สรุปรองเท้าวิ่งเทรลและผลการแข่งขันรายการแข่ง UTMB ปี 2021 ทุกระยะ (ฝ่ายชาย) ตอนที่ 1

Related Articles

วันนี้เรามาต่อกันที่สรุปรองเท้าวิ่งเทรลและผลการแข่งขันรายการแข่ง UTMB ปี 2021 ของฝ่ายชาย ตอนที่ 1 กันบ้าง ที่ในบทความนี้เราจะเริ่มกันที่ระยะหลักอย่าง UTMB (171 กม.) กันก่อน ซึ่งพวกเขาจะเป็นใครกันบ้างนั้น และสวมใส่รองเท้าวิ่งเทรลรุ่นอะไร รวมทั้งเหตุผลที่ Xavier Thévenard และ Jim Walmsley ต้องออกจากการแข่งขัน เชิญติดตามได้เลยครับ

ปล. นักวิ่งท่านใดที่จะไม่ได้อ่าน สรุปรองเท้าวิ่งเทรลและผลการแข่งขันรายการแข่ง UTMB ปี 2021 ของฝ่ายหญิง ตอนที่ 1 สามารถเข้าไปอ่านได้ที่นี่เลยครับ

เกริ่นก่อนเข้าบทความ

รองเท้าวิ่งเทรลมีหลากหลายประเภท ซึ่งมีทั้งรองเท้าสำหรับแข่งขันและตัวซ้อมแทนตัวแข่ง รวมไปถึงรองเท้าวิ่งเทรลสำหรับสันทนาการทั่วไป โดยสามารถแบ่งรายละเอียดแบบสั้นๆ ได้ดังนี้

  • รองเท้าวิ่งเทรลสำหรับแข่งขัน จะถูกออกแบบมาให้มีน้ำหนักที่เบาที่สุดของแบรนด์ ไม่ได้เน้นความทนทานในการใช้งานเป็นประจำทุกวัน และส่วนใหญ่จะออกแบบมาเพื่อนักแข่งคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
  • รองเท้าวิ่งเทรลสำหรับซ้อมแทนตัวแข่ง จะถูกออกแบบมาให้มีลักษณะองศาต่างๆ ของรองเท้าที่คล้ายกับรองเท้าสำหรับแข่ง แต่จะเป็นการเปลี่ยนวัสดุให้มีความทนทานและเหมาะกับการใช้ซ้อมประจำวันมากยิ่งขึ้น
  • รองเท้าวิ่งเทรลสำหรับสันทนาการทั่วไป เป็นรองเท้าวิ่งเทรลอเนกประสงค์ที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย โดยโดดเด่นด้านความทนทานสูงและไม่ได้มีน้ำหนักที่เบา

ซึ่งนักวิ่งที่ลงแข่งขันอาจจะไม่ได้สวมใส่รองเท้าสำหรับแข่งขันเสมอไป เพราะรองเท้าตัวแข่งจะเป็นการออกแบบที่เฉพาะตัวบุคคลเกินไป ทำให้ในหลายๆ ครั้ง เราจะเห็นว่านักแข่งสวมใส่รองเท้าวิ่งเทรลสำหรับสันทนาการทั่วไปลงแข่งและติดอันดับ 1 ถึง 3 อยู่เสมอ เนื่องจากพวกเขาสวมใส่แล้วรู้สึกสบายและสามารถทำความเร็วในแบบของพวกเขาได้

ฉะนั้น รองเท้าวิ่งเทรลตัวแข่งทุกคู่อาจจะไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคนเสมอไปนะครับ

ตัวอย่างรองเท้าวิ่งเทรลสำหรับแข่งขัน, รองเท้าวิ่งเทรลสำหรับซ้อมแทนตัวแข่ง, และรองเท้าวิ่งเทรลสำหรับสันทนาการทั่วไป

ระยะ UTMB (Ultra Trail du Mont Blanc)

ระยะ UTMB หรือ Ultra Trail du Mont Blanc เป็นการแข่งขันระยะทางไกลและเป็นการแข่งขันหลักที่ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2003 โดยเส้นทางการแข่งขันจะเป็นการวิ่งรอบเทือกเขา Mont Blanc ที่เส้นทางจะผ่าน 3 ประเทศ ได้แก่ประเทศฝรั่งเศส อิตาลี และสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งในปัจจุบันการแข่งขันมีระยะทาง 171 กม. และมีความชันสะสมกว่า 10,000 เมตร

แผนที่การแข่งขัน UTMB ระยะ UTMB

โดยนักวิ่งชาย 3 อันดับแรกของระยะ UTMB มีดังนี้

อันดับที่ 1 François D’Haene

  • อายุ: 35 ปี
  • Performance Index: 923
  • เวลา: 20 ชั่วโมง 45 นาที 59 วินาที
  • สังกัดทีม: SALOMON
  • รองเท้า: Salomon S/LAB Prototype

François D’Haene เขาเป็นทั้งนักวิ่งเทรลอาชีพชาวฝรั่งเศส, นักกายภาพบำบัด, และคุณพ่อลูกสาม, รวมทั้งผู้ผลิตและเจ้าของโรงงานผลิตไวน์แบรนด์ Domaine du Germain ที่อาศัยอยู่ ณ รัฐ Beaujolais ซึ่งเป็นรัฐที่ขึ้นชื่อในด้านของการผลิตไวน์ชั้นเยี่ยมของประเทศฝรั่งเศส ที่ไวน์ในเขตนี้จะใช้องุ่นพันธุ์ Gamay ซึ่งเป็นองุ่นสายพันธุ์เก่าแก่ที่มีมากในรัฐ Beaujolais

