รองเท้าวิ่งเทรลและรองเท้าเดินป่ามีรูปร่างลักษณะและการใช้งานที่ค่อนข้างคล้ายกัน ทั้งยังมีคุณสมบัติที่ใกล้เคียงกัน เช่น ออกแบบมาเพื่อให้ใช้กับเส้นทางทรุกันดาร ดังนั้นจึงเกิดความสับสนให้นักวิ่งหลายท่านว่า สรุปแล้วรองเท้าทั้ง 2 ชนิดนี้มันแตกต่างกันอย่างไร และเอาอะไรเป็นเกณฑ์ในการแบ่งประเภทของรองเท้าทั้งสอง วันนี้เราจะพานักวิ่งทุกท่านมาเข้าใจนิยามของรองเท้าทั้ง 2 ประเภทนี้กันครับ โดยเริ่มจาก
การวิ่งเทรล (Trail Running) Vs การเดินป่า (Hiking/Trekking)

การวิ่งเทรล (Trail running) นั้นคล้ายคลึงกับการวิ่งปกติทั่วไป แต่ต่างตรงที่เส้นทางในการวิ่ง โดยการวิ่งเทรลจะวิ่งอยู่ในทางทรุกันดารหรือเส้นทางเทรลแทนที่จะเป็นการวิ่งบนถนนทางเรียบอย่างถนนยางมะตอยหรือถนนคอนกรีต ซึ่งทางเทรลนั้นก็จะมีอุปสรรคที่แตกต่างและหลากหลาย เช่น ทางดินแห้ง ทางหิน ทางโคลน ทางเปียกแฉะ หรือทางขึ้นเขาลงเขา รวมทั้งมีการจัดเตรียมพื้นที่และอุปสรรค หรือกำหนดระยะทาง เพื่อนำไปไว้ซ้อมสำหรับการแข่งขันวิ่งเทรล
ในทางกลับกัน การเดินป่า (Hiking/Trekking) จะเปรียบเสมือนการเดินออกกำลังทั่วไป แต่เดินอยู่ในเส้นทางทรุกันดารหรือเส้นทางเทรลนั้นเอง โดยการเดินป่าจะไม่มีการกำหนดระยะทาง ซึ่งจะไปไกลแค่ไหน ขึ้นอยู่กับที่ใจของนักเดินป่ากำหนด นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ว่า เวลาเราเห็นโฆษณารองเท้าเดินป่าของหลาย ๆ แบรนด์ เรามักจะพบเจอกับรูปผู้คนที่สะพายกระเป๋าเป้ (Backpack) กำลังเดินขึ้นไปบนยอดเขา
รวมทั้ง นักเดินป่า (Hikers) จะต้องพบเจอกับทางเทรลที่ทรุกันดารและไม่สามารถคาดการสภาพอากาศได้ ดังนั้นพวกเขาจึงจำเป็นต้องพกสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ รวมไปถึงอาหารและของกินติดตัวไปด้วยในกระเป๋าเสมอ (เพราะในต่างประเทศบางครั้งนักเดินป่าต้องพกเต็นท์หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ติดตัวไปด้วย ซึ่งมีน้ำหนักกว่า 20 กก. ก็มีมาแล้ว)
จากนิยามที่แตกต่างกันระหว่าง การวิ่งเทรลและการเดินป่า ตอนนี้ผู้อ่านคงสามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจนแล้วว่า ทั้งสองกิจกรรมนั่นต่างก็อยู่ในทางเทรล แต่แตกต่างกันที่กิจกรรมที่ทำ โดยการวิ่งเทรลคือการวิ่ง แต่ในส่วนของการเดินป่าก็คือการเดินนั่นเอง
ดังนั้น รองเท้าของทั้งสองกิจกรรมนี้จึงแตกต่างกัน ในด้านของการออกแบบ เพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์ในการใช้งาน โดยเราจะมาอธิบายถึงความแตกต่างกันครับ
คุณสมบัติของรองเท้าวิ่งเทรล (Trail Running Shoes)

