หลังจากทำความรู้จักต้นกำเนิดแบรนด์ SCOTT Sports กันแล้ว ใน ตอนที่ 1: จุดเริ่มต้นของแบรนด์ SCOTT ฉะนั้น ในวันนี้เราจะพาทุกท่านมาต่อกันที่ ตอนที่ 2: นวัตกรรมพลิกโฉมวงการจักรยาน ประวัติจะตื่นเต้นและน่าหลงใหลเพียงใด เชิญติดตามได้เลยครับ

นวัตกรรมพลิกโฉมวงการจักรยาน

เหตุการณ์ที่ทำให้แบรนด์ SCOTT เข้าสู่วงการจักรยานเสือภูเขาในปี 1986 เกิดขึ้นโดยบังเอิญ เมื่อมีชายคนหนึ่งเดินเข้ามาถามทีมนักการตลาดของ SCOTT ว่า “เป็นไปได้ไหมว่า เขาสามารถใช้แบรนด์ SCOTT ในการวางจำหน่ายจักรยานเสือภูเขาของเขา” ซึ่งผู้บริหารของแบรนด์ SCOTT ณ เวลานั้น ตอบกลับไปว่า “ไม่ได้ เราทำแบบนั้นไม่ได้ แต่คุณสามารถช่วยเราให้เข้าสู่วงการจักรยานได้ และเราจะจ่ายให้คุณอย่างงาม”
ชายคนนั้นมีเครือข่ายผลิตจักรยานอยู่ที่เกาะไต้หวันอยู่แล้ว ดังนั้น เขาจึงช่วยให้แบรนด์ SCOTT สามารถตั้งโรงงานผลิตจักรยานในเกาะไต้หวัน นี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงการจักรยานเสือภูเขาของแบรนด์ SCOTT
ซึ่งชายผู้นี้คือ Grant Petersen นักออกแบบจักรยานและผู้อำนวยการตลาดของแบรนด์ Bridgeston Cycle ในสาขาอเมริกา ซึ่งเขาเป็นผู้ออกแบบจักรยานทัวริ่งรุ่น XO โดยในภายหลัง เขาจะออกมาตั้งแบรนด์ Rivendell Bicycle Works แบรนด์รับสั่งตัดเฟรมจักรยานเหล็กโครโมลี่ชื่อดังของอเมริกา

หลังจากการวางจำหน่ายรถจักรยานเสือภูเขาคันแรกของแบรนด์ SCOTT ในปี 1986 Charley French ก็ถือโอกาสได้เข้ามาช่วยออกแบบอุปกรณ์จักรยาน ซึ่ง ณ เวลานั้น แบรนด์ SCOTT ได้ว่าจ้างอีกหนึ่งนักประดิษฐ์ นั้นคือ Boone Lennon ผู้ซึ่งเป็นทั้งนักจักรยานและโค้ชสกีอัลไพน์ของทีมชาติสหรัฐ

ในวันหนึ่ง หลังจาก Charley French และ Boone Lennon กลับมาจากการแข่งขันจักรยาน Boone Lennon กล่าวกับ Charley French ว่าเขามีแนวคิดบางอย่างเกี่ยวกับแฮนด์รถจักรยาน และเขาไม่รอช้าใช้ไม้ขึ้นรูปเป็นแฮนด์จักรยานตัวต้นแบบ ที่พอนำไปติดในจักรยานแล้ว ตัวนักปั่นจะหมอบลงไปใกล้กับตัวจักรยาน ทำให้สามารถลดแรงต้านของลมได้
ซึ่งแนวคิดนี้เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากเทคนิคการลงเขาของนักสกีอัลไพน์ หรือเรียกอย่างเป็นทางการว่า “หลักการแอร์โรไดนามิค (Aerodynamics)” นั่นเอง

Charley French และ Boone Lennon นำแฮนด์ตัวต้นแบบไปทดสอบ ที่ถนนบนภูเขา Timmerman Hill โดยทั้งคู่จะนั่งบนจักรยานของตนเองและปล่อยให้รถจักรยานสองคันลงเขาโดยไม่ปั่น แล้วรอจนกว่ารถจักรยานจะหยุด ซึ่งนี้เป็นวิธีทดสอบอุโมงค์ลม โดยไม่ต้องใช้อุโมงค์ลม ของสองอัจฉริยะ

ผลลัพธ์ทำให้ Charley French และ Boone Lennon ต้องทึ่ง เมื่อจักรยานที่ติดตั้งแฮนด์ตัวต้นแบบ สามารถนำหน้ารถจักรยานที่ไม่ใส่ได้กว่า 6 คันรถจักรยาน และเพื่อความแน่นอน พวกเขาจึงทดสอบซ้ำอีกหลายครั้ง แต่ก็ได้ผลลัพธ์เช่นเดิม นี้จึงเป็นต้นกำเนิดของ “แอโร่บาร์ (Aerobar) ชิ้นแรกของโลก”