ความรู้เพิ่มเติม จุดเด่นขององุ่นพันธุ์ Gamay คือเป็นองุ่นที่มีเปลือกบางและมีสารแทนนินที่ต่ำ ทำให้เนื้อสัมผัสของไวน์ที่ออกมามีลักษณะที่บางเบา ไม่ข้น หรืออีกความหมายหนึ่งก็คือ มีปริมาณแอลกอฮอล์ที่ต่ำ ทำให้ดื่มง่าย และในส่วนของสารแทนนิน (หรือสารรสขมที่พบมากในชาและกาแฟ) ที่ต่ำมีข้อดีคือ ไม่เกิดอันตรายกับผู้ที่มีปัญหาขาดสารอาหาร เนื่องจากสารแทนนินจะไปยึดจับกับสารอาหารต่างๆ โดยเฉพาะธาตุเหล็ก ส่งผลให้ร่างกายนำสารอาหารไปดูดซึมได้ยากขึ้น

ไวน์แบรนด์ Domaine du Germain ของ François D’Haene และภรรยา

ซึ่ง François D’Haene เติบโตมากับการแข่งขันกรีฑาและการแข่งขันวิ่งครอสคันทรี่ ตลอดจนกิจกรรมกลางแจ้งอย่างการปั่นจักรยาน, สกี, และการปีนเขา แต่ทั้งหมดเป็นสิ่งที่เขาไม่ได้ชื่นชอบมันมากนัก ซึ่งเขากล่าวว่า “มันเป็นการแข่งขันที่ถูกจำกัดอยู่ในกรอบเกินไปและการฝึกซ้อมต่างๆ ก็ไม่มีอิสระเสรี ทุกอย่างต้องอยู่ในแผนไปหมด ซึ่งมันไม่ตรงกับความปรารถนาของผมที่ต้องการความเป็นอิสระและอยู่กับธรรมชาติ ฉะนั้น ผมจึงเลือกที่จะหยุดกีฬาประเภทอื่นและหันไปวิ่งเทรลระยะทางไกลตามสัญชาตญาณที่ได้กำลังบอกผม”

เคยมีบทสัมภาษณ์หนึ่งถามเขาว่าอะไรคือเป้าหมายสูงสุดในอาชีพนักกีฬาและในชีวิตของเขา โดยเขาได้ตอบอย่างไม่ลังเลว่า “ผมวิ่งและฝึกซ้อมเพื่อให้ทุกๆ วันเป็นวันที่มีความสุขก็เท่านั้น”

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงได้ค้นพบเส้นทางที่สามารถผสมผสานระหว่างความหลงไหลในภูเขาและความเพลิดเพลินในการแข่งขัน ที่ได้ท่องเที่ยวและค้นพบสิ่งใหม่ๆ ระหว่างทางอยู่เสมอ นั่นแหละคือวิถีชีวิตในแบบที่เขาต้องการ

นอกจากนี้ เขายังมีคำกล่าวติดปากที่ว่า “เมื่อผมได้เริ่มลงมือทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ผมจะต้องทำมันให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

ส่งผลให้ผลงานในสนามแข่งขันวิ่งเทรลของเขาถือได้ว่ามีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก โดยเขาสามารถคว้าแชมป์ในสนามแข่งมากมายไม่ว่าจะเป็น Le Grand Raid De La Réunion (168 กม.) ในปี 2018, Madeira Island Ultra-Trail (117 กม.) ในปี 2019, LA PASTOURELLE – Trail du Grand Cirque (51 กม.) ในปี 2019, Échappée Belle (148 กม.) ในปี 2019 และรายการแข่งอื่นๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน

แต่หนึ่งในรายการแข่งขันที่สร้างชื่อให้แก่เขาเป็นอย่างมาก นั่นคือ การเป็นเจ้าของแชมป์รายการแข่ง UTMB ระยะ UTMB สามสมัย ในปี 2012, 2014, และ 2017

และในปี 2021 นี้ ก่อนที่การแข่งขัน UTMB จะเริ่มขึ้นเพียง 1 เดือน เขาพึ่งไปคว้าแชมป์งานแข่ง Hardrock 100 (ระยะทาง 161.7 กม.) แบบวิ่งทวนเข็มนาฬิกา ณ รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 17 กรกฎาคม ที่ผ่านมา และเป็นการทำลายสถิติของสนามแข่งทั้งแบบวิ่งตามเข็มและทวนเข็มนาฬิกาด้วยเวลา 21 ชั่วโมง 45 นาที 50 วินาที

ความรู้เพิ่มเติม งานแข่ง Hardrock 100 ในแต่ละปีที่ถูกจัดขึ้น สนามแข่งจะเป็นการสลับเส้นทางวิ่งระหว่างการวิ่งตามเข็มและทวนเข็มนาฬิกา ซึ่งจะไม่ซ้ำกันในแต่ละปี โดยสถิติเดิมแบบวิ่งทวนเข็มนาฬิกาเคยทำไว้โดย Kilian Jornet ด้วยเวลา 23 ชั่วโมง 28 นาที 00 วินาที ในปี 2015 และสถิติแบบวิ่งตามเข็มนาฬิกาก็ถูกทำไว้โดย Kilian Jornet ด้วยเวลา 22 ชั่วโมง 41 นาที 33 วินาที ในปี 2014