1. หน้าผ้าที่เบาและระบายอากาศได้ดี
ในส่วนของหน้าผ้าของรองเท้าวิ่งเทรล จะทำมาจากผ้าที่ระบายอากาศและระบายน้ำได้ดี เพราะการวิ่งเทรลอาจจะมีในบางครั้งที่นักวิ่งจะต้องวิ่งลุยน้ำหรือโคลน
2. ดอกยางที่ค่อนข้างสั้นและเกาะพื้นได้ดี รวมทั้งมีแผ่นรองกันหิน (Rock Plate)
ดอกยางส่วนใหญ่ของรองเท้าวิ่งเทรลจะมีลักษณะเป็นดอกยางที่สั้นและอ่อน (ยกเว้นดอกยางประเภท Muddy and Soft Terrain หรือดอกยางสำหรับทางโคลน) เพื่อใช้ในการยึดเกาะได้ทุกสภาพพื้นผิว ซึ่งทำให้รองเท้ามีน้ำหนักที่เบาขึ้น รวมทั้งมีการเสริมแผ่นรองกันหิน (Rock Plate) เอาไว้สำหรับป้องกันหินแหลมคมหรือกิ่งไม้
3. Drop ของรองเท้าที่ค่อนข้างต่ำ
รองเท้าวิ่งเทรลส่วนมากต้องการความเสถียรและต้องตอบสนองไว เพราะนักวิ่งไม่รู้ว่าข้างหน้าจะมีอุปสรรคอะไรบ้าง ดังนั้นรองเท้าเทรลจะมี Drop อยู่ที่ระหว่าง 0 – 8 มม. แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 4 มม. ซึ่งเป็น Drop มาตรฐานของรองเท้าวิ่งเทรล
4. ล็อคส้นเท้าได้เป็นอย่างดีและหน้าเท้าที่ค่อนข้างกว้าง
ถ้าหากลองนำรองเท้าวิ่งเทรลมาเปรียบเทียบกับรองเท้าวิ่งถนน จะพบว่ารองเท้าวิ่งเทรลส่วนใหญ่บริเวณส้นเท้าจะกระชับกว่ารองเท้าถนน เพื่อให้เวลาขึ้นเขาแล้วรองเท้าไม่หลุดจากเท้า รวมไปถึงหน้าเท้าที่กว้างกว่า เพื่อให้เท้าขยายตัวได้อย่างเต็มที่
คุณสมบัติของรองเท้าเดินป่า (Hiking/Trekking Shoes)

1. หน้าผ้ากันน้ำ
โดยปกติรองเท้าเดินป่ามักจะมาพร้อมกับหน้าผ้าที่กันน้ำ ซึ่งมีน้ำหนักที่มากกว่าหน้าผ้าปกติของรองเท้าเทรล เพราะการเดินป่าต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันในการเดิน ซึ่งไม่สามารถคาดการสภาพอากาศหรือลมฝนได้ ดังนั้นหากน้ำเข้าไปในรองเท้าอาจจะเกิดปัญหาใหญ่ได้ เพราะต้องใช้เวลานานกว่าจะแห้ง
2. เกาะพื้นได้ทุกสภาพถนน
รองเท้าเดินป่าจะมีดอกยางที่สูงและลึก รวมทั้งเกาะพื้นได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้สามารถเดินลุยเข้าไปในทางโคลนได้เป็นอย่างดี
3. พื้นที่ไม่ยืดหยุ่นและความนุ่มที่ค่อนข้างมาก
รองเท้าเดินป่าจะมีการปกป้องเท้าที่ดีเยี่ยม โดยไม่สนใจในเรื่องของน้ำหนักหรือวัสดุ ซึ่งพื้นรองเท้าของรองเท้าเดินป่าจะไม่ค่อยยืดหยุ่นหรืองอได้มากนัก รวมทั้งพื้นโฟมที่ค่อนข้างหนาและนุ่ม ทำให้เวลาเหยียบไปโดนหินจะไม่ค่อยรู้สึก
4. Drop ของรองเท้าที่ค่อนข้างสูง
รองเท้าเดินป่าส่วนใหญ่เน้นไปที่การเดินเป็นหลัก ดังนั้นรองเท้าเดินป่าจะมี Drop อยู่ที่ระหว่าง 8 – 12 มม. เพื่อใช้ในการเดินที่เน้นลงส้นเท้าอยู่ตลอดเวลา
5. เสริมข้อเท้าป้องกันเท้าพลิก
