นักวิ่งหลายท่านคงสงสัยว่า โฟม Zoom X ของทาง Nike ที่ถูกใช้ในรองเท้าตัวแข่งอย่าง Nike ZoomX Vaporfly NEXT% และตัวใหม่อย่าง Nike Air Zoom Alphafly NEXT% นั่นเป็นวัสดุอะไร และมันดียังไง วันนี้เราจะมาไขคำตอบกันครับ

โฟม Zoom X คืออะไร ?

โฟม Zoom X ทำมาจากวัสดุที่มีชื่อว่า PEBAX (Polyether block amide) ซึ่งเป็นวัสดุในกลุ่มของเทอร์โมพลาสติกที่มีความยืดหยุ่นและมีคุณสมบัติคล้ายยาง (ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Thermoplastic elastomer หรือ TPE) โดยชื่อ PEBAX เป็นชื่อทางการค้าของบริษัทเคมีภัณฑ์ Arkema จากประเทศฝรั่งเศส
PEBAX คืออะไร และแตกต่างจาก TPU (Thermoplastic polyurethane) อื่นอย่างไร ?

PEBAX เป็น TPE (Thermoplastic elastomer) คุณภาพสูงชนิดหนึ่ง ถูกคิดค้นขึ้นในปี 1980 โดยบริษัทเคมีภัณฑ์ Arkema จากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งในปัจจุบันเป็นวัสดุที่ถูกนำมาใช้ในรองเท้ากีฬาและอุปกรณ์กีฬา แทนที่พอลิเมอร์ชนิดอื่น เช่น Thermoplastic Polyurethanes (TPU), Polyester Elastomers, และ Silicones เนื่องด้วยคุณลักษณะของ PEBAX ที่ดีกว่าพอลิเมอร์ประเภทอื่นในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความหนาแน่นในมวลที่ต่ำกว่า ทำให้มีน้ำหนักที่เบา และคุณสมบัติอื่น ๆ ที่ทำได้ดีกว่า เช่น ความยืดหยุ่น การรับแรงกระแทก การคืนพลังงาน (Energy Return) และทนต่อการแตกหัก รวมทั้งยังคงคุณสมบัติเหล่านี้ในอุณภูมิที่ต่ำกว่า – 40 องศาเซลเซียส แต่อย่างไรก็ตามพอลิเมอร์ส่วนมากมักจะมีปัญหาเรื่องการแตกหรือกรอบตัวของวัสดุเมื่อสัมผัสกับรังสีอัลตราไวโอเลตหรือโดนแสงแดด ซึ่ง PEBAX ก็ยังคงมีปัญหาในเรื่องนี้อยู่
3 คุณสมบัติหลักของ PEBAX
1. น้ำหนักเบา
PEBAX มีความหนาแน่นในมวลที่ต่ำกว่าพอลิเมอร์ชนิดอื่น ทำให้ PEBAX มีน้ำหนักที่เบากว่า TPU ทั่วไปถึง 20 เปอร์เซ็นต์
2. ไม่เสียพลังงาน หรือ คืนพลังงานสูง (Energy Return)
PEBAX มีการคืนพลังงาน (Energy Return) ที่สูงถึง 85 เปอร์เซ็นต์ ทำให้นักวิ่งวิ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
3. ความทนทานและความยืดหยุ่นที่สูง
ไม่ว่าอุณหภูมิจะร้อนหรือเย็น ก็ไม่สามารถทำให้ PEBAX สูญเสียความยืดหยุ่นและความทนทานได้
ความสำเร็จที่มาพร้อมกับวัสดุ PEBAX
วัสดุ PEBAX ได้ถูกนำมาใช้เป็นพื้นรองเท้าในรองเท้าตะปู (Spikes) ของทาง PUMA โดยมีชื่อรุ่นว่า Puma Complete Theseus II โดยรองเท้าคู่นี้ถูกใส่โดย Usain Bolt และทำการคว้าเหรียญทองโอลิมปิกระยะ 100 เมตร ที่ปักกิ่งในปี 2008 ด้วยระยะเวลา 9.69 วินาที และรองเท้าคู่เดียวกันนี้เองที่ในปีต่อมา ณ งานกรีฑาชิงแชมป์โลกที่เบอร์ลินประเทศเยอรมัน (Berlin 12th IIAF World Championships) Usain Bolt ได้ทำสถิติโลก 100 เมตร ที่ ณ ตอนนี้ยังไม่มีนักวิ่งคนใดสามารถทำลายได้ ด้วยระยะเวลาเพียง 9.58 วินาที

ต่อมาในปี 2018 Eliud Kipchoge ได้ทำลายสถิติโลกมาราธอน ในงาน Berlin Marathon ด้วยระยะเวลา 2:01:39 โดยสวมใส่รองเท้า Nike Vaporfly Elite ที่เป็นการรวมกันระหว่างแผ่นคาร์บอนและพื้นโฟม PEBAX จนทำให้นิตยสาร Men’s Journal ของสหรัฐอเมริกา ถึงกับกล่าวว่า โฟม Pebax เป็นสิ่งที่ปฏิวัติรองเท้าวิ่งอย่างแท้จริง