แผนที่สนามแข่ง Hardrock 100

และในรายการแข่ง UTMB ปีนี้ เขาลงแข่งขันในระยะ UTMB และเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่หนึ่งของฝ่ายชายอีกครั้ง (อันดับที่ 1 Overall) ด้วยเวลา 20 ชั่วโมง 45 นาที 59 วินาที ซึ่งเป็นการคว้าแชมป์สมัยที่ 4 ของเขา และถือได้ว่าเป็นชายคนแรกของโลกที่สามารถคว้าแชมป์รายการแข่ง UTMB ได้มากถึง 4 สมัย

ในรายการแข่ง UTMB ปี 2021 นี้ François D’Haene ลงแข่งขันในระยะ UTMB และเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่หนึ่งของฝ่ายชายอีกครั้ง ซึ่งเป็นการคว้าแชมป์สมัยที่ 4 ของเขา

ในส่วนรองเท้าที่เขาใช้คือ รองเท้า Salomon ตัวต้นแบบที่ยังไม่มีข้อมูลออกมามากนัก โดยรองเท้าตัวต้นแบบคู่นี้มีลักษณะของพื้นชั้นกลางที่คล้ายกับรองเท้าวิ่งเทรลระยะไกลรุ่นใหม่อย่าง Salomon Ultra Glide เป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ ในส่วนของพื้นชั้นกลางที่รองเท้าตัวต้นแบบจะมีรอยแบ่งของพื้นอย่างชัดเจน ที่คาดว่าทาง Salomon ได้ติดตั้งแผ่นคาร์บอนสำหรับส่งแรงไว้ระหว่างกลางของพื้นชั้นกลาง รวมถึงลวดลายของดอกยางที่แตกต่างกัน

รองเท้าตัวต้นแบบคู่นี้มีลักษณะของพื้นชั้นกลางที่คล้ายกับรองเท้าวิ่งเทรลระยะไกลรุ่นใหม่อย่าง Salomon Ultra Glide เป็นอย่างมาก แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ ในส่วนของพื้นชั้นกลางที่รองเท้าตัวต้นแบบจะมีรอยแบ่งของพื้นอย่างชัดเจนและลวดลายของดอกยางที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ ข้อมูลในต่างประเทศที่ได้ลองสัมผัสตัวจริงในวันงานแข่งกล่าวว่า เมื่อเขาได้ลองงอรองเท้าดูแล้ว แต่ไม่สามารถงอได้ ตรงกลางดูเหมือนมีแผ่นแข็งๆ บางอย่าง และน้ำหนักของรองเท้าที่เขาสัมผัส ดูเหมือนว่าจะมีน้ำหนักราวๆ 260 ถึง 280 กรัมอีกด้วย

และในส่วนของหน้าผ้าที่มีลักษณะเป็นหน้าผ้ายืดแบบหุ้มข้อ ในส่วนนี้ทางเรายังไม่สามารถยืนยันได้ว่ารองเท้าที่จะวางจำหน่ายจริงจะมีหน้าผ้าแบบเดียวกันหรือไม่ เพราะว่ารองเท้าต้นแบบในอดีตของแบรนด์ Salomon อย่างตัวต้นแบบของ Salomon S/LAB Sense 5 ในปี 2016 ที่ทำให้แก่ Kilian Jornet ก็มีหน้าผ้ายืดแบบหุ้มข้อ ซึ่งทำออกมาเพียงเพื่อปิดบังรายละเอียดอื่นๆ เท่านั้น

(ซ้าย) รองเท้าต้นแบบของ S/LAB Sense 5 SG และ (ขวา) S/LAB Sense 5 SG ที่วางจำหน่ายจริงในปี 2016
รองเท้า Salomon ตัวต้นแบบของ Kilian Jornet ในอดีตก็มีหน้าผ้ายืดแบบหุ้มข้อ ซึ่งทำออกมาเพียงเพื่อปิดบังรายละเอียดอื่นๆ เท่านั้น

ในส่วนของกำหนดการเปิดตัวรองเท้าต้นแบบคู่นี้ ทางเราคาดว่าน่าจะราวๆ อีกประมาณ 1 ถึง 2 ปี ซึ่งถ้าหากเราลองย้อนกลับไปดูรองเท้าตัวต้นแบบที่หลุดออกมาของแบรนด์ Salomon จะพบว่า Salomon S/LAB Pulsar ของ Kilian Jornet หลุดออกมาครั้งแรกในสนามแข่ง Sierre Zinal ในปี 2019 และเพิ่งวางจำหน่ายจริงในเดือนมกราคมปี 2021 ที่ผ่านมา

และ Salomon S/LAB Cross ของ Stian Anguermund ถูกพัฒนาในช่วงปี 2018 ก่อนที่จะวางจำหน่ายในปี 2020 ซึ่งจะสังเกตได้ว่าส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่ประมาณ 2 ปี ก่อนที่จะมีวางจำหน่าย แต่ก็ไม่แน่ว่าในปีหน้าเราอาจจะเห็นข้อมูลต่างๆ เพิ่มมากขึ้น

