สรุปรองเท้าวิ่งเทรลและผลการแข่งขันรายการแข่ง UTMB ปี 2021 ทุกระยะ (ฝ่ายหญิง) ตอนที่ 2

Related Articles

วันนี้เรามาต่อกันที่สรุปรองเท้าวิ่งเทรลและผลการแข่งขันรายการแข่ง UTMB ปี 2021 ของฝ่ายหญิง ตอนที่ 2 ที่จะต่อกันที่ระยะ TDS (145 กม.) และระยะ UTMB (171 กม.) ซึ่งพวกเธอจะเป็นใครกันบ้างนั้น และสวมใส่รองเท้าวิ่งเทรลรุ่นอะไร เชิญติดตามได้เลยครับ

ปล. นักวิ่งท่านใดที่จะไม่ได้อ่าน สรุปรองเท้าวิ่งเทรลและผลการแข่งขันรายการแข่ง UTMB ปี 2021 ของฝ่ายหญิง ตอนที่ 1 สามารถเข้าไปอ่านได้ที่นี่เลยครับ

เกริ่นก่อนเข้าบทความ

รองเท้าวิ่งเทรลมีหลากหลายประเภท ซึ่งมีทั้งรองเท้าสำหรับแข่งขันและตัวซ้อมแทนตัวแข่ง รวมไปถึงรองเท้าวิ่งเทรลสำหรับสันทนาการทั่วไป โดยสามารถแบ่งรายละเอียดแบบสั้นๆ ได้ดังนี้

  • รองเท้าวิ่งเทรลสำหรับแข่งขัน จะถูกออกแบบมาให้มีน้ำหนักที่เบาที่สุดของแบรนด์ ไม่ได้เน้นความทนทานในการใช้งานเป็นประจำทุกวัน และส่วนใหญ่จะออกแบบมาเพื่อนักแข่งคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
  • รองเท้าวิ่งเทรลสำหรับซ้อมแทนตัวแข่ง จะถูกออกแบบมาให้มีลักษณะองศาต่างๆ ของรองเท้าที่คล้ายกับรองเท้าสำหรับแข่ง แต่จะเป็นการเปลี่ยนวัสดุให้มีความทนทานและเหมาะกับการใช้ซ้อมประจำวันมากยิ่งขึ้น
  • รองเท้าวิ่งเทรลสำหรับสันทนาการทั่วไป เป็นรองเท้าวิ่งเทรลอเนกประสงค์ที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย โดยโดดเด่นด้านความทนทานสูงและไม่ได้มีน้ำหนักที่เบา

ซึ่งนักวิ่งที่ลงแข่งขันอาจจะไม่ได้สวมใส่รองเท้าสำหรับแข่งขันเสมอไป เพราะรองเท้าตัวแข่งจะเป็นการออกแบบที่เฉพาะตัวบุคคลเกินไป ทำให้ในหลายๆ ครั้ง เราจะเห็นว่านักแข่งสวมใส่รองเท้าวิ่งเทรลสำหรับสันทนาการทั่วไปลงแข่งและติดอันดับ 1 ถึง 3 อยู่เสมอ เนื่องจากพวกเขาสวมใส่แล้วรู้สึกสบายและสามารถทำความเร็วในแบบของพวกเขาได้

ฉะนั้น รองเท้าวิ่งเทรลตัวแข่งทุกคู่อาจจะไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคนเสมอไปนะครับ

ตัวอย่างรองเท้าวิ่งเทรลสำหรับแข่งขัน, รองเท้าวิ่งเทรลสำหรับซ้อมแทนตัวแข่ง, และรองเท้าวิ่งเทรลสำหรับสันทนาการทั่วไป

มาต่อกันเลยกับระยะ TDS และระยะ UTMB

ระยะ TDS (Sur les Traces des Ducs de Savoie)

ระยะ TDS หรือ Sur les Traces des Ducs de Savoie เป็นการแข่งขันระยะกลาง-ไกล ของรายการแข่ง UTMB ที่ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2009 ซึ่งเป็นระยะที่เพิ่มเข้ามาเพื่อเพิ่มสีสันและความท้าทายให้แก่รายการแข่ง UTMB และก็ตรงตามชื่องาน Sur les Traces des Ducs de Savoie ที่แปลว่า “ตามรอยขุนนางแห่งซาวอย” ที่จะวิ่งผ่านหมู่บ้านและเทือกเขาตามประวัติศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบันการแข่งขันมีระยะทาง 145 กม. และมีความชันสะสมกว่า 9,100 เมตร

