สรุปรองเท้าวิ่งเทรลและผลการแข่งขันรายการแข่ง UTMB ปี 2021 ทุกระยะ (ฝ่ายชาย) ตอนที่ 2

Related Articles

วันนี้เรามาต่อกันที่สรุปรองเท้าวิ่งเทรลและผลการแข่งขันรายการแข่ง UTMB ปี 2021 ของฝ่ายชาย ตอนที่ 2 กันนะครับ ที่ในบทความนี้เราจะต่อกันที่ระยะ TDS (145 กม.) ซึ่งพวกเขาจะเป็นใครกันบ้างนั้น และสวมใส่รองเท้าวิ่งเทรลรุ่นอะไร เชิญติดตามได้เลยครับ

ปล. นักวิ่งท่านใดที่จะไม่ได้อ่าน สรุปรองเท้าวิ่งเทรลและผลการแข่งขันรายการแข่ง UTMB ปี 2021 ของฝ่ายชาย ตอนที่ 1 สามารถเข้าไปอ่านได้ที่นี่เลยครับ

เกริ่นก่อนเข้าบทความ

รองเท้าวิ่งเทรลมีหลากหลายประเภท ซึ่งมีทั้งรองเท้าสำหรับแข่งขันและตัวซ้อมแทนตัวแข่ง รวมไปถึงรองเท้าวิ่งเทรลสำหรับสันทนาการทั่วไป โดยสามารถแบ่งรายละเอียดแบบสั้นๆ ได้ดังนี้

  • รองเท้าวิ่งเทรลสำหรับแข่งขัน จะถูกออกแบบมาให้มีน้ำหนักที่เบาที่สุดของแบรนด์ ไม่ได้เน้นความทนทานในการใช้งานเป็นประจำทุกวัน และส่วนใหญ่จะออกแบบมาเพื่อนักแข่งคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
  • รองเท้าวิ่งเทรลสำหรับซ้อมแทนตัวแข่ง จะถูกออกแบบมาให้มีลักษณะองศาต่างๆ ของรองเท้าที่คล้ายกับรองเท้าสำหรับแข่ง แต่จะเป็นการเปลี่ยนวัสดุให้มีความทนทานและเหมาะกับการใช้ซ้อมประจำวันมากยิ่งขึ้น
  • รองเท้าวิ่งเทรลสำหรับสันทนาการทั่วไป เป็นรองเท้าวิ่งเทรลอเนกประสงค์ที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย โดยโดดเด่นด้านความทนทานสูงและไม่ได้มีน้ำหนักที่เบา

ซึ่งนักวิ่งที่ลงแข่งขันอาจจะไม่ได้สวมใส่รองเท้าสำหรับแข่งขันเสมอไป เพราะรองเท้าตัวแข่งจะเป็นการออกแบบที่เฉพาะตัวบุคคลเกินไป ทำให้ในหลายๆ ครั้ง เราจะเห็นว่านักแข่งสวมใส่รองเท้าวิ่งเทรลสำหรับสันทนาการทั่วไปลงแข่งและติดอันดับ 1 ถึง 3 อยู่เสมอ เนื่องจากพวกเขาสวมใส่แล้วรู้สึกสบายและสามารถทำความเร็วในแบบของพวกเขาได้

ฉะนั้น รองเท้าวิ่งเทรลตัวแข่งทุกคู่อาจจะไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคนเสมอไปนะครับ

ตัวอย่างรองเท้าวิ่งเทรลสำหรับแข่งขัน, รองเท้าวิ่งเทรลสำหรับซ้อมแทนตัวแข่ง, และรองเท้าวิ่งเทรลสำหรับสันทนาการทั่วไป

ระยะ TDS (Sur les Traces des Ducs de Savoie)

ระยะ TDS หรือ Sur les Traces des Ducs de Savoie เป็นการแข่งขันระยะกลาง-ไกล ของรายการแข่ง UTMB ที่ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2009 ซึ่งเป็นระยะที่เพิ่มเข้ามาเพื่อเพิ่มสีสันและความท้าทายให้แก่รายการแข่ง UTMB และก็ตรงตามชื่องาน Sur les Traces des Ducs de Savoie ที่แปลว่า “ตามรอยขุนนางแห่งซาวอย” ที่จะวิ่งผ่านหมู่บ้านและเทือกเขาตามประวัติศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบันการแข่งขันมีระยะทาง 145 กม. และมีความชันสะสมกว่า 9,100 เมตร

แผนที่การแข่งขัน UTMB ระยะ TDS

และในปี 2021 นี้ได้เกิดเหตุการณ์ความสูญเสียขึ้น เนื่องจากการเสียชีวิตของนักวิ่งจากสาธารณรัฐเช็กที่ประสบอุบัติเหตุตกเขาในรายการแข่ง UTMB ระยะ TDS เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยอุบัติเหตุเกิดขึ้น ณ กิโลเมตรที่ 62.3 ซึ่งเป็นเส้นทางลงเขาที่ทรุกันดารในหุบเขา Passeur de Pralognan ที่มีความสูง 2,566 เมตร ในเวลาเที่ยงคืนยี่สิบห้านาที