2
3
4
5
1
previous arrow
next arrow
Shadow

อันดับที่ 2 Aurelien Dunand-pallaz

  • อายุ: 28 ปี
  • Performance Index: 869
  • เวลา: 20 ชั่วโมง 58 นาที 31 วินาที
  • สังกัดทีม: TEAM COMPRESSPORT
  • รองเท้า: Scarpa Spin Infinity

Aurelien Dunand-pallaz เขาคือนักวิ่งเทรลไฟแรงชาวฝรั่งเศสวัย 28 ปี ที่อดีตฝึกฝนการเล่นฟุตบอลมาถึง 10 ปี และอีก 8 ปี ในการแข่งขันสกีอัลไพน์ จนกระทั่งในปี 2012 ที่เขาได้เริ่มเข้าสู่การแข่งขันกีฬาสกีบนภูเขาและได้ค้นพบว่าตัวของเขานั้นได้ตกหลุมรักธรรมชาติบนภูเขา

ทำให้ภายในปี 2012 เขาได้ตระเวนลงแข่งรายการแข่งขันวิ่งเทรลทั่วประเทศฝรั่งเศส และหลังจากนั้นเพียง 1 ปี เขาในวัย 21 ปี ได้ฉายแววเด่น โดยการคว้าแชมป์ในกลุ่มประเภทรุ่นเยาวชนของรายการแข่ง Championnat de France de trail ในปี 2013 ซึ่งเป็นรายการแข่งขันวิ่งเทรลประจำปีที่ถูกจัดขึ้นโดยสหพันธ์กรีฑาประเทศฝรั่งเศส

ก่อนที่ต่อมาเขาจะกระโดดเข้าสู่การแข่งขันสุดดุเดือดอย่าง Sky Running World Series หลายต่อหลายครั้ง และเป็นในปี 2017 ที่เขาสามารถคว้าเหรียญเงินในรายการแข่ง Ultra SkyMarathon Madeira (54 กม.) ซึ่งเหรียญทองในครั้งนั้นคือ Jonathan Albon นักวิ่งเทรลมากประสบการณ์จากสหราชอาณาจักร ที่ชนะรายการแข่งขัน Sky Running World Series ถึง 3 รายการ (ซึ่ง Jonathan Albon ในปี 2021 นี้ เขาก็ลงแข่ง UTMB และสามารถคว้าแชมป์ในระยะ OCC)

โดยปกติ Aurelien Dunand-pallaz มักจะลงแข่งขันในระยะทางที่ไม่เกิน 100 กม. ซึ่งเป็นระยะทางที่เขาช่ำชองที่สุด แต่ในปีนี้ เขาเลือกที่จะลงแข่งขันในระยะ UTMB (171 กม.) ซึ่งเป็นการลงแข่งระยะทางไกลที่สุดครั้งแรกของเขา

และในการแข่งขันครั้งนี้ เขาสามารถเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่สองของฝ่ายชาย (อันดับที่ 2 Overall) ด้วยเวลา 20 ชั่วโมง 58 นาที 31 วินาที

Aurelien Dunand-pallaz ลงแข่งขันรายการแข่ง UTMB ปี 2021 ในระยะ UTMB และเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่สองของฝ่ายชาย

ในส่วนรองเท้าที่เขาใช้คือ Scarpa Spin Infinity รองเท้าวิ่งเทรลตัวแข่งระยะไกลรุ่นใหม่จากแบรนด์ Scarpa แบรนด์อุปกรณ์ปีนเขา วิ่งเทรลและสกีเก่าแก่อีกหนึ่งแบรนด์จากประเทศอิตาลี ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1938 และมีสำนักงานใหญ่อยู่ ณ เมือง Asolo ประเทศอิตาลี (ซึ่งก่อตั้งหลังแบรนด์ La Sportiva เพียง 10 ปี และมีสำนักงานใหญ่อยู่ห่างกันเพียง 113 กม.)

โดยรองเท้า Scarpa Spin Infinity ถูกออกแบบให้เป็นรองเท้าวิ่งเทรลที่มีความนุ่มและสามารถรองรับแรงกระแทกได้ดีที่สุด เพื่อใช้ในการซ้อมและแข่งขันระยะทางไกลรุ่นใหม่ของแบรนด์ Scarpa

ซึ่งมาพร้อมกับพื้นชั้นกลางวัสดุ EVA ความหนาแน่นสองส่วน (Dual-density EVA) ที่ประกอบด้วยเนื้อโฟมความหนาแน่นต่ำบริเวณฐาน (โฟมสีฟ้า) ที่มีความนุ่ม ซึ่งมีหน้าที่ซับแรงกระแทกขณะวิ่ง และเนื้อโฟมความหนาแน่นสูงบริเวณด้านบน (โฟมสีดำ) ที่ถูกเรียกว่า Foot Stabilizer Control system ที่ช่วยเพิ่มความเสถียรมั่นคงและช่วยลดอาการบิดตัวของรองเท้า

