Salomon ตระกูล Sense Ride เป็นอีกหนึ่งรองเท้าวิ่งเทรลมหาชนที่คุ้มค่าและมีความเอนกประสงค์ในการใช้งาน ที่ในปี 2021 นี้ถูกเปิดตัวมาถึงรุ่นที่ 4 ซึ่งจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง? และน่าสนใจเพียงใด เชิญติดตามได้เลยครับ

ความแตกต่างระหว่าง Sense Ride 4 และ Sense Ride 3
ก่อนอื่นเลยต้องย้อนกลับไปเล่าถึงรุ่นก่อนหน้าอย่าง Salomon Sense Ride 3 ที่ถูกเปิดตัวครั้งแรกในปี 2020 กันก่อน

โดย Salomon Sense Ride 3 เป็นการยกเครื่องใหม่ทั้งหมดของตระกูล Sense Ride ที่มีการเปลี่ยนรูปร่างลักษณะและวัสดุของพื้นชั้นกลางใหม่จากพื้นชั้นกลาง Vibe ที่ทำมาจากวัสดุ EVA ที่บริเวณส้นเท้ามีการใส่โฟม Opal เพื่อช่วยรองรับแรงกระแทก กลายมาเป็นพื้นชั้นกลาง Optivibe
ซึ่งพื้นชั้นกลาง Optivibe เป็นการนำเอาเทคโนโลยีของรองเท้าถนนของแบรนด์ Salomon มาใช้ โดยพื้นชั้นกลางจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนเนื้อโฟม ที่เป็นวัสดุผสมระหว่าง EVA กับ Olefin และอีกส่วนหนึ่งคือ JPAD ซึ่ง JPAD จะเป็นแผ่นยาง EVA ชนิดพิเศษที่มีหน้าที่สำหรับรับแรงกระแทกบริเวณส้นเท้า เพื่อลดอาการเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อขาขณะวิ่งในระยะทางไกล

ความรู้เพิ่มเติม
Olefin หรือชื่อเต็ม Olefin Block Copolymers เป็นวัสดุที่ทางบริษัทเคมีภัณฑ์ของอเมริกาอย่าง DOW chemical เป็นผู้ผลิต โดยมีชื่อทางการค้าว่า “INFUSE” โดยวัสดุ Olefin มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับ TPU หรือวัสดุตั้งต้นที่ใช้ผลิต Boost ของ Adidas แต่ Olefin มีข้อดีในเรื่องของต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า
และจากการวิจัยของทางแบรนด์ Salomon พบว่า “พื้นชั้นกลาง Optivibe สามารถช่วยลดแรงสั่นสะเทือนของกล้ามเนื้อขณะลงเท้าได้ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ และช่วยซับแรงกระแทกได้ถึง 8 เปอร์เซ็นต์ โดยยังคงความสามารถในการตอบสนองและส่งแรงที่มีประสิทธิภาพ”
นี้จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมพื้นที่ไม่ได้นุ่มนักของ Sense Ride 3 จึงไม่มีอาการสะท้านเท้าหรือเกิดอาการเท้าล้าขณะวิ่งระยะไกลมากนัก
ซึ่งหลังจากเปิดตัวไป Salomon Sense Ride 3 ก็ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในรองเท้าวิ่งเทรลที่ได้รับเสียงตอบรับที่ดีในต่างประเทศ รวมไปถึงตัวแอดมินเอง ที่ซื้อรุ่นที่ 3 นี้ มาใช้งานตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว (ในคลิปรีวิวนาฬิกา Coros ก็จะเห็นใส่วิ่งอยู่) และค่อนข้างประทับใจในพื้นชั้นกลางและดอกยางอยู่ไม่น้อย ที่วิ่งสนุกทั้งในทางดินเรียบและทางที่ทรุกันดาร เช่น ทางในป่าและทางหินลอย
รวมไปถึงความนุ่มของพื้นที่กำลังพอเหมาะ ที่ไม่นุ่มจนกินแรงและไม่แข็งจนสะท้าน นอกจากนี้ พื้นยังมีความเสถียรและแทบไม่มีโอกาสทำให้ข้อเท้าพลิกได้เลย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาหลักของรุ่น Sense Ride 3 คือ หน้าผ้าที่ออกแบบมาไม่เหมาะกับอากาศร้อนของประเทศไทยนัก โดยหน้าผ้าจะมีการทอละเอียด ลักษณะคล้ายหน้าผ้า 2 ชั้น ซึ่งทำให้ระบายอากาศได้ไม่ดีนัก
รวมไปถึงการออกแบบลิ้นรองเท้าที่แทงข้อเท้าด้านหน้าขณะวิ่งอยู่ตลอดเวลา และตะเข็บของลิ้นรองเท้าด้านในที่อาจสร้างความไม่สบายขณะสวมใส่ นอกจากนี้ ขอบบริเวณส้นเท้าที่ชิดกับเอ็นร้อยหวายเกินไปจนอาจนำไปสู่อาการกัดเอ็นร้อนหวายในนักวิ่งบางท่าน
ทำให้ในปี 2021 นี้ ทางแบรนด์ Salomon ได้เปิดตัว Salomon Sense Ride 4 ที่เข้ามาแก้ไขปัญหาในส่วนของหน้าผ้าในรุ่น Sense Ride 3 ทั้งหมด