แผนที่การแข่งขัน UTMB ระยะ TDS

โดยนักวิ่งหญิง 3 อันดับแรกของระยะ TDS มีดังนี้

อันดับที่ 1 Manon Bohard

  • อายุ: 29 ปี
  • Performance Index: 709
  • เวลา: 23 ชั่วโมง 11 นาที 14 วินาที
  • สังกัดทีม: Aupa Gear / FOR’TRAIL
  • รองเท้า: Hoka One One Speedgoat 4 และ Hoka One One Evo Speedgoat

Manon Bohard เธอคือนักวิ่งเทรลอาชีพชาวฝรั่งเศส ลูกสาวของตำนานนักวิ่งเทรลชาวฝรั่งเศส Patrick Bohard ซึ่งเขาคือเจ้าของแชมป์ UTMB ระยะ TDS เมื่อ 12 ปีก่อน (ในปี 2009 ซึ่งเป็นการแข่งขันครั้งแรกที่ถูกจัดขึ้นของระยะ TDS) และเจ้าของแชมป์ Tor des Géants (330 กม.) ในปี 2015 ซึ่งในปีนั้นสภาพอากาศเลวร้ายเป็นอย่างมากทำให้มีนักแข่งจบงานเพียง 6 คนเท่านั้น

โดยเธอในวัยเด็กได้ฝึกซ้อมสกีครอสคันทรีและการแข่งขันยูโด ก่อนที่ในภายหลัง เธอจะหันมาเข้าสู่การฝึกซ้อมและแข่งขันวิ่งเทรล เพื่อตามรอยพ่อของเธอในการเป็นนักวิ่งเทรลอาชีพ นอกจากนี้เธอยังทำงานเป็นนักโภชนาการอาหารของรัฐ Bourgogne Franche Comté ในประเทศฝรั่งเศส ที่คอยดูแลและป้องกันไม่ให้เด็กมีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน

ซึ่งเธอมีผลงานยอดเยี่ยมในสนามแข่งขันวิ่งเทรลไม่ว่าจะเป็นเจ้าของแชมป์ SwissPeaks Trail (90 กม.) ในปี 2018, Trails De La Vallée Du Brevon (36 กม.) ในปี 2019, และ Cabo Verde Treg (112 กม.) ในปี 2021

และแม้ว่าเธอจะเคยเข้าร่วมการแข่งขัน UTMB ในระยะ CCC (98 กม.) ในปี 2019 ซึ่งในการแข่งขันครั้งนั้น เธอต้องออกจากการแข่งขันไปเพราะอาการบาดเจ็บ แต่มันไม่ใช่สำหรับครั้งนี้

Manon Bohard ลงแข่งขันรายการแข่ง UTMB ปี 2021 ในระยะ TDS และเข้าเส้นชัยเป็นคนแรกของฝ่ายหญิง

โดยในปีนี้เธอลงแข่งขันรายการแข่ง UTMB ในระยะ TDS ซึ่งเมื่อวิ่งไปได้ครึ่งทาง เธอก็สามารถขึ้นนำนักวิ่งหญิงชาวรัสเซีย Ekaterina Mityaeva จากทีม adidas TERREX (ภายหลังเข้าอันดับที่ 4) และวิ่งนำเดี่ยวจนเข้าเส้นชัยเป็นคนแรกของฝ่ายหญิง (อันดับที่ 26 Overall) ด้วยเวลา 23 ชั่วโมง 11 นาที 14 วินาที ซึ่งเร็วกว่าอันดับที่สองไปกว่า 1 ชั่วโมงเต็ม แม้ว่าเธอจะพลาดล้มระหว่างการแข่งขันจนหัวเข่าแตกก็ตาม

ในส่วนรองเท้าที่เธอใช้คือ Hoka One One Speedgoat 4 ในช่วงต้นถึงกลางของการแข่งขัน (ถึงประมาณกิโลเมตรที่ 120) และในช่วงท้ายการแข่ง (ประมาณ 25 กม. สุดท้าย) เธอเปลี่ยนไปสวมใส่ Hoka One One Evo Speedgoat

