วันนี้เป็นบทความพูดคุยและวิเคราะห์ถึงรองเท้าวิ่งคาร์บอนสำหรับแข่งขันที่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปอย่าง Nike Air Zoom Alphafly NEXT% 2 ซึ่งเป็นการปรับปรุงที่น่าสนใจเป็นอย่างมากในปีนี้ โดยทางเราจะมาอธิบายกันว่าในรุ่นที่ 2 นี้ ได้รับการปรับปรุงอะไรมาใหม่บ้าง ทำไมถึงต้อง Drop 8 มม. และเกิดอะไรขึ้นกับรองเท้าวิ่งคาร์บอนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน เชิญติดตามได้เลยครับ

Nike Air Zoom Alphafly NEXT% 2 ในปี 2022 ได้รับการปรับปรุงจากรุ่นแรกในปี 2020 ในส่วนใดบ้าง?

Nike Air Zoom Alphafly NEXT% 2 จะเป็นการยกระดับหน้าผ้าใหม่ โดยใช้ชื่อว่า หน้าผ้า Atomknit 2.0 ที่ออกแบบให้มีความกระชับมากขึ้น ระบายอากาศได้ดีขึ้น สวมใส่สบายขึ้น
และบริเวณลิ้นรองเท้าจะมีการเสริมฟองน้ำด้านในเพิ่มเข้ามา เพื่อช่วยลดความรู้สึกถูกกดทับจากการมัดเชือก และขอบบริเวณส้นเท้า (Heel Collar) จะถูกออกแบบใหม่ให้มีความนุ่มขึ้นและเข้ารูปกับเอ็นร้อยหวายมากขึ้น เพื่อช่วยลดอาการเสียดสีหรือกดทับบริเวณเอ็นร้อยหวาย


ในส่วนของพื้นชั้นกลางจะถูกออกแบบรูปทรงพื้นชั้นกลางใหม่ทั้งหมด และขยายฐานของพื้นชั้นกลางบริเวณปลายเท้าให้กว้างขึ้นอีก 2 มม. และบริเวณส้นเท้าอีก 3 มม. เพื่อเพิ่มความเสถียรและมั่งคงให้แก่ตัวรองเท้ามากขึ้น

รวมทั้งมีการปรับความสูงของพื้นชั้นกลางใหม่จากรุ่นเดิมที่มี Drop อยู่ที่ 4 มม. ขึ้นไปเป็น Drop 8 มม. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวิ่ง โดย
- Nike Air Zoom Alphafly NEXT% 2 มีปลายเท้าสูง 32 มม. และส้นเท้าสูง 40 มม. (Drop 8 มม.)
- Nike Air Zoom Alphafly NEXT% รุ่นแรก มีปลายเท้าสูง 35 มม. และส้นเท้าสูง 39 มม. (Drop 4 มม.)
ซึ่ง Nike Air Zoom Alphafly NEXT% 2 จะยังคงมาพร้อมกับพื้นชั้นกลางที่ดีที่สุดของแบรนด์ Nike อย่างพื้นโฟม ZoomX และมีการติดตั้งแผ่นคาร์บอนรูปทรงตัว S แบบเต็มแผ่น (หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า Full-length curved carbon plate) รวมทั้งมาพร้อมกับ Zoom Air pods บริเวณปลายเท้า 2 ลูก เช่นเดิม

และ Nike Air Zoom Alphafly NEXT% 2 จะมีการออกแบบแผ่นรองรองเท้า (Insole) ให้โอบกระชับเท้าขึ้น และเพิ่มความกว้างพื้นชั้นกลางบริเวณใต้อุ้งเท้า เพื่อรองรับกับลักษณะเท้าของนักวิ่งที่แตกต่างกันมากขึ้น เช่น นักวิ่งเท้าแบน
นอกจากนี้ บริเวณปลายเท้าจะมีการเพิ่มชั้นโฟม ZoomX เข้ามาข้างใต้ Zoom Air pods โดยมีความหนาของโฟมอยู่ที่ 4 มม. เพื่อให้การลงเท้าเป็นไปอย่างลื่นไหลมากยิ่งขึ้นและช่วยลดความรู้สึกถึงการแบ่งแยกของ Zoom Air pods ที่เกิดขึ้นในรุ่นเดิม

