ประวัติ Mountain Running และ Trail Running ตอนที่ 4 กำเนิด Skyrunning

Related Articles

วันนี้เรามาต่อกันในตอนที่ 4 ของประวัติ Mountain Running และ Trail Running ที่จะเล่าถึงต้นกำเนิดของอีกหนึ่งรายการแข่งขันที่โด่งดังที่สุดในโลกอย่าง Skyrunning การวิ่งภูเขาแตะขอบฟ้า ประวัติจะสนุกและน่าสนใจเพียงใด เชิญติดตามได้เลยครับ

ปล. ท่านใดที่ยังไม่ได้อ่านประวัติ Mountain Running และ Trail Running สามารถเข้าไปอ่านได้ที่นี่

Marino Giacometti ผู้คลั่งไคล้ในการทำลายสถิติพิชิตยอดเขา

จากความสำเร็จของรายการแข่งขันวิ่งเทรลในประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1980 ที่ ณ เวลานั้น ได้โด่งดังไปไกลถึงทวีปยุโรป ประกอบกับกีฬาวิ่งภูเขาท้องถิ่นของยุโรปที่ถูกจัดเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี รวมทั้งยังมีการก่อตั้งสมาคม World Mountain Running Association” หรือ WMRA” ส่งผลให้นักไต่เขาชาวอิตาลี นามว่า Marino Giacometti” ได้มองเห็นถึงความท้าทายใหม่ของการพิชิตยอดเขา

Marino Giacometti เป็นนักไต่เขา ที่หลงไหลและชื่นชอบในการทำสถิติพิชิตยอดเขาเป็นอย่างมาก โดยเขาในวัยเด็กจะต้องวิ่งไปโรงเรียนที่มีระยะทางห่างจากบ้านของเขา 3 กม. และวิ่งกลับมารับประทานอาหารกลางวันที่บ้านเป็นประจำทุกวัน จากนั้นเขาต้องวิ่งกลับไปเรียนอีกครั้ง ซึ่งภายในหนึ่งวัน เขาจะวิ่งทั้งหมดเป็นระยะทางกว่า 12 กม.

Marino Giacometti นักไต่เขา ผู้หลงไหลและชื่นชอบในการทำสถิติพิชิตยอดเขาเป็นอย่างมาก

ต่อมาในปี 1972 เขาได้เข้าประจำการเป็นเจ้าหน้าที่ทหารบนภูเขาในเทือกเขา Dolomites ณ ประเทศอิตาลี ซึ่งหลังจากที่เขาประจำการไปได้เพียง 1 ปี เขาก็ได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่ที่จะเดินทางเข้าสู่เส้นทางของการเป็นผู้พิชิตยอดเขาอย่างเต็มตัว

ทำให้ตั้งแต่ปี 1974 เป็นต้นมา Marino Giacometti ในวัยหนุ่มได้ออกเดินทางไปพิชิตยอดเขาและสร้างสถิติความเร็วใหม่ในการไต่ขึ้นยอดเขาทั่วโลก ตั้งแต่ยอดเขาในแถบเทือกเขาแอลป์ไปจนถึงเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งวิธีการไต่เขาของเขาได้รับอิทธิพลมาจากการไต่เขาแบบ Free Climbing หรือการไต่เขาแบบลดอุปกรณ์ช่วยเหลือลง เพื่อให้ผู้ปีนเขามีความคล่องตัวมากที่สุด ซึ่งกำลังเริ่มเป็นที่นิยมในประเทศอิตาลีในยุคสมัยนั้น โดยเขามีคำพูดติดปากคือ Fast and Light” หรือ “ต้องเร็วและมีน้ำหนักเบา”

นอกจากนี้ในระหว่างที่เขาไปพิชิตยอดเขาต่างๆ เขาก็ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับด้านธรณีวิทยาควบคู่ไปด้วย จนกระทั่งในปี 1985 เขาได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกองค์กร Everest–K2–CNR ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ สรีรวิทยาของมนุษย์ และธรณีวิทยาในพื้นที่ภูเขา โดยเกิดจากความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติของประเทศอิตาลีกับสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศเนปาล (NAST) ร่วมกันก่อตั้งสถานีวิจัย International Pyramid Laboratory ที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาเอเวอเรสต์ในประเทศเนปาล

สถานีวิจัย International Pyramid Laboratory ที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาเอเวอเรสต์ในประเทศเนปาล