จุดเกิดเหตุเกิดขึ้น ณ กิโลเมตรที่ 62.3 ซึ่งเป็นเส้นทางลงเขาที่ทรุกันดารในหุบเขา Passeur de Pralognan ที่มีความสูง 2,566 เมตร

โดยทางทีมงานช่วยเหลือได้นำเฮลิคอปเตอร์เข้าช่วยเหลือโดยทันที แม้ว่าจะช่วยเหลือได้สำเร็จ แต่นักวิ่งรายนี้ไม่สามารถทนพิษบาดแผลได้ไหวและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ซึ่งถือได้ว่าเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ ที่มีการเสียชีวิตเป็นครั้งแรกในรายการแข่งขัน UTMB ที่จัดขึ้นมานานถึง 19 ปี

ซึ่งผู้เข้าร่วมการแข่งขันที่วิ่งผ่านจุดเกิดเหตุจำนวน 293 คน ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการแข่งขันต่อจนจบ และในส่วนของผู้เข้าร่วมการแข่งขันที่ยังไม่ถึงจุดเกิดเหตุอีกประมาณ 1,200 คน ถูกบังคับให้หยุดการแข่งขันโดยทันที

โดยนักวิ่งชาย 3 อันดับแรกของระยะ TDS มีดังนี้

อันดับที่ 1 Erik-Sebastian Krogvig

  • อายุ: 33 ปี
  • Performance Index: 884
  • เวลา: 18 ชั่วโมง 49 นาที 58 วินาที
  • สังกัดทีม: DYNAFIT
  • รองเท้า: Dynafit Ultra 100

Erik-Sebastian Krogvig เขาคือนักวิ่งเทรลและนักสกีครอสคันทรี่ชาวนอร์เวย์ อดีตนักวิ่งเทรลสังกัดทีม La Sportiva ของประเทศนอร์เวย์ ที่พึ่งย้ายทีมมาอยู่กับทีม Dynafit เมื่อช่วงปลายปี 2019

Erik-Sebastian Krogvig นักวิ่งเทรลและนักสกีครอสคันทรี่ชาวนอร์เวย์ จากสังกัดทีม Dynafit

ซึ่งเขาถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งนักวิ่งฝีเท้าดี ที่เคยทำผลงานในช่วงปี 2014 ถึง 2016 ออกมาได้อย่างสวยงามไม่ว่าจะเป็นเจ้าของแชมป์สนามแข่ง 10 Peaks Brecon Beacons (88 กม.) ในปี 2014 และอันดับสามของงานแข่งหลายงานอย่าง SKYRACE DE MONTGENEVRE (37 กม.) ในปี 2015 และ Hornindal Rundt (72 กม.) ในปี 2016

แต่ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมาผลงานของเขาก็ค่อยๆ ลดตัวลงมา ไม่ว่าจะเป็นการออกจากการแข่งขันต่อเนื่องหลายรายการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการแข่งขัน UTMB ระยะ CCC (101 กม.) ในปี 2018 และอันดับรวมที่ลดลงมาจากผู้ที่เคยเข้าเส้นชัยเป็นอันดับต้นๆ กลายมาเป็นอันดับที่ 41

อย่างไรก็ตาม ในปี 2021 นี้ ดูเหมือนว่าเขาจะกลับมาคืนฟอร์มอีกครั้ง อย่างในการแข่งขัน La Sportiva Lavaredo Ultra Trail (120 กม.) ที่ถูกจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เขาก็สามารถเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่สามด้วยเวลาที่ห่างจากอันดับที่หนึ่งไปราวๆ 30 นาที เท่านั้น

และในการแข่งขัน UTMB ปีนี้ เขากลับมาล้างแค้นอีกครั้งแต่เป็นในระยะที่ไกลกว่าเดิมอย่างระยะ TDS (145 กม.) ซึ่งในครั้งนี้ เขาสามารถเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่หนึ่งด้วยเวลา 18 ชั่วโมง 49 นาที 58 วินาที ซึ่งถือได้ว่าเป็นการคว้าชัยครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของนักวิ่งชาวนอร์เวย์ในรายการแข่ง UTMB ระยะ TDS

Erik-Sebastian Krogvig ลงแข่งขันรายการแข่ง UTMB ปี 2021 ในระยะ TDS และเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่หนึ่งของฝ่ายชาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการคว้าชัยครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของนักวิ่งชาวนอร์เวย์ในรายการแข่ง UTMB ระยะ TDS

ซึ่งในปี 2019 Stian Angermund อีกหนึ่งนักวิ่งชาวนอร์เวย์จากสังกัดทีม Salomon เคยคว้าแชมป์รายการแข่ง UTMB ระยะ OCC (56 กม.) มาก่อนแล้ว ซึ่งทั้งคู่ถือได้ว่าเป็นนักวิ่งชาวนอร์เวย์เพียง 2 คน ในหน้าประวัติศาสตร์ที่สามารถคว้าแชมป์ในรายการแข่ง UTMB ได้