ในส่วนของดอกยางจะมีการเปลี่ยนดอกยางใหม่ให้เกาะพื้นและทนทานมากขึ้น รวมทั้งมีการฉลุเนื้อยางออก เพื่อช่วยลดน้ำหนักของตัวรองเท้า


โดยรวม Nike Air Zoom Alphafly NEXT% 2 จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นราวๆ 10 – 30 กรัมโดยประมาณ ดังนี้
- Nike Air Zoom Alphafly NEXT% 2 มีน้ำหนักอยู่ที่ 249 กรัม ในไซส์ 8.5US ชาย และ 198 กรัม ในไซส์ 5.5US หญิง
- Nike Air Zoom Alphafly NEXT% รุ่นแรก มีน้ำหนักอยู่ที่ 210 กรัม ในไซส์ 8.5US ชาย และ 184 กรัม ในไซส์ 5.5US หญิง
และ Nike Air Zoom Alphafly NEXT% 2 จะวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการในจำนวนจำกัดในต่างประเทศในวันที่ 15 มิถุนายน ปี 2022 นี้ และวางจำหน่ายในราคาเดิม คือ $275 (คาดว่าเข้าไทยราคา 9,400 บาท)
โดยสิ่งที่น่าสนใจของการปรับปรุง Nike Air Zoom Alphafly NEXT% 2 ในครั้งนี้และเป็นประเด็นหลักที่ทางเราจะมาอธิบายและวิเคราะห์กันในบทความนี้ คือ Drop 8 มม. ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็น Drop ที่ให้ประสิทธิภาพสูงที่สุดในรองเท้าวิ่งสำหรับแข่งขันระยะมาราธอน ณ เวลานี้เลยก็ว่าได้
Heel-To-Toe Drop: 8 มม. ให้ประสิทธิภาพสูงที่สุดในรองเท้าวิ่งสำหรับแข่งขันระยะมาราธอน
ย้อนกลับในปี 2016 นักวิ่งมาราธอนชาวเคนย่า Eliud Kipchoge คว้าแชมป์การแข่งขันวิ่งมาราธอนในรายการ 2016 Summer Olympics ณ กรุงริโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ด้วยรองเท้าวิ่งต้นแบบที่มีหน้าตาคล้ายกับ Nike ตระกูล Vaporfly ในปัจจุบัน

ก่อนที่ต่อมาในปี 2017 แบรนด์ Nike ได้ทำการเปิดตัว Nike Vaporfly Elite รองเท้าวิ่งรุ่นแรกของแบรนด์ที่มาพร้อมกับแผ่นคาร์บอน ที่ถูกวิจัยและทดสอบในห้องปฏิบัติการว่าสามารถทำให้นักวิ่งประหยัดแรงในการวิ่งได้ถึง 4% เพื่อใช้ทำลายสถิติเวลาในระยะมาราธอนต่ำกว่า 2 ชั่วโมง ในงาน Nike Breaking 2 Project

หลังนั้นไม่นาน ในช่วงปี 2018 ทางแบรนด์ Nike ได้เปิดวางจำหน่าย Nike Zoom Vaporfly 4% ที่ถือเป็นรองเท้าวิ่งถนนคาร์บอนคู่แรกที่ถูกวางจำหน่ายแก่สาธารณชน โดย Nike Zoom Vaporfly 4% มีความสูงของพื้นชั้นกลางบริเวณปลายเท้าอยู่ที่ 21 มม. และส้นเท้าสูง 31 มม. ทำให้มี Drop อยู่ที่ 10 มม.