Manon Bohard สวมใส่ Hoka One One Speedgoat 4 ในช่วงต้นถึงกลางของการแข่งขัน

ซึ่งในส่วนนี้ดูเหมือนว่าเธอจะต้องการความเสถียรของรองเท้าในช่วง 120 กม. แรก ซึ่งเป็นเส้นทางที่ค่อนข้างจะทรุกันดาร ทำให้เธอเลือกใช้ Hoka One One Speedgoat 4 ที่มีความเสถียรกว่า และในช่วง 25 กม. สุดท้ายเส้นทางจะเป็นทางที่ค่อนข้างเรียบจนถึงเส้นชัย ทำให้ Hoka One One Evo Speedgoat ที่ทำความเร็วได้ดีกว่าเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมสำหรับเธอ

ข้อมูลจำเพาะของ Hoka One One Evo Speedgoat

  • หน้าผ้า MATRYX
  • พื้นชั้นกลาง CMEVA
  • ดอกยาง Vibram MegaGrip (ดอกยางสูง 5 มม.)
  • น้ำหนัก: 280 กรัม ในไซส์ 9US ชาย และ 225 กรัม ในไซส์ 8US หญิง
  • Offset: 4 มม. (ปลายเท้าสูง 28 มม. และส้นเท้าสูง 32 มม.)
  • มีเฉพาะหน้าเท้าปกติ (D)
  • ราคา: 6,490 บาท วางจำหน่ายแล้วในประเทศไทย
40
41
42
43
44
45
previous arrow
next arrow
Shadow

ข้อมูลจำเพาะของ Hoka One One Speedgoat 4

  • หน้าผ้า Mesh พร้อม 3D printed overlays
  • พื้นชั้นกลาง Injected EVA
  • ดอกยาง Vibram MegaGrip (ดอกยางสูง 5 มม.)
  • น้ำหนัก: 306 กรัม ในไซส์ 9US ชาย และ 260 กรัม ในไซส์ 8US หญิง
  • Offset: 4 มม. (ปลายเท้าสูง 28 มม. และส้นเท้าสูง 32 มม.)
  • มีทั้งหน้าเท้าปกติ (D) และหน้าเท้ากว้าง (W)
  • ราคา: 5,890 บาท วางจำหน่ายแล้วในประเทศไทย
22
23
24
25
26
previous arrow
next arrow
Shadow

อันดับที่ 2 Giuditta Turini

  • อายุ: 32 ปี
  • Performance Index: 729
  • เวลา: 24 ชั่วโมง 11 นาที 25 วินาที
  • สังกัดทีม: KARPOS/HOKA ONE ONE
  • รองเท้า: Hoka One One Zinal

Giuditta Turini เธอคือนักวิ่งเทรลและนักสกีอาชีพชาวอิตาลี สังกัดทีม Karpos ซึ่งเป็นแบรนด์เสื้อผ้ากีฬากลางแจ้งเก่าแก่ของประเทศอิตาลี โดยเธอมีผลงานโดดเด่นในสนามแข่งขันวิ่งเทรลไม่ว่าจะเป็นเจ้าของแชมป์ Adamello Ultra-Trail (84 กม.) ในปี 2019, Ultratrack Supramonte Seaside (98 กม.) ในปี 2019, SwissPeaks Trail (167 กม.) ในปี 2020, และ QUARTRAIL DES ALPAGES (26 กม.) ในปี 2021

ซึ่งจุดเด่นที่ทำให้ผู้ชมสามารถจดจำเธอได้ในสนามแข่งวิ่งเทรลก็คือ ไม้โพลสกีโค้ง อันเป็นเอกลักษณ์ของเธอ ซึ่ง ไม้โพลสกีโค้ง หรือ Curved ski poles เป็นไม้โพลของกีฬาสกีลงเขา ที่ดัดตัวไม้โพลให้เข้ากับรูปร่างของนักสกี ซึ่งนักสกีลงเขาจะแนบไม้โพลสกีเหล่านี้ไว้ด้านข้างของลำตัว และเมื่อไม้โพลแนบจนเข้ารูปกับสรีระของนักสกีแล้ว แรงต้านของลมขณะลงเขาก็จะลดลง ทำให้นักสกีมีความเร็วที่เพิ่มขึ้น เพราะการแข่งขันกีฬาสกีลงเขาตัดสินความเร็วกันในหลักมิลลิวินาที