Scarpa Spin Infinity รองเท้าวิ่งเทรลตัวแข่งระยะไกลรุ่นใหม่จากแบรนด์ Scarpa

ในส่วนของดอกยางจะเป็นดอกยาง Vibram MegaGrip สูง 4 มม. และในส่วนหน้าผ้าจะเป็นหน้าผ้า Mesh ที่มีการสกรีนโครงฟิล์ม PU แบบ 3 มิติรอบตัวรองเท้าและมาพร้อมกับที่เก็บเชือกบริเวณลิ้นรองเท้า

ซึ่งแน่นอนว่า ณ เวลานี้ รองเท้าวิ่งเทรลของแบรนด์ Scarpa ยังไม่มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย

ข้อมูลจำเพาะของ Scarpa Spin Infinity

  • หน้าผ้า Mesh พร้อมสกรีนโครงฟิล์ม PU แบบ 3 มิติ และที่เก็บเชือกบริเวณลิ้นรองเท้า
  • พื้นชั้นกลาง Dual-density CMEVA
  • มาพร้อมกับเทคโนโลยี Foot Stabilizer Control System
  • ดอกยาง Vibram MegaGrip (ดอกสูง 4 มม.)
  • น้ำหนัก: 305 ในไซส์ 42EU ชาย และ 270 กรัม ในไซส์ 38EU หญิง
  • Offset: 4 มม. (ปลายเท้าสูง 22 มม. และส้นเท้าสูง 26 มม.)
  • มีเฉพาะหน้าเท้าปกติ (D)
  • ราคา: $149 (ประมาณ 4,8xx บาท ในไทยยังไม่ได้นำเข้ามาจำหน่าย)
6
7
8
9
10
previous arrow
next arrow
Shadow

อันดับที่ 3 Mathieu Blanchard

  • อายุ: 33 ปี
  • Performance Index: 847
  • เวลา: 21 ชั่วโมง 12 นาที 43 วินาที
  • สังกัดทีม: SALOMON
  • รองเท้า: Salomon S/LAB Ultra 3

Mathieu Blanchard เขาคืออีกหนึ่งนักวิ่งเทรลชาวฝรั่งเศส (ในปีนี้ 5 อันดับแรกของระยะ UTMB ล้วนเป็นนักวิ่งชาวฝรั่งเศส) โดยเขาเกิดและเติบโตทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ก่อนที่ต่อมาครอบครัวของเขาจะย้ายไปที่เกาะ Guadeloupe ซึ่งเป็นหมู่อาณานิคมโพ้นทะเลของประเทศฝรั่งเศส ที่ตั้งอยู่ในเขตทะเลแคริบเบียน เพื่อสร้างศูนย์ดำน้ำ

ทำให้เขาในอดีตคลุกคลีอยู่กับกีฬาทางน้ำเป็นส่วนใหญ่ แม้กระทั่งในปัจจุบัน เขาก็ยังทำอาชีพเป็นครูสอนการดำน้ำและการเล่นเซิร์ฟบอร์ด ซึ่งในอดีตเขาไม่เคยสนใจในกีฬาที่ต้องใช้ความอดทนเลย เพราะเขาไม่เข้าใจว่าทำไมคนเหล่านั้นต้องทำให้ตัวเองทุกข์ไปเพื่ออะไร

แต่สิ่งที่ทำให้เขาหันมาสู่การวิ่งเทรลเกิดขึ้นในปี 2014 หลังจากจบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ เขาได้เริ่มต้นอาชีพการเป็นวิศวกร ณ เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา และเริ่มใช้ชีวิตแบบเสเพลและจัดปาร์ตี้มากมาย จนทำให้สุขภาพของเขาเริ่มทรุดโทรม

เขาจึงตัดสินใจหากีฬาเพื่อสุขภาพ เนื่องจากในประเทศแคนาดา การดำน้ำและการเล่นเซิร์ฟเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ดังนั้น การวิ่งจึงเป็นสิ่งที่ง่ายที่สุดที่ทำได้ ทำให้ในทุกวันอาทิตย์ เขาก็จะออกไปวิ่งอยู่เสมอ จนทำให้เขาได้เริ่มหลงใหลในการวิ่ง

และจากการวิ่งเพื่อสุขภาพ มันได้กลายมาเป็นการลงแข่งขันงานแข่งมาราธอนงานใหญ่ของโลก ที่ไม่ว่าจะเป็นงานแข่ง Boston Marathon, New York Marathon, Montreal Marathon, Toronto Marathon และ Ottawa Marathon

Mathieu Blanchard ตัดสินใจหากีฬาเพื่อสุขภาพ โดยเลือกที่จะวิ่งเพื่อสุขภาพ แต่ในภายหลังมันได้กลายมาเป็นการลงแข่งขันงานแข่งมาราธอนงานใหญ่ของโลก

จนกระทั่งในปี 2016 เพื่อนของเขาได้เชิญชวนให้เขาไปวิ่งเทรล ซึ่งเป็นงานแข่งที่มีระยะทางเพียงแค่ 20 กม. ณ รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา ซึ่งเป็นรัฐที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความสวยงามและความอดุมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และนั่นทำให้เขาได้ตกหลุมรักเป็นครั้งที่สอง

ปลายปี 2016 เขาคว้าแชมป์งานแข่ง Ultra-Trail Harricana du Canada (80 กม.) หลังจากคว้าแชมป์ เขาได้บังเอิญไปเห็นโพสของ François D’Haene บน Facebook และได้เข้าไปติดตามบน YouTube จนได้พบการวิดีโองานแข่ง UTMB ซึ่งเขาถึงกับเอ่ยปากว่า “สักวันหนึ่ง ผมจะทำแบบนั้นบ้าง”