ในส่วนรองเท้าที่เขาใช้คือ Dynafit Ultra 100 รองเท้าวิ่งเทรลตัวแข่งระยะไกลจากแบรนด์ Dynafit ซึ่งเป็นแบรนด์สัญชาติออสเตรีย ที่นักวิ่งชาวไทยมักเข้าใจผิดกันว่าเป็นแบรนด์จากประเทศเยอรมนี เนื่องจากแบรนด์ Dynafit ถูกเข้าซื้อโดยแบรนด์ Salewa ซึ่งเป็นแบรนด์เก่าแก่สัญชาติเยอรมันในปี 2003

ซึ่งแบรนด์ Salewa เป็นหนึ่งในแบรนด์ลูกของเครือ Oberalp Group ที่ถูกซื้อเข้ามาในปี 1990 ซึ่ง Oberalp Group คือกลุ่มธรุกิจในอุตสาหกรรมสิ่งทอและอุปกรณ์กีฬากลางแจ้งจากประเทศอิตาลี ที่ถือแบรนด์อุปกรณ์กีฬากลางแจ้งต่างๆ ไว้ถึง 6 แบรนด์ ได้แก่ Salewa , Dynafit , Pomoca, Wild Country, Evolv, และ Lamunt

Oberalp Group กลุ่มธรุกิจในอุตสาหกรรมสิ่งทอและอุปกรณ์กีฬากลางแจ้งจากประเทศอิตาลี

โดยรองเท้าวิ่งเทรล Dynafit Ultra 100 รองเท้าวิ่งเทรลตัวแข่งระยะไกลรุ่นใหม่ที่เปิดตัวไปเมื่อช่วงปลายปี 2020 ที่เข้ามาทำหน้าที่แทนรุ่น Ultra Pro ที่ออกมาตั้งแต่ในปี 2018

(ซ้าย) Dynafit Ultra Pro ในปี 2018 และ (ขวา) Dynafit Ultra 100 ในปี 2020

ซึ่ง Dynafit Ultra 100 มาพร้อมกับหน้าผ้า Mesh ที่บริเวณลิ้นรองเท้าจะมีแถบเนื้อผ้าปิดบริเวณเชือกเอาไว้ เพื่อป้องกันเศษหินและเศษดินที่จะหลุดรอดเข้าไปภายในตัวรองเท้า รวมทั้งทำหน้าที่เป็นช่องเก็บเชือกในตัว ซึ่งถูกเรียกว่า  Invisible Lacing System”

และในส่วนของพื้นชั้นกลางจะถูกออกแบบให้มีความนุ่มและการรองรับแรงกระแทกที่เพียงพอสำหรับการวิ่งระยะทางไกลโดยไม่ละทิ้งประสิทธิภาพในการทำความเร็ว และบริเวณกลางของพื้นชั้นกลางจะมีการเสริมโครงที่วางทะแยงยาวขึ้นไปบนหน้าผ้าบริเวณส้นเท้า เพื่อช่วยเพิ่มความกระชับในการสวมใส่เหมือนกับรองเท้าเป็นส่วนเดียวกับเท้าของนักวิ่ง ซึ่งถูกเรียกว่า “Heel Preloader Technology”

หน้าผ้าของ Dynafit Ultra 100 มาพร้อมกับเทคโนโลยี Invisible Lacing System และ Heel Preloader Technology

ในส่วนของดอกยางถือได้ว่าเป็นไฮไลท์เด็ดของรองเท้ารุ่นนี้ ซึ่งแบรนด์ Dynafit เลือกใช้ดอกยางแบรนด์ POMOCA ซึ่งเป็นแบรนด์จำหน่ายอุปกรณ์ยางสกี (หรือ Climbing skins ซึ่งคือแถบผ้าที่ยึดติดกับพื้นด้านล่างของสกีคันครอสคันทรี่ ซึ่งช่วยให้นักสกีสามารถเดินขึ้นบนเนินเขาหิมะได้โดยไม่ไถลหรือลื่นลงมา) จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์และเป็นหนึ่งในบริษัทในเครือของ Oberalp Group

ซึ่งทางแบรนด์ Dynafit กล่าวว่าดอกยางของแบรนด์ POMOCA สามารถเกาะพื้นได้ดีในทุกสภาพพื้นผิวและทุกสภาพอากาศ

ดอกยางจากแบรนด์ POMOCA

ข้อมูลจำเพาะของ Dynafit Ultra 100

  • หน้าผ้า Mesh
  • มาพร้อมกับเทคโนโลยี Invisible Lacing และ Heel Preloader Technology
  • พื้นชั้นกลาง Ultra 100
  • ดอกยาง POMOCA (ดอกสูง 3 มม.)
  • น้ำหนัก: 310 กรัม ในไซส์ 9US ชาย และ 270 กรัม ในไซส์ 8US หญิง
  • Offset: 6 มม. (ปลายเท้าสูง 26 มม. และส้นเท้าสูง 32 มม.)
  • มีเฉพาะหน้าเท้าปกติ (D)
  • ราคา: $140 (ประมาณ 4,5xx บาท ในไทยยังไม่ได้นำเข้ามาจำหน่าย)
11
12
13
14
15
16
previous arrow
next arrow
Shadow