โดยหนึ่งในผู้ร่วมงานของเขา คือ ดร. Giulio Sergio Roi หรือแพทย์ผู้ริเริ่มการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของการวิ่งมาราธอนบนภูเขาที่สูงเกินระดับ 5,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งจากการวิจัยเขาค้นพบว่าที่ความสูงระดับ 5,000 เมตร ความกดอากาศจะลดลงถึง 45 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเร็วในการแข่งขันของนักกีฬา แม้ว่านักกีฬาจะมีปรับตัวให้คุ้นชินกับสภาพแวดล้อมและมีการฝึกซ้อมอย่างเหมาะสมแล้ว แต่ทว่าความเร็วที่นักกีฬาทำได้จะลดลงถึง 38 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับตอนที่อยู่ในพื้นที่ระดับน้ำทะเล

(ภาพเล็ก) ดร. Giulio Sergio Roi คือแพทย์ผู้ริเริ่มการวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของการวิ่งมาราธอนบนภูเขาที่สูงเกินระดับ 5,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล

ซึ่งนายแพทย์ผู้นี้ ในภายหลัง เขาจะเป็นหนึ่งในผู้ที่ช่วยให้ Marino Giacometti ออกแบบกฏระเบียบต่างๆ ของรายการแข่ง Skyrunning โดยใช้ความรู้ทางการแพทย์และงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่เหล่านักกีฬา

(ซ้าย) Marino Giacometti และ (ขวา) ดร. Giulio Sergio Roi

หลังจาก Marino Giacometti เข้าทำงาน เขายังคงเลือกที่จะสร้างสถิติใหม่ๆ ในการปีนยอดเขาอยู่เสมอ จนกระทั่งในปี 1989 เขาได้สร้างสถิติการเดินทางจากเมืองเจนัว ในประเทศอิตาลี ขึ้นไปยังยอดเขา Monte Rosa ที่ตั้งอยู่ระหว่างประเทศอิตาลีและประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งภูเขา Monte Rosa คือภูเขาที่มีความสูง 4,634 เมตร หรือสูงเป็นอันดับสองในแถบเทือกเขาแอลป์รองจากภูเขา Mont Blanc ที่มีความสูง 4,808 เมตร เท่านั้น

ภูเขา Monte Rosa คือ ภูเขาที่ตั้งอยู่ระหว่างประเทศอิตาลีและประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีความสูงของยอดเขาอยู่ที่ 4,634 เมตร หรือสูงเป็นอันดับสองในแถบเทือกเขาแอลป์รองจากภูเขา Mont Blanc เท่านั้น

โดยมีระยะทางในการเดินทางกว่า 230 กม. ซึ่งในช่วงแรกเขาได้ใช้จักรยานในการเดินทาง ก่อนที่หยุดรถและวิ่งจากหมู่บ้าน Alagna Valsesia ขึ้นไปยังยอดเขา Monte Rosa โดยทั้งหมดเขาใช้เวลาต่ำกว่า 24 ชั่วโมง ซึ่งเฉพาะการวิ่งไปกลับจากหมู่บ้าน Alagna Valsesia สู่ยอดเขา Monte Rosa ที่มีระยะทางกว่า 35 กม. เขาใช้เวลาไปเพียง 3 ชั่วโมง 57 นาที เท่านั้น

Marino Giacometti ได้สร้างสถิติการเดินทางจากเมืองเจนัว ในประเทศอิตาลี ขึ้นไปยังยอดเขา Monte Rosa
Marino Giacometti ในช่วงแรกเขาได้ใช้จักรยานในการเดินทาง ก่อนที่หยุดรถและวิ่งจากหมู่บ้าน Alagna Valsesia ขึ้นไปยังยอดเขา Monte Rosa

และในการเดินทางครั้งนี้ ทำให้เขาได้รู้จักกับ Lauri van Houten ไกด์สกีนำเที่ยวหญิงและเจ้าของธรุกิจบริการรับส่งนักสกีขึ้นไปยังยอดเขาโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ (Heli-Skiing Business) ซึ่งเธออาศัยอยู่ ณ หมู่บ้าน Alagna Valsesia โดยทั้งคู่ได้พูดคุยกันอย่างถูกคอ จนทำให้ Marino Giacometti ได้เล่าถึงความฝันและแนวคิดของเขาว่า “เขาต้องการที่จะมีรายการแข่งขันวิ่งขึ้นภูเขาที่เหมือนกับงานแข่ง Ben Nevis Race หรืองานแข่งวิ่งภูเขาอื่นๆ แต่มันต้องสนุกและท้าทายกว่าที่เคยมี”

