ประวัติแบรนด์ La Sportiva: ตอนที่ 2 ผู้เขียนประวัติศาสตร์รองเท้าปีนผา

Related Articles

วันนี้เรามาต่อกันที่ตอนที่ 2 ของประวัติแบรนด์ La Sportiva หลังจากการเดินทางของแบรนด์ La Sportiva ได้มาถึงยุครุ่งเรืองของการพิชิตยอดเขาในช่วงปี 1970 ภายใต้การกุมบังเหียนของรุ่นที่ 2 ของตระกูล Delladio อย่าง Francesco Delladio

และในตอนนี้จะเป็นการส่งไม้ต่อเข้าสู่ยุคบุกเบิกของกีฬาปีนหน้าผาในทวีปยุโรป โดยมีแบรนด์ La Sportiva คอยอยู่เบื้องหลังความสำเร็จต่างๆ ในหน้าประวัติศาสตร์ ซึ่งประวัติแบรนด์ La Sportiva ต่อจากนี้จะน่าสนใจเพียงใด เชิญติดตามได้เลยครับ

ปล. ท่านใดที่ยังไม่ได้อ่านประวัติแบรนด์ La Sportiva ในตอนที่ 1: จุดเริ่มต้นและตำนานของเหล่าผู้พิชิตยอดเขาจากอิตาลี สามารถเข้าไปอ่านได้ที่นี่

การมาถึงของกีฬาปีนหน้าผาและไม้ต่อรุ่นที่ 3 ของตระกูล Delladio

ในช่วงปลายปี 1950 กระแสการเล่นสกีอัลไพน์กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในแถบเทือกเขาแอลป์ และนำไปสู่การตั้งสกีรีสอร์ทขนาดใหญ่ ที่เหมือนกับเมืองขนาดเล็กๆ ท่ามกลางหุบเขา

ในช่วงปลายปี 1950 กระแสการเล่นสกีอัลไพน์กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในแถบเทือกเขาแอลป์

และแบรนด์ La Sportiva ที่ ณ เวลานี้ อยู่ภายใต้การนำของรุ่นที่ 2 อย่าง Francesco Delladio ซึ่งเขาได้ตัดสินใจที่จะนำแบรนด์ La Sportiva เข้าสู่ตลาดรองเท้าบูทสำหรับสกี ซึ่งเขาได้ผลิตทั้งรองเท้าบูทสำหรับสกีอัลไพน์และสกีครอสคันทรี

โดยเลือกที่จะใช้วัสดุหนังแท้ในการผลิต และนำไปจัดแสดง ณ งาน Milan Exhibition ที่ซึ่งเขาหมายมั่นที่จะให้ชื่อเสียงของแบรนด์ La Sportiva เป็นที่โด่งดังไปทั่วทั้งทวีปยุโรป

ความรู้เพิ่มเติม

  • สกีอัลไพน์ (Alpine Skiing) หรืออีกชื่อ “สกีลงเขา (Downhill skiing)” เป็นการปล่อยตัวจากเนินภูเขาหิมะสูงและลงเขาด้วยความเร็ว ซึ่งส่วนใหญ่มักพบเห็นได้ในสกีรีสอร์ทต่างๆ โดยรองเท้าบูทสำหรับสกีอัลไพน์ในปัจจุบันจะมีลักษณะเป็นโครงแข็งและพื้นรองเท้าจะยึดติดกับแผ่นสกีทั้งบริเวณปลายเท้าและส้นเท้า เพื่อจำกัดการขยับของเท้าและข้อเท้า
  • สกีครอสคันทรี (Cross-country Skiing) เป็นสกีสำหรับใช้ในการเดินทางบนเส้นทางที่เต็มไปด้วยหิมะของชาวยุโรป ซึ่งเส้นทางจะมีทั้งขึ้นเขา ทางเรียบและลงเขา รวมทั้งต้องมีการเดินด้วยแรงเท้าของคน ทำให้รองเท้าจะไม่เป็นโครงแข็งและพื้นของรองเท้าจะยึดติดกับแผ่นสกีเฉพาะบริเวณปลายเท้าเท่านั้น เพื่อให้สามารถยกส้นเท้าในการเดินได้ นอกจากนี้บางช่วงของเส้นทาง เช่น ช่วงขึ้นเขาชันจะต้องมีการถอดรองเท้าออกจากแผ่นสกี ทำให้รองเท้าบูทจะมีดอกยางเอาไว้สำหรับเดินบนหิมะอีกด้วย
(ภาพบน) สกีอัลไพน์ (Alpine Skiing) และ (ภาพล่าง) สกีครอสคันทรี (Cross-country Skiing)

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีต่างๆ เริ่มที่จะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ในช่วงต้นของปี 1970 รองเท้าบูทสำหรับสกีอัลไพน์ส่วนใหญ่ได้ถูกผลิตจากพลาสติกแข็งและวัสดุสังเคราะห์ต่างๆ ซึ่งมีสีสันภายนอกที่ฉูดฉาดล้ำสมัยและน่าดึงดูดกว่าสีที่ดูโบราณของวัสดุหนังแท้

(ภาพเล็ก) รองเท้าบูทสำหรับสกีอัลไพน์ของแบรนด์ La Sportiva ที่ยังทำมาจากวัสดุหนังแท้ และ (ภาพใหญ่) รองเท้าบูทสำหรับสกีอัลไพน์รุ่นใหม่ถูกผลิตจากพลาสติกแข็งและวัสดุสังเคราะห์ต่างๆ

ทำให้แบรนด์ La Sportiva ต้องยุติสายการผลิตรองเท้าบูทสำหรับสกีอัลไพน์ไป เนื่องจากการใช้วัสดุสังเคราะห์มีต้นทุนในการผลิตที่สูงจนเกินไป จึงทำให้ ณ เวลานี้ ครอบครัว Delladio มีผลิตภัณฑ์เหลือเพียงรองเท้าบูทสำหรับเดินภูเขาแบบดั้งเดิมและรองเท้าบูทสำหรับสกีครอสคันทรีเท่านั้น

และในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง ที่ยุคเฟื่องฟูของการพิชิตยอดเขาโดยการใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ ได้เดินทางไปถึงขีดสุดและกำลังเปลี่ยนทิศทางเข้าสู่ยุคเริ่มต้นแห่ง Free Climbing และกีฬาปีนหน้าผา

ซึ่งเป็นช่วงปีแห่งการปฏิวัติอย่างแท้จริง ที่นำโดยเหล่าเด็กๆ รุ่นใหม่วัย 20 ปี ที่กำลังมองหาเส้นทางใหม่ๆ บนภูเขา ซึ่งพวกเขาเรียกเส้นทางเหล่านี้ว่า “direttissime” หรือในภาษาอิตาลีจะมีความหมายว่า “เส้นทางที่สั้นที่สุด” ซึ่งเป็นการปีนหน้าผาจากบริเวณตีนเขาขึ้นไปยังยอดเขาในแนวดิ่ง โดยปีนตรงผ่านเส้นทางน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขา ซึ่งเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดและมีความท้าทายมากที่สุด