โดยการนำไม้โพลสกีโค้งมาใช้ในการแข่งขันวิ่งเทรลไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่นัก เนื่องจากในอดีตในช่วงปี 1990 Marino Giacometti หรือผู้ก่อตั้งรายการแข่งขัน Skyrunning ก็เคยนำไปทดสอบมาแล้ว แต่ดูเหมือนว่าเขาจะได้ผลลัพธ์ที่ไม่น่าพอใจนัก คาดว่ามาจากความเกะกะของตัวไม้โพลที่ไม่สามารถพับเก็บได้และการโค้งของไม้โพลก็ดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยอะไรในการวิ่ง

Giuditta Turini ในรายการแข่ง UTMB ในระยะ TDS ปี 2021 กับไม้โพลสกีโค้งของเธอ

แต่ไม่ว่าอะไรก็ตาม เธอก็ใช้ไม้โพลนี้ลงแข่งในหลายสนามแล้ว และในปีนี้เธอลงแข่งขันรายการแข่ง UTMB ในระยะ TDS และเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่สองของฝ่ายหญิง (อันดับที่ 37 Overall) ด้วยเวลา 24 ชั่วโมง 11 นาที 25 วินาที

ในส่วนรองเท้าที่เธอใช้คือ Hoka One One Zinal รองเท้าวิ่งเทรลตัวแข่งระยะสั้นรุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการนำรองเท้ามาใช้เกินระยะที่ถูกออกแบบมา แต่อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า รองเท้าคู่ไหนที่สวมใส่แล้วรู้สึกสบายและสามารถทำความเร็วในแบบของตัวเองได้ รองเท้าคู่นั้นก็ควรถูกนำไปใช้แข่งได้เสมอ เพราะความชอบเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล  (สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดของ Hoka One One Zinal แบบเต็มๆ ได้ที่นี่เลยครับ)

ข้อมูลจำเพาะของ Hoka One One Zinal

  • หน้าผ้า Recycled Breathable Mesh
  • พื้นชั้นกลาง Profly
  • ดอกยาง Vibram Megagrip Litebase (ดอกยางสูง 4 มม.)
  • Offset: 4 มม. (ปลายเท้าสูง 18 มม. และส้นเท้าสูง 22 มม.)
  • น้ำหนัก: 241 กรัม ในไซส์ 9US ชาย และ 198 กรัม ในไซส์ 8US หญิง
  • มีเฉพาะหน้าเท้าปกติ (D)
  • ราคา: 5,990 บาท วางจำหน่ายแล้วในประเทศไทย
21
22
23
24
25
26
27
previous arrow
next arrow
Shadow

อันดับที่ 3 Ildiko Wermescher

  • อายุ: 56 ปี
  • Performance Index: 668
  • เวลา: 24 ชั่วโมง 29 นาที 12 วินาที
  • สังกัดทีม: HOKA
  • รองเท้า: Hoka One One Mafate Speed 3

Ildiko Wermescher เธอคือนักวิ่งเทรลมากประสบการณ์วัย 56 ปี จากประเทศฮังการี และเจ้าของแชมป์ Salomon Gore-Tex MaXi-Race (113 กม.) ในปี 2019, Trail Verbier St Bernard (113 กม.) ในปี 2019, และ Südtirol Ultra Skyrace (123 กม.) ในปี 2019

ซึ่งในปีนี้เป็นการเข้าร่วมรายการแข่งขัน UTMB ครั้งที่ 6 ของเธอ โดยเธอเข้าร่วมรายการแข่งขัน UTMB ในระยะ UTMB ในปี 2014 (ได้อันดับที่ 6), 2016 (ได้อันดับที่ 7), 2018 (ได้อันดับที่ 7), 2019 (ได้อันดับที่ 9) และระยะ TDS ในปี 2017 (ได้อันดับที่ 3)

โดยในปีนี้เธอลงแข่งขันรายการแข่ง UTMB ในระยะ TDS และเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่สามของฝ่ายหญิงอีกครั้ง (อันดับที่ 40 Overall) ด้วยเวลา 24 ชั่วโมง 29 นาที 12 วินาที

Ildiko Wermescher ลงแข่งขันรายการแข่ง UTMB ในระยะ TDS ปี 2021 และเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่สามของฝ่ายหญิง

