ประวัติ Mountain Running และ Trail Running ตอนที่ 2 กำเนิดการวิ่งเทรล

Related Articles

วันนี้เราจะมาต่อกันที่ประวัติและความแตกต่างระหว่าง Mountain Running และ Trail Running รวมไปถึงตำนานสนามแข่งที่ไม่ว่าจะเป็น Dipsea Race งานแข่งขันวิ่งเทรลที่เก่าแก่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา และประวัติงานแข่งขันวิ่ง 100 ไมล์ อย่าง Western States 100 ประวัติจะน่าสนใจเพียงใด เชิญติดตามได้เลยครับกับตอนที่ 2 กำเนิดการวิ่งเทรล

ปล. ท่านใดที่ยังไม่ได้อ่านประวัติ Mountain Running และ Trail Running ตอนที่ 1 กำเนิดการวิ่งภูเขา สามารถเข้าไปอ่านได้ที่นี่

ประวัติและจุดเริ่มต้นของการวิ่งเทรล (Trail Running)

Dipsea Race งานแข่งขันวิ่งเทรลที่เก่าแก่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวจุดเริ่มต้นของการวิ่งเทรล หรือ Trail Running นั่น เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 1880 ณ เมืองชายฝั่งที่มีชื่อว่า Willow Camp (ซึ่งในปัจจุบันถูกเรียกว่า Stinson Beach) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีสองสามีภรรยานามว่า Nathan Stinson และ Rose Stinson ได้ร่วมกันสร้างธรุกิจให้บริการที่พักแบบตั้งเต็นท์ เพื่อให้เหล่านักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวในวันหยุดได้เข้ามาพักอาศัย

(ซ้าย) Nathan Stinson และ Rose Stinson และ (ขวา) Willow Camp หรือในปัจจุบันถูกเรียกว่า Stinson Beach ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้เกียรติแก่ผู้บุกเบิกทั้งสอง

ซึ่งพวกเขาทั้งสองไม่เพียงที่จะจัดเตรียมที่พักอาศัยเท่านั้น แต่พวกเขายังได้ทำเส้นทางเดินรอบๆ บริเวณชายหาด และจัดเตรียมเส้นทางเทรลที่ขึ้นไปยังภูเขาใกล้ๆ อย่างภูเขา Tamalpais สำหรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย

ภูเขา Tamalpais

ธรุกิจของทั้งคู่เป็นไปได้ด้วยดี เนื่องจากในช่วงปลายปี 1890 การก่อสร้างทางรถไฟที่เข้าถึงเมือง Willow Camp ได้ก่อสร้างเสร็จสิ้น ทำให้เหล่านักท่องเที่ยวต่างพากันมาท่องเที่ยวพักผ่อนในวันหยุดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จนทำให้มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในธรุกิจให้บริการที่พัก

และในปี 1904 โรงแรม Dipsea Inn ก็ได้ถูกสร้างขึ้นโดย William Kent และ Sidney B. Cushing ซึ่งทั้งคู่คือนักธรุกิจรายใหญ่และผู้ถือหุ้นในกิจการรถไฟ ทำให้ชื่อเสียงของเมือง Willow Camp เป็นที่รู้จักกันในวงกว้างมากยิ่งขึ้น

ภาพถ่ายโรงแรม Dipsea Inn ในปี 1906

ส่งผลให้ภายในปีเดียวกัน สองสมาชิกจากสโมสรกีฬาโอลิมปิกแห่งซานฟรานซิสโก (San Francisco’s Olympic Athletic Club หรือ Olympic Club) อย่าง Alfons Coney และ Charles Boas ได้พากันมาท่องเที่ยวในวันหยุด แต่ด้วยความนึกคึกของทั้งคู่ พวกเขาได้พนันวิ่งแข่งกันจากสถานีรถไฟในเมือง Mill Valley ไปยังโรงแรม Dipsea Inn

Charles Boas และ Alfons Coney สองสมาชิกจากสโมสรกีฬาโอลิมปิกแห่งซานฟรานซิสโก

ชายทั้งสองต้องวิ่งผ่านเส้นทางเทรลที่ลัดเลาะไปตามภูเขา Tamalpais ซึ่งมีระยะทางกว่า 8 ไมล์ หรือประมาณ 12.8 กิโลเมตร โดยไม่มีไกด์นำทางหรือผู้ชม ซึ่งผลที่ออกมาดูเหมือน Charles Boas จะเป็นผู้ชนะ แต่ Alfons Coney กลับไม่แน่ใจนักและไม่ยอมรับในผลลัพธ์นี้