“direttissime” หรือในภาษาอิตาลีจะมีความหมายว่า “เส้นทางที่สั้นที่สุด” ซึ่งเป็นการปีนหน้าผาจากบริเวณตีนเขาขึ้นไปยังยอดเขาในแนวดิ่ง

เหล่าเด็กรุ่นใหม่ถูกผลักดันโดยแนวคิดที่ต้องการจะเป็นผู้พิชิตที่ยอดเยี่ยมกว่าบุคคลในอดีต จึงก่อให้เกิดความปรารถนาที่จะมีอิสระในการปีนหน้าผา ซึ่งความปรารถนาที่เกินกว่าการไปให้ถึงจุดสูงสุดและมากกว่าการพิชิตยอดเขา นั่นคือ “การดื่มด่ำไปกับความสวยงามของเส้นทางขณะปีนหน้าผา ที่ซึ่งไม่ใช่การกระทำเพียงเพื่อชื่อเสียง แต่เป็นความรักที่จะทำ เพื่อก้าวข้ามขีดกำจัดของตนเอง”

นี้จึงเป็นเสมือนยุคเริ่มต้นของการปีนหน้าผา ที่ในภาษาอิตาลีเรียกว่า Nuovo Mattino” หรือ “รุ่งอรุณแห่งเช้าวันใหม่”

ทำให้การปีนหน้าผากลายมาเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ ที่ให้เหล่าเด็กรุ่นใหม่ได้เข้ามาทดสอบทางความคิดและใส่ความแปลกใหม่ในแบบของตัวพวกเขาเอง ซึ่งในปี 1947 นักปีนผาหนุ่มจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส นามว่า Pierre Alain ได้ออกแบบรองเท้าสำหรับปีนผาขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ภายใต้ชื่อ “PA Shoes”

Pierre Alain ได้ออกแบบรองเท้าสำหรับปีนผาขึ้นเป็นครั้งแรกของโลก ภายใต้ชื่อ “PA Shoes”

โดยรองเท้า PA เป็นที่นิยมในช่วงยุคปี 1950 ก่อนที่จะถูกซื้อไปโดยผู้เชี่ยวชาญในการผลิตรองเท้าจากฝรั่งเศสอย่าง Edmond Bourdonneau และถูกเปลี่ยนชื่อแบรนด์กลายมาเป็น “EB” ซึ่งแบรนด์ EB ในช่วงปี 1970 ได้ออกรองเท้าปีนผารุ่น Super Gratton ที่จะกลายมาเป็นบรรทัดฐานใหม่ของรองเท้าปีนผาในยุคสมัยนั้น

รองเท้าปีนผา EB Super Gratton ในช่วงปี 1970

EB Super Gratton เป็นการนำรองเท้าพื้นแข็งมาหุ้มด้วยยางเรียบตลอดทั้งพื้นรองเท้า ทำให้มีรูปร่างลักษณะคล้ายกับรองเท้าบาสเก็ตบอลในช่วงเวลานั้น

รองเท้าบาสเก็ตบอลในช่วงปี 1970

และในช่วงปี 1970 นี้เอง ที่รุ่นที่ 3 ของตระกูล Delladio อย่าง Lorenzo Delladio ซึ่งเป็นลูกชายคนโต ที่ ณ เวลานี้ได้กำลังศึกษาและเป็นสมาชิกของโรงเรียนตำรวจกู้ภัยบนภูเขา (State Police Mountain Rescue Service) ณ หมู่บ้าน Moena ประเทศอิตาลี ที่ซึ่งเขาได้รับการฝึกให้มีความชำนาญในการปีนหน้าผา เพื่อใช้ในเหตุการณ์กู้ภัยต่างๆ

โดยรองเท้าบูทที่โรงเรียนแห่งนี้แจกจ่ายให้เหล่านักศึกษาและตำรวจกู้ภัย คือรองเท้าบูทที่มีพื้นแข็งแบบดั้งเดิมของแบรนด์ La Sportiva ที่ผลิตโดยพ่อของ Lorenzo นั่นเอง อย่างไรก็ตามรองเท้าบูทพื้นแข็งเหล่านี้ไม่เหมาะกับการนำใช้ไปปีนหน้าผ้ามากนัก

Lorenzo Delladio ซึ่งเป็นรุ่นที่ 3 ของตระกูล Delladio ที่กำลังศึกษาและเป็นสมาชิกของโรงเรียนตำรวจกู้ภัยบนภูเขา
(ซ้าย) Lorenzo Delladio ซึ่งเป็นรุ่นที่ 3 ของตระกูล Delladio และ (ขวา) พ่อของเขาอย่าง Francesco Delladio

ซึ่งมีหนึ่งในครูผู้ฝึกสอนของ Lorenzo อย่าง Gino Comelli ที่เลือกใช้รองเท้าบาสเก็ตบอลในการปีนหน้าผ้าแทน เนื่องด้วย ณ เวลานั้นรองเท้าปีนผาของ EB ไม่ใช่สิ่งที่จะหาซื้อได้ง่ายในประเทศอิตาลี ทำให้นักปีนผาจำนวนไม่น้อยได้หยิบเอารองเท้าบาสเก็ตบอลที่หน้าตาคล้ายๆ กันไปใช้ปีนหน้าผาแทน

หลังจากการฝึกจบลง Gino Comelli ได้เข้าไปคุยกับ Lorenzo และแนะนำให้แบรนด์ La Sportiva ผลิตรองเท้าที่มีลักษณะคล้ายกับรองเท้าบาสเก็ตบอลนี้ แต่ต้องมีความทนทานกว่าและต้องยึดเกาะพื้นผิวของผาหินได้ดีกว่า รวมทั้งสิ่งที่เขาต้องการอีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ ความยืดหยุ่นของพื้นรองเท้า ที่ไม่แข็งเหมือนกับรองเท้าบูททั่วไป

เมื่อ Lorenzo ได้รับแนวคิดนี้ เขาไม่รอช้าที่จะบอกพ่อของเขา ทำให้ Francesco Delladio ได้ลงมือออกแบบรองเท้าบูทสำหรับปีนหน้าผาตัวต้นแบบออกมาแล้วส่งไปให้ Gino Comelli ได้ทดสอบอย่างรวดเร็ว