ในส่วนรองเท้าที่เธอใช้คือ Hoka One One Mafate Speed 3 รองเท้าวิ่งเทรลสำหรับแข่งขันระยะไกลในทางทรุกันดารรุ่นใหม่ ที่ออกมาแทนที่ Hoka One One EVO Mafate 2 ที่ทางแบรนด์ Hoka เลือกที่จะไม่ไปต่อกับหน้าผ้า MATRYX แล้วเลือกใช้หน้าผ้า Dynamic Sandwich Mesh ที่มีการสกรีนยาง PU ใสรอบตัวรองเท้า เพื่อเพิ่มความทนทานและช่วยป้องกันเท้า

(ซ้าย) Hoka One One EVO Mafate 2 ในปี 2019 และ (ขวา) Hoka One One Mafate Speed 3 ในปี 2021

โดยจุดเด่นในรุ่น Hoka One One Mafate Speed 3 ที่สำนักรีวิวต่างประเทศมักจะกล่าวถึง คือ ในส่วนของหน้าผ้าที่สวมใส่สบายขึ้นและหน้าเท้ากว้างขึ้นเล็กน้อย รวมทั้งปกป้องเท้าได้ดีขึ้น และในส่วนของพื้นชั้นกลางและดอกยางยังคงเป็นแบบเดียวกับในรุ่นเดิม ซึ่งสิ่งที่แลกมากับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ คือน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมาประมาณ 20 กรัม

ข้อมูลจำเพาะของ Hoka One One Mafate Speed 3

  • หน้าผ้า Dynamic Recycled Polyester Mesh
  • มาพร้อมสกรีนยาง PU รอบหน้าผ้าด้วยเทคนิค KPU molded
  • พื้นชั้นกลาง CMEVA
  • ดอกยาง Vibram Megagrip Litebase (ดอกยางสูง 5 มม.)
  • Offset: 4 มม. (ปลายเท้าสูง 29 มม. และส้นเท้าสูง 33 มม.)
  • น้ำหนัก: 314 กรัม ในไซส์ 9US ชาย และ 269 กรัม ในไซส์ 8US หญิง
  • มีเฉพาะหน้าเท้าปกติ (D)
  • ราคา: 5,990 บาท วางจำหน่ายแล้วในประเทศไทย
1
2
3
4
5
previous arrow
next arrow
Shadow

ระยะ UTMB (Ultra Trail du Mont Blanc)

ระยะ UTMB หรือ Ultra Trail du Mont Blanc เป็นการแข่งขันระยะทางไกลและเป็นการแข่งขันหลักที่ถูกจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2003 โดยเส้นทางการแข่งขันจะเป็นการวิ่งรอบเทือกเขา Mont Blanc ที่เส้นทางจะผ่าน 3 ประเทศ ได้แก่ประเทศฝรั่งเศส อิตาลี และสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งในปัจจุบันการแข่งขันมีระยะทาง 171 กม. และมีความชันสะสมกว่า 10,000 เมตร

แผนที่การแข่งขัน UTMB ระยะ UTMB

โดยนักวิ่งหญิง 3 อันดับแรกของระยะ UTMB มีดังนี้

อันดับที่ 1 Courtney Dauwalter

  • อายุ: 36 ปี
  • Performance Index: 794
  • เวลา: 22 ชั่วโมง 30 นาที 54 วินาที
  • สังกัดทีม: SALOMON
  • รองเท้า: Salomon S/LAB Ultra 3

Courtney Dauwalter เวลานี้คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยินชื่อของเธอคนนี้ โดยเธอคือนักวิ่งหญิงชาวอเมริกันคนที่ 4 ในประวัติศาสตร์ที่ชนะรายการแข่งขัน UTMB (ในระยะ UTMB) และในปีนี้เป็นชัยชนะสองสมัยซ้อนของเธอ (ชัยชนะครั้งแรกในปี 2019)

โดย Courtney Dauwalter เติบโตในเมืองฮอปกินส์ รัฐมินนิโซตา ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเธอในสมัยมัธยมปลายได้ลงแข่งขันกรีฑาประเภทลู่และการวิ่งครอสคันทรี่ รวมไปถึงการแข่งขันสกีครอสคันทรี่มากมายหลายสนาม ทำให้ ณ ขณะนั้น เธอมีตำแหน่งเป็นถึงแชมป์ 4 สมัยของการแข่งขันสกีครอสคันทรี่ในรัฐมินนิโซตา

