วันนี้มารีวิวและความคิดเห็นหลังสวมใส่รองเท้าวิ่ง Reebok Floatride Energy 4 รุ่นล่าสุดในปี 2022 ที่เพิ่งเข้ามาวางจำหน่ายในประเทศไทยกันนะครับ ซึ่งจะน่าสนใจแค่ไหนและเหมาะกับการใช้ในการฝึกซ้อมแบบใด เชิญติดตามได้เลยครับ

ข้อมูลและรีวิว Reebok Floatride Energy 4 และการเปลี่ยนแปลงในปี 2022
Reebok Floatride Energy 4 เป็นรองเท้าวิ่งสำหรับซ้อมวิ่งประจำวัน (Daily Trainers) สำหรับนักวิ่งเท้าปกติ (Neutral Foot) ที่ถูกเปิดตัวในปี 2022 นี้ โดยเป็นการสานต่อความสำเร็จของตระกูล Floatride Energy ที่ได้รับเสียงคำชมมากมายในต่างประเทศ ในฐานะของรองเท้าวิ่งที่ยอดเยี่ยมเกินราคา
ข้อมูลจำเพาะของ Reebok Floatride Energy 4
- น้ำหนัก: 238 กรัม ในไซส์ 9US ชาย และ 198 กรัม ในไซส์ 8US หญิง
- น้ำหนักชั่งจริง: 266 กรัม ในไซส์ 11US ชาย
- Offset: 9 มม. (ปลายเท้าสูง 23 มม. และส้นเท้าสูง 32 มม.)
- ความกว้างหน้าเท้าแบบปกติ
- ราคา: 3,790 บาท

ซึ่ง Reebok Floatride Energy 4 จะมีการปรับปรุงจากรุ่นที่ 3 อยู่สองส่วนหลัก คือ ในส่วนของหน้าผ้าที่เป็นการออกแบบลวดลายและเปลี่ยนวัสดุเนื้อผ้าใหม่ทั้งหมด และในส่วนขององศาพื้นชั้นกลาง (Rocker) ที่ถูกปรับใหม่เล็กน้อย โดยสามารถแบ่งประเด็นได้ดังนี้
หน้าผ้า (Upper)

หน้าผ้าของ Reebok Floatride Energy 4 จะมาพร้อมกับหน้าผ้า Speed Shift ซึ่งเป็นผ้า Mesh 2 ชั้น ที่ประกอบไปด้วย เนื้อผ้าภายนอกที่ผ้า Mesh พลาสติกแบบโปร่งแสง และเนื้อผ้าภายในที่เป็นผ้า Engineered Mesh ตาข่ายที่มีความอ่อนนุ่มกว่า ซึ่งเนื้อผ้าทั้งสองส่วนจะมีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลขั้นต่ำ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทางแบรนด์จะเรียกว่า หน้าผ้า [REE]CYCLED
และในส่วนของเนื้อผ้าด้านในจะมีการตัดเย็บให้ลิ้นรองเท้าเชื่อมเป็นหนึ่งเดียวกันกับหน้าผ้า เสมือนเป็นผ้าชิ้นเดียว ซึ่งเรียกว่า Gusseted Tongue ซึ่งถือว่าเป็นรองเท้าวิ่งถนนไม่กี่รุ่นในช่วงราคานี้ที่มีการตัดเย็บลักษณะนี้มาให้

และในส่วนเนื้อผ้าภายนอกจะมีการออกแบบลวดลายให้ดูเรียบหรู มีระดับ มีการตัดเย็บและเก็บงานที่ดีเยี่ยม รวมทั้งบริเวณตราโลโก้จะมีการสกรีนลายสีเหลือบมุก (หรือเรียกว่า Iridescence) ที่เมื่อโดนแสงจะทำให้เกิดเป็นสีรุ้งขึ้น ซึ่งโดยรวมแล้วเป็นการออกแบบหน้าผ้าให้มีความเป็นรองเท้าแฟชั่นมากขึ้น ทำให้สามารถเข้ากับชุดแต่งกายในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่ยาก