อันดับที่ 2 Benoit Girondel

  • อายุ: 35 ปี
  • Performance Index: 863
  • เวลา: 18 ชั่วโมง 59 นาที 19 วินาที
  • สังกัดทีม: ASICS
  • รองเท้า: Asics FujiTrabuco Lyte

Benoit Girondel เขาคือนักวิ่งเทรลอาชีพชาวฝรั่งเศส ผู้ที่เป็นหนึ่งในนักวิ่งเก่าแก่ของสังกัดทีม Asics และเป็นถึงเพื่อนคู่ซ้อมของแชมป์ UTMB สามสมัยอย่าง Xavier Thévenard

Benoit Girondel นักวิ่งเทรลอาชีพชาวฝรั่งเศส ผู้ที่เป็นหนึ่งในนักวิ่งเก่าแก่ของสังกัดทีม Asics

เขาเริ่มเส้นทางการเป็นนักวิ่งโดยบังเอิญ เมื่อวันหนึ่งในปี 2010 ขณะที่เขากำลังทำงานเป็นพนักงานของบริษัท SNCF ซึ่งเป็นบริษัททางรถไฟแห่งชาติของประเทศฝรั่งเศส เขาได้พบเข้ากับโปสเตอร์ที่เชิญชวนให้พนักงานเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งเทรลระยะทางไกล 70 กม. ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศฝรั่งเศสที่มีชื่องานว่า La SaintéLyon” โดยพนักงานที่ลงสมัครจะเสียค่าสมัครเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น

ทำให้การแข่งขันวิ่งเทรลระยะไกลครั้งแรกของเขาได้เริ่มต้นขึ้นและเป็นการจบลงด้วยอันดับที่ 955 ในจำนวนนักวิ่งที่เข้าร่วม 4,039 คน ซึ่งแม้ว่าในปีแรกจะเป็นไปได้ไม่สวยนัก แต่ในปีต่อมา เขาได้กลับเข้ามาลงแข่งอีกครั้งและสามารถจบลงด้วยอันดับที่ 111 ในจำนวนนักวิ่งที่เข้าร่วม 4,093 คน

หลังจากนั้นเพียง 1 ปี เขาก็ได้ฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอและเข้าร่วมงานแข่งหลายรายการ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ รายการแข่ง UTMB ระยะ TDS ในปี 2012 และสามารถจบลงด้วยอันดับที่ 22 ซึ่งถือได้ว่าเป็นอันดับที่ดีมากสำหรับนักวิ่งหน้าใหม่ไร้สังกัดอย่างเขา

จนกระทั่งในช่วงปลายปี 2013 เขาลงแข่งขันรายการแข่ง Le Grand Raid De La Réunion ซึ่งเป็นการแข่งขันวิ่งเทรลชื่อดังระยะทางไกล 164 กม. บนเกาะ Réunion ของประเทศฝรั่งเศสที่จะวิ่งจากหัวเกาะไปยังท้ายเกาะของอีกฝั่ง และในครั้งนั้นเขาสามารถเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 6 จนได้ไปเตะตาของทีม Asics เข้าอย่างจัง ทำให้ทีม Asics ได้ติดต่อและเสนอสัญญาให้เขาเข้ามาเป็นนักวิ่งภายในทีมนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

รายการแข่ง Le Grand Raid De La Réunion ซึ่งเป็นการแข่งขันวิ่งเทรลชื่อดังระยะทางไกล 164 กม. บนเกาะ Réunion ของประเทศฝรั่งเศสที่จะวิ่งจากหัวเกาะไปยังท้ายเกาะของอีกฝั่ง

และในปีต่อๆ มา เขาไม่ทำให้แบรนด์ Asics ต้องผิดหวัง เพราะเขาสามารถคว้าแชมป์ในรายการแข่งต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นเจ้าของแชมป์ 2 สมัยของงานแข่ง Festival Des Templiers (100 กม.) ในปี 2014 และ 2016, และ SWISS CANYON TRAIL (111 กม.) ในปี 2019 และ 2021

รวมไปถึงการกลับไปลงแข่งงานแจ้งเกิดของเขาอย่างรายการแข่ง Le Grand Raid De La Réunion และสามารถคว้าแชมป์สองสมัยซ้อนในปี 2017 และ 2018

และในปี 2021 นี้ เขาลงแข่งขันรายการแข่ง UTMB ระยะ TDS และสามารถเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่สองของฝ่ายชาย (อันดับที่ 2 Overall) ด้วยเวลา 18 ชั่วโมง 59 นาที 19 วินาที ซึ่งใช้เวลาหากจากอันดับที่หนึ่งไปราวๆ 10 นาทีเท่านั้น