และภายในปี 1986 Charley French วัย 60 ปี ได้นำแอโร่บาร์ ที่ในตอนนี้ถูกขึ้นรูปโดยใช้อลูมิเนียมแล้ว ไปใช้ลงแข่งขันไตรกีฬาที่ฮาวาย ซึ่งการแข่งขันในครั้งนั้น เขาสามารถเข้าเส้นชัยได้เป็นอันดับที่หนึ่งและยังทำลายสถิติสนามในรุ่นอายุของเขาอีกด้วย หลังจากนั้น นักไตรกีฬามืออาชีพต่างเรียกหาและต้องการแอโร่บาร์ของตัวเอง

ณ เวลานั้น เป็นปีเดียวกับที่ Greg Lemond นักจักรยานมืออาชีพชาวอเมริกันสามารถคว้าแชมป์ Tour de France ในปี 1986 ได้เป็นสมัยแรก และในปีต่อมา Greg Lemond ได้ประสบอุบัติเหตุถูกปืนลูกซองยิงเข้าขณะออกไปล่าสัตว์ และเหตุการณ์นี้ทำให้เขาต้องออกจากวงการจักรยานไปกว่า 2 ปี จนผู้คนต่างบอกว่าเขาอาจจะต้องลาจากวงการจักรยาน

“นักแข่งที่ไม่ควรจะชนะกลับมาพลิกชนะได้อย่างเหลือเชื่อ” – Boone Lennon
อย่างไรก็ตาม Boone Lennon เชื่อมั่นในตัวของ Greg Lemond เป็นอย่างมาก เขาเดินทางไปหา Greg Lemond ด้วยตัวเองและโน้มน้าวให้ติดตั้งแอโร่บาร์บนจักรยานของ Greg Lemond และนี้จะเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้แอโร่บาร์โด่งดังไปทั่วโลก
ณ งานแข่งจักรยาน Tour de France ปี 1989 Greg Lemond ต้องตกที่นั่งลำบากเมื่อเวลารวมในการแข่งของเขา ห่างจากคู่แข่งชาวฝรั่งเศสที่มีดีกรีเป็นถึงอดีตแชมป์ Tour de France อย่าง Laurent Fignon ถึง 50 วินาที ซึ่งเหล่าผู้ชมต่างให้เสียงเป็นทิศทางเดียวกันว่า Greg Lemond ไม่สามารถที่จะเอาชนะ Laurent Fignon ลงได้แล้ว แม้ว่าจะเหลือสเตจเก็บคะแนน Time Trial สุดท้าย

อย่างไรก็ตาม เมื่อ Greg Lemond ได้ติดตั้งแอโร่บาร์ ที่ Charley French ขึ้นรูปมาให้เองกับมือ ในสเตจ Time Trial สุดท้าย ส่งผลให้ผลการแข่งขันพลิกอย่างเหลือเชื่อ โดย Greg Lemond สามารถคว้าแชมป์สมัยที่ 2 ในรายการ Tour de France ในปี 1989 ได้สำเร็จ และมีเวลารวมนำ Laurent Fignon ไปกว่า 8 วินาที

นักแข่งที่ใช้แอโร่บาร์ มักจะถูกล้อเลียนและหัวเราะใส่ว่าเหมือนกับท่านั่งส้วม แต่เมื่อ Greg Lemond ชนะในสเตจสุดท้าย ก็ไม่มีใครกล้าหัวเราะอีกต่อไป

ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็นการจุดกระแสการใช้แอโร่บาร์ในการแข่งขัน Time Trial และไตรกีฬา ที่เราเห็นกันอยู่ในยุคปัจจุบัน โดย Boone Lennon เคยให้สัมภาษณ์ว่า “นักแข่งที่ไม่ควรจะชนะกลับมาพลิกชนะได้อย่างเหลือเชื่อ ส่วนนักแข่งที่แพ้จะโทรมาสั่งซื้อแอโร่บาร์ และในอาทิตย์ต่อ ๆ มาเราผลิตมันแทบไม่ทัน”
หลังจากนั้นแบรนด์ SCOTT ได้บุกเข้าวงการจักรยานอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถเรียงนวัตกรรมตามปีที่ออกมาได้ดังนี้
- ในปี 1991: แบรนด์ SCOTT เปิดตัวโช๊คจักรยานเสือภูเขา ที่ใช้ชื่อว่า Unishock