และต่อมาในปี 2019 ทางแบรนด์ Nike ได้ปรับปรุงและเปิดตัวรองเท้าวิ่งที่ถือได้ว่าเป็นการปฏิวัติวงการรองเท้าวิ่งอย่างแท้จริงอย่างรุ่น Nike ZoomX Vaporfly Next% ที่ในครั้งนี้ทางแบรนด์ Nike กล่าวว่า สามารถช่วยประหยัดแรงในการวิ่งได้มากกว่า 4 เปอร์เซ็นต์
โดย Nike ZoomX Vaporfly Next% จะมีความสูงของพื้นชั้นกลางบริเวณปลายเท้าอยู่ที่ 32 มม. และส้นเท้าสูง 40 มม. ทำให้มี Drop อยู่ที่ 8 มม.

และด้วยความสำเร็จในระดับปฏิวัติวงการของ Nike ZoomX Vaporfly Next% ทำให้แบรนด์รองเท้าวิ่งต่างๆ ไม่อาจมองข้ามและต้องพัฒนารองเท้าวิ่งสำหรับแข่งขัน เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่ทางแบรนด์ Nike กำลังถือครองอยู่
ทำให้ในปี 2020 เราได้เห็นว่ามีรองเท้าวิ่งที่มาพร้อมกับแผ่นคาร์บอนออกมาสู่ตลาดมากขึ้น และสิ่งที่รองเท้าวิ่งคาร์บอนเหล่านี้มีร่วมกันนอกจากแผ่นคาร์บอนและวัสดุพื้นชั้นกลาง คือ Heel-To-Toe Drop อยู่ที่ 8 มม.
โดยหนึ่งในนั้นคือ แบรนด์ Saucony ที่ได้เปิดตัว Saucony Endorphin Pro รุ่นแรก โดยมีความสูงของพื้นชั้นกลางบริเวณปลายเท้าอยู่ที่ 27.5 มม. และส้นเท้าสูง 35.5 มม. ทำให้มี Drop อยู่ที่ 8 มม.

และแน่นอนว่าในอดีต ทางแบรนด์ Saucony ไม่เคยให้ความสำคัญกับ Drop 8 มม. เลย ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าวิ่งสำหรับแข่งขันในอดีตอย่าง Saucony Type A9 หรือ Fastwitch 9 ที่มี Drop อยู่ที่ 4 มม. เท่านั้น

แต่ทีมออกแบบของทางแบรนด์ Saucony ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขาได้ทดสอบประสิทธิภาพของรองเท้าวิ่งทั้ง Drop 4 มม. และ 8 มม. ซึ่งแน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ได้คือ Drop 8 มม. ให้ประสิทธิภาพที่ดีที่สุดในการแข่งขันระยะมาราธอน
ทำให้ในปัจจุบัน เราจะเห็นว่ารองเท้าวิ่งสำหรับแข่งขันของทางแบรนด์ Saucony ในปี 2022 จะมี Drop อยู่ที่ 8 มม. ทุกรุ่น ไม่ว่าจะเป็น Endorphin Pro 3 (31.5/39.5), Endorphin Speed 3 (28/36), และ Endorphin Elite (32/40)

และอีกหนึ่งแบรนด์ในปี 2020 ที่เปิดตัวรองเท้าวิ่งคาร์บอนออกมา นั้นก็คือ แบรนด์ Brooks กับ Brooks Hyperion Elite ที่มีความสูงของพื้นชั้นกลางบริเวณปลายเท้าอยู่ที่ 25 มม. และส้นเท้าสูง 33 มม. ทำให้มี Drop อยู่ที่ 8 มม.
และรุ่นถัดๆ มาอย่าง Hyperion Elite 2 และ 3 ต่างก็มี Drop อยู่ที่ 8 มม. ทั้งที่ในอดีต Brooks Hyperion ที่เป็นรองเท้าแข่งประเภท Racing Flat มี Drop อยู่ที่ 10 มม.