Benoit Girondel ลงแข่งขันรายการแข่ง UTMB ปี 2021 ในระยะ TDS และเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่สองของฝ่ายชาย

ในส่วนรองเท้าที่เขาใช้คือ Asics FujiTrabuco Lyte รองเท้าวิ่งเทรลตัวแข่งระยะไกลจากแบรนด์ Asics ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2019 และเป็นที่ไว้ใจของนักแข่งทีม Asics หลายต่อหลายคน (ซึ่งอีกหนึ่งนักวิ่งที่สวมใส่รองเท้ารุ่นนี้ในปีนี้ คือ Pierre-André Ramuz อันดับที่ 3 ของระยะ MCC)

โดย Asics FujiTrabuco Lyte มาพร้อมกับพื้นชั้นกลาง FLYTEFOAM ที่มีความนุ่มและรองรับแรงกระแทกได้ดีในการวิ่งระยะไกล แต่จุดเด่นหลักๆ ของพื้นชั้นกลางคือ องศา Rocker ที่โค้งมากเป็นพิเศษที่คล้ายกับเทคโนโลยี GUIDESOLE ในรองเท้าถนนของแบรนด์ Asics ตระกูล Ride ซึ่งช่วยให้การวิ่งเป็นไปได้อย่างลื่นไหลและช่วยประหยัดแรงมากยิ่งขึ้น

Asics FujiTrabuco Lyte มาพร้อมกับพื้นชั้นกลาง FLYTEFOAM ที่มีองศา Rocker ที่โค้งมากเป็นพิเศษที่คล้ายกับเทคโนโลยี GUIDESOLE ในรองเท้าถนนของแบรนด์ Asics ตระกูล Ride

และในส่วนจุดเด่นสำคัญอีกประการนั่นคือ ดอกยาง Asics GRIP ซึ่งเป็นดอกยางลิขสิทธิ์เฉพาะของแบรนด์ Asics ที่เกาะพื้นผิวต่างๆ ได้ดีและมีความทนทานในการใช้งานที่สูง รวมทั้งมีน้ำหนักที่เบา

ดอกยาง Asics GRIP เป็นดอกยางลิขสิทธิ์เฉพาะของแบรนด์ Asics ที่เกาะพื้นผิวต่างๆ ได้ดีและมีความทนทานในการใช้งานที่สูง รวมทั้งมีน้ำหนักที่เบา

ในส่วนของหน้าผ้าจะเป็นหน้าผ้า Engineered Mesh ที่ระบายอากาศได้ดี พร้อมสกรีนโครงยางรอบตัวรองเท้า เพื่อช่วยปกป้องเท้า และมาพร้อมกับที่เก็บสายบริเวณลิ้นรองเท้า

ข้อมูลจำเพาะของ Asics FujiTrabuco Lyte

  • หน้าผ้า Engineered Mesh พร้อมสกรีนโครงยางรอบตัวรองเท้าและที่เก็บสายบริเวณลิ้นรองเท้า
  • พื้นชั้นกลาง FLYTEFOAM
  • ดอกยาง ASICSGRIP (ดอกสูง 4.5 มม.)
  • น้ำหนัก: 249 กรัม ในไซส์ 9US ชาย และ 204 กรัม ในไซส์ 8US หญิง
  • Offset: 4 มม. (ปลายเท้าสูง 14 มม. และส้นเท้าสูง 18 มม.)
  • มีเฉพาะหน้าเท้าปกติ (D)
  • ราคา: 4,200 บาท วางจำหน่ายแล้วในประเทศไทย
17
18
19
20
21
22
previous arrow
next arrow
Shadow

ซึ่งในปี 2021 นี้ ทางแบรนด์ Asics ได้เปิดตัวรองเท้ารุ่นสานต่อของตระกูล Lyte อย่างภายใต้ชื่อใหม่ที่ถูกเรียกว่า Asics Fuji Lite 2 ที่เป็นการออกแบบลักษณะภายนอกขึ้นมาใหม่ทั้งหมด

(ซ้าย) Asics FujiTrabuco Lyte ในปี 2019 และ (ขวา) Asics Fuji Lite 2 ในปี 2021

โดยวัสดุพื้นชั้นกลางของ Asics Fuji Lite 2 จะมีการผสมด้วยวัสดุรีไซเคิลขั้นต่ำ 10 เปอร์เซ็นต์ เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม แต่ยังคงองศาและความสูงของพื้นชั้นกลางที่เท่ากับในรุ่นเดิม

และในส่วนดอกยางจะมีการออกแบบลักษณะลวดลายขึ้นมาใหม่ ที่ทางแบรนด์ Asics กล่าวว่า สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดเกาะพื้นผิวที่เป็นโคลนและดินร่วนเปียกแฉะได้ดียิ่งขึ้น และสุดท้าย ในส่วนของหน้าผ้าจะเป็นหน้าผ้าที่ทำมาจากวัสดุรีไซเคิล เพื่อช่วยลดของเสียและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิต

ข้อมูลจำเพาะของ Asics Fuji Lite 2

  • หน้าผ้า Recycled Engineered Mesh พร้อมสกรีนโครงยางรอบตัวรองเท้าและที่เก็บสายบริเวณลิ้นรองเท้า
  • พื้นชั้นกลาง FLYTEFOAM
  • ดอกยาง ASICSGRIP (ดอกสูง 4 มม.)
  • น้ำหนัก: 255 กรัม ในไซส์ 9US ชาย และ 208 กรัม ในไซส์ 8US หญิง
  • Offset: 4 มม. (ปลายเท้าสูง 14 มม. และส้นเท้าสูง 18 มม.)
  • มีเฉพาะหน้าเท้าปกติ (D)
  • ราคา: 4,500 บาท วางจำหน่ายแล้วในประเทศไทย
64
65
66
67
68
69
previous arrow
next arrow
Shadow

อันดับที่ 3 Arthur Joyeux-Bouillon

  • อายุ: 27 ปี
  • Performance Index: 833
  • เวลา: 19 ชั่วโมง 34 นาที 38 วินาที
  • สังกัดทีม: COMPRESSPORT INTERNATIONAL
  • รองเท้า: RaidLight Responsiv Ultra และ RaidLight Revolutiv

Arthur Joyeux-Bouillon เขาคือนักวิ่งหนุ่มไฟแรงชาวฝรั่งเศสจากสังกัดทีม Compressport international โดยเขาในวัยเด็กเติบโตมากับการเล่นกีฬาบนภูเขาหลากหลายประเภทตั้งแต่การเล่นสกี การปีนเขา และกีฬาจักรยานเสือภูเขา แต่เขาได้เกิดตกหลุมรักในการวิ่งเทรลขึ้นหลังจากได้ลงแข่งขันวิ่งเทรลครั้งแรกในปี 2013

Arthur Joyeux-Bouillon นักวิ่งหนุ่มไฟแรงชาวฝรั่งเศสจากสังกัดทีม Compressport international

จากนั้น เขาจึงได้ทุ่มเทฝึกซ้อมไปกับโค้ชชาวฝรั่งเศสของเขาอย่าง Fabien Antolinos นักวิ่งเทรลระดับตำนานรุ่นเก๋าจากสังกัดทีม Mizuno ที่ปัจจุบันวัย 44 ปี ผู้มีผลงานการแข่งในอดีตมากมายไม่ว่าจะเป็นเจ้าของแชมป์ La SaintéLyon (70 กม.) ในปี 2008 และแชมป์สองสมัยของงาน Festival Des Templiers (69 กม. และ 100 กม.) ในปี 2012 และ 2013 นอกจากนี้ในปี 2017 Fabien Antolinos ในวัย 40 ปี ยังไปคว้าแชมป์สนามแข่ง The North Face Lavaredo Ultra Trail (119 กม.) ด้วยรองเท้าคู่ใจอย่าง Mizuno Wave Daichi 2

(สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดของ Mizuno Wave Daichi 6 รุ่นล่าสุดในปี 2021 ได้ที่นี่เลยครับ)

Fabien Antolinos นักวิ่งเทรลระดับตำนานรุ่นเก๋าจากสังกัดทีม Mizuno ที่ในปี 2017 เขาในวัย 40 ปี ได้ไปคว้าแชมป์สนามแข่ง The North Face Lavaredo Ultra Trail (119 กม.) ด้วยรองเท้าคู่ใจอย่าง Mizuno Wave Daichi 2 (ซึ่งรุ่นที่ 2 ถึงรุ่นที่ 5 ใช้พื้นชั้นกลางตัวเดียวกัน)

และด้วยการฝึกซ้อมและคำแนะนำจากโค้ชมืออาชีพ ทำให้ผลงานในสนามแข่งของเขาค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยมา โดยในปี 2018 เขาได้ลงแข่งขันรายการแข่ง UTMB ระยะ CCC และสามารถจบลงด้วยอันดับที่ 9 แม้ว่าในปีต่อมาเขาจะไม่สามารถจบการแข่งขัน UTMB ระยะ TDS ได้ เพราะประสบการณ์ที่ยังไม่มากพอ เนื่องจากโดยปกติ เขาจะเชี่ยวชาญและทำผลงานออกมาได้ดีในการแข่งขันที่มีระยะทางไม่เกิน 60 กม.