ภาพร่างรองเท้าปีนผาตัวต้นแบบ

ซึ่งผลที่ออกมาเป็นที่น่าประทับใจมาก รองเท้าปีนหน้าผาที่หน้าผ้าทำมาจากหนังแท้มีความทนทานกว่าหน้าผ้าของรองเท้าบาสเก็ตบอลที่ทำมาจากผ้าฝ้าย และเนื้อดอกยางที่ทำมาจากยางที่มีความนุ่มสูง ซึ่งใช้เนื้อยางชนิดเดียวกับที่ใช้ในการซ่อมพื้นรองเท้าในยุคสมัยนั้น ทำให้พื้นรองเท้าสามารถเกาะพื้นผิวต่างๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งในภายหลังพื้นเหล่านี้จะถูกเรียกว่า “Aerlite”

อย่างไรก็ตาม เนื้อยาง Aerlite แม้ว่าจะสามารถเกาะพื้นผิวต่างๆ ได้ดี แต่กลับมีความทนทานที่น้อยจนเกินไป โดยเมื่อนำไปปีนเทือกเขา Dolomites เพียงแค่ครั้งเดียวพื้นยางก็ฉีกขาดและไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป

สองพ่อลูก Delladio ช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหานี้ โดย Lorenzo เสนอความคิดเห็นจากประสบการณ์และความชื่นชอบของเขาว่า “เราน่าจะสามารถใช้พื้นยางที่ทำมาจากยางของรถแข่งได้ ซึ่งจะมีทั้งความทนทานและประสิทธิภาพในการยึดเกาะพื้นผิวต่างๆ ได้ดี”

ซึ่ง Lorenzo เป็นหนึ่งในผู้ที่ชื่นชอบและหลงไหลในการแข่งขันรถแรลลี่และมอเตอร์สปอร์ตเป็นอย่างมาก โดยเขาเคยติดต่อกับผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอิตาลีแห่งเมืองมิลานอย่างแบรนด์ Alfa Romeo อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งทำให้เขาได้ทราบว่า ณ สนามทดสอบรถแข่ง ในเมืองเล็กๆ ที่มีชื่อว่า Balocco จะมียางรถแข่งที่ใช้แล้วเก็บไว้อยู่เป็นจำนวนมาก

Lorenzo Delladio ชื่นชอบและหลงไหลในการแข่งขันรถแรลลี่และมอเตอร์สปอร์ตเป็นอย่างมาก ถึงกับลงสนามแข่งแรลลี่ด้วยตนเอง
สนามทดสอบรถแข่ง ในเมือง Balocco ในปัจจุบัน

โดยยางรถแข่งเหล่านี้จะเป็นยางสลิค (Slick tyres) หรือยางที่ไม่มีดอกยาง ซึ่งยางเหล่านี้เคยถูกใช้ในรถแข่งตัวต้นแบบอย่าง Alfa 33 ที่ถูกนำไปลงสนามแข่งชิงแชมป์โลกและสนามแข่ง American Can Am championship อยู่บ่อยครั้ง

รถแข่งตัวต้นแบบ Alfa 33

ฉะนั้น เขาจึงได้ติดต่อไปหาคนรู้จักที่ทำงานอยู่ที่ Alfa Romeo และขอตัวอย่างยางรถแข่งที่ใช้แล้ว โดยเขาให้เหตุผลไปแบบตรงๆ ว่า “ผมมีความคิดที่ว่าวัสดุเนื้อยางของรถแข่งมีประสิทธิภาพในการยึดเกาะพื้นผิวและมีความทนทานที่มากกว่าเนื้อยางทั่วไป ซึ่งผมต้องการที่จะศึกษาวัสดุเนื้อยางเหล่านี้ว่า สามารถนำไปปรับใช้เป็นพื้นยางในรองเท้าปีนผาได้หรือไม่?”

ซึ่งทาง Alfa Romeo ได้ตอบตกลงและอนุญาตให้พวกเขานำยางที่ใช้แล้วเหล่านี้ไปศึกษาได้ เมื่อทราบดังนั้นทาง Lorenzo ไม่รอช้า ในเช้าวันรุ่งขึ้นเขาขับรถตู้ Fiat 242 สีน้ำเงินคันเก่งของเขา จากเมือง Tesero ไปสู่เมือง Balocco ซึ่งมีระยะทางกว่า 400 กิโลเมตรโดยทันที ซึ่งในยุคสมัยนั้นเป็นการเดินทางที่ค่อนข้างยากลำบากและต้องใช้เวลายาวนานกว่า 6 ชั่วโมง

Lorenzo กล่าวว่า “พอผมไปถึง ผมก็ยกยางของรถแข่งเหล่านั้นเข้าไปในรถตู้ให้ได้มากที่สุด ผมคิดว่าประมาณ 20 เส้นนะ มีทั้งยางสลิคและยางของรถแรลลี่ และตอนที่ขับรถกลับไปยังเมือง Tesero ผมก็แทบอดใจไม่อยู่ที่จะได้ทดลองกับยางรถแข่งเหล่านี้”

“และผมมั่นใจเป็นอย่างมากว่า ยางรถแข่งที่วางอยู่ล้อมรอบตัวผม ณ เวลานั้น คือ นวัตกรรมใหม่ ที่จะสามารถช่วยให้แบรนด์ La Sportiva สร้างผลิตภัณฑ์ที่ปฏิวัติวงการได้” – เขากล่าวเสริม

รถตู้ Fiat 242 ที่กำลังนำขนยางของรถแข่งกลับไปยังโรงงานของแบรนด์ La Sportiva

หลังจากกลับถึงโรงงาน เขาและพ่อร่วมมือกันตัดยางรถแข่งเหล่านั้นให้กลายเป็นพื้นรองเท้าปีนผา แต่ปัญหาแรกที่พวกเขาพบเจอ นั่นก็คือ ลวดเหล็กด้านในเนื้อยาง ที่ต้องใช้ความประณีตในการนำออกมา โดยไม่ทำลายเนื้อยาง ซึ่งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของขั้นตอนที่มีความซับซ้อนที่กว่าจะออกมาเป็นพื้นยางของรองเท้าปีนผา

และในท้ายที่สุด หลังจากความพยายามของสองพ่อลูก พวกเขาก็ได้รองเท้าปีนผาที่มีพื้นยางที่ดีที่สุดเท่าที่พวกเขาเคยผลิตมา และได้นำพื้นยางตัวใหม่นี้ไปใส่ไว้ในรองเท้าปีนผาของนักกีฬาในสังกัดแบรนด์ La Sportiva ซึ่ง ณ เวลานั้นยังไม่สามารถวางจำหน่ายเป็นจำนวนมากได้ เนื่องจากขั้นตอนการผลิตที่ยุ่งยาก

ภาพโฆษณารองเท้าปีนผาของแบรนด์ La Sportiva ที่พื้นรองเท้าทำมาจากยางสลิคของรถแข่ง ในปี 1979

นอกจากนี้ แม้ว่าพื้นยางที่ทำมาจากยางของรถแข่งจะมีความทนทานและเกาะพื้นผิวต่างๆ ได้ดี แต่การจะทำให้เนื้อยางของรถแข่งทำงานได้เต็มประสิทธิภาพต้องมีเรื่องของอุณหภูมิเข้ามาเกี่ยวข้อง