โพสของ François D’Haene บน Facebook ในเดือนธันวาคมปี 2016 มีเนื้อหารับสมัครนักวิ่งไปเข้าค่ายพิเศษของทางแบรนด์ Salomon ที่มีชื่อว่า Salomon Trail Running Academy ซึ่งในตอนนั้น เขาคิดว่าเขาจะไม่สมัครเพราะว่า เขาพึ่งลงแข่งได้เพียงงานแข่งเดียว และคงมีคำถามมากมายจากทางแบรนด์ Salomon ว่าคุณเป็นนักวิ่งแบบไหนกัน? อะไรคือแรงบันดาลใจของคุณ?

ค่ายพิเศษของทางแบรนด์ Salomon ที่มีชื่อว่า Salomon Trail Running Academy

แต่ในค่ำคืนนั้น เขาได้นึกถึงคำถามต่างๆ เหล่านี้ จนในตอนเช้า เขาก็ได้คำตอบทั้งหมด ทำให้เขาไม่รอช้า ตัดสินใจกรอกแบบฟอร์มแล้วส่งไปให้แก่แบรนด์ Salomon

จากนั้นเขาก็ลืมมันไป จนกระทั้งปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2017 เขาได้รับอีเมลตอบกลับจากทางแบรนด์ Salomon ว่าเขาถูกเลือกให้ไปเข้าค่าย Salomon Trail Running Academy ซึ่ง ณ เวลานั้น เขาอธิบายว่า “ผมจำได้ว่า ณ ตอนนั้น ผมอยู่ในห้องทำงานกับเพื่อนวิศวกรที่กำลังนั่งทำงานในออฟฟิศอยู่เต็มห้อง และเมื่อผมได้อ่านอีเมล ผมก็กระโดดและตะโกนดังลั่นห้อง ทุกๆ คนในออฟฟิศต่างหันมามองหน้าผมแบบว่าเกิดอะไรขึ้นน่ะ?”

หลังจากได้ไปเข้าค่าย ทางแบรนด์ Salomon ก็ได้อธิบายว่า พวกเขาไม่ได้เลือกนักวิ่งจากความเป็นมืออาชีพ แต่พวกเขามองหานักวิ่งที่มีศักยภาพและมีบุคลิกภาพที่ดี ซึ่งผู้ผ่านเกณฑ์ในครั้งนั้นมีทั้งหมด 14 คน แบ่งเป็นนักวิ่งชาย 7 คน และนักวิ่งหญิงอีก 7 คน โดยพวกเขาจะไปเข้าค่ายที่เมือง Moab รัฐยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 1 สัปดาห์

และเมื่อสิ้นสัปดาห์ ทางแบรนด์ Salomon จะเสนอการเป็นสปอนเซอร์หลักให้แก่นักวิ่งชายเพียง 1 คน และนักวิ่งหญิงอีก 1 คน ซึ่ง Mathieu Blanchard เขาคือชายคนนั้น

และในปี 2018 เขาได้ลงแข่งขันรายการแข่ง UTMB ระยะ UTMB เป็นครั้งแรก และจบลงด้วยอันดับที่ 13 ซึ่งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เขาก็ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากมายจากผู้จัดการทีม Salomon รวมไปถึงการได้พบปะและพูดคุยกับ François D’Haene และ Kilian Jornet ที่ได้ให้คำแนะนำดีๆ แก่เขา

จนในปี 2019 เขาตัดสินใจออกจากการทำงานเป็นวิศวกรที่ต้องทำงาน 8 โมงเช้าและเลิกงาน 6 โมงเย็น ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ โดยเขากล่าวว่า “ถ้าผมต้องการเป็นนักวิ่งที่มีศักยภาพสูง ผมต้องหยุดการทำงานแบบนี้ เพราะการฝึกซ้อมของนักวิ่งระยะไกลจำเป็นต้องฝึกซ้อมอย่างหนักในแต่ละอาทิตย์ ซึ่งถ้าผมต้องฝึกซ้อมในเวลาเช้าตรู่ แล้วเกิดง่วงนอนหลังจากกลับมา ผมก็จะต้องนอน ซึ่งในที่ทำงานคุณไม่สามารถทำแบบนั้นได้ และแม้ว่าการออกจากงานครั้งนี้ ครอบครัวของผมจะไม่เห็นด้วยอย่างถึงที่สุดก็ตาม”

Mathieu Blanchard ตัดสินใจออกจากการทำงานเป็นวิศวกร เพื่อทุ่มเทเวลาทั้งหมดให้แก่การแข่งขันวิ่งเทรล

แต่เพราะผมหลงใหลในการวิ่งเทรลมาก ทำให้ในทุกๆวัน ผมจะคิดถึงศักยภาพที่ผมสามารถไปถึงได้และผมก็กำลังพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งในทุกๆ วัน ที่ผมฝึกซ้อม ผมจะรู้สึกดีขึ้นกว่าเมื่อวานเสมอ”

ณ ตอนนี้ผมได้สร้างวิถีชีวิตใหม่ที่สามารถปรับตารางเวลาชีวิตให้เข้ากับการฝึกซ้อมได้ โดยให้เวลากับการวิ่งเป็นอันดับแรก ซึ่งนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสามปีที่ผ่านมา”

