พื้นโฟม Skechers Hyperburst คืออะไร และเป็นโฟมที่ล้ำสมัยที่สุดในตลาดตอนนี้จริงหรือ ?

Related Articles

วันนี้เราจะมาแปลบทสัมภาษณ์ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ Skechers Performance ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์จากร้านขายรองเท้าชื่อดังของอเมริกาอย่าง Running Warehouse ให้ผู้ที่รักการวิ่งได้อ่านกันครับ

บทสัมภาษณ์ของ Connor จาก Running Warehouse ที่ได้ไปสัมภาษณ์ Kurt Stockbridge ผู้ซึ่งเป็นรองประธานฝ่ายพัฒนาและออกแบบรองเท้าของแบรนด์ Skechers โดยได้ถามถึงรายละเอียดและที่มาของหนึ่งในพื้นโฟมที่ดีที่สุดในตลาดตอนนี้อย่าง Skechers Hyperburst

(ซ้าย) Connor จาก Running Warehouse และ (ขวา) Kurt Stockbridge เป็นรองประธานฝ่ายพัฒนาและออกแบบรองเท้าของแบรนด์ Skechers ผู้ซึ่งเคยทำงานกับ Nike มากว่า 25 ปี

Kurt Stockbridge กล่าวว่า “พื้นโฟม Hyperburst เป็นสิ่งที่พิเศษกว่าโฟม EVA ในรองเท้าวิ่งทั่วไป (รวมถึงโฟมของ Skechers ที่มีชื่อว่า ULTRA FLIGHT) โดยปกติขั้นตอนการผลิตโฟม EVA จะเริ่มจากวัสดุ EVA ตั้งต้น ที่มีลักษณะเป็นของแข็ง เมื่อได้รับความร้อนที่สูงจะทำให้วัสดุ EVA หลอมจนมีสถานะเป็นของเหลว จากนั้นจึงขึ้นรูปโดยใช้สารเคมีขึ้นรูปหรือสารช่วยฟู (Blowing agent) เมื่อสารช่วยฟูได้รับความร้อนและความดัน มันจะสลายตัวเกิดเป็นฟองก๊าซแทรกอยู่ในเนื้อโพลิเมอร์ ซึ่งทำให้พื้นขยายตัวและภายในมีฟองก๊าซเล็ก ๆ แทรกอยู่ในเนื้อโฟม แม้ว่าจะส่งผลให้มีน้ำหนักที่เบาขึ้น แต่ยังคงมีความหนาแน่นของมวลที่มากอยู่ดี”

โฟม ULTRA FLIGHT ของ Skechers ที่มีน้ำหนักที่เบา แต่ยังคงมีความหนาแน่นของเนื้อมวลที่มากอยู่ดี

แต่ในพื้นโฟม Hyperburst (ที่ใช้เวลาในการพัฒนาและวิจัยกว่า 3 ปี) จะผลิตด้วยกรรมวิธีการที่แตกต่างออกไป โดยเป็นการนำเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมแพ็คสินค้า (Packing Industry) มาใช้ โดยเทคโนโลยีนี้ถูกเรียกว่า Supercritical Fluid Technology ซึ่งหลักการของมันคือ การนำวัสดุ EVA ที่ไม่ได้ผสมสารเคมีขึ้นรูปหรือสารช่วยฟู (Blowing agent) เข้าไปในเครื่องอัดแรงดัน โดย Kurt Stockbridge ให้พวกเราจินตนาการว่า มันเป็นหม้ออันแรงดันสูง (Pressure Cooker) จากนั้นก็เติมแก๊สคาร์บอนไดออกไซต์ (CO2) และแก๊สไนโตรเจน