โดยเหตุผลว่า ทำไม Drop 8 มม. ถึงให้ประสิทธิภาพในการวิ่งดีที่สุด ซึ่งงานวิจัยโดยตรง ณ เวลานี้ ยังไม่มีเปิดเผยแพร่ออกมาสู่สาธารณะ แต่คาดว่าทางแบรนด์ Nike ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้นานแล้ว เนื่องจาก นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของทางแบรนด์ Nike ที่เลือกใช้ Drop 8 มม. ในรองเท้าวิ่งสำหรับแข่งขันระยะมาราธอน
ย้อนกลับไปในปี 2015 รองเท้าวิ่งที่ Eliud Kipchoge ใช้คว้าแชมป์ 2015 Berlin Marathon (2:04:00 ชม.) อย่าง Nike Zoom Streak 6 ก็มี Drop อยู่ที่ 8 มม. (18/26) นอกจากนี้ยังเป็นรุ่นแรกที่ทางแบรนด์ Nike ติดตั้งแผ่น PEBAX Plate เข้ามาบริเวณปลายเท้าถึงกลางเท้าอีกด้วย

แต่หากจะอ้างอิงถึงงานวิจัยเกี่ยวกับ Drop ของรองเท้า ทางเราพอจะหามาอ้างอิงได้ ณ เวลานี้ มีอยู่ประมาณ 2 งานวิจัยหลักๆ ได้แก่
งานวิจัย The effect of the heel-to-toe drop of standard running shoes on lower limb biomechanics จากสถาบันวิทยาศาสตร์การกีฬาและเทคโนโลยี Karlsruhe ประเทศเยอรมนี ในปี 2019 ที่สามารถสรุปใจความได้ว่า Drop ของรองเท้าที่สูงขึ้นจะทำให้หัวเข่ามีการงอตัวที่มากขึ้นขณะลงเท้า
ซึ่งจะสอดคล้องกับงานวิจัย Athletic Footwear, Leg Stiffness, and Running Kinematics จาก University of Florida สหรัฐอเมริกา ที่สรุปได้ว่า ความเร็วในการวิ่งที่เพิ่มขึ้นจะทำให้หัวเข่าของนักวิ่งมีการงอตัวมากขึ้น
โดย Drop ที่สูง โดยรวมแล้วดูเหมือนจะให้ประสิทธิภาพที่ดี แต่หากตัวเลข Drop ที่มากจนเกินไป อาจทำให้เนื้อโฟมบริเวณปลายเท้าเหลือน้อยเกินไป จนไม่สามารถเด้งส่งแรงได้ เนื่องจากกฎควบคุมความสูงพื้นชั้นกลางของ World Athletics ที่พื้นชั้นกลางจะต้องสูงไม่เกิน 40 มม.
ทำให้สมดุลที่ดีที่สุดระหว่างปริมาณเนื้อโฟมกับการงอของหัวเข่า อาจจะอยู่ที่ประมาณ 8 มม. ก็เป็นได้
การทดลองของแบรนด์ Nike และการพ่ายแพ้ของ Eliud Kipchoge ที่เราไม่ได้เห็นมานานกว่า 7 ปี
ย้อนกลับไปอีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญในเดือนตุลาคมปี 2019 อย่างการทำลายสถิติวิ่งระยะมาราธอนต่ำกว่า 2 ชั่วโมงครั้งแรกของโลก ด้วยเวลา 1:59:40.2 ชั่วโมง โดย Eliud Kipchoge ที่สวมใส่รองเท้าวิ่งต้นแบบ Nike Air Zoom Alphafly NEXT% ในรายการแข่ง Ineos 1:59 Challenge

