ประวัติแบรนด์ La Sportiva: ตอนที่ 1 จุดเริ่มต้นและตำนานของเหล่าผู้พิชิตยอดเขาจากอิตาลี

Related Articles

หากกล่าวถึงกลุ่มประเทศต้นตำรับของกีฬากลางแจ้งอย่างการปีนหน้าผ้า ไต่เขา เดินป่า สกีหิมะ หรือการวิ่งเทรล คงจะหนีไปไม่พ้นกับกลุ่มประเทศในแถบยุโรป โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส สเปน สวิตเซอร์แลนด์และอิตาลี ที่กีฬาประเภทนี้จะได้รับความนิยมเป็นพิเศษ

ซึ่งไม่เป็นที่น่าแปลกใจนัก หากย้อนกลับไปในจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์นักปีนเขาของฝั่งยุโรป ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ล้วนมีความรู้สึกที่มุ่งมั่นในการที่จะพิชิตอะไรบางอย่างเพื่อเกียรติยศและเป็นสิ่งที่พวกเขาพยายามไขว่คว้าหามาโดยตลอด​ แม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยชีวิตของตัวพวกเขาเองก็ตาม

ความรู้สึกคลั่งไคล้ที่ต้องการจะพิชิตยอดภูเขาสูง เพื่อจะได้ถูกจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ ก่อให้เกิดการประดิษฐ์และสร้างนวัตกรรมอุปกรณ์สำหรับไต่เขาจนก่อให้เกิดแบรนด์ต่าง ๆ ที่เป็นที่รู้จักกันในระดับโลกที่ไม่ว่าจะแบรนด์ Salomon จากประเทศฝรั่งเศส หรือแบรนด์ Vibram จากประเทศอิตาลี ซึ่งในภายหลังนวัตกรรมเหล่านี้จึงถูกส่งต่อและพัฒนากลายมาเป็นรองเท้าวิ่งเทรลที่เราได้ใช้งานกันในปัจจุบัน

และในวันนี้เราจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับอีกหนึ่งแบรนด์ระดับตำนานที่เก่าแก่ยิ่งกว่าแบรนด์ Vibram และแบรนด์ Salomon เสียอีก นั่นคือ “แบรนด์ La Sportiva: ตอนที่ 1 จุดเริ่มต้นและตำนานของเหล่าผู้พิชิตยอดเขาจากอิตาลี” เชิญติดตามได้เลยครับ

จุดเริ่มต้นและค่ำคืนแห่งคำสัญญา

มีเรื่องราวที่เล่าขานกันถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์ La Sportiva ว่ามีจุดเริ่มต้นจากความงดงามของเหล่าผู้คน ณ ชุมชน ในหุบเขา Fiemme ประเทศอิตาลี

ชุมชน ณ หุบเขา Fiemme ประเทศอิตาลี

Narciso Delladio เป็นบุตรคนที่ 5 จากบุตร 8 คนในครอบครัว Delladio ซึ่งเขาเกิดในปี 1890 และเติบโต ณ หุบเขา Fiemme ประเทศอิตาลี ด้วยความยากจนของครอบครัว ทำให้เขาต้องออกไปทำงานเป็นช่างก่ออิฐ ณ เมืองเวนิส เพื่อหาเงิน ที่จะนำมาทำตามความฝันของเขาและครอบครัว นั่นคือการเปิดร้านทำรองเท้าบูทหนัง

การเปิดร้านทำรองเท้าบูทไม่ใช่สิ่งที่ครอบครัว Delladio รักที่จะทำเพียงอย่างเดียว แต่มันคือ “คำสัญญา” ที่คุณแม่ของ Narciso ให้ไว้กับพระผู้เป็นเจ้าและเหล่าผู้คน ณ ชุมชน ในหุบเขา Fiemme

ย้อนกลับไปถึงเรื่องราวในค่ำคืนอันหนาวเหน็บท่ามกลางพายุหิมะในฤดูหนาว คุณแม่ของ Narciso ได้พลัดหลงเข้าไปในป่า ซึ่งเธอพยายามหาทางกลับบ้านอย่างสุดชีวิต แต่ความพยายามนั้นกลับไม่เป็นผล เธอได้หลงทางในป่าที่พายุหิมะกำลังพัดโหมกระหน่ำ จนกระทั่งเท้าของเธอเริ่มเย็นและแข็ง

เธอไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการภาวนาต่อพระผู้เป็นเจ้าและสัญญากับตัวเธอเองว่า “ถ้าเธอสามารถรอดชีวิตออกไปจากเหตุการณ์นี้ได้ สมาชิกในครอบครัวของเธออย่างน้อยหนึ่งคนจะอุทิศตนให้กับการเป็นช่างทำรองเท้าบูทให้แก่ชุมชนแห่งนี้” และในที่สุดแสงแห่งความหวังก็มาถึงเมื่อเหล่าผู้คนทั้งหมดในชุมชนเล็กๆ แห่งหุบเขา Fiemme ต่างพากันออกตามหาเธอจนสามารถช่วยเหลือเธอกลับมาได้อย่างปลอดภัย

และคำสัญญาที่เธอให้ไว้ในค่ำคืนนั้น เพื่อตอบแทนผู้คนในสังคมที่งดงามแห่งนี้ จึงถูกส่งต่อมายังเหล่าทายาทของเธอ

ความรู้เพิ่มเติม

  • หุบเขา Fiemme หรือในภาษาอิตาลีถูกเรียกว่า “Val di Fiemme” เป็นเขตหุบเขาในจังหวัดเทรนติโน (Trentino) ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเทือกเขา Dolomites ณ ประเทศอิตาลี โดยจะมีชุมชนหรือเมืองขนาดเล็ก กระจายอยู่ในเขตหุบเขานี้ เช่น เมือง Ziano di Fiemme และเมือง Tesero
  • โดยทางแบรนด์ La Sportiva จะมีการเขียนติดบริเวณแท็กของสินค้าเสมอว่า “Val di Fiemme, Italy” ซึ่งเป็นเสมือนการบ่งบอกว่า “สินค้าทุกชิ้นยังคงมีการส่งต่อวัฒนธรรมอันเก่าแก่จากหุบเขา Fiemme ณ ประเทศอิตาลีให้แก่ผู้ใช้”
ผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ La Sportiva บริเวณแท็กของสินค้าจะมีการเขียนติดเสมอว่า “Val di Fiemme, Italy”

หลังจาก Narciso Delladio ทำงานเป็นช่างก่ออิฐอยู่ไม่กี่ปี เขาก็สะสมเงินจนเพียงพอที่จะกลับไปที่เมือง Tesero เพื่อเปิดร้านทำรองเท้า เหมือนกับพ่อและพวกพี่ชายของเขา

ในปี 1921 เขาในวัย 31 ปี ได้แต่งงานกับ Luigia หญิงสาวที่มีอายุอ่อนกว่าเขาถึง 12 ปี ซึ่ง ณ เวลานั้นร้านของเขามีอุปกรณ์และเครื่องมือเพียงไม่กี่ชนิด เช่น โต๊ะยาวและเก้าอี้หนึ่งตัวและเครื่องมืออีกจำนวนไม่มาก

Narciso Delladio และร้านทำรองเท้าของเขาที่ยังมีอุปกรณ์และเครื่องมือเพียงไม่กี่ชนิด

ซึ่งเขาได้เริ่มลงมือทำรองเท้าหนังที่ใช้พื้นเป็นไม้ (Wooden Clogs) และรองเท้าบูทสำหรับเดินหิมะที่พื้นด้านล่างจะมีเหล็กลักษณะคล้ายตะปู (Nails) ติดอยู่ เพื่อใช้สำหรับเดินบนเส้นทางที่มีหิมะ ซึ่งเป็นรองเท้าบูทที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงเวลานั้น

(ซ้าย) รองเท้าหนังที่ใช้พื้นเป็นไม้ (Wooden Clogs) และ (ขวา) รองเท้าบูทที่พื้นด้านล่างมีเหล็กลักษณะคล้ายตะปูติดอยู่

โดยลูกค้าของเขาส่วนใหญ่ คือ เกษตรกร ช่างตัดไม้ และคนงานของฟาร์มเลี้ยงสัตว์ในเมือง Tesero แต่ก็มีบางครั้งที่ลูกค้าของเขาคือ นักท่องเที่ยวและนักสำรวจที่มาเยือนยังเทือกเขา Dolomites ซึ่งแม้ว่ารองเท้าหนังของเขาจะถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในงานเกษตรกรรม แต่มันยังมีคุณสมบัติที่ดีเพียงพอที่เหมาะกับการนำไปใช้ในการเดินทางบนเทือกเขาได้อีกด้วย

Narciso Delladio มองว่ากระแสการไต่ภูเขาน้ำแข็ง (Alpinism) เป็นสิ่งที่ทันสมัยและน่าหลงไหลในยุคสมัยนั้น เขาจึงได้เล็งเห็นโอกาสที่จะแตกต่างจากคู่แข่งในการเลือกที่จะผลิตรองเท้าบูทสำหรับใช้งานบนภูเขาแทนที่รองเท้าบูทสำหรับงานเกษตรกรรม

เทือกเขา Dolomites ณ ประเทศอิตาลี

เขาได้พัฒนาและออกแบบรองเท้าบูทรุ่นต่าง ๆ ให้มีน้ำหนักที่เบาขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะขายผลิตภัณฑ์รองเท้าบูทเหล่านี้ให้กับเหล่านักเดินทางที่มาจากต่างแดนในช่วงวันหยุด ซึ่งโดยปกติพวกนักเดินทางมักจะยินดีจ่ายในราคาที่สูงกว่าคนในท้องถิ่น

และสิ่งที่จะทำให้ Narciso แตกต่างจากช่างทำรองเท้าคนอื่น นั่นก็คือ ความชอบในการประดิษฐ์และการรับฟังปัญหาและคำแนะนำจากลูกค้า ซึ่งในหลาย ๆ ครั้งที่เหล่าช่างตัดไม้ได้ให้คำแนะนำในการออกแบบรองเท้า จนนำเขาไปสู่การออกแบบเชือกรองเท้าแบบพิเศษที่จะร้อยตัวเชือกไปรัดบริเวณหลังข้อเท้า (Posterior Lacing) เพื่อเพิ่มความกระชับ