Lauri van Houten ไกด์สกีนำเที่ยวหญิงและเจ้าของธรุกิจบริการรับส่งนักสกีขึ้นไปยังยอดเขาโดยใช้เฮลิคอปเตอร์ (ในภาพคือเครื่องบินส่วนตัวสำหรับใช้ในการเดินทางไปที่ต่างๆ ของเธอ)

ต่อมาอีก 2 ปี ให้หลังในปี 1991 เขาและเหล่าเพื่อนๆ นักวิ่ง 4 คน ได้ทำการจัดการวิ่งแข่งกันเอง เพื่อสร้างสถิติความเร็วใหม่จากเมือง Courmayeur ในประเทศฝรั่งเศสขึ้นไปยังยอดเขา Mont Blanc และทำการวิ่งกลับลงมา ซึ่งมีระยะทางกว่า 52 กม. โดยผู้ชนะในครั้งนั้นตกเป็นของเพื่อนเขาอย่าง Adriano Greco ที่ใช้เวลาในการวิ่งทั้งหมด 8 ชั่วโมง 48 นาที 25 วินาที

การแข่งขันสร้างสถิติความเร็วใหม่จากเมือง Courmayeur ในประเทศฝรั่งเศสขึ้นไปยังยอดเขา Mont Blanc ในปี 1991

ซึ่งนี้เป็นเหตุการณ์ที่ตราตรึงใจของ Marino Giacometti เป็นอย่างมาก จนในที่สุดเขาก็ตัดสินใจแล้วว่าจะจัดการแข่งขันวิ่งภูเขาของตนเองขึ้น ทำให้เขาเดินทางไปพูดคุยกับ Lauri van Houten อีกครั้ง และครั้งนี้เธอได้ช่วยทำให้ความฝันของเขาได้กลายเป็นจริงเสียที

กำเนิด Skyrunning การวิ่งภูเขาแตะขอบฟ้า

โดยในปี 1992 Marino Giacometti และ Lauri van Houten ร่วมกันจัดการแข่งขันวิ่งภูเขา Skyrunning ขึ้น ณ ยอดเขา Monte Rosa ซึ่งในการแข่งขันครั้งแรกมีเพียงเพื่อนๆ ของพวกเขาลงแข่งขันเท่านั้น แต่เนื่องด้วยสภาพอากาศที่เลวร้ายและมีลมพัดแรง ทำให้ไม่มีนักวิ่งคนใดที่สามารถวิ่งไปถึงยอดเขาได้ ส่งผลให้ต้องมีการลดระยะทางในการแข่งขันลง ซึ่งผู้ชนะในครั้งแรกนี้ได้ตกเป็นของ Adriano Greco อีกครั้ง

และแม้ว่าในการแข่งขันครั้งแรกจะไม่มีนักวิ่งคนใดที่สามารถวิ่งไปถึงยอดเขาได้ แต่พวกเขาก็ไม่ยอมแพ้แต่เพียงนี้ ซึ่งภายในปีเดียวกัน พวกเขาได้เปลี่ยนสถานที่จัดการแข่งขันไปยังภูเขา Mont Blanc และในครั้งนี้ทุกอย่างเป็นไปได้อย่างสวยงาม

Adriano Greco กับชุดเสื้อผ้าที่ประดิษฐ์ขึ้นเอง ในการแข่งขัน Skyrunning ที่ถูกจัดขึ้น ณ ภูเขา Mont Blanc ในปี 1992

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 1990 ชุดและอุปกรณ์สำหรับการวิ่งภูเขาและวิ่งเทรลยังไม่ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นอย่างเป็นทางการ พวกเขาจึงจำเป็นต้องมีการออกแบบชุดและอุปกรณ์สำหรับการวิ่งขึ้นภูเขาด้วยตัวเอง โดยการนำเอาเสื้อของกีฬาจักรยานที่ใช้ในช่วงฤดูหนาวมาประยุกต์เป็นเสื้อสำหรับใส่วิ่งและใส่กางเกงเอี้ยมจักรยานที่มีกระเป๋าด้านหลัง เพื่อใช้เก็บเสื้อแจ็คเก็ตกันลมและอาหาร

ห้องทดลองเล็กๆ ของ Marino Giacometti

นอกจากนี้รองเท้าสำหรับการวิ่งเทรลโดยเฉพาะก็ยังไม่ถูกประดิษฐ์ขึ้น พวกเขาจึงนำรองเท้าสกีครอสคันทรี่และรองเท้าวิ่งถนนที่มีน้ำหนักเบามาเปลี่ยนหน้าผ้าให้มีความทนทานมากยิ่งขึ้น และนำถุงเท้าเหล็กหนาม (Crampons) สำหรับเดินทางในภูเขาหิมะมาประยุกต์ใช้ รวมไปถึงการนำไม้โพลของนักสกีหลากหลายรูปแบบมาทดสอบ