ในสนามแข่งรถ ยางรถเหล่านี้ต้องมีการอุ่นด้วยความร้อนที่เหมาะสมก่อนนำมาใช้งานอยู่เสมอและเมื่อใช้งานความร้อนจากการเสียดสีกับพื้นถนนจะทำให้เนื้อยางยิ่งเกาะพื้นได้ดี แต่สำหรับการปีนหน้าผาเรื่องราวจะซับซ้อนขึ้นเล็กน้อย เพราะนี้คือ “กีฬาที่ช้าที่สุดในโลก”

ซึ่งพื้นของรองเท้าปีนผาไม่มีโอกาสที่จะร้อนจากการเสียดสีเลย นี้จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้พื้นยางมีอุณหภูมิที่เหมาะสม โดยในช่วงแรกพวกเขาแก้ปัญหาโดยใช้วิธีการนำเอาพื้นของรองเท้าไปตากแดดไว้ก่อนใช้งานและเอามือถูพื้นจนเกิดความร้อน ซึ่งได้ผลดีเพียงระยะเวลาหนึ่งก่อนที่มันจะเย็นตัวลงด้วยสภาพอากาศภายนอก

และในปี 1979 นวัตกรรมพลิกโฉมวงการปีนหน้าผาก็ได้มาถึง เมื่อแบรนด์น้องใหม่สัญชาติสเปนอย่าง Boreal ได้เปิดตัวรองเท้าปีนผาที่มาพร้อมกับพื้นยางสูตรพิเศษ ที่วิจัยและพัฒนาขึ้นมาเอง ซึ่งถูกเรียกว่า “Sticky Rubber” หรือ “ยางเหนียว”

Boreal แบรนด์น้องใหม่สัญชาติสเปนได้เปิดตัวรองเท้าปีนผาที่มาพร้อมกับพื้นยางสูตรพิเศษ ซึ่งถูกเรียกว่า “Sticky Rubber”

โดย Sticky Rubber สามารถคงคุณสมบัติในการเกาะยึดพื้นผิวต่างๆ ในอุณหภูมิที่เปลี่ยนไปได้ ทั้งยังควบคู่ไปกับความทนทานในการใช้งานในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งในครั้งแรกที่ออกมา เหล่านักปีนผาก็ต้องยอมรับว่านี่คือพื้นยางที่ดีที่สุดในโลกในช่วงเวลานั้น

ซึ่งพื้นยางนี้ถูกนำมาใช้ในรองเท้าปีนผารุ่น Boreal Firé ที่ในภายหลังรองเท้าปีนผารุ่นนี้จะโด่งดังไกลไปถึงประเทศสหรัฐอเมริกาและสร้างปรากฏการณ์การขายรองเท้าปีนผาจำนวน 265 คู่ หมดภายใน 2 ชั่วโมงแรกภายในวันแรกที่วางจำหน่าย

รองเท้าปีนผา Boreal Firé

เรื่องนี้ทำให้แบรนด์ La Sportiva ถึงกับต้องตกที่นั่งลำบากอีกครั้ง ส่งผลให้สองพ่อลูก Delladio ถึงกับต้องเรียกระดมสมองจากเหล่านักปีนผาและพนักงานทุกคนในโรงงาน ซึ่งทุกคนต่างให้ความคิดเห็นไปในทิศทางที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการลอกเลียนแบบรองเท้าของ Boreal ไปจนถึงการนำพื้นรองเท้าของ Boreal มาใส่ไว้ในรองเท้าของแบรนด์ La Sportiva

ครอบครัว Delladio ต้องเรียกระดมสมองครั้งใหญ่จากเหล่านักปีนผาและพนักงานทุกคนในโรงงาน

ข้อสรุปจบลงด้วยแนวคิดของนักปีนเขาชาวอิตาลีไฟแรงวัย 21 ปี นามว่า Maurizio Zanolla หรือที่ชาวอิตาลีรู้จักกันในนาม Manolo โดยเขาต้องการที่จะทดลองนำเอาพื้นรองเท้าของ Boreal มาดัดแปลงและใส่ไว้ในรองเท้าปีนผาของแบรนด์ La Sportiva

ความรู้เพิ่มเติม Maurizio Zanolla หรือ Manolo เป็นนักปีนผาหนุ่มไฟแรงชาวอิตาลี ที่ภายหลังจะสร้างชื่อในระดับโลกในฐานะของผู้พิชิตยอดเขา Dolomites โดยการปีนหน้าผาแบบ Free Solo หรือการปีนผาแบบตัวเปล่าไม่ใช้เชือกช่วย ที่การพลาดตกลงมานั้นเท่ากับความตาย ซึ่งเขาเป็นคนที่หลงไหลในการปีนผา เพื่อเสพความสุขจากความสวยงามของเส้นทางขณะปีนหน้าผาเท่านั้น ทำให้เขาไม่เคยเข้าร่วมการแข่งขันปีนผาใดๆ เลย

Maurizio Zanolla หรือ Manolo เป็นนักปีนผาชาวอิตาลี ที่โด่งดังในฐานะของผู้บุกเบิกการปีนผาแบบ Free Solo ซึ่งในปัจจุบันมีอายุ 63 ปี และยังคงไม่เคยเข้าร่วมการแข่งขันปีนผาใดๆ เลย

ซึ่งรองเท้าปีนผาของ Boreal ณ เวลานั้นยังไม่มีวางจำหน่ายในประเทศอิตาลี แต่ Manolo ก็พยายามหาจนได้รองเท้าปีนผาจำนวนหนึ่งมาให้ Lorenzo ได้ดัดแปลงจนได้

รองเท้าปีนผาตัวต้นแบบที่พื้นยางทำมาจากยางของ Boreal และใช้โครงเนื้อผ้าหนังแท้ของแบรนด์ La Sportiva ได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งพวกเขาไม่รอช้าที่จะนำเอารองเท้าปีนผาคู่ต้นแบบนี้ไปทดสอบ โดยเปรียบเทียบกับรองเท้าปีนผาที่ใช้พื้นยางที่ทำมาจากยางของรถแข่งรุ่นดั้งเดิมของพวกเขา

ผลลัพธ์ที่ได้ช่างน่าประทับใจ หน้าผ้าหนังแท้ที่มีความนุ่มและสวมใส่สบายของแบรนด์ La Sportiva กับนวัตกรรมพื้นยางที่ล้ำที่สุดในโลกของ Boreal ก่อให้เกิดรองเท้าปีนผาที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งแบรนด์ La Sportiva ต้องยอมรับความจริงข้อนี้และไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการขอซื้อวัสดุเนื้อยางมาจาก Boreal ในประเทศสเปนเท่านั้น