- ในปี 1992: แบรนด์ SCOTT เปิดตัวจักรยานเสือภูเขารุ่น Ultimate CST ที่มาพร้อมกับโช๊คหน้าและหลัง (หรือเรียกว่า Full Suspension) และต่อมาได้เปิดตัวรองเท้าและหมวกจักรยานภายในปีเดียวกัน

- ในปี 1995: แบรนด์ SCOTT เปิดตัวจักรยานเสือภูเขาคาร์บอนคันแรกของแบรนด์ ในชื่อที่ถูกเรียกว่า Project Endorphin ซึ่งถูกนำไปใช้คว้าแชมป์ในสนาม World Cup และการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกหลายสมัย จนกลายเป็นอีกหนึ่งตำนานของแบรนด์ SCOTT

- ในปี 1998: แบรนด์ SCOTT เปิดตัว G-Zero จักรยานเสือภูเขาแบบ Full Suspension ที่มีน้ำหนักเบาที่สุดในโลก ณ เวลานั้น ซึ่งกลายมาเป็นบรรทัดฐานใหม่ของวงการจักรยานเสือภูเขา

- ในปี 2001 ถึงปี 2003: ทีมออกแบบของแบรนด์ SCOTT เสนอแผนการออกแบบเฟรมจักรยานเสือหมอบที่มีน้ำหนักเบาที่สุดในโลก (น้ำหนักเบากว่า 1 กก.) และในปี 2003 แบรนด์ SCOTT เปิดตัวเฟรมจักรยานเสือหมอบในชื่อรุ่น CR1 ซึ่งมีน้ำหนักเบาที่สุดในวงการจักรยานเพียง 895 กรัม

- ในปี 2003: ภายในปีเดียวกัน แบรนด์ SCOTT เปิดตัวจักรยานเสือภูเขาแนวคิดใหม่ภายใต้ชื่อว่า Genius ซึ่งเป็นจักรยานเสือภูเขาแบบ Full Suspension ที่สามารถปรับโหมดของโช๊คอัพหลังได้ 3 ระดับ ทำให้เป็นข่าวดัง ณ ช่วงเวลานั้น รวมทั้งการตอกย้ำความสำเร็จของรุ่น Genius ด้วย Thomas Frischknecht ที่นำไปคว้าแชมป์งาน Cross-Country Marathon (XCM) World Championships ปี 2003

- ในปี 2005: แบรนด์ SCOTT เปิดตัวจักรยานไตรกีฬาน้ำหนักเบาที่สุดในโลกอย่างรุ่น PLASMA ที่เป็นการต่อยอดเทคโนโลยีจากรุ่น CR1 โดยมีน้ำหนักเฟรมเพียง 980 กรัม

- ในปี 2007: แบรนด์ SCOTT เปิดตัวเฟรมจักรยานเสือหมอบรุ่น Addict ที่มีน้ำหนักเบาเพียง 790 กรัม และหลักอานหนัก 165 กรัม เมื่อรวมกับตะเกียบหน้าคาร์บอนที่ใช้เทคโนโลยีการขึ้นรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า Carbon IMP ซึ่งทำให้ตะเกียบหน้ามีน้ำหนักเพียง 330 กรัม เมื่อประกอบขึ้นเป็นคันสามารถรีดน้ำหนักให้เหลือเพียง 5.9 กก. เท่านั้น

- ในปี 2007: ภายในปีเดียวกัน แบรนด์ SCOTT ได้เปิดตัวจักรยานเสือภูเขาคาร์บอนรุ่น Spark ที่นำเอาเทคโนโลยีการขึ้นเฟรมแบบ IMP (Integrated Molding Process) ของรุ่น CR1 มาใช้ ทำให้รุ่น Spark กลายเป็นจักรยานเสือภูเขาแบบ Full Suspension ที่มีน้ำหนักเบาที่สุดในโลก

- ในปี 2010: แบรนด์ SCOTT เปิดตัวเทคโนโลยี Twin Loc ที่ใช้สำหรับปรับโหมดโช๊คอัพ ซึ่งในครั้งนี้สามารถปรับควบคุมได้ทั้งโช๊คหน้าและโช๊คหลัง

- ในปี 2011: แบรนด์ SCOTT เปิดตัวจักรยานเสือภูเขาแบบ Hardtail (หรือเเบบมีโช้คอัพด้านหน้าอย่างเดียว) ในชื่อรุ่นว่า Scale ซึ่งสร้างสถิติเฟรมรถจักรยานเสือภูเขาที่เบาที่สุดที่เคยมีมา ซึ่งมีน้ำหนักต่ำกว่า 899 กรัม

- ในปี 2011: ภายในปีเดียวกัน แบรนด์ SCOTT เปิดไลน์รถจักรยานไฟฟ้า (E-Bike) โดยร่วมมือกับ Bosch บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์จากเยอรมัน

- ในปี 2012: แบรนด์ SCOTT เป็นแบรนด์แรกที่ตระหนักถึงความสำคัญของล้อรถจักรยานเสือภูเขาขนาด 27.5 นิ้ว และนำมาปรับใส่ให้กับรุ่น Scale 700 และ Genius 700 โดยแชมป์โลกอย่าง Nino Schurter ได้นำรุ่น Scale 700 RC ไปคว้าแชมป์ ณ งานแข่งขัน UCI XCO World Cup ปี 2012

- ในปี 2013: แบรนด์ SCOTT เปิดตัว SCOTT Addict SL ชุดเฟรมเสือหมอบ ที่มีน้ำหนักรวมทั้งตะเกียบและหลักอานไม่ถึง 1 กก. ด้วยความลับทางเทคโนโลยีอย่าง HMX-SL Carbon Fiber ซึ่งเป็นคาร์บอนไฟเบอร์ที่ดีที่สุดในตลาด โดยใช้นาโนเทคโนโลยีในการผลิต

- ในปี 2014: แบรนด์ SCOTT ร่วมมือกับ Schoeller บริษัทสิ่งทอจากสวิสเซอร์แลนด์ ออกแบบเนื้อผ้าที่ทนทานต่อการขีดข่วนและเสียดสี ซึ่งจะช่วยลดรอยถลอกและบาดแผล เมื่อเกิดอุบัติเหตุณ์ขณะปั่นจักรยาน โดยเนื้อผ้าจะทอขึ้นจากเส้นด้ายคาร์บอนและเซรามิก ซึ่งเทคโนโลยีนี้ถูกเรียกว่า ITD ProTec

- ในปี 2014: ภายในปีเดียวกัน แบรนด์ SCOTT สานต่อจักรยานไตรกีฬา PLASMA รุ่นที่ 5 ซึ่งถือได้ว่าเป็นการพัฒนาล่าสุดของจักรยานไตรกีฬาและจักรยาน Time Trial โดยมีการออกแบบเฟรมแบบแอร์โรไดนามิค ประกอบกับช่องเก็บอุปกรณ์แบบล้ำสมัย และสามารถปรับแต่งได้หลากหลายตามสรีระของนักกีฬา

- ในปี 2016: Nino Schurter และ Jenny Rissveds สองนักแข่งจากทีม SCOTT-Odlo MTB Racing ชนะทั้งเหรียญทองโอลิมปิกและ XCO World Championships ซึ่งถือได้ว่าเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของแบรนด์ SCOTT

- ในปี 2017: แบรนด์ SCOTT เปิดตัว SCOTT FOIL จักรยานเสือหมอบแอโรว์ดิสเบรค ที่เบาที่สุดในวงการจักรยาน และยังเปิดตัวรุ่นสานต่อ Genius จักรยานเสือภูเขาแบบ Full Suspension ที่ในครั้งนี้เฟรมมีน้ำหนักเพียง 2,249 กรัม รวมทั้งเปิดตัวจักรยานเสือภูเขาไฟฟ้า E-Genius



- ในปี 2017: ภายในปีเดียวกัน แชมป์โลกอย่าง Nino Schurter สามารถคว้าแชมป์ UCI XCO World Cup ได้อีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตำนาน เนื่องจาก เขาสามารถเข้าเส้นด้วยอันดับที่หนึ่งในทุกสเตจ

- ในปี 2019: แบรนด์ SCOTT เดินหน้าเข้าสู่สนามดาวน์ฮิลล์ โดยส่ง The Gambler จักรยานดาวน์ฮิลล์คาร์บอนคันแรกของแบรนด์ ที่ทำให้ทีม SCOTT DH Factory สามารถเข้าแชมป์ 3 สเตจ ณ งานแข่งขัน UCI MTB World Cup ภายในปีแรกที่เริ่มเข้าสู่วงการจักรยานดาวน์ฮิลล์

และในปัจจุบัน แบรนด์ SCOTT ยังคงไม่ละทิ้งความเป็นผู้นำนวัตกรรมและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในวงการกีฬาจักรยาน โดยคงแนวคิดตั้งต้นที่ว่า ทุกผลิตภัณฑ์ต้องมีหัวใจหลักเป็น “นวัตกรรม – เทคโนโลยี – และการออกแบบ”

ในตอนหน้า ตอนสุดท้าย เราจะพาทุกท่านไปพบกับนวัตกรรมรองเท้าวิ่งของแบรนด์ SCOTT กัน โปรดติดตามตอนต่อไปครับ
อ่านต่อตอนที่ 3: นวัตกรรมรองเท้าวิ่งของแบรนด์ SCOTT ได้ที่นี่
สามารถติดตาม Running Profiles ได้ทั้งใน