ทำให้หลังจากที่ทั้งคู่กลับจากการไปท่องเที่ยวพักผ่อน พวกเขาได้นำเรื่องนี้ไปเล่าให้เหล่าสมาชิกในสโมสรได้รับฟังถึงความสนุกสนานและความท้าทายที่พวกเขาได้พบเจอในระหว่างการวิ่ง ส่งผลให้ในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี พวกเขาได้ตัดสินใจจัดตั้งสมาคม Dipsea Indians ขึ้น เพื่อจัดการแข่งขันวิ่งอย่างเป็นทางการภายใต้ชื่องานแข่งขันว่า “Dipsea Race”

ภาพถ่ายของสมาชิกของ Olympic Club ที่หน้าโรงแรม Dipsea Inn

งานแข่งขัน Dipsea Race ถูกจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 1905 ซึ่ง ณ ช่วงเวลานั้น งานแข่งถูกจัดให้อยู่ภายใต้ประเภทกีฬาที่ถูกเรียกว่า “การวิ่งครอสคันทรี่ (Cross Country Run)” โดยทางสมาคมได้สร้างกฏที่เป็นเสมือนเอกลักษณ์เด่นที่ทำให้งานแข่ง Dipsea Race ไม่เหมือนกับงานแข่งขันวิ่งงานอื่นๆ คือ แม้ว่าจะมีเส้นทางหลักที่ทำเครื่องหมายไว้ แต่นักแข่งจะมีอิสระในการเลือกเส้นทางที่จะวิ่งได้ตามที่ต้องการ หรือเรียกว่า Open Course

งานแข่งขัน Dipsea Race ถูกจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ปี 1905 ซึ่ง ณ ช่วงเวลานั้น งานแข่งถูกจัดให้อยู่ภายใต้ประเภทกีฬาที่ถูกเรียกว่า “การวิ่งครอสคันทรี่ (Cross Country Run)”

โดยงานแข่งขัน Dipsea Race ครั้งแรกได้สร้างภาพจำภายในเมืองซานฟรานซิสโกว่านี้คือ การแข่งขันกีฬาที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ ซึ่งไม่เคยมีการแข่งขันกีฬากรีฑาใดๆ ในอดีตเคยทำมาก่อน ส่งผลให้เหล่าสำนักข่าวหนังสือพิมพ์ที่มีอิทธิพลในเมืองซานฟรานซิสโกต่างพากันพาดหัวข่าวถึงงานแข่งนี้ และไม่ใช่การลงข่าวเพียงแค่ครั้งเดียว แต่มันยาวนานไปหลายทศวรรษ

ภาพงานแข่งขัน Dipsea Race

ตัวอย่างเช่น หนังสือพิมพ์ The Chronicle พาดหัวข่าวว่า “การแข่งขันวิ่งครอสคันทรี่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จากเมือง Mill Valley ถึงโรงแรม Dipsea” และข้างใต้รูปภาพยังบรรยายอีกว่า “การแข่งขันนี้พิสูจน์แล้วว่านี้คืองานกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เคยจัดขึ้นในประวัติศาสตร์ของสโมสรกีฬาโอลิมปิก” หรือ หนังสือพิมพ์ The Morning Call ที่กล่าวว่า “นี้คือความสำเร็จของการแข่งขันทั้งในด้านสถิติผู้เข้าร่วมแข่งขัน (ที่มีผู้เข้าร่วมสูงถึง 111 คน ซึ่งสูงเป็นสองเท่าของมาตรฐานในยุคสมัยนั้น) และในผลลัพธ์ที่ออกมา ซึ่งคาดว่าจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อการแข่งขันกีฬาบนชายฝั่งแห่งนี้”

ในการแข่งขันครั้งแรกมีผู้จบการแข่งขันทั้งหมดเป็นชาย 71 คน โดยมี John Geoffrey Hassard ซึ่งเป็นนักเรียนมัธยมปลายวัย 18 ปีจากโรงเรียน Oakland High School เข้าเส้นชัยเป็นคนแรก โดยมีที่สองคือ Cornelius Connelly ซึ่งเขาคือนักกรีฑาวัย 28 ปี จากสโมสร Emerald Gaelic Athletic Association