ไม่ใช่แค่ Nike ที่ใช้ PEBAX
วัสดุ PEBAX ไม่ได้ถูกใช้ในรองเท้ายี่ห้อ Nike เป็นเจ้าแรก แต่ยังมีแบรนด์ใหญ่ระดับโลกอื่น ๆ ที่ใช้วัสดุนี้มาก่อน ไม่ว่าจะเป็น Mizuno ที่ใช้ PEBAX เป็นแผ่น Wave หรือ Asics ที่ใช้ผสมในเนื้อโฟมที่มีชื่อว่า Flytefoam Propel ที่อยู่ในรองเท้ารุ่นยอดฮิตอย่าง Asics Gel-Kayano 26 และแผ่น Speedbroad ของ On ก็ทำมาจากวัสดุ PEBAX รวมทั้งแบรนด์อื่น ๆ ดังนี้
Mizuno ได้ใช้วัสดุ PEBAX มาทำเป็นแผ่น Wave ในรองเท้าวิ่งเกือบทุกรุ่น
Asics ได้นำวัสดุ PEBAX มาผสมกับเนื้อโฟม จนได้โฟมตัวใหม่อย่าง Flytefoam Propel ที่มี Energy return สูง
Kalenji แบรนด์รองเท้าราคาย่อมเยา แต่จัดเต็มไปด้วยคุณภาพของทาง Decathlon จากประเทศฝรั่งเศส ก็ได้นำวัสดุ PEBAX มาใช้เป็นแผ่น Up-Bar เพื่อเพิ่มแรงส่งในการวิ่ง
Nike ได้ใช้วัสดุ PEBAX นำมาเป็นพื้นชั้นกลาง (Midsole) ของรองเท้าตัวแข่งหลายรุ่นอย่าง Nike Air Zoom Alphafly NEXT% และ Nike ZoomX Vaporfly NEXT% โดยเรียกชื่อว่า Nike Zoom X
On แบรนด์รองเท้าวิ่งจากสวิสเซอร์แลนด์ ที่โดดเด่นด้วยเทคโนโลยี CloudTec และ Speedboard โดยตัว Speedboard นี้เองที่ทำมาจากวัสดุ PEBAX
Reebok หลังจากการเข้าซื้อกิจการจาก Adidas ในปี 2005 แบรนด์ Reebok ก็ได้มีเทคโนโลยีรองเท้าที่ดีขึ้น โดยได้นำวัสดุ PEBAX มาใช้ในการทำพื้นชั้นกลาง (Midsole) โดยเรียกชื่อว่า Floatride Foam
Saucony ได้นำวัสดุ PEBAX มาขึ้นรูปเป็นเม็ด (Beads) แล้วประกอบเป็นพื้นชั้นกลาง (Midsole) ซึ่งทำให้มีความทนทานเพิ่มขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และถูกใช้ในรองเท้ารุ่นใหม่อย่าง Saucony Endorphin Pro และ Saucony Endorphin Speed โดยเรียกชื่อโฟมนี้ว่า PWRRUN PB
Skechers ได้นำวัสดุ PEBAX มาใช้เป็นแผ่นกลางพื้นรองเท้า เพื่อเพิ่มความเสถียรบริเวณกลางเท้าให้กับรองเท้าคาร์บอนตัวแข่งอย่าง Skechers GO run Speed Elite Hyper โดยเรียกแผ่นนี้ว่า Mid-foot strike technology (M-Strike) และรองเท้าเทรลอย่างรุ่น Skechers GOrun Speed TRL Hyper
Under Armour ได้ใช้วัสดุ PEBAX มาทำเป็น Speed Plate เพื่อเพิ่มแรงส่งในการวิ่ง
รวมทั้ง วัสดุ PEBAX ยังถูกใช้ในวงการกีฬาประเภทอื่น เช่น จักรยาน สกี กอล์ฟ เทนนิส ฟุตบอล บาสเก็ตบอล และแบรนด์กีฬาอื่น ๆ อีกมากมาย
Pebax Rnew การพัฒนาที่ยั่งยืน

ปัจจุบัน Pebax ได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดย Pebax Rnew มีส่วนประกอบบางส่วนมาจากวัสดุ Bio-Based หรือ วัสดุชีวภาพที่ถูกผลิตขึ้นมาจากสิ่งมีชีวิต เช่น น้ำมันที่ได้จากการสกัดจากเมล็ดละหุ่ง (castor oil) ซึ่งเมล็ดละหุ่งใช้เวลาน้อยกว่าหนึ่งปีในการเติบโต เมื่อเทียบกับปิโตรเลียมแบบดั้งเดิม (เชื้อเพลิงฟอสซิล) ที่ใช้เวลาสร้างเกือบล้านปี โดย Castor oil มีโครงสร้างทางเคมีที่สามารถนำมาทำเป็นโพลีเมอร์คุณภาพสูงที่ให้คุณภาพเทียบเท่า Pebax แบบดั้งเดิม นั่นคือ Pebax Rnew

แอดมินหวังว่าบทความนี้เป็นจะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิ่งหรือผู้ที่สนใจในการวิ่งหลาย ๆ ท่าน ถ้าหากท่านใดมีคำถามสามารถเข้าไปถามได้ในเพจ FB: Running Profiles ได้เลยครับ ฝากกดไลน์และติดตามเพจด้วยครับ ขอให้วิ่งให้สนุกครับ
ข้อมูลอ้างอิง: