แบรนด์ SCOTT Sports หรือชื่อเดิม SCOTT USA เป็นแบรนด์ที่ชาวไทยน่าจะคุ้นตาและรู้จักผ่านวงการรถจักรยานเสือหมอบและไตรกีฬา รวมทั้งเสื้อผ้าและอุปกรณ์รถมอเตอร์ครอส ซึ่งในปีนี้มีข่าวที่น่าสนใจว่า แบรนด์ SCOTT จะเตรียมวางจำหน่ายรองเท้าวิ่งเทรลในประเทศไทย รวมทั้งมีการจัดตั้งทีมนักแข่งในประเทศไทยอีกด้วย
ฉะนั้น ก่อนที่เราจะพาทุกท่านไปพบกับรองเท้าวิ่งเทรลแต่ละรุ่นของแบรนด์ SCOTT ในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับแบรนด์ SCOTT Sports กันว่ามีจุดกำเนิดและที่มาอย่างไร ? รวมทั้งนวัตกรรมที่พลิกโฉมโลกของวงการกีฬา ประวัติจะตื่นเต้นและน่าหลงใหลเพียงใด เชิญติดตามได้เลยครับกับ ตอนที่ 1: จุดเริ่มต้นของแบรนด์ SCOTT

จุดเริ่มต้นของแบรนด์ SCOTT
เรื่องราวของแบรนด์ SCOTT เริ่มต้นขึ้นในปี 1958 โดยวิศวกรและนักประดิษฐ์ชาวอเมริกันวัย 41 ปี นามว่า Edward L. Scott ผู้ซึ่งชื่นชอบในการเล่นกีฬาสกีหิมะเป็นชีวิตจิตใจ

Edward L. Scott เกิดในปี 1917 และเติบโตในเมืองเล็ก ๆ อย่าง Ketchum รัฐไอดาโฮ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยในวัย 7 ขวบ พ่อของเขาได้ประดิษฐ์สกีหิมะคู่แรกให้แก่เขา โดยอ้างอิงแบบตามหนังสือ Boys Mechanic Magazine ในสมัยนั้น ซึ่งทำให้เขาชื่นชอบและหลงไหลในกีฬาสกีหิมะเป็นอย่างมาก

“ต้องเป็นสิ่งที่แตกต่าง และต้องเป็นสิ่งที่ดีกว่า” – Edward L. Scott
ต่อมาในปี 1949 เขาได้เริ่มเปิดกิจการรับซ่อมสกีหิมะในบ้านหลังเล็ก ๆ และเริ่มประดิษฐ์อุปกรณ์สกีหิมะ โดยมีวิสัยทัศน์ตั้งต้นที่ว่า “ต้องเป็นสิ่งที่แตกต่าง และต้องเป็นสิ่งที่ดีกว่า” ซึ่งวิสัยทัศน์ตั้งต้นนี้จะเป็นปรัชญาสำคัญ ที่จะส่งต่อมาให้เป็นบรรทัดฐานในการดำเนินกิจการของแบรนด์ SCOTT ในปัจจุบัน
และเป็นเวลากว่า 8 ปี ที่ Ed Scott ใช้เวลาไปกับการรับซ่อมสกีและประดิษฐ์อุปกรณ์สกีหิมะ จนกระทั่งในช่วงปี 1957 เขาสามารถคิดค้นไม้โพลสำหรับเล่นสกีหิมะที่มีน้ำหนักเบา ซึ่งทำมาจากวัสดุอลูมิเนียมคู่แรกของโลกได้ โดยทั้งโลก ณ ช่วงเวลานั้น ไม้โพลสำหรับเล่นสกีหิมะยังทำมาจากไม้ไผ่และเหล็ก ซึ่งมีน้ำหนักมาก

และในปี 1958 Ed Scott ได้ย้ายไปอาศัยอยู่ที่เมืองข้าง ๆ อย่างเมือง Sun Valley และได้จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทผลิตอุปกรณ์สกีขึ้น ในชื่อว่า “SCOTT USA” โดยเขามีเป้าหมายว่า “แบรนด์ SCOTT USA จะต้องเป็นผู้นำผลิตภัณฑ์ด้านอุปกรณ์สกีหิมะในสหรัฐอเมริกา”

ในปี 1959 เขาได้ส่งไม้โพลสำหรับเล่นสกีหิมะล็อตแรกที่ใช้ชื่อว่า “Gold Poles” ให้แก่นักกีฬาสกีทีมชาติอเมริกันและทีมชาติแคนาดาได้ใช้ และหลังจากนั้นเพียง 5 ปี ยอดขายไม้โพลของแบรนด์ SCOTT ก็พุ่งทะลุ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือถ้าคิดเป็นเงินบาทในปัจจุบันจะมีมูลค่าถึง 252 ล้านบาทเลยทีเดียว