Nike Air Zoom Alphafly NEXT% ถูกออกแบบและทดสอบในห้องปฏิบัติการ Nike Sport Research Lab ซึ่งเป็นการวิจัยที่ต่อยอดจาก Nike ZoomX Vaporfly Next% โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรองเท้าวิ่งที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุดในการวิ่ง
โดย Nike Air Zoom Alphafly NEXT% จะมีการเพิ่มทั้งปริมาณเนื้อโฟมและติดตั้ง Zoom Air pods บริเวณปลายเท้าเข้ามาเพื่อช่วยในการส่งแรง ทำให้มีความสูงของพื้นชั้นกลางบริเวณปลายเท้าอยู่ที่ 35 มม. และส้นเท้าสูง 39 มม. ทำให้มี Drop อยู่ที่ 4 มม.

ซึ่ง Drop อยู่ที่ 4 มม. คาดว่าทีมออกแบบของทางแบรนด์ Nike ต้องการเพิ่มปริมาณเนื้อโฟมบริเวณปลายเท้าให้มากขึ้น เพื่อช่วยในการคืนตัวส่งแรง แต่ยังต้องอยู่ในเกณฑ์ของกฎควบคุมความสูงพื้นชั้นกลางของ World Athletics
แม้ว่ากฎควบคุมความสูงพื้นชั้นกลางของ World Athletics จะออกมาในเดือนมกราคม ปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลาหลังจากที่ Nike Air Zoom Alphafly NEXT% ถูกนำมาใช้งานแล้ว
แต่ดูเหมือนว่าทางแบรนด์ Nike จะได้มีการปรึกษากับ World Athletics ไว้ล่วงหน้ามาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ทำให้ Nike Air Zoom Alphafly NEXT% ถูกจัดอยู่ในเกณฑ์ความสูงพื้นชั้นกลางไม่เกิน 40 มม. และสามารถใช้ในการแข่งขันวิ่งถนนได้
เสริมเพิ่มเติม
- หลายท่านอาจจะสงสัยว่าแล้วทำไม การทำสถิติ 1:59:40.2 ชั่วโมง ของ Eliud Kipchoge ถึงไม่ถูกรองรับเป็นสถิติโลก (World Record) เหตุผลเนื่องจากการแข่งขันครั้งนั้นเป็นการแข่งขันที่ถูกจัดสภาพสนามให้เป็นไปอย่างอดุมคติมากที่สุด
- โดย Eliud Kipchoge มีการให้นักวิ่งวิ่งล้อมรอบเป็นรูปตัว Y ตลอดเส้นทาง เพื่อบังลมและป้องกันลมดูด รวมทั้งมีการส่งน้ำโดยใช้จักรยานช่วย ทำให้รายการ Ineos 1:59 Challenge ขาดคุณสมบัติในด้านของความเท่าเทียมในการแข่งขัน ซึ่งไม่ใช่ปัญหาจากเทคโนโลยีรองเท้า