Marino Giacometti นำถุงเท้าเหล็กหนาม (Crampons) สำหรับเดินทางในภูเขาหิมะมาประยุกต์ใช้
ถุงเท้าเหล็กหนาม (Crampons) สำหรับการวิ่งบนทางหิมะ ในยุคปัจจุบัน

ซึ่งการประดิษฐ์ในห้องทดลองเล็กๆ ของ Marino Giacometti ได้กลายมาเป็นบรรทัดฐานใหม่ของอุปกรณ์สำหรับการวิ่งขึ้นภูเขา เหมือนดั่งแนวคิดของเขาที่ว่า “ต้องเร็วและมีน้ำหนักเบา” ในขณะที่คนธรรมดา ณ เวลานั้น ยังใช้รองเท้าบูทสุดหนักและกระเป๋าเป้ทหารอยู่เลย

และในช่วงเวลาเดียวกัน หากพูดถึงแบรนด์ชุดเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาที่โด่งดังที่สุดในประเทศอิตาลี คงจะหนีไปไม่พ้นกับแบรนด์ Fila ที่ ณ เวลา นั้น เป็นช่วงปลายยุคของผู้บริหารวิสัยทัศน์กว้างไกลอย่าง Enrico Frachey ที่เปลี่ยนธรุกิจชุดชั้นในของสองพี่น้องตระกูล Fila ให้กลายมาเป็นแบรนด์อุปกรณ์กีฬาระดับโลกที่สามารถยืนประชันหน้ากับแบรนด์ Nike และ Reebok ได้

แต่ก่อนที่ Enrico Frachey จะเกษียณตัวเองในปี 1990 เขาได้มีความสนใจที่จะขยายตลาดชุดเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาเข้าสู่วงการวิ่งภูเขา โดยเขาได้แนะนำให้แบรนด์ Fila เสนอตัวเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของรายการแข่ง Skyrunning ซึ่งสิ่งที่ Enrico Frachey มองเห็นไม่ใช่เพียงแค่การขยายตลาดเท่านั้น แต่เขาได้เล็งเห็นถึงศักยภาพและประสบการณ์ของ Marino Giacometti

ซึ่ง Enrico Frachey ผู้นำแบรนด์ Fila สู่จุดสูงสุดคิดไม่เคยผิด เพราะต่อมาในปี 1995 Marino Giacometti จะกลายมาเป็นที่ปรึกษาในการออกแบบรองเท้าวิ่งของแบรนด์ Fila ที่ทำให้ในปี 1995 นักวิ่งของแบรนด์ Fila อย่าง Germán Silva สามารถคว้าชัยในสนามแข่ง New York Marathon ด้วยเวลา 2:11:00 ชั่วโมง นอกจากนี้ Marino Giacometti ยังเป็นผู้ออกแบบรองเท้าวิ่งเทรลให้แก่แบรนด์ Fila

Germán Silva นักวิ่งชาวเม็กซิกัน เจ้าของแชมป์ New York Marathon 2 สมัย ทั้งในปี 1994 และ 1995
รองเท้าวิ่งเทรลของแบรนด์ Fila ที่ Marino Giacometti เป็นผู้ออกแบบ
รองเท้าวิ่งเทรลของแบรนด์ Fila ที่ Marino Giacometti เป็นผู้ออกแบบ

ย้อนกลับไปหลังจากที่แบรนด์ Fila ได้ติดต่อไปหา Marino Giacometti และ Lauri van Houten เพื่อที่จะขอเป็นผู้สนับสนุนหลักของรายการแข่งขัน Skyrunning ซึ่งทั้งคู่ได้ตอบตกลงกับข้อเสนอ ทำให้ในปี 1993 แบรนด์ Fila ได้กลายมาเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนหลักในการจัดการแข่งขัน Skyrunning อย่างเป็นทางการ

และภายในปี 1993 พวกเขาได้จัดการแข่งขัน ณ ภูเขา Monte Rosa ขึ้นอีกครั้ง หลังจากในปีที่ผ่านมาการแข่งขันต้องพบเจอกับสภาพอากาศที่เลวร้าย ซึ่งในครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการแข่งขันอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่ถูกจัดขึ้น ภายใต้ชื่อรายการแข่งว่า “Monte Rosa SkyMarathon”

การแข่งขัน Monte Rosa SkyMarathon ครั้งแรกอย่างเป็นทางการในปี 1993
แผนภาพสนามแข่ง Monte Rosa Skymarathon