ซึ่งนอกจาก Narciso จะนักประดิษฐ์ที่ชื่นชอบในความทันสมัยและหลงใหลในเทคโนโลยี เขายังเป็นคนหัวก้าวหน้าที่แสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในชีวิตอยู่เสมออย่างเช่น การเริ่มศึกษาภาษาเอสเปรันโตอย่างกระตือรือร้น เพียงเพราะเขาคาดการณ์ว่าภาษาเอสเปรันโตจะเป็นภาษาสากลในอนาคต

ในปี 1926 เขาเสี่ยงที่จะลงทุนในการซื้อรถยนต์ Fiat 509 ซึ่งเป็นรถยนต์คันแรกในชีวิตของเขา เพื่อที่จะนำมารับส่งเหล่านักท่องเที่ยวที่มาเยือนยังเทือกเขา Dolomites ซึ่ง ณ ช่วงเวลานั้น จำนวนนักท่องเที่ยวกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นเป็นอย่างมาก

รถยนต์ Fiat 509

งานรับจ้างรับส่งเหล่านักท่องเที่ยวไปยังเทือกเขา Dolomites ทำให้เขาได้รับแง่มุมและเข้าใจถึงความต้องการของเหล่านักเดินทางและนักสำรวจ ซึ่งจะส่งผลช่วยให้เขาออกแบบและผลิตรองเท้าได้ตรงตามความต้องการของนักเดินทางมากยิ่งขึ้น

และในปี 1928 ซึ่งถือเป็นปีที่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตของ Narciso Delladio นั่นคือโอกาสเข้าร่วมงาน Milan Trade Fair (Fiera di Milano) หรืองานจัดแสดงสินค้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ณ นครมิลาน ประเทศอิตาลี อย่างไรก็ตาม การที่จะเข้าร่วมงาน Milan Trade Fair นั้น เขาจำเป็นต้องมีชื่อร้านอย่างเป็นทางการเสียก่อน

ด้วยความที่ Narciso เป็นคนหัวก้าวหน้า เขาจึงเล็งเห็นโอกาสที่จะแตกต่างอีกครั้ง โดยใช้ชื่อร้านว่า La Calzoleria Sportiva” (อ่านว่า ลา – คาล – โซ – เล – รี – ยา – สปอร์ต – ติ – ว่า) หรือในภาษาอังกฤษจะมีความหมายว่า The Sports Shoe Shop” หรือ “ร้านรองเท้ากีฬา” นั่นเอง

ซึ่ง ณ เวลานั้น ร้านทำรองเท้าบูทส่วนใหญ่มักจะใช้ชื่อที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับช่างตัดไม้และเกษตรกรเป็นหลัก โดยสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อในชื่อของร้านก็คือ “การเปิดกว้างและไม่ยึดติดในการผลิตเพียงแค่รองเท้าบูทสำหรับใช้งานในภาคเกษตรกรรม แต่เขาจะผลิตรองเท้ากีฬาสำหรับการไต่ภูเขาทุกชนิด”

การเข้าร่วมและได้รับใบรับรองจากงาน Milan Trade Fair ทำให้ชื่อเสียงของแบรนด์ La Calzoleria Sportiva เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้นและไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในจังหวัดเทรนติโนเหมือนกับในอดีตอีกต่อไป ซึ่งนี้จึงถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของแบรนด์ La Sportiva

ใบรับรองจากงาน Milan Trade Fair ที่ทำให้ชื่อเสียงของแบรนด์ La Calzoleria Sportiva เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น

ความรู้เพิ่มเติม ในปัจจุบันปี 2021 ซึ่งถ้านับอายุตามช่วงเวลาที่ตั้งชื่อแบรนด์อย่างเป็นทางการครั้งแรก แบรนด์ La Sportiva จะมีอายุครบ 93 ปี แต่หากนับอายุตามประสบการณ์ที่ผู้ก่อตั้งอย่าง Narciso Delladio เริ่มลงมือทำรองเท้าบูทนั้น แบรนด์ La Sportiva จะมีอายุครบ 100 ปีพอดี

ย้อนกลับไปในช่วงปีก่อนหน้าปี 1928 กันสักเล็กน้อย ซึ่งนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญ นั่นคือ Luigia ภรรยาของ Narciso ได้คลอดบุตร 4 คน โดยประกอบไปด้วยบุตรสาว 3 คน คือ Anna, Narcisa, และ Clara และบุตรชายอีกหนึ่งคนคือ Francesco ซึ่งเป็นบุตรชายที่ต่อมาจะโตมารับช่วงต่อพ่อของเขา

รูปถ่ายครอบครัว Delladio ที่ในภาพประกอบไปด้วย Narciso Delladio และ Luigia ภรรยาของเขา และลูกอีก 4 คนคือ Francesco, Anna, Narcisa และ Clara