หลังจบมัธยมปลาย เธอเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเดนเวอร์ (University of Denver) ด้วยทุนการศึกษาสำหรับนักกีฬาที่มีความสามารถทางด้านสกีครอสคันทรี่ ในคณะชีววิทยา ซึ่งในตอนแรก เธอคิดว่ากายภาพบำบัดหรือเวชศาสตร์การกีฬาอาจเป็นสิ่งที่เธอต้องการ แต่ด้วยเลือดและเหล่าเข็มฉีดยา ทำให้เธอแทบจะเป็นลม

ทำให้หลังจากจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี เธอเลือกที่จะศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านการเรียนและการสอน เหมือนกับแม่ของเธอ ณ มหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี้ (University of Mississippi) ซึ่งหลังจากได้รับปริญญาโท เธอก็ได้ทำงานเป็นครูสอนวิชาชีววิทยา เคมี และวิทยาศาสตร์กายภาพในระดับมัธยมต้นและมัธยมปลายในเขตเดนเวอร์

ก่อนที่ในช่วงปี 2011 เป็นต้นมา เธอจะได้เริ่มหันกลับมาลงแข่งขันวิ่งระยะไกลอีกครั้ง และในปี 2012 การแข่งขันวิ่งระยะไกล Run Rabbit Run 100 Mile ซึ่งเป็นการแข่งขันวิ่งระยะทางไกล 100 ไมล์ (160.9 กม.) ครั้งแรกของเธอ โดยในการแข่งขันครั้งนั้น แฟนของเธอที่พึ่งเดทกันได้ 2 เดือน อย่าง Kevin Schmidt (ปัจจุบันกลายมาเป็นสามีแล้ว) ได้ไปช่วยเตรียมอุปกรณ์และช่วยเหลือในการแข่งขัน

Courtney Dauwalter และสามีของเธอ Kevin Schmidt

ซึ่งสิ่งที่ Kevin Schmidt เตรียมไปเป็นพิเศษเลย นั่นคือ กระดาษหนึ่งแผ่น ที่ใช้อักษรขนาด 9 ที่ทั้งสองหน้ากระดาษเต็มไปด้วยมุขตลก ที่ค่อยสร้างเสียงหัวเราะให้แก่เธอตลอดการแข่งขัน แม้ว่าในครั้งนั้นเธอจะออกจากแข่งขันก็ตาม แต่กระดาษมุขตลกนี้ได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติต่อมา ที่เธอจะต้องมีในทุกการแข่งขัน

หลังจากนั้น เธอก็ได้ฝึกซ้อมและลงแข่งขันมาโดยตลอด จนกระทั่งในปี 2017 เธอได้ทำลายสถิติวิ่ง 24 ชั่วโมงหญิงของประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยระยะทางที่มากถึง 155.391 ไมล์ หรือประมาณ 250 กม. (ซึ่งสถิตินี้ถูกทำลายลงในปี 2018 โดย Camille Herron ที่ได้ระยะทาง 262.19 กม.)

ทำให้เธอมีแผนที่จะผันตัวไปเป็นนักวิ่งอาชีพ โดยเธอให้เหตุผลว่า “พวกเราไม่มีลูก ไม่มีสัตว์เลี้ยง หรือไม่มีแม้กระทั่งต้นไม้ที่จะต้องคอยดูแล ทำไมถึงจะไม่ทำให้มันเต็มที่ละ?” ซึ่งภายในปี 2017 เธอได้ออกจากการเป็นครูและเริ่มอาชีพนักวิ่งเทรลอย่างเป็นทางการ โดยมีแบรนด์ Salomon เป็นผู้สนับสนุนหลักตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา

ผลงานในปีต่อมาของเธอเป็นที่น่าทึ่ง เพราะเธอสามารถคว้าแชมป์สนามแข่งสุดโด่งดังอย่าง Western States Endurance Run (ระยะทาง 100 ไมล์) ในปี 2018 ได้สำเร็จ และในปีนั้น เธอได้เข้าร่วมการแข่งวิ่งเทรลต่างๆ มากมายถึง 8 สนาม และสามารถคว้าแชมป์ได้ถึง 7 สนาม

ในปี 2019 ก็ไม่แตกต่างกัน เธอลงแข่งขันถึง 6 สนามและสามารถคว้าแชมป์ได้ถึง 5 สนาม โดยหนึ่งในนั้นคือ รายการแข่งขัน UTMB (ในระยะ UTMB) ที่ทำให้คนทั้งโลกจดจำเธอในฐานะของนักวิ่งหญิงที่สวมใส่เสื้อตัวหลวมโคร่งและกางเกงบาสเก็ตบอล ซึ่งเป็นสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ของเธอตั้งแต่อดีต