นอกจากนี้ บริเวณลิ้นรองเท้าและบริเวณส้นเท้าจะมีการติดตั้งแถบสะท้อนแสงมาให้ เพื่อช่วยเพิ่มการมองเห็นขณะวิ่งในเวลาพลบค่ำ





ในด้านความรู้สึกหลังสวมใส่ หน้าผ้าของ Reebok Floatride Energy 4 เป็นหน้าผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หน้าเท้าและความสูงของบริเวณปลายเท้าค่อนข้างกว้างและสูง ให้ความรู้สึกสวมใส่สบาย รวมทั้งลิ้นรองเท้าจะมีการบุฟองน้ำที่ไม่หนามาก ทำให้รัดเชือกแล้วไม่กดบริเวณหลังเท้า


และหน้าผ้าที่ไม่ใช่เนื้อผ้ายืดก็ทำให้หน้าผ้าสามารถจับกระชับเท้า ไม่ย้วยขณะการวิ่งที่มีความเร็วและไม่มีอาการส้นรูด
ในส่วนการเลือกไซส์ สำหรับทางเราแล้วรองเท้าคู่นี้สวมใส่ตรงไซส์ ไม่ลดหรือเพิ่มไซส์

พื้นชั้นกลาง (Midsole)

ในส่วนพื้นชั้นกลางของ Reebok Floatride Energy 4 จะมาพร้อมกับพื้นชั้นกลาง Floatride Energy ซึ่งเป็นวัสดุ e-TPU หรือวัสดุ TPU แบบอัดเม็ด คล้ายกับ Adidas Boost แต่จะเป็นเม็ดโฟมที่มีขนาดเล็กกว่ามากๆ ที่นำมาอัดรวมกัน ทำให้โดดเด่นในเรื่องของการเด้งคืนตัวของตัวโฟมที่สูง (หรือมี Energy Return ที่สูง)


และหากอ้างอิงจากเว็บไซต์เกี่ยวกับการวิ่งของประเทศสหรัฐอเมริกาอย่าง Runner’s World ที่ได้ทดสอบพื้นชั้นกลาง Floatride Energy พวกเขากล่าวว่า “พื้นชั้นกลาง Floatride Energy มีการเด้งคืนตัว (Energy Return) ที่ดีกว่าพื้นชั้นกลาง Boost ของ Adidas”

เสริมเพิ่มเติม
จากบทสัมภาษณ์ Jim Rancourt ผู้ก่อตั้งบริษัท Polymer Solutions บริษัททดสอบและวิเคราะห์เคมีภัณฑ์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้อธิบายและทดสอบหาค่าการเด้งคืนตัว (Energy Return) ของวัสดุพื้นชั้นกลางในรองเท้าวิ่ง ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
- โฟมวัสดุตั้งต้น EVA (รวม EVA, EVA Blend, และ Supercritical EVA) มีค่า Energy Return อยู่ระหว่าง 65 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์
- โฟมวัสดุตั้งต้น TPU และ PU (รวม TPU, e-TPU, และ PU) มีค่า Energy Return อยู่ระหว่าง 70 ถึง 80 เปอร์เซ็นต์
- โฟมวัสดุตั้งต้น PEBA (รวม PEBA, e-PEBA, และ Supercritical PEBA) มีค่า Energy Return อยู่ระหว่าง 80 ถึง 90 เปอร์เซ็นต์
ในส่วนของความสูงของพื้นชั้นกลางเมื่อวัดตามกฎของ World Athletic (รวมดอกยางและแผ่นรองรองเท้า) จะมีความสูงบริเวณปลายเท้า 23 มม. และส้นเท้าสูง 32 มม. ทำให้มี Drop อยู่ที่ 9 มม. ซึ่งใกล้เคียงกับรองเท้าคาร์บอนสำหรับแข่งขันส่วนใหญ่ ทำให้สามารถนำไปหมุนเวียนใช้งานซ้อมประจำวันได้โดยที่ไม่ต้องปรับตัวใหม่

และองศาพื้นชั้นกลาง (Rocker) ของ Reebok Floatride Energy 4 จะมีการปรับให้องศา Rocker บริเวณส้นเท้ายกสูงขึ้นเล็กน้อย เพื่อช่วยให้การเดินหรือวิ่งลงส้นเท้าเป็นไปอย่างลื่นไหลมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ในส่วนของแผ่นรองรองเท้า (Insole) จะมาพร้อมกับแผ่นรองวัสดุ Open Cell PU จากแบรนด์ OrthoLite ที่ให้ความนุ่มและช่วยดูดซับความชื้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ใช้แผ่นรองจากแบรนด์ OrthoLite โดยตรง ไม่ได้เป็นวัสดุเทียบ


ในด้านความรู้สึกหลังสวมใส่ พื้นชั้นกลางของ Reebok Floatride Energy 4 ให้ความรู้สึกที่เบา ติดเท้า เด้งส่งแรงได้ดี มีความนุ่ม แต่ไม่ถึงกับนุ่มมาก ทำให้เหมาะเป็นอย่างมากกับการนำไปใช้ซ้อมประจำวันสำหรับนักวิ่งที่กำลังฝึกซ้อมในแผนแข่งขันในระยะ 5 กม. ถึง ฮาล์ฟมาราธอน หรือนักวิ่งที่ต้องการความรู้สึกรวดเร็วและเร่งได้ในการฝึกซ้อมประจำวัน

ความคิดเห็นในฐานะของนักวิ่งเท้าแบน (Overpronators) ในครั้งแรกที่สวมใส่ให้ความรู้สึกเหมือนเท้าจะล้ม แต่ทางแบรนด์ Reebok มีการออกแบบฐานบริเวณส้นเท้าที่ค่อนข้างกว้าง และพื้นชั้นกลางบริเวณส้นเท้าจะมีการโอบโฟมขึ้นมาช่วยประคองเสริมความมั่นคงบริเวณส้นเท้า

รวมทั้งพื้นโฟมบริเวณส้นเท้าที่ให้ความรู้สึกว่ามีความเฟิร์มกว่าบริเวณปลายเท้า ทำให้ส้นเท้าไม่ล้มไปมาขณะวิ่ง ส่งผลให้หัวเข่าของนักวิ่งเท้าแบนยังอยู่ในแนวระนาบที่เหมาะสมอยู่ ซึ่งจากที่วิ่งมา ทางเรายังไม่มีอาการบาดเจ็บใดๆ

ดอกยาง (Outsole)

Reebok Floatride Energy 4 จะมาพร้อมกับดอกยาง Carbon Rubber หรือเนื้อยางผสมผงคาร์บอน ที่ช่วยเพิ่มความทนทานในการใช้งานและไม่สึกง่าย ซึ่งจุดเด่นอีกประการของดอกยางคือ ลวดลายของดอกยางที่เอนกประสงค์สามารถใช้งานได้ทั้งบนถนนและทางดินเรียบ


และทางแบรนด์ Reebok เองในรุ่นก่อนหน้าอย่าง Reebok Floatride Energy 3 Adventure (ในไทยมีวางจำหน่ายแล้ว) ที่เป็นการนำพื้นชั้นกลางและดอกยางของ Floatride Energy 3 มาติดตั้งหน้าผ้าใหม่ที่มีการสกรีนยางรอบตัวรองเท้า เพื่อให้สามารถนำไปใช้วิ่งเทรลได้ ซึ่งเป็นการพิสูจน์แล้วว่าดอกยางมีความเอนกประสงค์ในการใช้งานเป็นอย่างมาก
สรุปโดยรวมและการใช้งาน

Reebok Floatride Energy 4 เป็นหนึ่งในรองเท้าซ้อมที่ดีที่สุดคู่หนึ่งในการนำไปใช้ฝึกซ้อมประจำวันในแผน 5 กม. จนถึงแผนฮาล์ฟมาราธอน ทั้งจากความนุ่มของพื้นชั้นกลางที่กำลังดี ติดเท้าและเด้งส่งแรง รวมทั้งมีน้ำหนักที่เบา ทำให้การซ้อมประจำวันเท้าไม่ล้าจนเกินไป ส่งผลให้สามารถวิ่งต่อเนื่องได้ในทุกๆ วัน
แต่สำหรับนักวิ่งมือใหม่ที่กำลังฝึกซ้อมในแผนระยะไกลตั้งแต่ระยะมาราธอนขึ้นไป ต้องยอมรับว่ารองเท้าวิ่งหนานุ่มในปัจจุบันจะมีความเหมาะสมมากกว่า เนื่องจากการฝึกซ้อมประจำวันในแผนมาราธอน การวิ่งขั้นต่ำต่อวันจะอยู่ราวๆ 10 กม. ขึ้นไป และวิ่ง Long Run จะอยู่ที่ 20 – 35 กม. ซึ่งนักวิ่งมือใหม่หากรองเท้าไม่นุ่มพออาจจะล้าได้ง่ายและไม่สามารถเก็บระยะตามแผนได้
แต่สำหรับนักวิ่งที่แข็งแรงหรือเป็นนักวิ่งอาชีพก็สามารถใช้รองเท้าคู่นี้ในการซ้อมประจำวันในแผนมาราธอนได้อย่างไม่มีปัญหา

ฉะนั้น Reebok Floatride Energy 4 จะเหมาะเป็นอย่างมากสำหรับกับการนำไปใช้ซ้อมประจำวันและ Long Run สำหรับนักวิ่งที่กำลังฝึกซ้อมในแผนแข่งขันในระยะ 5 กม. ถึงฮาล์ฟมาราธอน หรือนักวิ่งที่ต้องการความรู้สึกที่รวดเร็วและเร่งได้ในการฝึกซ้อมประจำวัน
ในส่วนความเสถียรและมั่นคงจัดอยู่ในเกณฑ์รองเท้าวิ่งสำหรับนักวิ่งเท้าปกติ (Neutral) ซึ่งนักวิ่งเท้าแบน (Overpronators) ยังจะมีการอาการเท้าล้ม แต่ส้นเท้าและหัวเข่าจะยังอยู่ในแนวระนาบที่เหมาะสมอยู่ และในปัจจุบัน รองเท้าวิ่งคาร์บอนสำหรับแข่งขันไม่มีรองเท้าคู่ไหนออกแบบมาให้สำหรับนักวิ่งเท้าล้ม
ซึ่งหากนักวิ่งเท้าล้มยังคงพึ่งพารองเท้าที่มีการเสริมอุ้งเท้า (Medial Post) อยู่ คงเป็นเรื่องยากที่จะใช้รองเท้าวิ่งคาร์บอนสำหรับแข่งขัน

และทางเราเองก็เป็นนักวิ่งเท้าล้มและจะมาอธิบายจากประสบการณ์ว่า การเลือกใช้รองเท้าสำหรับฝึกซ้อมประจำวันของทางเราเป็นอย่างไร โดยทางเราจะใช้ 2 คู่หลัก คือ Adidas Solar Boost 3 และ Hoka One One Evo Speedgoat
Adidas Solar Boost 3 เป็นรองเท้าวิ่งถนนที่เสถียรและมั่งคงมาก เท้าไม่มีอาการล้มใดๆ เลย และไม่เคยมีอาการบาดเจ็บจากรองเท้าคู่นี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่รองเท้าคู่นี้ก็ไม่ได้เด้ง ตอบสนองดี หรือมีน้ำหนักที่เบา รวมไปถึงองศา Rocker ที่ไม่ได้ชันมาก ทำให้เวลาเปลี่ยนไปใส่รองเท้าคาร์บอนค่อนข้างมีปัญหาในการปรับตัวและจังหวะการวิ่งที่ค่อนข้างแตกต่างกันมาก
ทำให้ต้องมีรองเท้าอีกหนึ่งคู่เข้ามาใช้งานประจำวัน นั่นคือ Hoka One One Evo Speedgoat ที่เป็นรองเท้าวิ่งเทรลหนานุ่ม (เนื่องจากทางเราไม่ได้ซื้อรองเท้าถนนไว้เยอะ เลยจำเป็นต้องใช้คู่นี้ไปก่อน) ซึ่งจะเป็นรองเท้าสำหรับนักวิ่งเท้าปกติ ที่ไม่ได้มีความเสถียรมากนักและเท้าก็จะยังล้มได้อยู่ แต่องศา Rocker ที่ค่อนข้างชันประกอบกับน้ำหนักที่เบากว่า ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนไปใส่รองเท้าคาร์บอนได้ง่าย
และในการซ้อมแต่ละอาทิตย์รองเท้าสองคู่นี้จะถูกนำมาใช้งานสลับกันในการซ้อมประจำวัน แต่ในช่วงก่อนการแข่งขัน Hoka One One Evo Speedgoat จะถูกหยิบมาใช้มากขึ้น เพื่อใช้คุ้นชินกับจังหวะการลงเท้าและการล้มของเท้าที่คล้ายกับรองเท้าคาร์บอน
ซึ่ง Reebok Floatride Energy 4 ก็มีหน้าที่คล้ายกับ Hoka One One Evo Speedgoat แต่มีน้ำหนักที่เบากว่าและตอบสนองดีกว่า ทำให้ทางเราเองก็จะใช้รองเท้าคู่นี้แทนที่ Hoka One One Evo Speedgoat ในการฝึกซ้อมประจำวัน ควบคู่ไปกับ Adidas Solar Boost 3

และหากท่านเป็นนักวิ่งเท้าแบน ทางเราแนะนำว่าควรจะต้องมีรองเท้าสำหรับฝึกซ้อมประจำวัน 2 คู่ โดยแบ่งเป็น รองเท้าที่มีความเสถียร ที่จะช่วยป้องกันการเกิดอาการบาดเจ็บต่างๆ และรองเท้าสำหรับนักวิ่งเท้าปกติ ที่จะเข้ามาช่วยปรับความแข็งแรงและความคุ้นชินก่อนสวมใส่รองเท้าคาร์บอน
และในบทความรีวิว Reebok Floatride Energy 4 นี้ ต้องขอขอบคุณทาง Reebok Thailand ที่ส่งรองเท้าคู่นี้ รวมทั้งชุดเสื้อผ้ามาให้ทางเราทดสอบนะครับ
ซึ่งชุดเสื้อผ้าของทางแบรนด์ Reebok ก็ถือได้ว่าทำออกมาได้อย่างดีเยี่ยมและคุ้มค่า ซึ่งทางเราจะนำมารีวิวในบทความต่อๆ ไป รวมไปถึงบทความประวัติแบรนด์ Reebok และการเปลี่ยนแปลงในปี 2022 ครับ

และท่านใดที่สนใจรองเท้าวิ่ง Reebok Floatride Energy 4 ณ เวลานี้ มีวางจำหน่ายแล้วที่ Supersport หรือสามารถเข้าไปเลือกชมได้ที่ลิงค์นี้เลยครับ
หวังว่าบทความนี้เป็นจะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิ่งหรือผู้ที่สนใจในการวิ่งหลาย ๆ ท่าน ขอให้วิ่งให้สนุกครับ
สามารถติดตาม Running Profiles ได้ทั้งใน
- FB: Running Profiles
- Website: https://runningprofiles.com/
- Youtube: Running Profiles