และในปี 1982 แบรนด์ La Sportiva เดินหน้าเข้าสู่วงการปีนหน้าผาอย่างเต็มตัวและได้เปิดตัวรองเท้าปีนผารุ่น “Mariacher” ที่ร่วมออกแบบโดย Heinz Mariacher นักปีนผาชื่อดังชาวออสเตรีย ซึ่งเป็นรองเท้าปีนผารุ่นแรกที่ใช้คำโฆษณาว่า “Mescola Spagnolo” ที่มีความหมายว่า “เนื้อยางจากประเทศสเปน”

La Sportiva Mariacher รองเท้าปีนผารุ่นแรกที่ใช้คำโฆษณาว่า “Mescola Spagnolo” ที่มีความหมายว่า “เนื้อยางจากประเทศสเปน”

โดยสีม่วงเหลืองที่โดนใจเหล่านักปีนผาและความสมบูรณ์แบบในด้านของการใช้งาน ทำให้ La Sportiva Mariacher กลายมาเป็นบรรทัดฐานใหม่ของวงการรองเท้าปีนผา อย่างไรก็ตามการที่แบรนด์ La Sportiva ต้องซื้อพื้นยางจาก Boreal ในทุกครั้งก็ไม่ต่างจากการทำให้คู่แข่งโดยตรงของพวกเขาโตตามไปด้วย

ซึ่งพวกเขามีแผนการใหญ่ที่จะวางจำหน่ายรองเท้าปีนผาในจำนวนที่มาก ทำให้สองพ่อลูก Delladio ไม่อาจนิ่งเฉย และเป็น Lorenzo ที่ใช้ประสบการณ์การแข่งรถของเขาอีกครั้ง เขาได้เดินทางไปติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคของบริษัทผลิตยางรถยนต์และรถบรรทุกอย่าง Marangoni ที่ตั้งอยู่ในเมืองใกล้ๆ

และมีอยู่ครั้งหนึ่งที่เขาเคยให้บริษัท Marangoni ผลิตยางรถแข่งแรลลี่ให้กับเขา โดยการผลิตในครั้งนั้นเป็นการผลิตแบบตามสั่งที่เขาสามารถเลือกที่จะปรับแต่งลักษณะเนื้อยางได้ เขาจึงเกิดแนวคิดที่จะนำพื้นยางของ Boreal ไปให้บริษัท Marangoni วิเคราะห์และผลิตออกมาให้มีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด

Marangoni บริษัทผลิตยางรถยนต์และรถบรรทุก ที่ตั้งอยู่ ณ เมือง Rovereto ประเทศอิตาลี

หลังจากได้พบปะและพูดคุยเจ้าของบริษัท Marangoni เขาได้พบว่าเจ้าของบริษัทก็หลงไหลในกีฬาปีนหน้าผาเช่นกัน ทำให้เจ้าของบริษัทได้พาเขาไปรู้จักกับเหล่านักเคมีของบริษัทที่เชี่ยวชาญในด้านวัสดุเนื้อยาง

ทำให้พวกเขาได้ร่วมมือกันวิเคราะห์คุณสมบัติเนื้อยางของ Boreal และได้ทดลองผสมสูตรยางออกมาในรูปแบบต่างๆ มากมาย และนำไปทดสอบนับครั้งไม่ถ้วน จนกระทั่งพวกเขาสามารถสังเคราะห์เนื้อยางที่มีคุณสมบัติแบบเดียวกับเนื้อยางของ Boreal ได้สำเร็จ และนั่นแหละ “บิงโก!”

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะต้องเป็นความลับทางธรุกิจระหว่างครอบครัว Delladio กับบริษัท Marangoni เท่านั้น ทำให้พวกเขาได้เซ็นสัญญาที่จะรักษาความลับของสูตรยางและผลิตมันให้แก่แบรนด์ La Sportiva เท่านั้น

ซึ่ง ณ เวลานั้น แบรนด์ La Sportiva จะยังคงใช้คำโฆษณาว่า “เนื้อยางจากประเทศสเปน” ในรองเท้าปีนเขาของพวกเขาอยู่ และไม่มีใครคาดคิดว่าเนื้อยางจากประเทศสเปนจะผลิตอยู่ในโรงงานของประเทศอิตาลี

โดย Lorenzo เคยออกมาให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์นี้ในภายหลังว่า “เราต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากในการเก็บรักษาความลับนี้และเอกสารต่างๆ ต้องไม่แสดงชื่อของบริษัท Marangoni ซึ่งมีเพียงพนักงานบัญชีคนเดียวอย่าง Carla ที่ทราบถึงความลับนี้ โดยเธอไม่เคยบอกความลับนี้กับใครเลย”

“นอกจากผม พ่อและ Carla พนักงานคนอื่นในโรงงานไม่ทราบถึงที่มาของเนื้อยางและพวกเขาต่างคิดว่านี่คือเนื้อยางจากประเทศสเปน ซึ่งนี่คือความลับทางการค้าของเรา ที่ทำให้เรากุมความได้เปรียบอยู่หลายปีเลยทีเดียว” – เขากล่าวเสริม

ความรู้เพิ่มเติม เหตุผลที่ว่าทำไมพวกเขาถึงไม่ใช้พื้นยางของ Vibram ทั้งที่อยู่ในประเทศอิตาลีเหมือนกัน นั่นเป็นเพราะว่าในช่วงยุค 1970 แบรนด์ Vibram ยังไม่ได้มีการคิดค้นและวิจัยพื้นยางสำหรับการปีนหน้าผา ซึ่งต้องใช้เวลาเกือบ 18 ปี จนกระทั่งในปี 1988 ที่แบรนด์ Vibram ได้เปิดตัวพื้นยางที่ดีที่สุดในโลกสำหรับการปีนหน้าผาโดยเฉพาะและกลายมาเป็นบรรทัดฐานใหม่จนถึงยุคปัจจุบัน

ยุครุ่งเรืองของกีฬาปีนผาและประวัติศาสตร์ที่ถูกเขียนโดยแบรนด์ La Sportiva

หลังจากที่สามารถถือครองสูตรยางที่สร้างความได้เปรียบทางธรุกิจ ทางแบรนด์ La Sportiva ก็ไม่มีอะไรที่ต้องกังวลอีกต่อไป นอกเสียจากการออกแบบและเปิดตัวนวัตกรรมรองเท้าปีนผารุ่นใหม่

และในปี 1984 แบรนด์ La Sportiva ได้เปิดตัวรองเท้าปีนผารุ่นใหม่อย่าง Ballerina ที่เป็นรองเท้าปีนผาน้ำหนักเบาและสวมใส่ง่าย โดยมีหน้าผ้าเป็นยางยืดแทนการมัดเชือกแบบดั้งเดิม เพื่อเพิ่มอิสระในการเคลื่อนไหวให้แก่เหล่านักปีนผา ซึ่งถือได้ว่านี้คือ ต้นแบบแรกของการนำเอายางยืดมาใช้ในรองเท้าปีนผา ที่สืบต่อมายังยุคปัจจุบัน