ก่อนจะไปกันต่อ เราต้องไปทำความรู้จักกับอีกหนึ่งบุคคลที่เป็นตัวแปรสำคัญที่จะมาร่วมสร้างประวัติศาสตร์ของแบรนด์ SCOTT ซึ่งบุคคลท่านนี้คือ Charley French หรือพ่อมดนักประดิษฐ์แห่งเซนต์หลุยส์
Charley French พ่อมดนักประดิษฐ์แห่งเซนต์หลุยส์

Charley French เกิดในปี 1926 ณ เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่ออายุครบ 18 ปี เขาต้องไปเป็นทหารเรือและประจำการเป็นช่างเครื่องบนเรือรบของกองทัพสหรัฐฯ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเรือรบที่เขาประจำการอยู่เป็นเรือรบที่ขนกองกำลังทหารของนายพลดักลาส แมกอาเธอร์ ในยุทธการศึกเกาะบอร์เนียวเหนือ (Battle of North Borneo) ในปี 1945
“บางคนจมอยู่กับที่เดิม ๆ และหวาดกลัว แต่ไม่ใช่สำหรับผม ผมจะมองหาโอกาสและสิ่งที่จะทำต่อไปอยู่เสมอ” – Charley French
ในระหว่างสงคราม Charley French ไม่ใช่คนที่อ่อนไหวทางอารมณ์หรือจะยอมแพ้อะไรง่าย ๆ ซึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “บางคนจมอยู่กับที่เดิม ๆ และหวาดกลัว แต่ไม่ใช่สำหรับผม ผมจะมองหาโอกาสและสิ่งที่จะทำต่อไปอยู่เสมอ”
หลังจากจบสงคราม เขาสามารถกลับมายังประเทศอเมริกาได้แบบครบ 32 ส่วน และตัดสินใจที่จะเข้าศึกษาต่อในด้านวิศวกรรมเครื่องกล เมื่อจบการศึกษาเขาได้เข้าทำงานเป็นวิศวกรการบินและอวกาศ ที่ Douglas Corp. และ Litton Industries ซึ่งเป็นบริษัทด้านอากาศยานและการป้องกันประเทศของสหรัฐอเมริกา ในสาขาที่ประเทศเยอรมนี
ในช่วงปี 1960 เพื่อนของเขาที่พึ่งกลับมาจากอเมริกา กำลังที่จะถ่ายทำภาพยนตร์เกี่ยวกับการเล่นสกีหิมะ ที่จัดทำขึ้นโดยผู้กำกับอย่าง Dick Barrymore ซึ่งโดยปกติ Charley French ก็เป็นคนที่ชื่นชอบในการเล่นสกีหิมะอยู่แล้ว เรียกได้ว่า ในทุกวันหยุด คุณจะไม่พบเขาอยู่ที่บ้านเลย เพราะเขาจะออกไปเล่นสกี ที่เมือง Kitzbuhel ประเทศออสเตรียตลอด

เพื่อนของ Charley French ได้ให้เขาเป็นนักแสดงในภาพยนตร์ อย่างไรก็ตามในระหว่างการถ่ายทำการเล่นสกีหิมะ ในทุก ๆ การเลี้ยวโค้ง หิมะมักจะกระเด็นเข้าตัวและเข้าไปในแว่นตาของนักสกีเสมอ ทำให้แว่นตาสำหรับเล่นสกีในสมัยนั้น จะมีฝ้าขึ้นแว่นตาตลอดเวลา
เพื่อนของเขาจึงเอ่ยว่า “น่าจะมีวิธีที่ดีกว่าในการทำแว่นตาสำหรับเล่นสกีหิมะ”
Charley French จึงไม่รอช้าตอบกับไปว่า “ไม่เห็นยากเลย ก็ทำแว่นแบบ Thermal Lens”
โดยแว่นตาแบบ Thermal Lens จะเป็นการนำเอาเลนส์แว่นตา 2 ชิ้น มาวางขนานกันและคั่นด้วยขอบโฟม เพื่อไม่ให้เลนส์ทั้ง 2 ชิ้นสัมผัสกัน โดยจะมีเพียงอากาศที่อยู่ระหว่างเลนส์ทั้ง 2 ชิ้น ทำให้อากาศไม่สามารถถ่ายเทได้ จึงทำให้ความชื้นไม่สามารถกลั่นตัวกลายเป็นฝ้าได้