รุ่นที่สอง Francesco Delladio ผู้มีวิสัยทัศน์และนักพนันตัวจริง

เมื่อทุกอย่างดูเหมือนกำลังไปได้ด้วยดี กลับเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น นั่นคือ การมาถึงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1939 ซึ่งทำให้ทั้งครอบครัว Delladio ต้องย้ายไปทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ที่ชื่อ “maso Stava” ที่ซึ่งพวกเขาสามารถรีดนมวัวและมีไข่ไก่ในการประทังชีวิตในแต่ละวัน แต่ก็ยังถือเป็นโชคดีที่ว่าลูกชายของ Narcisa อย่าง Francesco Delladio ยังเป็นเด็กเกินกว่าที่จะเข้าร่วมในสงครามครั้งนี้ได้

และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อาชีพช่างทำรองเท้าบูทถือเป็นงานที่ล้ำค่าและเป็นที่ต้องการตัวมาก ซึ่งทำให้ Narciso ต้องรับทำและซ่อมรองเท้าบูทให้แก่เหล่าทหารของอิตาลี โดยแลกเปลี่ยนกับพวกเนย น้ำตาลและแป้ง หรือสิ่งของที่จำเป็นในการเลี้ยงดูครอบครัวของเขา

ซึ่งนี้เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ลูกชายของ Narcisa อย่าง Francesco กำลังเติบโตและอยู่เคียงข้างช่วยงานพ่อของเขา ทั้งในการผลิตรองเท้าบูทและการบริการขนส่งผู้โดยสาร จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงในช่วงปี 1945 Francesco Delladio ณ เวลานี้ ได้เรียนรู้ขั้นตอนในการทำงานทั้งหมดจากพ่อของเขาและพร้อมที่จะเข้ามารับช่วงต่อกิจการแบรนด์ La Calzoleria Sportiva ต่อไป

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ความต้องการในการใช้รองเท้าบูทไม่มีทีท่าว่าจะลดลง แต่กลับมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ทำให้แบรนด์ La Calzoleria Sportiva ต้องมีการจ้างคนงานในการผลิตรองเท้าเพิ่มและย้ายโรงงานไปตั้งอยู่ใกล้กับจัตุรัสใจกลางเมือง Tesero

ณ โรงงานกลางเมือง Tesero

ณ ตึกที่ตั้งโรงงานแห่งนั้น ชั้นล่างมีคนงานชาย 4 คน ในการตัดและประกอบหน้าผ้าของรองเท้าบูท ซึ่งขณะเวลานั้นพวกเขายังไม่มีเครื่องจักรในการผลิตมากนักและต้องใช้แรงของคนงานชายที่มีนิ้วและแขนที่แข็งแรงในการประกอบรองเท้าบูทด้วยมือ และในส่วนของชั้นบนจะเป็นห้องทำงานของลูกสาว 3 คนที่คอยบริหารและจัดการในเรื่องของการขาย โดยมีชั้นบนสุดคือห้องนอนและบ้านของพวกเขา

ต่อมาในช่วงปลายปี 1950 กิจการทำรองเท้าบูทเป็นไปได้อย่างราบรื่น พวกเขามีการขยายร้านขายรองเท้าไปยังเมืองต่าง ๆ อย่างเมือง Predazzo ที่ในภายหลังจะกลายมาเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการขายรองเท้าบูทและรองเท้าสกีหิมะ

เนื่องจากเมือง Predazzo ได้มีการก่อตั้งโรงเรียนตำรวจ Guardia di Finanza Alpine School ที่จะมีการฝึกเหล่าตำรวจในการใช้สกีและเทคนิคการไต่ภูเขาหิมะ ซึ่งนี้เป็นโอกาสที่ทำให้ทางแบรนด์ La Calzoleria Sportiva ได้เข้ามาสนับสนุนและเป็นสปอนเซอร์หลักของโรงเรียนตำรวจแห่งนี้

โรงเรียนตำรวจ Guardia di Finanza Alpine School

และในช่วงเวลาเดียวกันนี้ Francesco Delladio ในวัย 23 ปี ได้เข้ามารับช่วงต่ออย่างเป็นทางการจากพ่อของเขา ในการตัดสินใจต่าง ๆ ทางธรุกิจ ซึ่งเขาเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์และมั่นใจในความคิดของตนเองเป็นอย่างมาก นอกจากนี้เขายังเป็นคนที่เข้าใจในจิตวิญญาณและความทุ่มเทของเหล่านักไต่เขาที่ต้องการที่จะพิชิตยอดภูเขาสูง

โดยในปี 1960 Francesco ได้ตัดสินใจตั้งโรงงาน ณ นอกตัวเมืองที่หากไกลจากบ้านของพวกเขา ณ สถานที่ที่ถูกเรียกว่า Piera ซึ่งบริเวณดังกล่าวในช่วงเวลานั้นไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง ทำให้ทุกคนในครอบครัวต่างคิดว่าเขาได้บ้าไปแล้ว

Francesco ได้ตัดสินใจตั้งโรงงาน ณ นอกตัวเมืองที่หากไกลจากบ้านของพวกเขา ณ สถานที่ที่ถูกเรียกว่า Piera