ซึ่งโดยรวมแล้ว ในการวิ่งในสภาพแวดล้อมในอุดมคติของรองเท้าวิ่ง Nike Air Zoom Alphafly NEXT% ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งทดสอบในห้องปฏิบัติการหรือการวิ่งในรายการแข่ง Ineos 1:59 Challenge ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นรองเท้าวิ่งที่ดีที่สุดในโลก
อย่างไรก็ตาม ในสนามแข่งขันจริง Nike Air Zoom Alphafly NEXT% กลับไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็นและถือได้ว่าทำผลงานออกมาได้ไม่ดีนัก เมื่อเทียบกับ Nike ZoomX Vaporfly Next% ที่มี Drop อยู่ที่ 8 มม.
โดยผลการแข่งขันย้อนหลังของ Eliud Kipchoge เป็นสิ่งที่บ่งบอกเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ที่ได้แก่
- อันดับที่ 1: 2019 London Marathon (2:02:37) – Nike ZoomX Vaporfly Next% (Drop 8 มม.)
- อันดับที่ 8: 2020 London Marathon (2:06:49) – Nike Air Zoom Alphafly NEXT% (Drop 4 มม.)
- อันดับที่ 1: 2021 NN Mission Marathon (2:04:30) – Nike ZoomX Vaporfly Next% 2 (Drop 8 มม.)
- อันดับที่ 1: 2020 Summer Olympics (จัดปี 2021) (2:08:38) – Nike ZoomX Vaporfly Next% 2 (Drop 8 มม.)
- อันดับที่ 1: 2021 Tokyo Marathon (จัดปี 2022) (2:02:40) – Nike Air Zoom Alphafly NEXT% 2 (Drop 8 มม.)
และจะสังเกตุได้ว่า Nike Air Zoom Alphafly NEXT% (Drop 4 มม.) นอกเหนือจากรายการแข่ง Ineos 1:59 Challenge ก็ไม่มีครั้งไหนเลยที่ทำผลงานออกมาได้ดีเท่ากับ Drop 8 มม. ใน Nike ZoomX Vaporfly Next% 2 และ Nike Air Zoom Alphafly NEXT% 2 (ที่แม้ว่าจะเพิ่งลงแข่งได้สนามเดียวก็ตาม)

เรื่องนี้อาจพออธิบายได้จากความเป็นจริงของการแข่งขัน ที่นักกีฬาระดับมืออาชีพนั้นจะมีการเร่งทำความเร็ว เพื่อหนีกลุ่มอยู่ตลอดเวลา และมีการยิงหนีในจังหวะสำคัญ รวมไปถึงการวิ่งเข้าโค้ง โดยเฉพาะในช่วงท้ายของการแข่งขัน ทำให้การลงแรงและรอบขามีการเปลี่ยนไปตลอดเส้นทาง
ซึ่งปริมาณโฟมบริเวณปลายเท้าที่เพิ่มขึ้นของ Nike Air Zoom Alphafly NEXT% ที่ถูกทดสอบมาในภาวะอุดมคติ ที่การลงแรง ความเร็วและรอบขาจะคงที่ตลอดระยะทาง อาจไม่สัมพันธ์กับการแข่งขันจริงที่นักวิ่งต้องมีการเปลี่ยนและเร่งความเร็วอย่างฉับพลัน
และงานแข่ง London Marathon ในปี 2020 ถือเป็นการแข่งขันที่ดุเดือดเป็นอย่างมากในช่วงท้ายของการแข่งขัน ที่แชมป์ในปีนั้นอย่าง Shura Kitata นักวิ่งชาวเอธิโอเปีย ที่สวมใส่ Nike ZoomX Vaporfly Next% (Drop 8 มม.) มีการเร่งและยิงหนีในช่วงท้ายของการแข่งขันจนกลุ่มแตกไปหลายกลุ่ม ทำให้เราได้เห็นการพ่ายแพ้ของ Eliud Kipchoge ที่เราไม่ได้เห็นมานานนับตั้งแต่งานแข่ง Berlin Marathon ในปี 2013
และอีกหนึ่งแบรนด์ที่ออกแบบรองเท้าวิ่งในลักษณะนี้ คือ แบรนด์ Asics กับตระกูล Metaspeed Sky และ Edge ซึ่งทางเราจะกล่าวถึงรุ่นล่าสุดในปี 2022 ที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่แล้วเท่านั้นอย่าง Metaspeed Sky+ และ Edge+ ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้
- Asics Metaspeed Sky+

ทางแบรนด์ Asics ได้มีการอธิบายว่า Asics Metaspeed Sky+ เป็นรองเท้าวิ่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อนักวิ่งที่มีช่วงก้าวยาว หรือใช้ช่วงก้าวในการเพิ่มความเร็ว
ซึ่งอธิบายง่ายๆ ในอีกความหมายหนึ่งก็คือ รอบขาคงที่ การลงแรงและความเร็วก็จะคงที่ตลอดระยะทาง หรือก็คือวิ่งในสภาวะอุดมคติได้ดี ทำให้พื้นชั้นกลางถูกออกแบบให้มีปริมาณเนื้อโฟมบริเวณปลายเท้าที่มากเป็นพิเศษ เพื่อช่วยในการเด้งคืนตัวส่งแรงและเพิ่มประสิทธิภาพในการประหยัดแรงในการวิ่ง
โดยที่ Asics Metaspeed Sky+ จะมีความสูงของพื้นชั้นกลางบริเวณปลายเท้าอยู่ที่ 33 มม. และส้นเท้าสูง 39 มม. ทำให้มี Drop อยู่ที่ 5 มม.
- Asics Metaspeed Edge+

ทางแบรนด์ Asics ได้มีการอธิบายว่า Asics Metaspeed Edge+ เป็นรองเท้าวิ่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อนักวิ่งที่ใช้รอบขาจัด หรือใช้รอบขาในการเพิ่มความเร็ว
ซึ่งอธิบายง่ายๆ ในอีกความหมายหนึ่งก็คือ รอบขาแปรผันกับความเร็วที่เพิ่มขึ้น หรือหากเพิ่มรอบขาก็สามารถเร่งทำความเร็วได้ ทำให้นักวิ่งสามารถเปลี่ยนและเร่งความเร็วอย่างฉับพลันได้อย่างทันที ส่งผลให้พื้นชั้นกลางถูกออกแบบให้มีปริมาณเนื้อโฟมบริเวณปลายเท้าที่น้อยกว่าและมี Drop อยู่ที่ 8 มม.
โดยที่ Asics Metaspeed Edge+ จะมีความสูงของพื้นชั้นกลางบริเวณปลายเท้าอยู่ที่ 31 มม. และส้นเท้าสูง 39 มม. ทำให้มี Drop อยู่ที่ 8 มม.

เสริมเพิ่มเติม
- คำถามที่นักวิ่งส่วนใหญ่มักจะถามอย่าง ระหว่าง Asics Metaspeed Edge+ และ Asics Metaspeed Sky+ รุ่นไหนเหมาะกับนักวิ่งประเภทไหน?
- คำตอบคือ หากเป็นนักวิ่งระดับอาชีพที่ลงแข่งขันแล้วติดอันดับต้นๆ Asics Metaspeed Edge+ จะเหมาะสมกว่า เนื่องจากในการแข่งขันในระดับอาชีพมีการเร่งหนีกันตลอด จึงจำเป็นต้องใช้รองเท้าที่สามารถช่วยเร่งตามกลุ่มได้ แต่หากเป็นนักวิ่งที่ต้องการจบด้วยเวลาของตัวเอง ไม่เน้นดูด ไม่เน้นเร่งตาม Asics Metaspeed Sky+ ก็ย่อมดีกว่า เนื่องจากสามารถประหยัดแรงในการวิ่งได้มากกว่า
ฉะนั้น แนวคิดของ Asics Metaspeed Edge+ ก็ไม่ต่างจาก Nike ZoomX Vaporfly Next% และ Asics Metaspeed Sky+ ก็ไม่ต่างจาก Nike Air Zoom Alphafly NEXT% รุ่นแรกเช่นกัน
แต่ในปี 2022 ทางแบรนด์ Nike เลือกที่จะออกแบบให้ Nike Air Zoom Alphafly NEXT% 2 มี Drop อยู่ที่ 8 มม. ก็ทำให้ดูเหมือนว่าจะเป็นการปรับเพื่อให้รองเท้าสามารถใช้ในการแข่งขันจริงได้ดียิ่งขึ้น

รองเท้าวิ่งคาร์บอนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน กับมาตรฐาน Drop 8 มม.
หลังจากพูดถึงแบรนด์ Nike กันไปแล้ว เรามาดูแบรนด์อื่นๆ กันบ้าง
โดยแบรนด์ Adidas ในช่วงปลายปี 2020 ได้ส่งรองเท้าวิ่งสำหรับแข่งขันระยะมาราธอนตัวจริงออกมาในชื่อรุ่น Adidas Adizero Adios Pro โดยมีความสูงของพื้นชั้นกลางบริเวณปลายเท้าอยู่ที่ 30.5 มม. และส้นเท้าสูง 39 มม. ทำให้มี Drop อยู่ที่ 8.5 มม.

ซึ่งในอดีตตำนานรองเท้าวิ่งมาราธอนที่เคยทำลายสถิติโลกของแบรนด์ Adidas อย่าง Adidas Adizero Adios Boost 2.0 ที่สวมใส่โดย Dennis Kipruto Kimetto ด้วยเวลา 2:02.57 ชั่วโมง ในปี 2014 มี Drop อยู่ที่ 10 มม. (13/23)

และรุ่นสานต่ออย่าง Adidas Adizero Adios Pro 2 ในปี 2021 มีความสูงของพื้นชั้นกลางบริเวณปลายเท้าอยู่ที่ 31 มม. และส้นเท้าสูง 39.5 มม. ทำให้มี Drop อยู่ที่ 8.5 มม.
แต่ในปี 2022 ทางแบรนด์ Adidas ได้เปิดตัว Adidas Adizero Adios Pro 3 ออกมา โดยมีการปรับความสูงของพื้นชั้นกลางใหม่ โดยเป็นการเพิ่มเนื้อโฟมบริเวณปลายเท้าอีก 2 มม. ทำให้มีความสูงของพื้นชั้นกลางบริเวณปลายเท้าอยู่ที่ 33 มม. และส้นเท้าสูง 39.5 มม. ทำให้มี Drop อยู่ที่ 6.5 มม.

ซึ่งการตัดสินใจลด Drop แล้วไปเพิ่มเนื้อโฟมบริเวณปลายเท้า เพื่อช่วยในเรื่องการเด้งคืนตัวส่งแรง จะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการวิ่งในสนามแข่งเพิ่มขึ้นหรือไม่? ก็คงต้องติดตามรอดูผลงานของรองเท้าคู่นี้กันต่อไป
ในส่วนของตัวอย่างรองเท้าวิ่งคาร์บอนแบรนด์อื่นๆ ที่ ใช้ Drop 8 มม. ในปัจจุบันมีดังนี้
- New Balance FuelCell SuperComp Pacer (20/28 | Drop 8 มม.)

- New Balance FuelCell RC Elite v2 (31/39 | Drop 8 มม.)

- On Cloudboom Echo (27/35 | Drop 8 มม.)

- Puma Deviate Nitro Elite Racer (28/36 | Drop 8 มม.)

- Puma Fast-R Nitro Elite (30/38 | Drop 8 มม.)

- Apexbeat Speed-I (28/36 | Drop 8 มม.)

- Decathlon Kiprun KD900X (29/37 | Drop 8 มม.)

และนี้คือทั้งหมดของ บทความ Nike Air Zoom Alphafly NEXT% 2 การกลับมาของ Drop 8 มม. และมหากาฬรองเท้าวิ่งคาร์บอนในปี 2022 โดยเนื้อหาในบทความนี้ก็เป็นการวิเคราะห์และตีความจากสถิติและข้อมูลที่มีในปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งในอนาคตหากมีข้อมูลและงานวิจัยยืนยันที่ดีกว่านี้ ทางเราก็จะนำมาอัพเดทและวิเคราะห์ให้ได้รับชมกันอีกทีนะครับ
หวังว่าบทความนี้เป็นจะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิ่งหรือผู้ที่สนใจในการวิ่งหลาย ๆ ท่าน ขอให้วิ่งให้สนุกครับ
สามารถติดตาม Running Profiles ได้ทั้งใน
- FB: Running Profiles
- Website: https://runningprofiles.com/
- Youtube: Running Profiles