ในวันถัดมา Charley French และเพื่อนของเขา ได้ไปซื้อเลนส์แว่นตาของแบรนด์ Carrera มา 20 ชิ้น เพื่อมาตัดและประกอบขึ้นเป็นแว่น Thermal Lens อันแรกของโลก หลังจากฤดูหนาวจบลง เพื่อนของเขาถามเขาว่า “จะเอายังไงต่อกับแว่น Thermal Lens” เขากล่าวว่า “คุณเอาไปเลย ผมจะไม่ทำมันต่อแล้ว”
เพื่อนของ Charley French ในวันนั้น คือ ดร. Bob Smith ทันตแพทย์ของกองทัพสหรัฐ ที่ไปประจำการอยู่ในประเทศเยอรมนี และเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์แว่นตาระดับโลกอย่าง Smith Optics ในปี 1965 โดยแว่นตาแบบ Thermal Lens ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมแจ้งเกิดของแบรนด์ Smith Optics ณ เวลานั้น

และในปี 1970 Charley French ในวัย 44 ปี ต้องการทำในสิ่งที่เขารัก เขาตัดสินใจที่จะย้ายไปยังเมืองเล็ก ๆ อย่าง Sun Valley ในประเทศสหรัฐอเมริกา และนี้จะเป็นโชคชะตาที่ทำให้เขาได้พบกับ Edward L. Scott
การพบพานของสองนักประดิษฐ์ และความสำเร็จที่ไม่อาจจำกัดอยู่เพียงในสหรัฐอเมริกา
ในปี 1970 เป็นปีเดียวกับที่ Ed Scott ได้นำแบรนด์เข้าสู่วงการรถโมโตครอส โดยการออกแบบและผลิตแว่นตาสำหรับใส่ขี่รถโมโตครอสโดยเฉพาะชิ้นแรกของโลก ก่อนที่จะผลิตถุงมือ รองเท้าและอุปกรณ์อื่น ๆ สำหรับใส่ขี่รถโมโตครอส ภายในปีเดียวกัน

ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ Charley French ย้ายเข้ามาในเมือง Sun Valley และได้พบกับ Ed Scott ขณะเล่นสกีหิมะ ทั้งคู่ได้ทำความรู้จักและพูดคุยกันกว่า 1 ปี จนกระทั้งในปี 1971 Ed Scott ตัดสินใจว่าจ้าง Charley French ให้มาช่วยออกแบบรองเท้าบูทสำหรับเล่นสกี ที่ในสมัยนั้น ไม่สามารถงอข้อเท้าขณะสวมใส่ได้และไม่มีความทนทาน เนื่องจากเมื่องอข้อเท้าจะทำให้รองเท้าแตกและหักในทันที
Charley French กล่าวว่า “กว่าที่จะออกมาเป็นรองเท้าบูทสกีรุ่นแรกที่มีน้ำเบาที่สุดในโลกในปี 1971 เราออกแบบรองเท้าต้นแบบและโยนมันทิ้งเป็นพันคู่”

โดยแนวคิดของ Charley French นั้นช่างคล้ายกับ Ed Scott เป็นอย่างมาก ซึ่งเขาไม่สนใจว่าผลิตภัณฑ์จะขายได้มากเท่าไหร่ และไม่กังวลเกี่ยวกับกำหนดเวลาในการออกผลิตภัณฑ์ หรือพยายามวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ยังไม่ได้ทดสอบ ซึ่งเขาจะออกแบบและทดสอบจนแน่ใจว่า “ผลิตภัณฑ์ชิ้นนั้นทำงานได้ดีกว่าเดิม”

เขากล่าวเสริมว่า “บริษัทอื่น ๆ พัฒนาผลิตภัณฑ์เพียงเพื่อแค่นำมาวางจำหน่าย แต่เราเห็นผลิตภัณฑ์เหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง และเราก็ปรับปรุงมันให้ดีขึ้น เรามีความสุขและสนุกที่ได้ทดสอบมันในทุก ๆ วัน ซึ่งมันเป็นความต้องการของเราเอง”
ในปี 1978 SCOTT USA ตัดสินใจเปิดสำนักงานใหญ่ในยุโรป ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และในปี 1986 แบรนด์ SCOTT เปิดตัวรถจักรยานเสือภูเขาคันแรกของแบรนด์ และเตรียมพร้อมเข้าสู่วงการจักรยานแบบเต็มตัว

ในตอนที่ 1 ต้องขอจบไว้ ณ ตรงนี้ ในตอนหน้าเราจะพาทุกท่านไปพบกับเหล่านวัตกรรม ที่จะพลิกโฉมวงการจักรยานไปตลอดกาลของแบรนด์ SCOTT โปรดติดตามตอนต่อไปครับ
อ่านต่อตอนที่ 2: นวัตกรรมพลิกโฉมวงการจักรยาน ได้ที่นี่
สามารถติดตาม Running Profiles ได้ทั้งใน