Courtney Dauwalter ลงแข่งขันรายการแข่ง UTMB ในระยะ UTMB ปี 2021 และเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่หนึ่งของฝ่ายหญิงอีกครั้ง

และในปี 2021 นี้ เธอลงแข่งขันรายการแข่ง UTMB ในระยะ UTMB และเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่หนึ่งของฝ่ายหญิงอีกครั้ง (อันดับที่ 7 Overall) ด้วยเวลา 22 ชั่วโมง 30 นาที 54 วินาที ซึ่งเป็นอีกหนึ่งครั้งที่ฝ่ายหญิงขึ้นมาติด 10 อันดับรวม

ในส่วนรองเท้าที่เธอใช้คือ Salomon S/LAB Ultra 3 รองเท้าวิ่งเทรลตัวแข่งระยะไกลที่ถูกออกแบบและร่วมพัฒนาโดย François D’Haene ที่ ณ เวลานี้ มีดีกรีเป็นถึงแชมป์ UTMB 4 สมัย ซึ่งเขาคนนี้เป็นนักวิ่งที่วิ่งลงกลางเท้าและส้นเท้าเป็นหลัก ทำให้ S/Lab ตระกูล Ultra ถูกออกแบบมาให้เหมาะกับการวิ่งลงกลางเท้าและส้นเท้าเป็นพิเศษ ซึ่งจะต่างจาก S/Lab ตระกูล Sense ของ Kilian Jornet ที่ถูกออกแบบมาให้เหมาะกับการวิ่งลงปลายเท้า

สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดของ Salomon S/LAB Ultra 3 และรองเท้าวิ่งเทรล Salomon รุ่นอื่นๆ แบบเต็มๆ ได้ที่นี่เลยครับ

ข้อมูลจำเพาะของ Salomon S/Lab Ultra 3

  • หน้าผ้า Anti-debris Mesh แบบหุ้มข้อ (Integrated Gaiter)
  • มาพร้อมกับระบบมัดเชือกแบบ Quicklace + ช่องเก็บสายบริเวณลิ้นรองเท้า (Quicklace Garage)
  • พื้นชั้นกลาง EnergyCell+ และ Energy Save (โฟม PU บริเวณปลายเท้า)
  • มาพร้อมกับแผ่นรองกันหิน Profeel Film แบบคาร์บอน
  • ดอกยาง Contagrip MA (ดอกสูง 4 มม.)
  • น้ำหนัก: 289 กรัม ในไซส์ 9US Unisex
  • Offset: 8.6 มม. (ปลายเท้าสูง 18.2 มม. และส้นเท้าสูง 26.8 มม.)
  • มีเฉพาะหน้าเท้าปกติ (D)
  • ราคา: 6,550 บาท
6
7
8
9
10
11
previous arrow
next arrow
Shadow

อันดับที่ 2 Camille Bruyas

  • อายุ: 29 ปี
  • Performance Index: 779
  • เวลา: 24 ชั่วโมง 09 นาที 42 วินาที
  • สังกัดทีม: SALOMON FRANCE
  • รองเท้า: Salomon S/LAB Ultra 3 และ Salomon Sense Ride 4

Camille Bruyas เธอคือนักวิ่งเทรลดาวรุ่งชาวฝรั่งเศสจากทีม Salomon France ซึ่งในอดีตเธอในวัย 18 ปี เริ่มต้นเส้นทางด้านกีฬา โดยการเป็นนักกรีฑาประเภทลู่ ก่อนที่ต่อมาเธอจะมีโอกาสได้ไปทำงานบนเกาะ Réunion

ความรู้เพิ่มเติม เกาะ Réunion เป็นเขตการปกครองโพ้นทะเลของประเทศฝรั่งเศส ที่ตั้งอยู่บริเวณมหาสมุทรอินเดีย ทางตะวันออกของมาดากัสการ์ โดยเป็นสถานที่ยอดนิยมของนักวิ่งเทรลชาวฝรั่งเศส และหนึ่งในสถานที่ชื่อดังบนเกาะ Réunion นั้นก็คือ Cirque de Mafate หรือแอ่งยุบปากปล่องภูเขาไฟ Mafate ซึ่งทาง Hoka One One ก็ได้ใช้ชื่อนี้เป็นชื่อตระกูลรองเท้าวิ่งเทรลอย่างตระกูล Mafate