อย่างไรก็ตาม ในปี 2021 นี้ เขากลับมาลงแข่งขันรายการแข่ง UTMB ระยะ TDS อีกครั้งและสามารถเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่สามของฝ่ายชาย (อันดับที่ 3 Overall) ด้วยเวลา 19 ชั่วโมง 34 นาที 38 วินาที

Arthur Joyeux-Bouillon ลงแข่งขันรายการแข่ง UTMB ปี 2021 ในระยะ TDS และเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่สามของฝ่ายชาย

ในส่วนรองเท้าที่เขาใช้คือ RaidLight Responsiv Ultra รองเท้าวิ่งเทรลตัวแข่งระยะไกลหนานุ่ม ในช่วงต้นของการแข่งขัน และ RaidLight Revolutiv รองเท้าวิ่งเทรลสำหรับแข่งบนเส้นทางทรุกันดารโดยเฉพาะ ในช่วงกลางถึงท้ายการแข่งขัน เนื่องจากเส้นทางในการแข่งขันเป็นเส้นทางที่ทรุกันดารมาก จนเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมรองเท้าหนานุ่มจนจบการแข่งขันได้

(ซ้าย) RaidLight Responsiv Ultra และ (ขวา) RaidLight Revolutiv

ซึ่งแบรนด์ RaidLight เป็นแบรนด์สัญชาติฝรั่งเศสที่ก่อตั้งขึ้นโดยวิศวกรสิ่งทอผู้มีความหลงไหลในการวิ่งเทรลอย่าง Benoit Laval ในปี 1999 ก่อนที่บริษัทจะถูกซื้อไปโดยแบรนด์ Vertical Mountain ซึ่งเป็นแบรนด์อุปกรณ์สกีของประเทศฝรั่งเศสในปี 2010 โดยในปัจจุบันรองเท้าวิ่งเทรลทุกคู่ของแบรนด์ RaidLight จะถูกออกแบบและทดสอบในห้องปฏิบัติการณ์ที่ทันสมัยในประเทศฝรั่งเศสก่อนจะวางจำหน่ายจริง

RaidLight แบรนด์สัญชาติฝรั่งเศสที่ก่อตั้งขึ้นโดยวิศวกรสิ่งทอผู้มีความหลงไหลในการวิ่งเทรลอย่าง Benoit Laval ในปี 1999 ที่ในปัจจุบันรองเท้าวิ่งเทรลทุกคู่ของแบรนด์ RaidLight จะถูกออกแบบและทดสอบในห้องปฏิบัติการณ์ในประเทศฝรั่งเศส

โดย RaidLight Responsiv Ultra เป็นรองเท้าวิ่งเทรลตัวแข่งระยะไกลหนานุ่ม ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2019 โดยมาพร้อมกับพี้นชั้นกลางแบบ Injected EVA ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นในด้านของการคงความหนาแน่นของเนื้อโฟม ที่จะไม่ทรุดตัวหรือสูญเสียคุณสมบัติในการส่งแรง เมื่อใช้งานเป็นระยะเวลายาวนาน

และในส่วนของดอกยางจะใช้เป็นดอกยาง D+ Grip Ultra ซึ่งเป็นดอกยางลิขสิทธิ์เฉพาะของแบรนด์ RaidLight ที่ถูกติดตั้งไว้เฉพาะในจุดที่สำคัญเท่านั้น เพื่อช่วยลดน้ำหนักของรองเท้า

ในส่วนของหน้าผ้าจะเป็นหน้าผ้า Mesh ระบายอากาศได้ดีและมีคุณสมบัติแห้งไว รวมทั้งมีการสกรีนยางรอบตัวรองเท้า เพื่อช่วยปกป้องเท้าและเพิ่มความทนทานในการใช้งานของหน้าผ้า

นอกจากนี้ จุดเด่นอีกประการหนึ่งของรองเท้าแบรนด์ RaidLight คือแผ่นรองรองเท้า (Insole) ที่มีชื่อว่า Dual+ insole ซึ่งเป็นแผ่นรองวัสดุ Open Cell PU (วัสดุเดียวกับแผ่นรอง OrthoLite) ที่มีการเสริมจุดรับแรงกระแทก 3 จุด เพื่อช่วยให้แผ่นรองสามารถรองรับแรงกระแทกในการลงเท้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แผ่นรอง Dual+ insole

ซึ่งในปัจจุบันปี 2021 นี้ แบรนด์ RaidLight ได้เปิดตัวรุ่นที่สองแล้วในชื่อว่า RaidLight Responsiv Ultra 2.0 โดยมีความแตกต่างกันในส่วนของหน้าผ้าเล็กน้อยเท่านั้น

(ซ้าย) RaidLight Responsiv Ultra ในปี 2019 และ (ขวา) RaidLight Responsiv Ultra 2.0 ในปี 2021

ข้อมูลจำเพาะของ RaidLight Responsiv Ultra

  • หน้าผ้า Mesh
  • พื้นชั้นกลาง Full injection moulded EVA
  • ดอกยาง Ultra D+ Grip (ดอกสูง 4 มม.)
  • มาพร้อมกับแผ่นรองรองเท้า Dual+ insole
  • น้ำหนัก: 270 กรัม ในไซส์ 9US ชาย และ 240 กรัม ในไซส์ 8US หญิง
  • Offset: 6 มม. (ปลายเท้าสูง 19 มม. และส้นเท้าสูง 25 มม.)
  • มีเฉพาะหน้าเท้าปกติ (D)
  • ราคา: 5,990 บาท วางจำหน่ายแล้วในประเทศไทย
24
25
26
27
28
29
previous arrow
next arrow
Shadow