โดย Salomon Sense Ride 4 จะเป็นการเปลี่ยนหน้าผ้าใหม่แบบยกชุด ซึ่งสิ่งที่ปรับปรุงมาใหม่มีดังนี้
- เปลี่ยนหน้าผ้าเป็นหน้าผ้าทอแบบชั้นเดียว (Single Layer Mesh) ที่โปร่งและมีรูระบายอากาศมากขึ้น และย้ายการสกรีนยางรอบตัวรองเท้าออกมาไว้ด้านนอกเนื้อผ้า แทนที่การฝั่งไว้ด้านในเนื้อผ้า


- เสริม Toe Bumper ให้มีความแข็งขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มการปกป้องเท้า เมื่อวิ่งสะดุดไปโดนหิน

- ออกแบบลิ้นรองเท้าใหม่ให้มีความเข้ารูปกับข้อเท้าด้านหน้าของนักวิ่งมากขึ้น รวมไปถึงการใช้ความร้อนรีดตะเข็บด้านในลิ้นรองเท้าแทนที่การเย็บตะเข็บ เพื่อลดการระคายเคืองขณะสวมใส่


- ออกแบบขอบบริเวณส้นเท้า (Heel Counter) ใหม่ โดยเป็นการบุฟองน้ำ 2 ชิ้น ด้านข้างของบริเวณข้อเท้า และปรับองศาหน้าผ้าบริเวณส้นเท้าให้ห่างจากเอ็นร้อยหวายมากยิ่งขึ้น เพื่อลดการเสียดระหว่างเอ็นร้อยหวายกับบริเวณขอบ Heel Counter


- ลดความยาวของเชือก Quick Lace ให้สามารถพับเก็บใส่กระเป๋าที่ลิ้นรองเท้าได้ง่ายขึ้น

- เปลี่ยนแผ่นรองรองเท้า (Insole) ไปเป็นแผ่นรอง OrthoLite รุ่น Eco ที่เป็นการใช้วัสดุรีไซเคิล 5 เปอร์เซ็นต์ในการผลิต โดยแผ่นรองมีน้ำหนักที่เบาเพียง 16 กรัม ซึ่งเมื่อเทียบกับแผ่นรอง OrthoLite รุ่นดั้งเดิมที่มีถึงน้ำหนัก 23 กรัม หรือเบาขึ้นราวๆ 7 กรัม
และในส่วนของพื้นชั้นกลางและดอกยางของรุ่น Sense Ride 4 ทางแบรนด์ Salomon กล่าวว่า “เป็นพื้นตัวเดียวกับในรุ่น Sense Ride 3 ทุกประการ”

โดยรวมการปรับปรุงในครั้งนี้ ทำให้ Salomon Sense Ride 4 มีน้ำหนักอยู่ที่ 317 กรัม ในไซส์ 10.5US ชาย ซึ่งในรุ่นเดิมอย่าง Sense Ride 3 มีน้ำหนักอยู่ที่ 327 กรัม ในไซส์เดียวกัน หรือมีน้ำหนักลดลงมาประมาณ 10 กรัม ซึ่งเกิดจากแผ่นรองรองเท้าที่เบาขึ้น 7 กรัม และหน้าผ้าอีก 3 กรัม
ความรู้สึกครั้งแรกหลังใส่ Salomon Sense Ride 4
วันนี้ขอพูดถึงความรู้สึกครั้งแรกหลังใส่ Salomon Sense Ride 4 กันก่อน เนื่องจากทางแอดมินยังไม่ได้นำไปวิ่งเก็บระยะมากนักจึงยังไม่สามารถอธิบายรีวิวแบบเต็มได้นะครับ เดี่ยวจะมีวิดีโอรีวิวฉบับเต็มออกมาอีกทีครับ

ความรู้สึกแรกคือ หน้าผ้าของ Salomon Sense Ride 4 ให้ความรู้สึกที่กว้างขวางใส่สบายขึ้นจากรุ่นเดิมมาก อาจจะเป็นเพราะเนื้อผ้าที่บางลงทำให้ด้านในมีพื้นที่ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เหมาะกับการวิ่งในระยะทางไกล ที่เท้าจะมีการขยายขึ้นเป็นพิเศษ โดยที่หน้าผ้ายังคงสามารถจับและกระชับเท้าได้ดีอยู่