โดยในการแข่งขันอย่างเป็นทางการครั้งแรกนี้ ยังคงเป็นการวิ่งไปกลับจากหมู่ Alagna Valsesia สู่ยอดเขา Monte Rosa ที่มีความสูง 4,554 เมตร และมีความชันสะสมรวมกว่า 7,000 เมตร ซึ่งการแข่งขันมีระยะทางรวมทั้งหมด 35 กิโลเมตร และในครั้งแรกนี้ ผู้ชนะฝ่ายชาย คือ Ettore Champretavy และผู้ชนะฝ่ายหญิงคือ Gisella Bendotti

ความรู้เพิ่มเติม 1:

  • Ettore Champretavy คืออีกหนึ่งตำนานนักวิ่งภูเขาจากประเทศอิตาลี ผู้ที่ต่อมาในปี 1995 เขาจะทำสถิติวิ่งขึ้นยอดเขา Gran Paradiso ในประเทศอิตาลี ที่มีความสูง 4,061 เมตร ด้วยระยะเวลา 2 ชั่วโมง 21 นาที 36 วินาที ซึ่งไม่มีนักวิ่งคนใดที่สามารถล้มสถิตินี้ลงได้เป็นเวลากว่า 25 ปี
Ettore Champretavy อีกหนึ่งตำนานนักวิ่งภูเขาจากประเทศอิตาลี
  • ซึ่งในปี 2020 ที่ผ่านมา นักวิ่งที่สามารถทำลายสถิตินี้ลงได้ คือ Nadir Maguet นักวิ่งภูเขาชาวอิตาลี จากทีม La Sportiva ที่ใช้เวลาไปเพียง 2 ชั่วโมง 02 นาที 32 วินาที หรือเร็วกว่าสถิติเดิมไปกว่า 19 นาที โดยเขาสวมใส่รองเท้าวิ่งเทรล La Sportiva รุ่น Kaptiva
Nadir Maguet นักวิ่งภูเขาชาวอิตาลี จากทีม La Sportiva ที่สามารถสร้างสถิติความเร็วใหม่บนยอดเขา Gran Paradiso ในปี 2020
Nadir Maguet กับรองเท้าวิ่งเทรล La Sportiva รุ่น Kaptiva
  • คำถามที่เกิดขึ้นต่อมาคือ สถิติเมื่อ 25 ปีที่แล้วสามารถนำมาเปรียบเทียบกับสถิติปัจจุบันได้หรือไม่?
  • แน่นอนว่าอาจจะไม่ได้ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลายิ่งระยะเวลานานเท่าไหร่ยิ่งจะแตกต่างไปจากเดิม อย่างไรก็ตาม สถิติในปัจจุบันมีผลมาจากอุปกรณ์รุ่นใหม่ อาหารเสริมต่างๆ และการช่วยเหลือระหว่างการแข่งขัน รวมทั้งโปรแกรมการฝึกซ้อม ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้ มีผลทำให้สถิติเวลาของนักแข่งในปัจจุบันดีขึ้นกว่าในอดีตอยู่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์
  • โดยสถิติในปี 1995 ในการพิชิตยอดเขา Gran Paradiso ของ Ettore Champretavy ที่ถูกทำลายโดย Nadir Maguet หรือ สถิติการพิชิตยอดเขา Matterhorn ของ Bruno Brunod ที่ถูกทำลายโดย Kilian Jornet ซึ่งหากนำมาคำนวณทางคณิตศาสตร์จะพบว่า “สถิติเวลาใหม่ในปัจจุบันเร็วขึ้นกว่าสถิติในอดีตอยู่ประมาณ 12 ถึง 14 เปอร์เซ็นต์”
  • และเมื่อหักลบกับนวัตกรรมอุปกรณ์ช่วยเหลือใหม่ๆ เราจะพบว่า “นักวิ่งในปัจจุบันวิ่งได้เร็วกว่านักวิ่งในอดีตเพียง 2 ถึง 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น” ซึ่งแม้ว่าตัวเลขจะเล็กน้อยเพียง 2 ถึง 4 เปอร์เซ็นต์ แต่มันก็เพียงพอที่จะทำให้เกิดการสร้างสถิติใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

ความรู้เพิ่มเติม 2:

  • Gisella Bendotti คืออีกหนึ่งตำนานนักวิ่งภูเขาหญิงจากประเทศอิตาลี ที่เธอคือหญิงชาวท้องถิ่นจากหมู่บ้าน Alagna Valsesia โดยเธอคือเจ้าของแชมป์ 9 สมัยของงานแข่ง Monte Rosa SkyMarathon และในปี 1994 เธอได้ทำสถิติสนามไว้ด้วยระยะเวลา 5 ชั่วโมง 34 นาที ด้วยการแข่งขันแบบตัวคนเดียว ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีนักวิ่งหญิงคนใดในโลกที่สามารถล้มสถิตินี้ลงได้
Gisella Bendotti เจ้าของแชมป์ 9 สมัยของงานแข่ง Monte Rosa SkyMarathon และในปี 1994 เธอได้ทำสถิติสนามไว้ด้วยระยะเวลา 5 ชั่วโมง 34 นาที ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีนักวิ่งหญิงคนใดในโลกที่สามารถล้มสถิตินี้ลงได้
  • อย่างไรก็ตาม ในปี 2018 Emelie Forsberg หรือภรรยาของ Killian Jornet ได้ทำการแข่งขันแบบทีมกับสามีของเธอและสามารถจบงานได้ด้วยระยะเวลา 5 ชั่วโมง 3 นาที 56 วินาที ซึ่งนี้ไม่ถือว่าเป็นการล้มสถิติของ Gisella Bendotti เนื่องจากเป็นการแข่งขันแบบทีมนั่นเอง
Emelie Forsberg และ Killian Jornet ในงานแข่ง Monte Rosa SkyMarathon ในปี 2018

และในปีแรก นอกจากการจัดการแข่งขันขึ้น ณ ภูเขา Monte Rosa พวกเขาทั้งคู่ยังมีการจัดการแข่งขันขึ้น ณ ภูเขา Mont Blanc อีกครั้ง ก่อนที่ทั้งคู่จะเดินทางไปยังนครนิวยอร์ก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าพบกับฝ่ายประชาสัมพันธ์ของแบรนด์ Fila ในการพูดคุยถึงแผนการจัดการแข่งขัน Skyrunning ในต่างประเทศ

ทำให้ในปีต่อมารายการแข่งขัน Skyrunning ได้ถูกจัดขึ้น ณ ภูเขาสูงจากทั่วมุมโลกจากเทือกเขาหิมาลัยในทิเบตสู่เทือกเขาร็อกกีในสหรัฐอเมริกาและจากภูเขาไฟในเม็กซิโกสู่ภูเขาสูงที่สุดในประเทศเคนย่า ซึ่งในท้ายที่สุด คำว่า Skyrunning ของ Marino Giacometti และ Lauri van Houten ก็คือ “สถานที่ใดก็ตามที่ท้องฟ้าและพื้นดินมาบรรจบกัน”

Lauri van Houten ในทิเบต ในปี 1993
Lauri van Houten และ Marino Giacometti ในภูเขา Mount Kenya ในปี 1995

จนกระทั้งในปี 1995 ทั้งคู่ได้ร่วมกันก่อตั้งสหพันธ์กีฬา “Federation for Sport at Altitude” หรือ “FSA” โดยมีคณะกรรมการรุ่นบุกเบิกรวมทั้งหมด 10 คน ซึ่งทั้งหมดคือเหล่าเพื่อนๆ นักกีฬาของพวกเขา เพื่อร่วมกันสร้างกฏระเบียบและข้อบังคับในการควบคุมและดูแลความปลอดภัยให้แก่เหล่าผู้เข้าร่วมการแข่งขัน

โดยเป็นตัวของ Marino Giacometti เองที่นำเอาความรู้และความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยมาประยุกต์ใช้ จนทำให้ในปัจจุบัน Skyrunning มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์กว่า 24 ฉบับในวารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมไปถึงการเป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลสำหรับสาขาเวชศาสตร์การกีฬา ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกัน วินิจฉัย และรักษาอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา

และทางสหพันธ์กีฬา FSA ได้นิยามการแข่งขัน Skyrunning อย่างเป็นทางการไว้ว่า Skyrunning คือ การแข่งขันวิ่งบนภูเขาที่ภูเขามีความสูงจากระดับน้ำทะเล 2,000 เมตร ขึ้นไป โดยต้องมีระดับความยากในการปีนเขาที่ไม่เกินระดับ 2 และมีเปอร์เซ็นต์ความชันที่มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป รวมทั้งสามารถใช้ไม้โพลหรือถุงเท้าเหล็กหนามช่วยในการปีนป่ายขณะแข่งขันได้”