โดยในปี 2021 นี้ เขาได้ลงแข่งขันในรายการแข่ง UTMB ระยะ UTMB อีกครั้ง และสามารถเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่สามของฝ่ายชาย (อันดับที่ 3 Overall) ด้วยเวลา 21 ชั่วโมง 12 นาที 43 วินาที

Mathieu Blanchard ลงแข่งขันรายการแข่ง UTMB ปี 2021 ในระยะ UTMB และเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่สามของฝ่ายชาย

ในส่วนรองเท้าที่เขาใช้คือ Salomon S/LAB Ultra 3 รองเท้าวิ่งเทรลตัวแข่งระยะไกลที่ถูกออกแบบและร่วมพัฒนาโดย François D’Haene บนพื้นฐานของการวิ่งลงกลางเท้าและส้นเท้าเป็นหลัก ซึ่งจะต่างจาก S/Lab ตระกูล Sense ของ Kilian Jornet ที่ถูกออกแบบมาให้เหมาะกับการวิ่งลงปลายเท้า

สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดของ Salomon S/LAB Ultra 3 และรองเท้าวิ่งเทรล Salomon รุ่นอื่นๆ แบบเต็มๆ ได้ที่นี่เลยครับ

ข้อมูลจำเพาะของ Salomon S/Lab Ultra 3

  • หน้าผ้า Anti-debris Mesh แบบหุ้มข้อ (Integrated Gaiter)
  • มาพร้อมกับระบบมัดเชือกแบบ Quicklace + ช่องเก็บสายบริเวณลิ้นรองเท้า (Quicklace Garage)
  • พื้นชั้นกลาง EnergyCell+ และ Energy Save (โฟม PU บริเวณปลายเท้า)
  • มาพร้อมกับแผ่นรองกันหิน Profeel Film แบบคาร์บอน
  • ดอกยาง Contagrip MA (ดอกสูง 4 มม.)
  • น้ำหนัก: 289 กรัม ในไซส์ 9US Unisex
  • Offset: 8.6 มม. (ปลายเท้าสูง 18.2 มม. และส้นเท้าสูง 26.8 มม.)
  • มีเฉพาะหน้าเท้าปกติ (D)
  • ราคา: 6,550 บาท วางจำหน่ายแล้วในประเทศไทย
6
7
8
9
10
11
previous arrow
next arrow
Shadow

Xavier Thévenard และ Jim Walmsley ทำไมถึงออกจากการแข่งขัน?

(ซ้ายสุด) Jim Walmsley และ (ขวาสุด) Xavier Thévenard ในรายการแข่งขัน UTMB ปี 2021

Xavier Thévenard นักวิ่งเทรลชาวฝรั่งเศสและเจ้าของแชมป์ 3 สมัยของรายการแข่ง UTMB ระยะ UTMB ในปี 2013, 2015 และ 2018 ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลที่เขาต้องออกจากการแข่งขันในปีนี้ว่า

“ผมทำได้ดีในช่วงเริ่มต้นของการแข่งขัน แต่ก่อนที่จะถึงจุดพัก Les Contamines-Montjoie ที่กิโลเมตรที่ 31 ผมเริ่มรู้สึกถึงสัญญาณที่ไม่ดีในร่างกายของผม และในตอนที่ผมกำลังวิ่งขึ้นยอดเขา Col du Bonhomme ที่กิโลเมตรที่ 39 ผมรู้สึกได้ทันทีว่าพลังงานในร่างกายของผมลดลงอย่างกระทันหัน”

“ขาของผมไม่มีเรี่ยวแรง ราวกับว่ามีคนมาปิดสวิตซ์ การจะไปต่อในระยะทางไกลที่เหลือเป็นเรื่องที่ยากมาก ระยะทางที่วิ่งผ่านมา ผมวิ่งไปพร้อมกับอาการโรคข้ออักเสบ (Lyme Disease) ซึ่งเป็นเหตุผลที่ผมต้องออกจากการแข่งขันในปีนี้”

Xavier Thévenard ในรายการแข่งขัน UTMB ปี 2021

โรคข้ออักเสบ (Lyme Disease) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Borrelia ที่แพร่โดยตัวเห็บ ซึ่งเห็บชนิดนี้มีจำนวนมากในประเทศแถบยุโรปตอนกลางและทางตอนใต้ของแสกนดิเนเวีย โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะถูกมันกัดในช่วงเดือนเมษายนถึงตุลาคม ซึ่งหลังจากการติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการที่พบบ่อยได้แก่ อาการข้ออักเสบ (อาการข้อบวมร่วมกับมีน้ำในข้อและเคลื่อนไหวข้อลำบาก) และโดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะอักเสบบริเวณข้อเข่ามากถึง 95 เปอร์เซ็นต์

แม้ว่าในปีนี้เขาจะต้องออกจากการแข่งขันไป แต่เขายืนยันว่าในปีหน้าถ้าไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ (โรคข้ออักเสบ) เขาจะกลับมาลงแข่งขันอีกแน่นอน