ในมุมมองของคนในครอบครัว การที่ Francesco ตั้งโรงงานในครั้งนี้ไม่มีความแน่นอนว่ามันจะประสบความสำเร็จ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการเล่นพนัน แต่เขายืนยันอย่างหนักแน่นว่า “กิจการแบรนด์ La Calzoleria Sportiva จำเป็นต้องขยายโรงงานและสร้างสำนักงานใหม่ที่มีเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อรองรับกับตลาดที่กำลังจะเติบโตในอนาคต”

แม้ว่าพ่อของเขาอย่าง Narciso จะไม่ค่อยเห็นด้วยนัก แต่เขาก็เปิดทางให้ลูกชายของเขาได้ลงมือทำอย่างเต็มที่ ซึ่งกาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าลูกชายของเขานั้นคิดถูก เนื่องจากต่อมาในภายหลัง ณ บริเวณ Piera จะกลายมาเป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

และในช่วงเวลาเดียวกันนี้ Francesco ได้แต่งงานกับ Giuseppina และมีบุตรด้วยกันอยู่ 4 คน คือ Lorenzo ซึ่งเป็นลูกชายคนโตที่สุดของครอบครัว, Luciano, Claudia และ Marco โดยมีคุณยาย Luigia เป็นครูสอนหนังสือให้แก่เหล่าเด็กๆ ในช่วงฤดูร้อน ณ บ้านไร่ ในเขตชุมชน Val di Stava

เมื่อโรงงาน ณ Piera สร้างเสร็จ พวกเขาก็ได้ย้ายทั้งครอบครัวไปอาศัยอยู่ที่นั่น ที่ซึ่งเหล่าเด็กๆ จะตื่นเช้าขึ้นมาในบ้านหลังใหม่ และได้พบกับเครื่องจักรในการตัดเย็บรองเท้าจำนวนมากที่ถูกตั้งอยู่บริเวณชั้นล่างของตัวบ้าน ซึ่งทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ทั้งการศึกษา ชีวิตครอบครัว และขั้นตอนในการทำงานในเวลาเดียวกัน

โรงงานแห่งใหม่ ณ Piera ที่เต็มไปด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัย

ณ โรงงานแห่งใหม่นี้ Francesco ได้เริ่มออกแบบและพัฒนารองเท้าบูทสำหรับเล่นสกีหิมะ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในยุคสมัยนั้น และในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ที่งานจัดแสดงสินค้า Milan Exhibition กำลังจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง

โรงงานแห่งใหม่ ณ Piera ที่เต็มไปด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัย

Francesco ไม่รอช้าที่จะคว้าโอกาสนี้ไว้ เขาได้นำผลิตภัณฑ์รองเท้าบูทสำหรับเล่นสกีหิมะในฤดูหนาวและรองเท้าบูทเดินภูเขาแบบดั้งเดิมสำหรับใช้ในฤดูร้อนไปจัดแสดง รวมทั้งได้มีการเปลี่ยนชื่อแบรนด์ให้มีความเรียบง่ายมากยิ่งขึ้น

จากชื่อแบรนด์ “La Calzoleria Sportiva” ถูกปรับลดให้เหลือเพียง La Sportiva” (อ่านว่า ลา – สปอร์ต – ติ – ว่า) หรือมีความหมายในภาษาอังกฤษว่า The Sport”

นอกจากนี้เขายังได้มีการเพิ่มโลโก้รูปเทือกเขาที่มีรูปวงแหวนโอลิมปิค 5 ห่วงอยู่ภายใน เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ ในการขยายตลาดให้เป็นที่รู้จักกันทั่วทั้งทวีปยุโรป โดยรูปเทือกเขาในโลโก้ก็คือ เทือกเขา Dolomites ของประเทศอิตาลี และวงแหวนโอลิมปิค 5 ห่วง หมายถึงทวีปทั้ง 5 ของโลก

ณ งานจัดแสดงสินค้า Milan Exhibition ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ Francesco เริ่มใช้ชื่อแบรนด์ La Sportiva และโลโก้รูปเทือกเขา Dolomites

ซึ่งความหมายของโลโก้นี้คือ “จิตวิญญาณแห่งกีฬาที่เชื่อมโยงระหว่างกิจการทำรองเท้าเล็ก ๆ ณ หุบเขา Fiemme กับทวีปทั้ง 5 ในโลก” อย่างไรก็ตาม ในภายหลังรูปวงแหวนโอลิมปิค 5 ห่วงจะถูกนำออกไป เหลือไว้เพียงรูปเทือกเขา Dolomites และชื่อแบรนด์ La Sportiva อย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบันนั่นเอง

โลโก้แบรนด์ La Sportiva ในปัจจุบัน

ตำนานและเรื่องราวของเหล่าผู้พิชิตยอดเขา

ก่อนที่จะไปกันต่อ เรามาย้อนอธิบายกันถึงภาพรวมของการเดินทาง เพื่อพิชิตยอดเขาสูง ณ ช่วงยุคก่อนหน้าจนถึงช่วงปี 1960 กันก่อน เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงเหตุผลที่ทำให้ Francesco Delladio หลงใหลและเข้าใจในจิตวิญญาณเหล่านักไต่เขา จนทุ่มเทเวลาไปกับการพัฒนาและออกแบบรองเท้าบูทสำหรับไต่เขาให้มีคุณภาพที่ดีที่สุดให้แก่เหล่าผู้พิชิตยอดเขาเหล่านี้