แก๊สคาร์บอนไดออกไซต์ (CO2) และแก๊สไนโตรเจน ซึ่งทั้งสองอยู่ในสถานะของแก๊ส จึงไม่สามารถซึมเข้าไปรวมกับวัสดุ EVA ได้ แต่ถ้าเราให้ความร้อนและความดันแก่พวกมัน จนมันถึงจุดที่เรียกว่า Supercritical State ซึ่งคือจุดที่แก๊สมีสถานะเป็นทั้งของเหลวและแก๊ส โดยจุดนี้เองที่จะทำให้พวกแก๊สสามารถซึมเข้าไปรวมกับวัสดุ EVA ได้ เมื่อแก๊สซึมเข้าไปแล้ว จึงทำการลดความดันและอุณหภูมิ ส่งผลให้คาร์บอนไดออกไซต์ (CO2) ต้องกลับไปเป็นแก๊สอีกครั้ง ทำให้มันขยายตัวเต็มพื้น EVA จนออกมาเป็นพื้นโฟม Hyperburst นั่นเอง

(ซ้าย) วัสดุ EVA ขั้นต้นที่ไม่ได้ผสมสารเคมีขึ้นรูปหรือสารช่วยฟู (Blowing agent) ซึ่งมีลักษณะเป็น EVA ใส และ (ขวา) พื้นโฟม Hyperburst หลังจากผ่านขั้นตอนการผลิต

สิ่งที่ทำให้โฟม Hyperburst เหนือกว่าโฟม EVA ทั่วไปคือโครงสร้างภายในโฟมที่มีลักษณะเป็นรูพรุนขนาดใหญ่ทั่วทั้งพื้น ส่งผลให้มีน้ำหนักที่เบาเป็นอย่างมาก ทั้งยังมีความยืดหยุ่นที่สูง รับแรงกระแทกได้ดีซึ่งเกิดจากโครงสร้างที่เป็นรูพรุนคอยช่วยพยุงซึ่งกันและกัน นั่นคือความมหัศจรรย์ของโฟม Hyperburst

โครงสร้างภายในโฟม Hyperburst ที่มีลักษณะเป็นรูพรุนขนาดใหญ่ทั่วทั้งพื้น

ในท้ายของการสัมภาษณ์ครั้งนี้ Connor ได้ถามคำถามที่น่าสนใจคำถามหนึ่ง นั้นคือ “พื้น Hyperburst มันให้ความรู้สึกอย่างไรเวลาสวมใส่และขณะวิ่งมันให้ประสบการณ์แบบไหน ?” Kurt Stockbridge กล่าวว่า “นักวิ่งรักอยู่ 2 สิ่ง คือ หนึ่งคือเรื่องของน้ำหนัก ซึ่งพื้นโฟม Hyperburst มีน้ำหนักที่เบามาก รวมทั้งยังตอบสนองและส่งแรงได้ดีกว่า EVA ทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ แต่สิ่งที่เราได้ยินจากนักวิ่งคือ ความรู้สึกที่แตกต่างจากพื้นรองเท้าอื่น มันทั้งนุ่มและส่งแรงได้ดี เพราะโฟมในท้องตลาดทั่วไปจะมีลักษณะที่ ถ้าโฟมมีความนุ่มมากเกินไป ก็จะทำให้ส่งแรงได้ไม่ดี และสองคือ ไม่ทำให้กล้ามเนื้อล้าหรือรู้สึกเหนื่อยล้าหลังจากการวิ่ง นักวิ่งถึงกับกล่าวว่า “ผมพึ่งจบจากการแข่งขันมาราธอน และผมไม่รู้สึกเมื่อยล้าเลย ตอนนี้ผมพร้อมที่จะลงแข่งต่อ ในงานถัดไปแล้ว” ซึ่งนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับโฟม Hyperburst เลย”

แอดมินหวังว่าบทความนี้เป็นจะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิ่งหรือผู้ที่สนใจในการวิ่งหลาย ๆ ท่าน ถ้าหากท่านใดมีคำถามสามารถเข้าไปถามได้ในเพจ FB: Running Profiles ได้เลยครับ ถ้าอ่านแล้วชอบก็ฝากกดไลค์และติดตามเพจด้วยครับ เราจะมีบทความดี ๆ แบบนี้ให้อ่านตลอดครับ ขอให้วิ่งให้สนุกครับ

ข้อมูลอ้างอิง:

More on this topic

Popular stories

Training Plan