La Sportiva Ballerina เป็นรองเท้าปีนผาใช้ยางยืดแทนการมัดเชือกแบบดั้งเดิม เพื่อเพิ่มอิสระในการเคลื่อนไหวให้แก่เหล่านักปีนผา

ต่อมาในปี 1985 ซึ่งถือเป็นปีที่สำคัญที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ของกีฬาปีนผา นั่นคือ การจัดการแข่งขันปีนผานานาชาติอย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลก ณ เมือง Bardonecchia ประเทศอิตาลี ที่ถูกเรียกว่า รายการแข่ง “SportRoccia” ที่รวมเหล่านักปีนผาชั้นนำจากทั่วโลกมาแข่งขันในรายการ

รายการแข่ง SportRoccia เป็นการแข่งขันปีนผานานาชาติอย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลก

2 – 3 วันก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น Lorenzo ได้พูดคุยกับพ่อของเขาว่า “ผมอยากจะอยู่ ณ ที่ตรงนั้น เพื่อเป็นตัวแทนของแบรนด์ La Sportiva ของเรา” ซึ่ง Francesco Delladio ผู้เป็นพ่อกล่าวตอบกลับไปว่า “ใช่ ลูกควรจะไปอยู่ ณ ที่ตรงนั้น พ่อก็จะไปด้วย เราจะไปที่นั่นกันและโรงงานรองเท้าแบรนด์ La Sportiva จะต้องอยู่ ณ รายการแข่ง SportRoccia เพื่อค่อยช่วยเหลือเหล่านักกีฬาในระหว่างการแข่งขัน”

“เราจะสนับสนุนพวกเขาอย่างสุดความสามารถด้วยผลิตภัณฑ์และรองเท้าปีนผาที่ดีที่สุดของพวกเรา อนาคตของกีฬาปีนผาและอนาคตของบริษัทเราจะต้องผ่านจุดนี้ไปด้วยกัน ซึ่งเราต้องอยู่ ณ ที่ตรงนั้น” – Francesco Delladio ผู้เป็นพ่อกล่าวเสริม

ฉะนั้น พวกเขาจึงเริ่มจัดเตรียมอุปกรณ์และเหล่ารองเท้าปีนผาตัวต้นแบบ โดย Lorenzo ได้ถือกระเป๋าสีฟ้าเหลืองที่มีชื่อแบรนด์ La Sportiva ติดอยู่ด้านข้างและเดินไปรอบๆ โรงงาน เพื่อมองหาสิ่งของต่างๆ ที่อาจจะจำเป็นสำหรับนักกีฬา ซึ่งในตอนที่พวกเขาพูดคุยกัน การจัดเตรียมสิ่งของเหล่านี้ฟังดูแล้วอาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องง่าย

กระเป๋าสีฟ้าเหลืองที่มีชื่อแบรนด์ La Sportiva ติดอยู่ด้านข้าง ในปัจจุบันยังถูกเก็บไว้และนำไปจัดแสดงในสำนักงานใหญ่ของบริษัท

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาเขาก็ต้องยอมรับว่า เขามีอาการสับสนว่าควรนำอุปกรณ์อะไรติดตัวไปบ้าง ที่จะสามารถช่วยเหลือเหล่านักกีฬาได้ โดยเขาได้เริ่มหยิบเชือกรองเท้าสำรองไปเป็นจำนวนมาก แม้ว่าเชือกรองเท้าจะมีโอกาสขาดจากการใช้งานน้อยมาก

และเขายังได้นำพื้นรองเท้าสำรองติดไปด้วย ซึ่งการเปลี่ยนพื้นรองเท้านอกสถานที่เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่เคยทำมาก่อน แต่บางทีใครจะรู้ว่าพวกเขาอาจจะได้ทำเช่นนั้นในอนาคต นอกจากนี้ เขายังได้เตรียมกระดาษทรายและเศษผ้า ในการทำความสะอาดและใช้ในการอุ่นพื้นรองเท้าปีนผา เพื่อให้มั่นใจว่าเหล่านักกีฬาสามารถแข่งขันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

แม้ว่า Lorenzo จะสับสนในช่วงแรก แต่สิ่งที่เขามุ่งมั่นแนวแน่และไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ การช่วยเหลือเหล่านักกีฬาอย่างสุดความสามารถ เพื่อที่จะแสดงให้ทั้งโลกเห็นว่า “แบรนด์ La Sportiva คือแบรนด์รองเท้าปีนผาที่ดีที่สุดในโลก”

ณ วันแข่งขัน SportRoccia ที่จัดขึ้น ณ หุบเขา Valle Stretta ในเมือง Bardonecchia ประเทศอิตาลี ผู้ชมต่างรวมตัวกันเพื่อมารับชมเหล่านักปีนผาชั้นนำจากทั่วโลก โดยพวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไป เพราะนี้คือการแข่งขันครั้งแรกที่จัดขึ้น แต่สิ่งที่พวกเขาคาดหวังไว้คือการได้มองดูเหล่านักกีฬาที่กำลังไต่อยู่บนหน้าผาเท่านั้น

เหล่าผู้ชมที่พากันมารวมตัว เพื่อมารับชมเหล่านักปีนผาชั้นนำจากทั่วโลก ในรายการ SportRoccia ในปี 1985

เหล่านักกีฬาที่เคยฝึกฝนในสถานที่ห่างไกลจากผู้คนและไร้ซึ่งเสียงรบกวน ทำให้ในครั้งแรกผู้จัดงานได้ขอให้เหล่าผู้ชมดูการแข่งขันแบบเงียบๆ เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนนักกีฬาและมีเพียงเสียงตบมือ เพื่อแสดงความยินดีเมื่อนักกีฬาถึงจุดหมายแล้วเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากในยุคปัจจุบัน ที่ผู้ชมต่างส่งเสียงให้กำลังใจและกระตุ้นเหล่านักกีฬา ไม่ต่างจากกีฬาฟุตบอลหรือกีฬาในสนามประเภทอื่นๆ

และในการแข่งขัน SportRoccia ในปี 1985 ผู้ชนะของงานก็คือ นักปีนเขาชาวเยอรมันนามว่า “Stefan Glowacz” ซึ่งเขาได้สวมใส่รองเท้าปีนผาของแบรนด์ La Sportiva รุ่น Mariacher และได้กลายมาเป็นคนดังในโลกของกีฬาปีนผาในชั่วข้ามคืนในฐานะของผู้ชนะการแข่งขันปีนผานานาชาติครั้งแรกของโลก

Stefan Glowacz นักปีนเขาชาวเยอรมัน และรองเท้าปีนผาของแบรนด์ La Sportiva รุ่น Mariacher