ซึ่งในภายหลัง Cornelius Connelly ได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ The Chronicle ว่า “ผมวิ่งไล่แซงนักวิ่งคนอื่นๆ ไปทีละคน จนในที่สุดผมก็คิดว่า ผมน่าจะเป็นผู้นำ ผมวิ่งออกจากป่าลงไปชายหาดด้วยความเร็ว โดยคิดอยู่เสมอว่าผมคือผู้ชนะ แต่เมื่อผมมองลงไปยังชายหาด ผมเห็นใครบางคนกำลังวิ่งนำหน้าผม ในตอนนั้น ผมไม่เข้าใจเลย แต่ผมก็พยายามตามเขาอย่างสุดแรง แต่เขาเร็วอย่างกับพายุไซโคลน ผมไม่รู้ว่าเด็กคนนั้นเอาแรงจากที่ไหนมาวิ่ง”

และเหตุการณ์นี้เองที่ทำให้ประวัติศาสตร์ของกีฬาวิ่งครอสคันทรี่ได้ถูกเปลี่ยนไป ความเชื่อในอดีตที่ว่าระยะทาง 8 ไมล์ หรือประมาณ 12.8 กิโลเมตร ไกลเกินกว่าเด็กมัธยมปลายจะวิ่งได้ได้ถูกทำลายลง ก่อให้เกิดหลักสูตรการสอนการวิ่งครอสคันทรี่ในโรงเรียนมัธยมในหลายปีต่อมา

(ซ้าย) Cornelius Connelly นักกรีฑาวัย 28 ปี จากสโมสร Emerald Gaelic Athletic Association และที่สองของงานแข่ง Dipsea Race ครั้งแรก ในปี 1905 และ (ขวา) ข่าวจากหนังสือพิมพ์ในปี 1912 ที่มีเด็กหนุ่มวัย 19 ปี อีกหลายต่อหลายคนที่สามารถคว้าแชมป์ในสนามแข่ง Dipsea Race จนทำให้ความเชื่อต่างๆ ในอดีตได้ถูกทำลายลง

ในปี 1906 ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและไฟไหม้ครั้งใหญ่ภายในเมืองซานฟรานซิสโก ส่งผลให้ต้องมีการอพยพผู้คนมายังชายฝั่ง Willow Camp และ โรงแรม Dipsea Inn ถูกใช้เป็นที่หลบภัย และในปี 1907 งานแข่ง Dipsea Race ได้ถูกจัดขึ้นอีกครั้งและในครั้งนี้มีการตัดเส้นทางให้สั้นลงเล็กน้อย โดยไม่ต้องมีการวิ่งไปจบที่หน้าโรงแรม Dipsea Inn อีกต่อไป ซึ่งมีระยะทางเหลือเพียง 7.5 ไมล์ หรือ 12 กิโลเมตร

ในปี 1906 ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวและไฟไหม้ครั้งใหญ่ภายในเมืองซานฟรานซิสโก ส่งผลให้ต้องมีการอพยพผู้คนมายังชายฝั่ง Willow Camp และ โรงแรม Dipsea Inn ถูกใช้เป็นที่หลบภัย

และในปี 1918 งานแข่งขัน Dipsea Race ยังได้มีการอนุญาติให้ผู้หญิงได้เข้าร่วมการแข่งขัน และมีการจัดการแข่งขันของผู้หญิงโดยเฉพาะ ก่อนที่ในปี 1971 พวกเขาจะประกาศถึงความเสมอภาคทางเพศอย่างเป็นทางการ

งานแข่งขัน Dipsea Race มีการจัดการแข่งขันสำหรับผู้หญิงขึ้นโดยเฉพาะ ตั้งแต่ปี 1918 จนกระทั่งในปี 1971 ที่พวกเขาได้ประกาศถึงความเสมอภาคทางเพศอย่างเป็นทางการ

ต่อมาในปี 1977 จำนวนผู้เข้าแข่งขันได้ถูกจำกัดเป็นครั้งแรก เนื่องจากผู้ที่ต้องการเข้าร่วมมีจำนวนมากเกินไป รวมทั้งกฏที่นักแข่งจะมีอิสระในการเลือกเส้นทางที่จะวิ่งได้ตามที่ต้องการก็ได้ถูกยกเลิกไป เพื่อสร้างความปลอดภัยของเหล่านักกีฬาและรักษาสภาพของสิ่งแวดล้อมโดยรวม