ในส่วนของ RaidLight Revolutiv เป็นรองเท้าวิ่งเทรลที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการแข่งขันบนเส้นทางที่ทรุกันดารในระยะสั้นถึงกลางโดยเฉพาะ ที่มาพร้อมกับพื้นชั้นกลาง Dynamic Sensor ซึ่งเป็นพื้นชั้นกลางวัสดุ EVA ที่มีการฝั่งแผ่น EVA ที่มีความนุ่มและรองรับแรงกระแทกได้ดีบริเวณปลายเท้าและส้นเท้า รวมทั้งบริเวณกลางเท้ายังมีการเสริม Torsion bar เพื่อเพิ่มความเสถียรให้แก่รองเท้า

พื้นชั้นกลาง Dynamic Sensor

และในส่วนของดอกยางจะใช้เป็นดอกยาง D+ Grip Dynamic ที่มีความสูงถึง 6 มม. เพื่อให้เหมาะกับการใช้งานในเส้นทางที่ทรุกันดาร รวมไปถึงการใช้งานบนทางดินโคลนเปียกแฉะ

ในส่วนของหน้าผ้าจะเป็นหน้าผ้า Mesh แบบข้อสูง ที่ช่วยป้องกันเศษหินและเศษดินที่จะหลุดรอดเข้าไปภายในตัวรองเท้า รวมทั้งมีการสกรีนยางรอบตัวรองเท้า เพื่อช่วยปกป้องเท้าและเพิ่มความทนทานในการใช้งานของหน้าผ้า

ซึ่งในประเทศไทยมีวางจำหน่ายในรุ่นของ RaidLight Responsiv Dynamic ซึ่งจะแตกต่างจากรุ่น Revolutiv ในส่วนของหน้าผ้าที่ไม่ได้เป็นหน้าผ้า Mesh แบบข้อสูงและไม่ได้มาพร้อมกับระบบรัดเชือกแบบ Speed Lace Lock system

(ซ้าย) RaidLight Revolutiv ในปี 2019 และ (ขวา) RaidLight Responsiv Dynamic ในปี 2019

และในปัจจุบันปี 2021 นี้ แบรนด์ RaidLight ได้เปิดตัวรุ่นที่สองแล้วในชื่อว่า RaidLight Revolutiv 2.0 โดยมีความแตกต่างกันในส่วนของหน้าผ้าเล็กน้อยเท่านั้น

(ซ้าย) RaidLight Revolutiv ในปี 2019 และ (ขวา) RaidLight Revolutiv 2.0 ในปี 2021

ข้อมูลจำเพาะของ RaidLight Revolutiv

  • หน้าผ้า Mesh แบบข้อสูง
  • มาพร้อมกับระบบรัดเชือกแบบ Speed Lace Lock system
  • พื้นชั้นกลาง Dynamic Sensor
  • ดอกยาง D+ Grip Dynamic (ดอกสูง 6 มม.)
  • มาพร้อมกับแผ่นรองรองเท้า Dual+ insole
  • น้ำหนัก: 290 กรัม ในไซส์ 9US ชาย และ 260 กรัม ในไซส์ 8US หญิง
  • Offset: 6 มม. (ปลายเท้าสูง 17 มม. และส้นเท้าสูง 23 มม.)
  • มีเฉพาะหน้าเท้าปกติ (D)
  • ราคา: $165  (ประมาณ 5,4xx บาท ในไทยยังไม่ได้นำเข้ามาจำหน่าย)
30
31
32
33
34
previous arrow
next arrow
Shadow

และสำหรับบทความสรุปรองเท้าวิ่งเทรลและผลการแข่งขันรายการแข่ง UTMB ปี 2021 ทุกระยะ (ฝ่ายชาย) ตอนที่ 2 ทางเราต้องขอจบไว้ ณ ตรงนี้ และในบทความหน้าจะเป็นของฝ่ายชายในระยะ MCC (40 กม.), OCC (56 กม.), CCC (101 กม.), และ PTL (300 กม.) ซึ่งพวกเขาจะเป็นใครกันบ้างนั้น และสวมใส่รองเท้าวิ่งเทรลรุ่นอะไร โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

และขอฝากเอาไว้อีกครั้งว่า รองเท้าวิ่งเทรลตัวแข่งทุกคู่อาจจะไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคนทุกท่านเสมอไปนะครับ ความชอบเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ซึ่งรองเท้าวิ่งเทรลสำหรับสันทนาการทั่วไปก็ไม่ได้หมายความว่าจะใส่ลงแข่งขันไม่ได้นะครับ

หวังว่าบทความนี้เป็นจะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิ่งหรือผู้ที่สนใจในการวิ่งหลาย ๆ ท่าน ขอให้วิ่งให้สนุกครับ และสามารถติดตาม Running Profiles ได้ทั้งใน

More on this topic

Popular stories

Training Plan