และแน่นอนว่าชื่อเสียงของรองเท้าปีนผาแบรนด์ La Sportiva กลายมาเป็นที่รู้จักกันทั้งทั่วโลก ซึ่งการที่ Lorenzo ตัดสินใจไปยังรายการแข่ง SportRoccia ไม่ใช่เพื่อแค่ช่วยเหลือเหล่านักกีฬา แต่ยังเป็นการเข้าใจถึงความต้องการเหล่านักกีฬา

โดย Lorenzo กล่าวว่า “เราต้องเข้าใจว่าเหล่านักกีฬาต้องการสิ่งใด ทำให้การพบปะ พูดคุยและกลายมาเป็นเพื่อนของพวกเขาจะช่วยให้เราเข้าถึงแนวคิดการออกแบบรองเท้าปีนผารุ่นใหม่ในอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่ปู่และพ่อของผมได้ทำมาโดยตลอด นั่นคือ การรับฟังคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และเปลี่ยนคำแนะนำเหล่านั้นให้กลายมาเป็นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ยอดเยี่ยมกว่าเดิม”

ซึ่งรองเท้าปีนผารุ่น Mariacher ที่ Stefan Glowacz สวมใส่ในวันแข่ง มีจุดที่ต้องปรับปรุงอยู่ โดย ณ วันแข่งขัน เขาได้ใช้เชือกรองเท้ามัดขึ้นไปบริเวณหลังข้อเท้า เพื่อให้ส้นเท้าติดอยู่กับรองเท้าตลอดเวลาขณะปีนผา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น ถ้าหากรองเท้าสามารถล็อคบริเวณส้นเท้าได้ดี

Stefan Glowacz และรองเท้าปีนผา La Sportiva Mariacher ที่ ณ วันแข่งขัน เขาได้ใช้เชือกรองเท้ามัดขึ้นไปบริเวณหลังข้อเท้า เพื่อให้ส้นเท้าติดอยู่กับรองเท้าตลอดเวลาขณะปีนผา

ทำให้ในปี 1986 แบรนด์ La Sportiva ได้เปิดตัวรองเท้าปีนผารุ่นใหม่ที่ร่วมกันออกแบบกับ Stefan Glowacz โดยใช้ชื่อรุ่นว่า “Mega SG” ซึ่ง SG ย่อมาจาก Stefan Glowacz นั่นเอง

และในปี 1987 รายการแข่ง SportRoccia ครั้งที่สองได้ถูกเปลี่ยนชื่อไปเป็น Rock Master ครั้งที่ 1 และถูกจัดขึ้น ณ เขต Arco ในเมือง Trento ประเทศอิตาลี ซึ่งต่อมาภายหลังหนึ่งปี รายการแข่งนี้จะกลายมาเป็นการแข่งขันปีนผาจำลองครั้งแรกของโลกในรายการแข่ง Rock Master ครั้งที่ 2

ซึ่งทั้งการแข่งขันในปี 1987 และ 1988 มี Stefan Glowacz ที่สามารถคว้าแชมป์สองสมัยซ้อน โดยใช้รองเท้าปีนผาสีฟ้าบานเย็นที่มีแบกชื่อของเขาไว้อย่างรุ่น Mega SG

รองเท้าปีนผา La Sportiva Mega SG สีฟ้าบานเย็น ที่ถูก Stefan Glowacz ใช้คว้าแชมป์ในรายการแข่ง Rock Master ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2

จากความสำเร็จส่งผลให้แบรนด์ La Sportiva กลายมาเป็นผู้นำในวงการรองเท้าปีนผา และมีนักกีฬาปีนผาจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาจากประเทศฝรั่งเศส อเมริกา รัสเซีย หรือเยอรมัน ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม La Sportiva ซึ่งพวกเขาต่างช่วยกันออกวิสัยทัศน์ในการออกแบบรองเท้า

และในส่วนของผู้ชมที่เข้าร่วมชมการแข่งขันที่ Arco ก็ต่างเฝ้ารอรองเท้าปีนเขารุ่นใหม่ที่จะวางจำหน่ายในเมือง Trento เป็นที่แรก ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้ ทำให้แบรนด์ La Sportiva ได้เข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด โดยมีครอบครัว Delladio เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด

แบรนด์ La Sportiva กลายมาเป็นผู้นำในวงการรองเท้าปีนผา และมีการออกแบบรองเท้าปีนรุ่นใหม่ที่ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นในแต่ละปี

การเดินทางที่ไม่มีวันสิ้นสุด

และต่อมาในปี 1991 แบรนด์ La Sportiva ได้ใช้ทุนกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทเข้าบุกตลาดรองเท้าปีนผาในประเทศฝรั่งเศส โดยใช้ชื่อว่า “La Sportiva France”

ในปี 1995 เมื่อความต้องการของรองเท้าปีนผาในตลาดโลกเพิ่มขึ้น โรงงาน ณ เมือง Tesero ของแบรนด์ La Sportiva กลายมาเป็นโรงงานขนาดเล็ก ที่ไม่สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากทั่วมุมโลก ทำให้พวกเขาตัดสินใจที่จะสร้างโรงงานแห่งใหม่ที่ใหญ่และทันสมัยกว่าเดิม ณ เมือง Ziano di Fiemme ในจังหวัด Trentino ประเทศอิตาลี

โรงงาน ณ เมือง Tesero ของแบรนด์ La Sportiva กลายมาเป็นโรงงานขนาดเล็ก ที่ไม่สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากทั่วมุมโลก

และในปี 1996 เมื่อโรงงานแห่งใหม่ก่อสร้างเสร็จสิ้น พวกเขาจึงได้ย้ายทั้งบริษัทไปยังโรงงานใหม่ที่ทันสมัย ซึ่งบริเวณที่ตั้งของโรงงานอยู่ ณ บริเวณเชิงเขา Dolomites โดยพวกเขาสามารถนำผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบใหม่ไปทดสอบได้โดยทันที

โรงงานแห่งใหม่และสำนักงานใหญ่ของแบรนด์ La Sportiva ณ เมือง Ziano di Fiemme ในจังหวัด Trentino ประเทศอิตาลี ในปัจจุบัน

และโรงงานแห่งนี้เองที่ในปัจจุบันกลายมาเป็นสำนักงานใหญ่ที่สุดของแบรนด์ La Sportiva ที่ซึ่งทุกคนสามารถเข้าไปพบปะและพูดคุยกับครอบครัว Delladio ได้

โรงงานแห่งใหม่ที่มาพร้อมกับเหล่าเครื่องจักรที่ทันสมัย

ในปี 1997 แบรนด์ La Sportiva ตอกย้ำความสำเร็จในตลาดโลกด้วยผลประกอบการที่เติบโตถึง 13 เปอร์เซ็นต์และยอดการส่งออกผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งเป็นครั้งแรกที่แบรนด์ La Sportiva ได้รับตรา ISO 9002 ที่เป็นการรับประกันว่าผลิตภัณฑ์ของแบรนด์มีมาตรฐานสากลในระดับโลก