สนามแข่ง Dipsea Race ในปัจจุบัน มีระยะทางรวม 7.5 ไมล์ หรือ 12 กิโลเมตร

และในปี 1993 หอเกียรติยศ ได้ถูกสร้างขึ้น โดยบันทึกชื่อเหล่านักกีฬาระดับตำนานอย่าง Jack Kirk หรือเจ้าของฉายา “The Dipsea Demon” หรือ “ปีศาจแห่งงานแข่ง Dipsea” ซึ่งเขาเป็นเจ้าของแชมป์ 2 สมัยของงาน และลงแข่งขันทุกปีที่มีการจัดงานแข่ง ตั้งแต่ปี 1930 จนถึงปี 2003 รวมแล้วเขาลงแข่ง 68 ครั้ง โดย Jack Kirk จากไปอย่างสงบในปี 2007 ด้วยอายุครบ 100 ปี หรือก็คือเขาในวัย 96 ปี ยังคงลงแข่งขันงาน Dipsea Race อยู่นั่นเอง

Jack Kirk เจ้าของฉายา “The Dipsea Demon” หรือ “ปีศาจแห่งงานแข่ง Dipsea” ซึ่งเขาเป็นเจ้าของแชมป์ 2 สมัยของงาน และลงแข่งขันทุกปีที่มีการจัดงานแข่ง ตั้งแต่ปี 1930 จนถึงปี 2003

แม้ว่า Dipsea Race จะถูกเรียกว่า “การวิ่งครอสคันทรี่” ในครั้งแรก แต่ก็เป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้างว่า นี้คือการแข่งขันครอสคันทรี่หรือไม่? เนื่องจากทางสหพันธ์กรีฑานานาชาติ (World Athletics) ได้ให้นิยามของการแข่งขันวิ่งครอสคันทรี่ว่า “งานแข่งต้องถูกจัดขึ้นในสนามที่ต้องวนมา ณ จุดเริ่มต้น (Loop) โดยมีระยะทางระหว่าง 1,750 ถึง 2,000 เมตร โดยในสนามต้องเป็นสนามดินและมีหญ้าปกคลุมให้มากที่สุด รวมไปถึงการมีเนินเขาและทางโค้งสลับกับทางตรง โดยถนนหรือเส้นทางหินคลุกในหมู่บ้านควรจะมีน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

ซึ่งนิยามของการวิ่งครอสคันทรี่ ไม่สามารถใช้ได้ในการแข่งขัน Dipsea Race โดยในปี 1996 ได้มีการก่อตั้งสมาคม American Trail Running Association (หรือ ATRA) โดยทางสมาคมได้มีการให้นิยามของการวิ่งเทรล (Trail Running) ไว้ว่า “คำนิยามของการวิ่งเทรลของเรานั้นค่อนข้างกว้าง เราไม่เพียงแต่จะพิจารณาถึงเส้นทางที่วิ่งบนภูเขาเท่านั้น แต่เรายังรวมเส้นทางที่ลาดยางในพื้นที่ชนบทและในเมือง และเราไม่สนับสนุนความคิดที่ว่า ทางเทรลต้องเป็นทางที่ยานพาหนะเข้าไปไม่ถึง เนื่องจากในปัจจุบันสถานที่หลายแห่งในภูเขาสามารถเข้าถึงได้โดยรถยนต์”

สมาคม American Trail Running Association (หรือ ATRA)

ฉะนั้นในความหมายของสมาคม ATRA การวิ่งเทรลคือ กีฬาสันทนาการสาธารณะสำหรับทุกคนประเภทหนึ่งที่ให้ความเพลิดเพลินกับที่ผู้ที่เข้าร่วม โดยมีกฏต่างๆ เพียงเพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้เข้าร่วมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติเท่านั้น

ดังนั้นจึงไม่แปลกว่าในปัจจุบัน งานแข่งขัน Dipsea Race จะถูกเรียกว่างานแข่งขันวิ่งเทรลที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกา และยังคงจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปัจจุบันในปี 2021 งานแข่ง Dipsea Race จะถูกจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 110 ในวันอาทิตย์ที่ 7 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ และจำกัดผู้เข้าร่วมงานเพียงแค่ 1,500 คน เท่านั้น