ซึ่งรองเท้าที่เขาเลือกใช้ในปีนี้ คือ ON Cloudflow 2 อดีตรองเท้าวิ่งถนนตัวแข่งระยะมาราธอน ที่ตั้งแต่รุ่นที่สองในปี 2020 (ซึ่งตอนนี้มีรุ่นที่สามแล้วของปี 2021) ถูกเปลี่ยนตำแหน่งใหม่ให้กลายมาเป็นรองเท้าวิ่งถนนสำหรับซ้อมทำความเร็ว (Lightweight Trainer) แทน

(ซ้าย) ON Cloudflow 2 ในปี 2020 และ (ขวา) ON Cloudflow 3 ในปี 2021

ปล. ON Cloudflow 3 มีความแตกต่างกันในส่วนของหน้าผ้าที่ได้รับการปรับปรุงใหม่และลวดลายของดอกยาง รวมทั้งมีรุ่นหน้าเท้ากว้างให้เลือกอีกด้วย ซึ่งในส่วนของพื้นชั้นกลางยังคงเป็นแบบเดียวกับในรุ่นที่สอง

ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจอยู่พอสมควรที่เขาเลือกใช้รองเท้าถนนลงแข่งขันรายการแข่งวิ่งเทรลที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง UTMB แทนที่จะเลือกใช้รองเท้าวิ่งเทรลคู่อื่นในแบรนด์ ON อย่าง Cloudventure Peak หรือ CloudUltra ที่มักจะเห็นในรูปที่เขาใส่ซ้อมอยู่เป็นประจำ

ข้อมูลจำเพาะของ ON Cloudflow 2

  • หน้าผ้า Engineered mesh
  • พื้นชั้นกลาง Helion แบบ Cloudtec 18 pods
  • มาพร้อมกับแผ่น Speedboard
  • ดอกยาง CloudTec rubber
  • น้ำหนัก: 235 กรัม ในไซส์ 9US ชาย และ 204 กรัม ในไซส์ 8US หญิง
  • Offset: 6 มม. (ปลายเท้าสูง 16 มม. และส้นเท้าสูง 22 มม.)
  • มีเฉพาะหน้าเท้าปกติ (D)
  • ราคา: 5,200 บาท (ปัจจุบันมีรุ่นที่ 3 แล้ว)
35
36
37
38
39
40
previous arrow
next arrow
Shadow

ในส่วนของ Jim Walmsley นักวิ่งเทรลชาวอเมริกันและเจ้าของแชมป์ Western States 100 สามสมัยซ้อนในปี 2018, 2019, และ 2021 ต้องออกจากการแข่งขันไปเพราะความล้าของร่างกายและอาการบาดเจ็บที่เกิดจากการลงแข่ง Western State 100 และการไปเป็น Pacer ให้แก่ François D’Haene ในงานแข่ง Hardrock 100 ที่ผ่านมา แต่ก็ดูเหมือนว่าเขาจะมีแผนกลับมาลงแข่ง UTMB อีกครั้งในปีหน้า

Jim Walmsley ในรายการแข่งขัน UTMB ปี 2021

ซึ่งรองเท้าที่เขาเลือกใช้ในปีนี้ยังคงเป็น Hoka One One Evo Speedgoat รองเท้าวิ่งเทรลตัวแข่งระยะไกลคู่ใจของเขา ที่สร้างผลงานในสนามแข่งมาอย่างมากมาย

ข้อมูลจำเพาะของ Hoka One One Evo Speedgoat

  • หน้าผ้า MATRYX
  • พื้นชั้นกลาง CMEVA
  • ดอกยาง Vibram MegaGrip (ดอกยางสูง 5 มม.)
  • น้ำหนัก: 280 กรัม ในไซส์ 9US ชาย และ 225 กรัม ในไซส์ 8US หญิง
  • Offset: 4 มม. (ปลายเท้าสูง 28 มม. และส้นเท้าสูง 32 มม.)
  • มีเฉพาะหน้าเท้าปกติ (D)
  • ราคา: 6,490 บาท วางจำหน่ายแล้วในประเทศไทย
40
41
42
43
44
45
previous arrow
next arrow
Shadow

และสำหรับบทความสรุปรองเท้าวิ่งเทรลและผลการแข่งขันรายการแข่ง UTMB ปี 2021 ทุกระยะ (ฝ่ายชาย) ตอนที่ 1 ทางเราต้องขอจบไว้ ณ ตรงนี้ และในบทความในตอนต่อๆ ไปจะเป็นของฝ่ายชายในระยะ MCC (40 กม.), OCC (56 กม.), CCC (101 กม.), TDS (145 กม.), และ PTL (300 กม.) ซึ่งพวกเขาจะเป็นใครกันบ้างนั้น และสวมใส่รองเท้าวิ่งเทรลรุ่นอะไร โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

และขอฝากเอาไว้อีกครั้งว่า รองเท้าวิ่งเทรลตัวแข่งทุกคู่อาจจะไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคนทุกท่านเสมอไปนะครับ ความชอบเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ซึ่งรองเท้าวิ่งเทรลสำหรับสันทนาการทั่วไปก็ไม่ได้หมายความว่าจะใส่ลงแข่งขันไม่ได้นะครับ

หวังว่าบทความนี้เป็นจะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิ่งหรือผู้ที่สนใจในการวิ่งหลาย ๆ ท่าน ขอให้วิ่งให้สนุกครับ และสามารถติดตาม Running Profiles ได้ทั้งใน

More on this topic

Popular stories

Training Plan