ความรู้เพิ่มเติม 1: ระดับความยากของการปีนเขา/ปีนหน้าผา (Grade of difficulty on rock climbing) ที่ในปัจจุบันถูกควบคุมดูแลโดยสหพันธ์ปีนผานานาชาติ (UIAA) ในประเทศฝรั่งเศส โดยระดับความยากมีมากกว่า 10 ระดับ ซึ่งระดับที่ 1 และ 2 คือระดับที่ง่ายที่สุด ที่นักปีนผายังมีพื้นที่ในการเดินและไต่ได้อย่างเหลือเฟือ รวมไปถึงไม่มีหน้าผาแนวตั้งชันที่ต้องมีการปีนป่าย

เพื่อความเข้าใจง่ายของระดับการปีนเขา ทางเราขอใช้ภาพระดับการปีนเขาของ Welzenbach จากประเทศเยอรมนี ที่เป็นเสมือนต้นตำรับการออกแบบระดับการปีนเขาในปัจจุบัน (ที่ในปัจจุบัน UIAA มีมากกว่า 10 ระดับ แต่ระดับ 1 และ 2 ยังคงคล้ายกับของ Welzenbach)

ความรู้เพิ่มเติม 2:

  • เปอร์เซ็นต์ความชัน (Incline หรือ Percent grade หรือในทางคณิตศาสตร์เรียกว่า Percent of Slope) เป็นการวัดความชันของภูเขาที่เป็นที่นิยมและถือเป็นสากล ซึ่งนักวิ่งส่วนใหญ่สามารถพบเห็นคำว่า Incline ได้ในลู่วิ่งไฟฟ้าเกือบทุกยี่ห้อ
  • ซึ่งวิธีการคำนวณเปอร์เซ็นต์ความชันสามารถทำได้โดยการนำระยะทางความสูงจากตีนเขาถึงยอดเขา (the rise) มาหารด้วยระยะทางแนวนอน (the run) แล้วคูณด้วย 100
  • ตัวอย่างเช่น ภูเขาสูง 500 เมตร และมีระยะทางที่วัดจาก GPS ได้ 4 กม. ฉะนั้นเปอร์เซ็นต์ความชันจะเท่ากับ (500/4000)*100 = 12.5%
  • ปล. ระยะทางในที่นี้ไม่ใช่ระยะทางจริงที่ใช้ในการเดินทางจากตีนเขาถึงยอดเขา แต่คือระยะทางที่วัดตรงๆ ในแนวนอน ซึ่งมีหลายท่านเข้าใจผิดในเรื่องนี้อยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ความชัน 100 เปอร์เซ็นต์ก็ไม่ใช่หน้าผาตั้งชัน 90 องศา แต่เป็นเนินเขาที่มีมุมองศาอยู่ที่ 45 องศา เท่านั้น
การคำนวณเปอร์เซ็นต์ความชันสามารถทำได้โดยการนำระยะทางความสูงจากตีนเขาถึงยอดเขา (the rise) มาหารด้วยระยะทางแนวนอน (the run) แล้วคูณด้วย 100

“นอกจากนี้การแข่งขันต้องจบภายใน 16 ชั่วโมง” ซึ่งเป็นระยะเวลาที่จะไม่สร้างภาวะการอดนอนให้แก่เหล่านักกีฬา โดยทางสหพันธ์กีฬา FSA ได้นำผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาพิจารณาเป็นเวลาหลายปีถึงเหตุผลในการวิ่งในเวลากลางคืนหรือการวิ่งข้ามคืน ซึ่งพวกเขาได้ข้อสรุปว่า “มันเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ”

ทาง Lauri van Houten กล่าวว่า “เส้นทางของสนามแข่ง Skyrunning เป็นทางที่ทรุกันดารและยากลำบากมาก ในบางช่วงผู้เข้าแข่งขันจำเป็นต้องมีการปีนป่ายขึ้นไปยังยอดเขา ซึ่งเป็นที่ชัดเจนแล้วว่างานแข่งจะมีอันตรายที่มากจนเกินไป หากถูกจัดขึ้นในเวลากลางคืน นอกจากนี้รายการแข่งขันของเรายังไม่ใช่การแข่งขันวิ่งเทรลอีกด้วย”

นี้จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมรายการแข่งขัน Skyrunning ถึงไม่ยอมเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์กรีฑานานาชาติ (World Athletics) เหมือนอย่างรายการแข่งขันวิ่งเทรลรายการอื่น แต่พวกเขาได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์ปีนผานานาชาติ (UIAA หรือ International Climbing and Mountaineering Association) ที่มีรากฐานทางด้านกีฬาและกฏระเบียบต่างๆ ที่คล้ายกันแทน