Western States 100 งานแข่งที่จุดกระแสการวิ่งเทรลระยะ 100 ไมล์

ย้อนกลับไปในช่วงปี 1970 หลังจากมีการจัดการแข่งขัน Dipsea Race ได้มีอีกหนึ่งงานแข่งขันที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นตามมาในประเทศสหรัฐอเมริกา นั่นก็คือ การแข่งขัน Western State 100

จุดเริ่มต้นของงานแข่ง Western States 100 เกิดขึ้นในปี 1955 ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อ Wendell T. Robie และนักขี่ม้าอีก 5 นาย ร่วมกันเดินทางจากที่ทำการไปรษณีย์ในเมือง Tahoe City ไปยังเมือง Auburn โดยพวกเขามีเป้าหมายที่จะพิสูจน์ว่า “ม้าสามารถเดินทางได้ 100 ไมล์ (หรือ 160.9 กิโลเมตร) ภายใน 1 วัน” ซึ่งเส้นทางที่พวกเขาใช้เดินทางถูกเรียกว่า “Western States Trail”

Wendell T. Robie

ด้วยแรงผลักดันและวิสัยทัศน์ของ Wendell T. Robie ส่งผลให้เกิดการก่อตั้งมูลนิธิ “Western States Trail Foundation” ขึ้น ซึ่งเป็นองค์กรที่เข้ามาจัดการแข่งขันขี่ม้าที่มีชื่อว่า “Western States Trail Ride” หรือที่ชาวอเมริกันรู้จักกันดีในชื่อของ “Tevis Cup” ซึ่งเป็นการแข่งขันขี่ม้าระยะทางไกล 100 ไมล์ ที่มีการจำกัดเวลาในการแข่งขันเพียงแค่ 1 วัน เท่านั้น และการแข่งขันขี่ม้านี้ได้ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 1955

ภาพถ่ายการแข่งขันขี่ม้า Tevis Cup ในปี 1991
เส้นทาง “Western States Trail” ที่เดินทางจากเมือง Tahoe City ไปยังเมือง Auburn ซึ่งมีระยะทางไกล 100 ไมล์

จนกระทั่งในปี 1972 ได้มีกลุ่มทหารราบของกองทัพสหรัฐฯ จำนวน 20 นาย พยายามเดินทางแบบไม่หยุดพักบนเส้นทาง Western States Trail ซึ่งพวกเขาเริ่มเดินทางหนึ่งวันก่อนการแข่งขัน Tevis Cup โดยได้รับคำแนะนำจากนักขี่ม้าท้องถิ่น ซึ่งรายละเอียดของเส้นทางได้ถูกร่างลงบนแผ่นกระดาษอย่างพิถีพิถัน

ในการเดินทางของพวกเขาได้มีข่าวลือและเรื่องเล่าว่าพวกเขาบางคนเดินทางโดยการขี่ม้าและใช้ทางลัด อย่างไรก็ตาม ในที่สุด ทหาร 7 นาย จากทั้งหมด 20 นาย ก็สามารถเดินทางไปถึงเมือง Auburn ได้สำเร็จ โดยใช้เวลาอยู่ระหว่าง 44:54 ชั่วโมง ถึง 46:49 ชั่วโมง หรือราวๆ เกือบ 2 วัน

และต่อมา นักขี่ม้าจากเมือง Auburn นามว่า Gordy Ainsleigh ซึ่งเขาได้เข้าร่วมการแข่งขันขี่ม้า Tevis Cup มาตั้งแต่ปี 1971 จนกระทั่งในปี 1973 ได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นกับเขาในระหว่างการแข่งขัน เมื่อม้าคู่ใจของเขาเกิดอาการเจ็บเท้าขึ้นอย่างกระทันหันหลังจากวิ่งไปได้เป็นระยะทางเพียง 29 ไมล์ (หรือ 46.6 กิโลเมตร) ส่งผลให้เขาต้องออกจากการแข่งขันในปีนั้นไปอย่างน่าเศร้า

แต่นี้ก็ถือเป็นโอกาสดีที่ทำให้เขาได้พบปะและพูดคุยกับ Drucilla Barner ซึ่งเธอคือผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ชนะการแข่งขันขี่ม้า Tevis Cup ในปี 1961 และยังดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการมูลนิธิ Western States Trail Foundation ณ ช่วงเวลานั้นอีกด้วย ทำให้ Gordy Ainsleigh เกิดแรงบันดาลใจและมีกำลังใจที่จะแข่งขันต่อในปีถัดไป