ตำนานการเดินทางของเหล่าผู้พิชิตยอดเขา เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในปี 1760 ซึ่งเป็นการสำรวจภูเขา Mont Blanc โดยเป็นภูเขาที่มีความสูงที่สุดในเทือกเขาแอลป์และในทวีปยุโรปตะวันตก ที่ ณ จุดสูงสุดของยอดเขามีความสูง 4,808 เมตร ซึ่งชื่อ Mont Blanc มีความหมายว่า “ภูเขาสีขาว”

ภูเขา Mont Blanc ซึ่งมีความหมายว่า “ภูเขาสีขาว” โดยจุดสูงสุดของยอดเขาในปัจจุบันจะตั้งอยู่ ณ พรมแดนของประเทศฝรั่งเศสและประเทศอิตาลี

โดย ณ ช่วงเวลานั้น ภูเขา Mont Blanc ยังอยู่ในเขตของราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย ซึ่งในการสำรวจครั้งแรกนั้นต้องใช้เวลาสำรวจไปกว่า 26 ปี

จนกระทั่งในปี 1786 นักไต่เขาจากอาณาจักรซาร์ดิเนียนามว่า Jacques Balmat และนายแพทย์ Michel Paccard สามารถเสี่ยงชีวิตและเดินทางไปจนถึงยอดเขาได้สำเร็จ ซึ่งทำให้พวกเขาต่างได้รับทั้งชื่อเสียงและเกียรติยศจากกษัตริย์แห่งซาร์ดิเนีย รวมทั้งถูกจารึกชื่อไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นผู้พิชิตยอดเขา Mont Blanc คนแรกของโลก

นักไต่เขาจากอาณาจักรซาร์ดิเนียนามว่า Jacques Balmat และนายแพทย์ Michel Paccard สามารถเสี่ยงชีวิตและเดินทางไปจนถึงยอดเขา Mont Blanc ได้สำเร็จ

ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้ว ราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย คืออาณาจักรที่ต่อมาจะถูกแบ่งและย้ายดินแดนกลายมาเป็นประเทศอิตาลีอย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ซึ่งถือได้ว่าชาวซาร์ดิเนียก็คือบรรพบุรุษของชาวอิตาลีนั่นเอง นี้จึงไม่แปลกว่าทำไมชาวอิตาลีในยุคสมัยต่อมาจะนิยมและต้องการที่จะพิชิตยอดเขาเหมือนดังที่บรรพบุรุษของเขาพวกได้ทำสำเร็จมาแล้ว

ต่อมาในช่วงปี 1950 ผู้ที่ถูกยกให้เป็นตำนานและวีรบุรุษผู้พิชิตยอดเขาของชาวอิตาลี คือ Walter Bonatti ผู้ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะสำรวจของประเทศอิตาลีที่ ในปี 1954 พวกเขาสามารถขึ้นไปพิชิตยอดเขา K2 หรือภูเขาที่มีความสูงเป็นอันดับสองของโลกได้สำเร็จเป็นคณะแรกของโลก หลังจากมีการการพยายามขึ้นไปพิชิตยอดเขา K2 ตั้งแต่ปี 1856

Walter Bonatti ผู้ที่ถูกยกให้เป็นตำนานและวีรบุรุษผู้พิชิตยอดเขาของชาวอิตาลี

นอกจากนี้ ในปี 1958 Walter Bonatti ยังเป็นชายคนแรกที่สามารถพิชิตยอดเขา Gasherbrum IV หรือ K3 ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงเป็นอันดับที่ 17 ของโลก รวมทั้งเขายังกลับไปสำรวจและพิชิตเส้นทางใหม่ในภูเขา Mont Blanc อยู่บ่อยครั้ง โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า “Solo Climb” หรือ “การพิชิตยอดเขาแบบไม่ใช้ถังออกซิเจน”

ในปี 1958 Walter Bonatti ยังเป็นชายคนแรกที่สามารถพิชิตยอดเขา Gasherbrum IV หรือ K3 ที่มีความสูงถึง 7,925 เมตร ที่ตั้งอยู่ในประเทศ ปากีสถาน

อย่างไรก็ตามความสำเร็จของของเหล่าผู้พิชิตยอดเขาก็ต้องแลกมาด้วยโศกนาฏกรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยในเดือนธันวาคมปี 1956 Walter Bonatti และเพื่อนของเขาอย่าง Silvano Gheser กำลังมีแผนที่จะพยายามปีนขึ้นไปพิชิตยอดเขา Mont Blanc ในฤดูหนาวด้วยกัน

ในระหว่างการเดินทางพวกเขาได้พบกับนักปีนเขาสองคน คือ Jean Vincendon ซึ่งเป็นนักปีนเขาชาวฝรั่งเศส และ François Henry ซึ่งเป็นนักปีนเขาชาวเบลเยียม ทำให้ทั้งสองกลุ่มร่วมเดินทางไปด้วยกัน โดยในวันแรกของการเดินทางเส้นทางการปีนเขาเป็นไปอย่างไม่ยากลำบากนัก