และหน้าผ้าที่โปร่งมากขึ้น ทำให้ระบายอากาศได้ดีมากและดีกว่ารุ่นเดิมอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้งอาการลิ้นรองเท้าที่เสียดสีกับข้อเท้าด้านหน้าและอาการเสียดสีบริเวณเอ็นร้อยหวายก็ได้หายไปแล้ว ซึ่งหลังจากวิ่งมายังไม่เจออาการหน้าผ้ากัดเท้า


นอกจากนี้ แม้ว่าทางแบรนด์ Salomon จะกล่าวว่ารุ่น Sense Ride 4 มีความกว้างของหน้าเท้าแบบปกติ แต่ในความรู้สึกส่วนตัวของแอดมิน คิดว่า นักวิ่งที่หน้าเท้ากว้างน่าจะใส่รุ่นนี้ได้สบายๆ

ในส่วนของพื้นชั้นกลาง แม้ว่าทางแบรนด์ Salomon จะกล่าวว่า “ไม่มีการปรับเปลี่ยนสูตรพื้นโฟมใหม่” แต่ทางแอดมินใส่แล้วรู้สึกว่า พื้นมีความเฟิร์มขึ้นกว่าเดิมแบบรู้สึกได้ ซึ่งอาจจะเกิดจากการวิ่งเก็บระยะที่ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้พื้นเริ่มนุ่มจนเข้าที่ โดยในส่วนนี้ทางเราต้องขอนำไปทดสอบเก็บระยะเพิ่มก่อนนะครับ

แต่โดยรวม พื้นยังคงความเสถียรและมั่นคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งสามารถนำไปใช้ในทางที่ทรุกันดารมากๆ (Technical Trails) เช่น ทางในป่าและทางหินลอย ได้เป็นอย่างดีเหมือนในรุ่นเดิม


และในส่วนของดอกยางยังคงเป็นดอกยาง Contagrip MA (Mix – Adhesion) หรือ ดอกยางเอนกประสงค์ที่ใช้งานได้ดีและยึดเกาะได้แน่นในทุกๆ สภาพพื้นผิว

เสริมเพิ่มเติม
• ในส่วนของแผ่นรองรองเท้า (หรือ Insole) OrthoLite รุ่น Eco ที่มีข้อดีในด้านของน้ำหนักที่เบา แต่สิ่งที่แลกมาคือ ความหนาแน่นของแผ่นรองที่หายไป หรือพูดง่ายๆ คือ แผ่นรองยุบตัวง่ายขึ้นและไม่ซับแรงเท่ารุ่นเดิม ซึ่งข้อนี้ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล แต่ส่วนตัวแอดมินชอบแผ่นรองเนื้อแน่นๆ แบบเดิมมากกว่า
• สำหรับนักวิ่งเท้าแบน (Overpronation) สามารถใช้งาน Salomon Sense Ride 4 ได้อย่างไม่มีปัญหา เนื่องจาก พื้นโฟมบริเวณส้นเท้ามีการเสริมขอบโฟมขึ้นมาล้อมรอบบริเวณส้นเท้า ทำหน้าที่เสมือนตัวช่วยประคองเท้าให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งนักวิ่งเท้าล้มก็ได้รับประโยชน์ตรงส่วนนี้ด้วย และนักวิ่งเท้าปกติก็ยังไม่รู้สึกว่าดันอุ้งเท้าอีกด้วย

ข้อมูลจำเพาะของ Salomon Sense Ride 4
• หน้าผ้า Anti-Debris mesh
• มาพร้อมกับระบบมัดเชือกแบบ Quicklace + ช่องเก็บสายบริเวณลิ้นรองเท้า (Quicklace Garage)
• พื้นชั้นกลาง Optivibe
• มาพร้อมกับแผ่นรองกันหิน Profeel Film
• ดอกยาง Contagrip MA
• น้ำหนัก: 317 กรัม ในไซส์ 10.5US ชาย (ชั่งจริง)
• Offset: 8 มม. (ปลายเท้าสูง 19 มม. และส้นเท้าสูง 27 มม.)
• ราคา: 4,450 บาท

และขอขอบคุณทาง Salomon Thailand ที่ส่งรองเท้าวิ่งเทรล Salomon Sense Ride 4 และชุดเสื้อผ้ามาให้กับทางเราได้ทดสอบนะครับ

ทางแอดมินต้องขอนำไปทดสอบเพิ่มเติมในหลายๆ ส่วนอีกครั้ง แล้วจะนำออกมาเป็นวิดีโอรีวิวอีกทีนะครับ
หวังว่าบทความนี้เป็นจะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิ่งหรือผู้ที่สนใจในการวิ่งหลาย ๆ ท่าน ขอให้วิ่งให้สนุกครับ สามารถติดตาม Running Profiles ได้ทั้งใน