุปกรณ์กีฬาสัญชาติเยอรมัน ใช้หน้าผ้า MATRYX ในรองเท้าฟุตบอล
แบรนด์ Delta Plus เป็นแบรนด์อุปกรณ์เซฟตี้สัญชาติฝรั่งเศส ใช้หน้าผ้า MATRYX ในรองเท้าเซฟตี้
แบรนด์ Diadora เป็นแบรนด์อุปกรณ์กีฬาสัญชาติอิตาลี ใช้หน้าผ้า MATRYX ในแบรนด์ย่อยสำหรับอุปกรณ์เซฟตี้อย่าง Diadora Utility สำหรับรองเท้าเซฟตี้
Chamatex บริษัทที่ไม่หยุดแต่เพียงการผลิตเนื้อผ้า
ในปัจจุบันบริษัท Chamatex ไม่หยุดแต่เพียงการผลิตเนื้อผ้า แต่มีการจัดตั้งทีมแข่งวิ่งเทรลของตัวเองขึ้นมาในชื่อว่า “TEAM MATRYX” โดยในปัจจุบันนี้ TEAM MATRYX มีคะแนน ITRA เฉลี่ยสูงถึง 856 คะแนน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มนักวิ่งมืออาชีพเลยทีเดียว รวมทั้งอายุนักแข่งภายในทีมเฉลี่ยจะอยู่ที่ 22 ปี ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นวัยรุ่นไฟแรงทั้งนั้น

นอกจากนี้ บริษัท Chamatex ยังมีแผนการผลักดันให้ย้ายฐานการผลิตรองเท้าบางส่วนกลับมายังประเทศฝรั่งเศส เพื่อให้เกิดการจ้างงานในประเทศฝรั่งเศสเพิ่มขึ้น โดยมีแผนจัดตั้งโรงผลิตและออกแบบรองเท้าอัจฉริยะ ในชื่อที่เรียกว่า Advanced Shoe Factory 4.0 (ASF 4.0) ณ เมือง Ardoix ประเทศฝรั่งเศส

โดยโรงงาน Advanced Shoe Factory 4.0 (ASF 4.0) จะเป็นการใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยในการผลิต เพื่อทำให้ต้นทุนการผลิตไม่สูงกว่าการผลิตในแถบเอเชีย นอกจากนี้ในการสร้างโรงงานใหม่นี้ยังจะทำให้เกิดการจ้างงานในฝรั่งเศสที่คาดว่าจะใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและโปรแกรมเมอร์กว่า 50 ตำแหน่ง ในการดูแลโรงงาน
ซึ่งแบรนด์ที่เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนและหุ้นส่วนหลักของโครงการนี้ คือ แบรนด์ Salomon ที่สำนักงานใหญ่ของ Salomon อยู่ห่างจากโรงงาน ASF 4.0 เพียง 200 กม. เท่านั้น โดยทาง Salomon ให้เหตุผลว่า “ทาง Salomon จะได้ประโยชน์เป็นอย่างมากในการทดสอบและตอบรับกับปัญหาของรองเท้าที่ผลิตออกมาได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งแก้ปัญหาการขาดสต๊อกของรองเท้าในตลาดยุโรป”
โดยตามกำหนดการคาดว่าโรงงาน Advanced Shoe Factory 4.0 (ASF 4.0) จะก่อสร้างเสร็จสิ้นและพร้อมผลิตรองเท้าภายในกลางปี 2021 นี้ และรองเท้ารุ่นแรกของ Salomon ที่ถูกผลิตในโรงงานนี้จะวางจำหน่ายในเดือนธันวาคม ปี 2021

เป้าหมายของโรงงาน Advanced Shoe Factory 4.0 (ASF 4.0) คือการผลิตรองเท้า 500,000 คู่ต่อปีภายในปี 2025 โดย 50 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตจะเป็นของรองเท้าของแบรนด์ Salomon และที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งจะแบ่งไปให้กับรองเท้าแบรนด์อื่น ๆ เช่น Millet และ Babolat ซึ่งรองเท้าที่ถูกผลิตออกมาจะถูกระบุว่า “Made in France” หรือผลิตในฝรั่งเศสนั่นเอง
หวังว่าบทความนี้จะจุใจและเป็นประโยชน์ต่อนักวิ่งหลาย ๆ ท่าน ที่ต้องการทราบเกี่ยวกับประวัติหน้าผ้า MATRYX ขอให้วิ่งให้สนุกครับ
ถ้าท่านชอบบทความและข่าวสารแบบนี้ สามารถติดตาม Running Profiles ได้ทั้งใน