เช้าวันที่ 2 ทั้งสองกลุ่มออกเดินทางตอนเวลาตี 4 ในวันคริสต์มาสในสภาพอากาศที่ท้องฟ้าใสและมีแดดเป็นใจ แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง เส้นทางในการเดินทางกลับมีอุปสรรคและมีอันตรายเพิ่มมากขึ้น ทำให้ Walter Bonatti และเพื่อนของเขาตัดสินใจที่จะหยุดและมองหาเส้นทางที่ปลอดภัยในการไต่ขึ้นไปยังเส้นทางที่ถูกเรียกว่า Brenva Spur

เส้นทางที่ถูกเรียกว่า Brenva Spur ณ ภูเขา Mont Blanc

แต่กลุ่มของ Jean Vincendon และ François Henry ตัดสินใจปีนขึ้นไปโดยตรง ทำให้ทั้งสองกลุ่มแยกกันปีนเขาแบบขนานกันไป จนกระทั่งเวลา 4 โมงเย็น กลุ่มของ Walter Bonatti สามารถปีนขึ้นไปอยู่สูงกว่ากลุ่มของ Vincendon อยู่ประมาณ 100 เมตร ซึ่งพวกเขาใกล้จะถึงปลายยอดเขาแล้ว

ในขณะเดียวกันความมืดและพายุหิมะที่รุนแรงได้กำลังก่อตัวขึ้น ทำให้ทั้งสองกลุ่มจำเป็นต้องสร้างที่พักชั่วคราว ณ ความสูง 4,100 เมตร ซึ่ง Walter Bonatti สามารถผ่านคืนอันหนาวเหน็บนี้ไปได้อย่างปลอดภัยและไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่เพื่อนของเขา Gheser เริ่มมีอาการหิมะกัดที่บริเวณเท้าข้างหนึ่ง

ในวันที่ 26 ธันวาคม Bonatti และเพื่อนของเขาได้ลดระดับลงมาเพื่อกลับไปหากลุ่มของ Vincendon ทำให้ทั้ง 4 คนกลับมาร่วมเดินทางด้วยกันอีกครั้ง จนพวกเขาเดินทางถึงเส้นทางที่ถูกเรียกว่า Col de Brenva

ซึ่ง ณ ตรงนี้พวกเขามีเพียง 2 ทางเลือก คือ เดินทางลงเขาตรงกลับไปยังเมือง Chamonix ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเส้นทางจะไม่ปลอดภัยนักและเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์หิมะถล่มได้ทุกเมื่อ หรือเดินทางขึ้นไปยังยอดเขา Mont Blanc แล้วกลับไปลงในอีกเส้นทางหนึ่งที่ปลอดภัยกว่าในเขตของประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นเส้นทางที่จะมีระยะทางในการเดินทางที่ไกลกว่าอีกด้วย

เส้นทางที่ถูกเรียกว่า Col de Brenva

โดย Walter Bonatti ได้ตัดสินใจเลือกที่จะเดินทางขึ้นไปยังยอดเขา Mont Blanc ซึ่งนั่นหมายความว่าพวกเขาทั้ง 4 คน ต้องปีนขึ้นไปในระยะทางกว่า 500 เมตร ท่ามกลางพายุหิมะ ซึ่ง Bonatti ได้รีบเร่งให้คนอื่นๆ ปีนขึ้นไปให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากเขารู้ว่าตอนนี้มีเวลาจำกัด เพราะ Gheser เพื่อนของเขาได้มีการอาการหิมะกัดมือและเท้าอย่างรุนแรง

แต่กลุ่มของ Vincendon กลับหมดแรงและตัดสินใจที่จะกลับลงไปยังเมือง Chamonix ทั้งที่เหลือเพียงอีกแค่ 200 เมตร พวกเขาก็จะถึงยอดเขา Mont Blanc แล้ว ทำให้ทั้งสองกลุ่มได้แยกทางกันอีกครั้ง

Walter Bonatti และเพื่อนของเขาสามารถเดินทางถึงยอดเขา Mont Blanc และเข้าสู่ที่หลบภัยบนภูเขา ณ จุดที่ถูกเรียกว่า Vallot Hut ได้สำเร็จในเวลากลางคืน แต่เพื่อนของเขาก็ต้องเสียนิ้วจากอาการหิมะกัด และในวันที่ 27 ธันวาคม พวกเขาก็สามารถลงเขากลับไปยังจุดปลอดภัยเพื่อรอความช่วยเหลือจากเฮลิคอปเตอร์กู้ภัย ซึ่งได้มารับพวกเขาในวันที่ 30 ธันวาคม

จุดหลบภัย Vallot Hut บนภูเขา และภาพทีมกู้ภัยที่สามารถช่วยเหลือ Walter Bonatti และ Silvano Gheser กลับมาได้

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกลุ่ม Vincendon พวกเขาเดินทางลงมาได้เพียงเล็กน้อยก็ถึงเวลากลางคืน ทำให้พวกเขาต้องพักอยู่ ณ บริเวณรอยแยกของธารน้ำแข็ง ที่มีความสูง 4,600 เมตร ซึ่งทั้ง Vincendon และ François Henry ต่างก็เหนื่อยล้าและมีอาการน้ำแข็งกัดอย่างรุนแรง ทำให้พวกเขาได้แต่รอความช่วยเหลืออยู่ ณ บริเวณนั้น