รองเท้าเดินป่าจะมีการปกป้องข้อเท้าที่ดีกว่ารองเท้าเทรล โดยส่วนใหญ่จะมีการเสริมหน้าผ้าขึ้นมาบริเวณข้อเท้า เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อเท้าพลิกง่าย
รองเท้าวิ่งเทรล (Trail Running Shoes) Vs รองเท้าเดินป่า (Hiking/Trekking Shoes)

รองเท้าเทรลและรองเท้าเดินป่าทั้งคู่ต่างก็ถูกใช้ในทางทรุกันดาร ซึ่งนั้นคือเหตุผลว่าทำไมรองเท้าทั้งสองประเภทถึงมีดอกยางที่สูงและเกาะพื้นได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ รองเท้าเดินป่าจะมีดอกยางที่สูงกว่าและมีความนุ่มของพื้นโฟมที่มากกว่า รวมทั้งมีการเสริมหน้าผ้าให้หุ้มข้อเท้าเพื่อป้องกันข้อเท้าพลิก
รองเท้าเดินป่าส่วนใหญ่ยังมีความทนทานและน้ำหนักที่มากกว่ารองเท้าเทรล เนื่องจากใช้วัสดุที่ค่อนข้างหนาและทนทานกว่า รวมทั้งโดยส่วนใหญ่จะต้องใช้เวลาในการ Break-in ที่นานกว่า เพื่อให้รองเท้าใส่สบายขึ้น
ในส่วนของรองเท้าเทรลจะมีน้ำหนักที่เบากว่า เพื่อวัตถุประสงค์ในการทำความเร็ว เนื่องจากรองเท้าเทรลส่วนใหญ่จะทำจากวัสดุที่มีน้ำหนักเบาและบาง จึงทำให้ไม่เหมาะกับสภาพอากาศที่หนาวเย็น อย่างไรก็ตามรองเท้าเทรลแทบจะไม่ต้องใช้เวลาในการ Break-in
รองเท้าวิ่งเทรลและรองเท้าเดินป่าใส่สลับกันได้ไหม?
รองเท้าวิ่งเทรลและรองเท้าเดินป่าต่างก็มีวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกัน แต่ในบางครั้งหรือบางสถานการณ์คุณก็สามารถนำมาใช้สลับกันได้ ยกตัวอย่างเช่น นักเดินป่าที่แบกกระเป๋าที่น้ำหนักเบาหรือไม่ได้พกสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ มา ซึ่งการใส่รองเท้าวิ่งเทรลก็จะเหมาะสม เพราะมีน้ำหนักที่เบา อย่างไรก็ตาม ถ้าหากต้องพกสัมภาระเป็นจำนวนมาก รองเท้าเดินป่าจะเหมาะสมกว่า หรือหารองเท้าเดินป่าที่มีน้ำหนักเบา เพราะรองเท้าเดินป่าเหล่านี้จะมีการปกป้องข้อเท้า (เท้าพลิก) ได้ดีกว่า รวมไปถึงมีความนุ่มที่มากกว่า
ในส่วนของนักวิ่งเทรลก็สามารถนำรองเท้าเดินป่าน้ำหนักเบามาใช้งานได้ในบางสถานการณ์ เช่น ทางที่ทรุกันดารมาก ๆ หรือวันที่สภาพอากาศหนาวเย็น อย่างไรก็ตามรองเท้าเดินป่าจะทำให้นักวิ่งเทรลวิ่งได้ช้าลงไป เพราะน้ำหนักของรองเท้า แต่ความเร็วคงไม่สำคัญมากนัก ถ้าหากคุณไม่ได้กำลังอยู่ในการแข่งขัน
แอดมินหวังว่าบทความนี้เป็นจะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิ่งหรือผู้ที่สนใจในการวิ่งหลาย ๆ ท่าน ถ้าหากท่านใดมีคำถามสามารถเข้าไปถามได้ในเพจ FB: Running Profiles ได้เลยครับ ฝากกดไลน์และติดตามเพจด้วยครับ ขอให้วิ่งให้สนุกครับ
ข้อมูลอ้างอิง