หลังจากการก่อตั้งสหพันธ์กีฬา FSA ทั้งคู่ได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังเมือง Biella ในประเทศอิตาลี เพื่อที่จะได้อยู่ใกล้กับสำนักงานใหญ่ของแบรนด์ Fila อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไปจนกระทั่งในปี 2002 แบรนด์ Fila ได้เดินทางสู่จุดตกต่ำจนทำให้ต้องมีการขายบริษัทและปิดไลน์สินค้าของแบรนด์ไปเกือบทั้งหมด ซึ่งรวมถึงอุปกรณ์วิ่งเทรล รวมทั้งการยกเลิกการสนับสนุนรายการแข่งขัน Skyrunning

Marino Giacometti และ Lauri van Houten

และแม้ว่าจะไม่มีการสนับสนุนจากแบรนด์ Fila แล้ว แต่ในช่วงเวลากว่า 10 ปี หลังจากงานแข่งขันอย่างเป็นทางการครั้งแรกได้เริ่มขึ้น ทางสหพันธ์กีฬา FSA ก็ได้เติบโตขึ้นกว่าในอดีต ซึ่ง ณ เวลานั้น พวกเขายังได้รับการสนับสนุนจากผู้สนับสนุนย่อยรายอื่นๆ เช่น Vibram, Sector Watches, Cellfood, Polar, Polartec, Buff และ Arc’teryx

นอกจากนี้ แหล่งเงินทุนหลักของพวกเขายังได้รับมาจากสภาท้องถิ่นและคณะกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติของประเทศอิตาลี ที่ต้องการให้พวกเขาช่วยในการโปรโมทและสนับสนุนสถานที่ท่องเที่ยวบนภูเขาในประเทศอิตาลี

ดังนั้น สหพันธ์กีฬา FSA จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก อย่างไรก็ตาม เมื่อสำนักงานใหญ่ของแบรนด์ Fila ไม่ได้อยู่ ณ เมือง Biella อีกต่อไป ทำให้พวกเขาได้คิดที่จะย้ายสำนักงานใหญ่ไปที่อื่นเช่นกัน แต่ในท้ายที่สุด พวกเขาก็ตัดสินใจที่จะไม่ย้าย เนื่องจากเมือง Biella เป็นเมืองที่อยู่ใกล้กับยอดเขา Monte Rosa และยอดเขา Matterhorn รวมทั้งพวกเขายังสามารถเดินทางไปยังเมือง Chamonix ในประเทศฝรั่งเศสได้ในเวลาไม่ถึงสองชั่วโมง

และในปี 2008 สหพันธ์กีฬา FSA ได้ถูกปฏิรูปใหม่กลายมาเป็นสหพันธ์กีฬา “International Skyrunning Federation” หรือ “ISF” ซึ่งเป็นการยกระดับให้องค์กรมีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้นและมาพร้อมกับคำขวัญใหม่อย่าง “Less cloud. More Sky” หรือ “สูงเหนือเมฆ จนสัมผัสแต่ท้องฟ้า” เหมือนอย่างที่เราได้รู้จักกันในปัจจุบัน

สหพันธ์กีฬา International Skyrunning Federation หรือ ISF

ซึ่งในปัจจุบันในแต่ละปี สหพันธ์กีฬา ISF มีการจัดการแข่งขัน Skyrunning อย่างเป็นทางการขึ้นกว่า 200 สนาม บนภูเขาสูงจากทั่วทุกมุมโลกและมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันไม่ต่ำกว่า 50,000 คน จาก 65 ประเทศ โดยในทุกการแข่งขันยังคงรอคอยให้เหล่าผู้พิชิตรุ่นใหม่เข้ามาทำลายสถิติเหมือนดังที่ Marino Giacometti และเพื่อนๆ ของเขาเคยทำไว้ในอดีต

และในบทความตอนที่ 4 กำเนิด Skyrunning ทางเราต้องขอจบไว้ที่ ณ ตรงนี้ และในตอนต่อไป เราจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับประเภทของการแข่งขัน Skyrunning ที่ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันแบบ Sky, Sky Ultra, Vertical Kilometer, Vertical Stair Climbing, Sky Snow รวมไปถึงรายการแข่ง Skyrunning ระดับต่างๆ เช่น Skyrunning Continental Championships, Skyrunning World Championships, Skyrunner National Series, Skyrunner World Series และอื่นๆ อีกมากมาย โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

หวังว่าบทความนี้เป็นจะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิ่งหรือผู้ที่สนใจในการวิ่งหลาย ๆ ท่าน ขอให้วิ่งให้สนุกครับ สามารถติดตาม Running Profiles ได้ทั้งใน

More on this topic

Popular stories

Training Plan