Drucilla Barner เธอคือหญิงแกร่งคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ชนะการแข่งขันขี่ม้า Tevis Cup ในปี 1961 และยังดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการมูลนิธิ Western States Trail Foundation

และในปี 1974 Gordy Ainsleigh กลับมาลงสนามแข่งขี่ม้า Tevis Cup อีกครั้ง แต่ในครั้งนี้เขาตัดสินใจที่จะจบงานแข่งนี้ด้วยเท้าของเขาเอง โดยเวลา 23 ชั่วโมง 42 นาที 20 วินาที คือเวลาที่เขาเข้าเส้นชัย ณ เมือง Auburn ซึ่งนี้คือข้อพิสูจน์ว่า “นักวิ่งสามารถจบการแข่งขันวิ่ง 100 ไมล์ ได้ภายใน 1 วัน”

Gordy Ainsleigh กับเสื้อเบอร์ 0 ของเขา

ซึ่ง Gordy Ainsleigh คือผู้บุกเบิกการแข่งขันวิ่งเทรล 100 ไมล์ อย่างแท้จริง ซึ่งทำให้ในปีต่อมาได้มีเหล่านักวิ่งสนใจที่จะทดสอบขีดความสามารถของตนเอง โดยนักวิ่งแต่ละคนก็มีทั้งที่สามารถจบงานได้และถอนตัวออกจากการแข่งขันกลางคัน

จนกระทั่งในปี 1977 มูลนิธิ Western States Trail Foundation ได้ตัดสินใจจัดการแข่งขันวิ่งระยะทางไกล 100 ไมล์ ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยใช้ชื่องานแข่งว่า “Western States Endurance Run” หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อคือ “Western States 100”

การแข่งขัน Western States Endurance Run อย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 1977

งานแข่ง Western States Endurance Run ครั้งแรกในปี 1977 มีผู้เข้าร่วมเป็นนักวิ่งชายทั้งหมด 14 คน และตัวงานยังจัดขึ้นพร้อมกับการแข่งขันขี่ม้า Tevis Cup โดยทางมูลนิธิได้จัดหาเพียงแค่น้ำดื่มให้แก่เหล่านักวิ่งและบริการนำส่งอุปกรณ์ต่างๆ ของนักวิ่งไปไว้ตามจุดพักต่างๆ ระหว่างทาง ซึ่งอาหารหรืออุปกรณ์ นักวิ่งต้องจัดเตรียมมาเอง

ในการแข่งขันครั้งแรก มีนักวิ่งที่วิ่งจบงานเพียงแค่ 3 คนเท่านั้น คือ Andy Gonzales นักวิ่งหนุ่มวัย 22 ปี ที่ทำลายสถิติสนามด้วยเวลา 22 ชั่วโมง 57 นาที และ Peter Mattei และ Ralph Paffenbarger นักวิ่งวัย 53 และ 54 ปี ตามลำดับ ซึ่งทั้งคู่จบด้วยเวลา 28 ชั่วโมง 36 นาที (และเป็นครั้งแรกที่มีการให้รางวัลผู้ที่จบด้วยระยะเวลาต่ำกว่า 30 ชั่วโมง)

Andy Gonzales นักวิ่งหนุ่มวัย 22 ปี ที่ทำลายสถิติสนามด้วยเวลา 22 ชั่วโมง 57 นาที

ต่อมาในฤดูใบไม้ร่วงปี 1977 คณะกรรมการบริหารของงานแข่ง Western States Endurance Run ได้ถูกก่อตั้งขึ้น โดยเป็นส่วนหนึ่งของมูลนิธิ Western States Trail Foundation ซึ่งในภายหลังจะถูกแยกออกมาเป็นองค์กรอิสระที่ในปัจจุบันมีชื่อว่า “Western States Endurance Run Foundation” หรือ “WSER Foundation”

และด้วยความนิยมและความสนใจของนักวิ่งที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ในปี 1978 ทางองค์กร WSER Foundation ได้ทำการประกาศแยกการแข่งขันวิ่ง Western States Endurance Run ออกจากการแข่งขันขี่ม้า Tevis Cup และได้กำหนดวันแข่งขันใหม่ไปเป็นเดือนมิถุนายนของทุกปี ซึ่งจะจัดขึ้นก่อนการแข่งขันขี่ม้า Tevis Cup อยู่หนึ่งเดือน นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มจุดบริการ 21 จุด ที่ให้ความช่วยเหลือเหล่านักวิ่งและสถานีตรวจเช็คสุขภาพอีก 6 จุด ตลอดเส้นทางแข่ง