อย่างไรก็ตาม ในปี 1998 แบรนด์ La Sportiva ต้องการที่จะขยายตลาดไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มตัว ทำให้ครอบครัว Delladio ได้ทำข้อตกลงระหว่างแบรนด์ The North Face ที่ ณ เวลานั้น มีเครือข่ายในการจัดจำหน่ายที่ใหญ่ในแถบทวีปอเมริกาเหนือ

โดยการให้แบรนด์ The North Face ถือหุ้น 20 เปอร์เซ็นต์ของแบรนด์ La Sportiva และจะเพิ่มขึ้นเป็น 31 เปอร์เซ็นต์ใน 3 ถึง 5 ปีข้างหน้า รวมทั้งการขาย “La Sportiva USA” ซึ่งทำให้แบรนด์ The North Face กลายมาเป็นผู้ถือครองสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบรนด์ La Sportiva แต่เพียงผู้เดียวในทวีปอเมริกาเหนือ

สำนักงาน La Sportiva USA ณ เมือง Boulder รัฐ Colorado ประเทศสหรัฐอเมริกา

ความร่วมมือนี้ดูเหมือนจะเป็นไปได้ดีในช่วงแรก แต่เมื่อสองปีให้หลัง ในปี 2000 ทางแบรนด์ The North Face ได้มีการเปลี่ยนผู้บริหารระดับสูงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งผู้บริหารทั้งหมดที่เคยเซ็นสัญญาไว้ในปี 1998 ไม่เหลือใครอีกต่อไป นอกจากนี้ทางแบรนด์ The North Face ยังไม่มีความคิดที่จะแบ่งปันกลยุทธ์ทางธรุกิจให้แก่ทางแบรนด์ La Sportiva

ทำให้ทางออกที่ดีที่สุดของแบรนด์ La Sportiva คือการเจรจาขอยกเลิกข้อตกลง จึงทำให้ในช่วงต้นปี 2000 ครอบครัว Delladio ได้ซื้อหุ้นของบริษัทคืนจากแบรนด์ The North Face ทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม สำนักงานย่อยในประเทศสหรัฐอเมริกาอย่าง La Sportiva USA ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของแบรนด์ The North Face เนื่องจากจำนวนเงินทุนที่ยังไม่มีเพียงพอที่จะซื้อคืนสำนักงานย่อยได้ เพราะ ณ ช่วงเวลานั้น ครอบครัว Delladio มีแผนที่จะขยายขนาดโรงงานและเพิ่มเครื่องจักรรุ่นใหม่ในสำนักงานใหญ่ที่อิตาลี

และในช่วงปี 2003 ถึง 2005 ผลจากการลงทุนในการพัฒนาและปรับปรุงสำนักงานใหญ่ได้ส่งผลให้แบรนด์ La Sportiva สามารถยกระดับมาตรฐานบริษัทจาก ISO 9002 กลายมาเป็น ISO 9001 ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดของมาตรฐานสากลโลก รวมทั้งยังได้รับตรา ISO 14001 ที่เป็นการบ่งบอกว่าองค์กรมีการคำนึงและใส่ใจถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

แบรนด์ La Sportiva สามารถยกระดับมาตรฐานบริษัทจาก ISO 9002 กลายมาเป็น ISO 9001 ซึ่งเป็นขั้นสูงสุดของมาตรฐานสากลโลก

ความรู้เพิ่มเติม ในปี 2018 แบรนด์ La Sportiva ยังได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์กร 1% For the Planet โดยแบรนด์ La Sportiva จะแบ่งรายได้ขั้นต่ำอย่างน้อย 1 เปอร์เซ็นต์จากรายได้ทั้งปีและนำไปส่งมอบให้แก่องค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการประกาศถึงความรับผิดชอบอย่างสูงสุดต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้การลงทุนในการพัฒนาและปรับปรุงสำนักงานใหญ่ยังทำให้ยอดขายโดยรวมจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น และในปี 2006 ข่าวดีก็ได้มาถึง เมื่อแบรนด์ La Sportiva ประกาศว่า “สำนักงานจัดจำหน่ายในทวีปอเมริกาเหนือ (La Sportiva USA) ได้กลับมาเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานใหญ่แบรนด์ La Sportiva ในประเทศอิตาลีแล้ว” ซึ่งหมายความว่าต่อจากนี้ครอบครัว Delladio จะเป็นผู้ทำตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยตนเองนั่นเอง

และภายในปีเดียวกัน พวกเขาเริ่มการลงทุนในแผนกวิจัยและพัฒนาในการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ทำให้แบรนด์ La Sportiva ได้เข้ามาทำตลาดในส่วนของรองเท้าวิ่งเทรลอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น

และในช่วงสิ้นปี 2007 แบรนด์ La Sportiva ได้ปิดตลาดด้วยผลประกอบการที่เติบโตเกินคาด โดยมียอดการส่งออกทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และในปี 2008 ก็ถึงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองครบรอบ 80 ปี ของแบรนด์ La Sportiva ที่ ณ เวลานี้ได้เติบโตและยิ่งใหญ่ จากความพยายามที่ส่งต่อมายังรุ่นสู่รุ่นของครอบครัว Delladio

ฉลองครบรอบ 80 ปี ของแบรนด์ La Sportiva

สำหรับตอนที่ 2 ของประวัติแบรนด์ La Sportiva ทางเราต้องขอจบไว้เพียงเท่านี้ ซึ่งในที่สุดเราก็ได้เดินทางมาถึง 80 ปีกันแล้ว และในตอนหน้าตอนสุดท้ายจะเป็นการเข้าสู่วงการรองเท้าวิ่งเทรลอย่างเต็มที่ตัว ที่ทางแบรนด์ La Sportiva ใช้คำว่า “การวิ่งภูเขา” หรือ Mountain Running”

ซึ่งจะแตกต่างจากการวิ่งเทรลอย่างไร? และโดดเด่นในโลกของการวิ่งเทรลแค่ไหน? รวมทั้งการมาถึงของไม้ต่อรุ่นที่ 4 ของครอบครัว Delladio ประวัติจะน่าสนในแค่ไหน โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

อ่านต่อตอนที่ 3 จุดเริ่มต้นสู่รองเท้าวิ่งภูเขา ได้ที่นี่เลยครับ

และแบรนด์ La Sportiva ได้เข้ามายังประเทศไทยอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งท่านใดที่สนใจผลิตภัณฑ์ของแบรนด์สามารถติดตามได้ในช่องทาง FB: La Sportiva Thailand ได้เลยครับ

หวังว่าบทความนี้เป็นจะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิ่งหรือผู้ที่สนใจในการวิ่งหลาย ๆ ท่าน ขอให้วิ่งให้สนุกครับ และสามารถติดตาม Running Profiles ได้ทั้งใน

More on this topic

Popular stories

Training Plan