Jean Vincendon และ François Henry ที่รอความช่วยเหลือ ณ บริเวณรอยแยกของธารน้ำแข็ง

แต่ด้วยสภาพอากาศที่เลวร้าย ทำให้ทีมกู้ภัยไม่สามารถช่วยเหลือทั้งสองได้และยังทำให้เฮลิคอปเตอร์กู้ภัยตกระหว่างการดำเนินภารกิจอีกด้วย ซึ่งในท้ายที่สุดนักปีนเขาทั้งสองก็ได้เสียชีวิตหลังผ่านไป 10 วัน โดยกว่าจะเก็บกู้ร่างของนักปีนเขาทั้งสองก็ใช้เวลาไปกว่า 3 เดือน

ภาพถ่ายสุดท้ายของ Jean Vincendon และ François Henry ที่ได้พบกับทีมกู้ภัยที่เฮลิคอปเตอร์ตก ซึ่งในท้ายที่สุด ทีมกู้ภัยก็ยังไม่สามารถช่วยเหลือพวกเขาออกมาได้

ซึ่งนี้คือโศกนาฏกรรมที่ถูกเรียกว่า “The Vincendon and Henry tragedy” ที่ต่อมาเหตุการณ์นี้จะนำไปสู่การปฏิวัติวิธีการและขั้นตอนในการกู้ภัยบนภูเขาของประเทศฝรั่งเศส และชื่อของนักปีนเขาทั้งสองได้ถูกจารึกไว้อย่างมีเกียรติ ณ สุสานเมือง Chamonix ประเทศฝรั่งเศส

ชื่อของ Jean Vincendon และ François Henry ได้ถูกจารึกไว้อย่างมีเกียรติ ณ สุสานเมือง Chamonix ประเทศฝรั่งเศส

และชื่อเสียงของ Walter Bonatti กลายมาเป็นที่โด่งดังและถูกยกให้เป็นแรงบันดาลใจในการพิชิตยอดเขาของชาวอิตาลี ที่ก่อให้เกิดนักปีนเขาชาวอิตาลีรุ่นใหม่อย่าง Reinhold Messner ผู้สืบสานเจตจำนงค์การปีนเขาแบบ Solo Climbing ที่เขานั้นเป็นชายคนแรกในโลกที่สามารถพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ โดยไม่ใช่ถังออกซิเจนช่วย

(ซ้าย) Walter Bonatti ที่รอดจากเหตุการณ์นี้ได้อย่างไร้รอยขีดข่วนและกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการพิชิตยอดเขาของชาวอิตาลี และ (ขวา) Reinhold Messner นักปีนเขาชาวอิตาลี ชายผู้พิชิตยอดเขาสูงกว่า 8,000 เมตร 14 แห่งทั่วโลกคนแรกของโลก และสืบสานเจตจำนงแห่ง Solo Climbing

ซึ่งประวัติศาสตร์ที่ยาวนานเหล่านี้ ยังได้ถูกส่งต่อมายังเหล่าช่างทำรองเท้าของประเทศอิตาลี ไม่เว้นแม้แต่รุ่นลูกอย่าง Francesco Delladio ที่เขาตระหนักและเข้าใจเป็นอย่างดีว่า “ต้องทุ่มเทในการพัฒนาและออกแบบรองเท้าบูทสำหรับไต่เขาให้มีคุณภาพที่ดีที่สุด เพราะเหล่าผู้พิชิตยอดกำลังฝากชีวิตของตัวเองไว้ในรองเท้าบูทชั้นเยี่ยมเหล่านี้”

ในปี 1970 คณะสำรวจของประเทศออสเตรียสามารถพิชิตยอดเขา Lhotse ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงเป็นอันดับที่ 4 ของโลก โดยใช้รองเท้าบูทของแบรนด์ La Sportiva รุ่น Alta Quota

สำหรับประวัติแบรนด์ La Sportiva ตอนที่ 1: จุดเริ่มต้นและตำนานของเหล่าผู้พิชิตยอดเขาจากอิตาลี ทางเราก็ต้องขอจบไว้เพียงเท่านี้ และในตอนต่อไปจะเป็นเรื่องราวของจุดเริ่มต้นในการเข้าสู่ยุคใหม่จากการพิชิตยอดเขาไปสู่กีฬาปีนหน้าผาและกีฬาวิ่งเทรลของแบรนด์ La Sportiva โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

อ่านต่อตอนที่ 2 ผู้เขียนประวัติศาสตร์รองเท้าปีนผา ได้ที่นี่เลยครับ

และแบรนด์ La Sportiva ได้เข้ามายังประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งท่านใดที่สนใจผลิตภัณฑ์ของแบรนด์สามารถติดตามได้ในช่องทาง FB: La Sportiva Thailand ได้เลยครับ

หวังว่าบทความนี้เป็นจะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิ่งหรือผู้ที่สนใจในการวิ่งหลาย ๆ ท่าน ขอให้วิ่งให้สนุกครับ

สามารถติดตาม Running Profiles ได้ทั้งใน

More on this topic

Popular stories

Training Plan