แผนที่การแข่งขันวิ่ง Western States Endurance Run

ซึ่งนี้ยิ่งทำให้เหล่านักวิ่งจากทั่วทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาหันมาสนใจที่จะเข้าร่วมการแข่งขันนี้ และในปี 1979 มีนักวิ่งเข้าร่วมการแข่งขันจำนวนทั้งหมด 143 คน จาก 21 รัฐทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาและนักวิ่งต่างชาติเข้าร่วมถึง 3 ชาติ และมีจำนวนตัวเลขผู้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในทุกปี ทำให้ในปีต่อๆ มา ต้องมีการจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมอยู่ที่ 369 คน เท่านั้น

และในปัจจุบัน นักวิ่งที่สร้างสถิติสนามแข่ง Western States Endurance Run คือ Jim Walmsley นักวิ่งชาวอเมริกันจากทีม Hoka One One ที่ทำสถิติสนามไว้ที่ 14 ชั่วโมง 9 นาที 28 วินาที ในปี 2019

Jim Walmsley นักวิ่งชาวอเมริกันจากทีม Hoka One One ที่ทำสถิติสนามไว้ที่ 14 ชั่วโมง 9 นาที 28 วินาที ในปี 2019

และในปี 2021 นี้ งานแข่ง Western States Endurance Run จะจัดขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายน ที่จะถึงนี้ และมีการเปลี่ยนผู้สนับสนุนหลักอย่างแบรนด์ Altra Running ไปเป็นแบรนด์ Hoka One One

โดยรายชื่อผู้เข้าแข่งขันได้ประกาศออกมาแล้ว ซึ่งมีทั้ง Jim Walmsley (วัย 29 ปี) เจ้าของสถิติสนามคนปัจจุบัน และ Hayden Hawks (วัย 30 ปี) อดีตนักกีฬาจากทีม Hoka One One แล้วย้ายไปอยู่กับทีม Altra Running ก่อนที่จะกับมาอยู่กับ Hoka One One อีกครั้งในเดือนมกราคมที่ผ่านมา รวมไปถึง Jared Hazen เด็กปั้นคนใหม่จากทีม Hoka One One วัย 26 ปี ที่ในปี 2019 เขาเข้าเส้นชัยเป็นที่สองรองจาก Jim Walmsley ด้วยเวลา 14:26:46 ชั่วโมง ซึ่งทำเวลาเร็วกว่าสถิติที่ Jim Walmsley เคยทำไว้ในปี 2018 (ซึ่งเคยเป็นสถิติสนามเดิม ก่อนที่ถูกทำลายในปี 2019)

(ซ้าย) Jim Walmsley, (กลาง) Hayden Hawks, และ (ขวา) Jared Hazen

แม้ว่าการแข่งขันในปีนี้อาจจะดูดุเดือดและร้อนแรง แต่อย่าลืมไปเชียร์ลุง Gordy Ainsleigh หรือผู้บุกเบิกการแข่งขัน Western States Endurance Run ที่ในปัจจุบันมีอายุครบ 74 ปี กันด้วยนะครับ

ลุง Gordy Ainsleigh ผู้บุกเบิกการแข่งขัน Western States Endurance Run ที่แท้จริง จากเสื้อเบอร์ 0 ในปี 1974 จนในปัจจุบันกับเลขบิบประจำตัวเบอร์ 0

และในบทความตอนที่ 2 กำเนิดการวิ่งเทรล ทางเราต้องขอจบไว้ที่ ณ ตรงนี้ และในตอนต่อไป เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับเหตุการณ์หลังจากที่การแข่งขัน Western States Endurance Run ได้เป็นที่รู้จักและโด่งดังไปทั่วทั้งประเทศสหรัฐอเมริกา จนนำไปสู่การจัดงานแข่งขันวิ่งเทรลระยะทางไกล 100 ไมล์ หลายรายการ รวมไปถึงการกำเนิดของงานแข่ง UTMB และ Skyrunning ของฝั่งยุโรป โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

หวังว่าบทความนี้เป็นจะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิ่งหรือผู้ที่สนใจในการวิ่งหลาย ๆ ท่าน ขอให้วิ่งให้สนุกครับ สามารถติดตาม Running Profiles ได้ทั้งใน

More on this topic

Popular stories

Training Plan