ซึ่งหลังจากอาศัยอยู่บนเกาะ Réunion เธอก็ได้เริ่มฝึกซ้อมวิ่งเทรล จนกระทั่งในปี 2016 เธอเลือกที่จะผันตัวมาเป็นนักวิ่งเทรลอาชีพและลงแข่งขันในรายการแข่งต่างๆ ทำให้เธอมีผลงานโดดเด่นในสนามแข่งขันวิ่งเทรลไม่ว่าจะเป็นเจ้าของแชมป์ Ultra Tour Des 4 Massifs (50 กม.) ในปี 2016, Grand Raid De La Réunion (110 กม.) ในปี 2017, Ultra-trail Cape Town (64 กม.) ในปี 2018 และอันดับที่ 3 ในรายการแข่ง UTMB ระยะ CCC ในปี 2019

นอกจากนี้ เดือนมิถุนายน ปี 2021 ที่ผ่านมา เธอพึ่งไปคว้าแชมป์สนามแข่ง La Sportiva Lavaredo Ultra Trail (120 กม.) อีกด้วย

Camille Bruyas ลงแข่งขันรายการแข่ง UTMB ในระยะ UTMB ปี 2021 และเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่สองของฝ่ายหญิง

และในครั้งนี้เธอลงแข่งขันรายการแข่ง UTMB ในระยะ UTMB ซึ่งเป็นการแข่งขันระยะทางไกล 171 กม. ครั้งที่สองของเธอ และเธอสามารถเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่สองของฝ่ายหญิง (อันดับที่ 16 Overall) ด้วยเวลา 24 ชั่วโมง 09 นาที 42 วินาที

ในส่วนรองเท้าที่เธอใช้คือ Salomon S/LAB Ultra 3 ในช่วงเริ่มจนถึงจุดพัก Champex (กิโลเมตรที่ 127) จากนั้นเธอและทีมงานได้ทำการเปลี่ยนรองเท้าไปเป็น Salomon Sense Ride 4 รองเท้าวิ่งเทรลประเภทสันทนาการทั่วไป ที่มีความสบายในการสวมใส่ที่มากกว่า ซึ่งเธอมักจะใช้ซ้อมอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ในระยะทางอีก 45 กม. ที่เหลือจนถึงเส้นชัย

Camille Bruyas หลังเข้าเส้นชัยด้วยรองเท้า Salomon Sense Ride 4

ข้อมูลจำเพาะของ Salomon S/Lab Ultra 3

  • หน้าผ้า Anti-debris Mesh แบบหุ้มข้อ (Integrated Gaiter)
  • มาพร้อมกับระบบมัดเชือกแบบ Quicklace + ช่องเก็บสายบริเวณลิ้นรองเท้า (Quicklace Garage)
  • พื้นชั้นกลาง EnergyCell+ และ Energy Save (โฟม PU บริเวณปลายเท้า)
  • มาพร้อมกับแผ่นรองกันหิน Profeel Film แบบคาร์บอน
  • ดอกยาง Contagrip MA (ดอกสูง 4 มม.)
  • น้ำหนัก: 289 กรัม ในไซส์ 9US Unisex
  • Offset: 8.6 มม. (ปลายเท้าสูง 18.2 มม. และส้นเท้าสูง 26.8 มม.)
  • มีเฉพาะหน้าเท้าปกติ (D)
  • ราคา: 6,550 บาท
6
7
8
9
10
11
previous arrow
next arrow
Shadow

ข้อมูลจำเพาะของ Salomon Sense Ride 4

  • หน้าผ้า Anti-Debris mesh
  • มาพร้อมกับระบบมัดเชือกแบบ Quicklace + ช่องเก็บสายบริเวณลิ้นรองเท้า (Quicklace Garage)
  • พื้นชั้นกลาง Optivibe
  • มาพร้อมกับแผ่นรองกันหิน Profeel Film
  • ดอกยาง Contagrip MA (ดอกสูง 4 มม.)
  • น้ำหนัก: 290 กรัม ในไซส์ 9US ชาย และ 235 กรัม ในไซส์ 8US หญิง
  • Offset: 8 มม. (ปลายเท้าสูง 24 มม. และส้นเท้าสูง 32 มม.)
  • มีเฉพาะหน้าเท้าปกติ (D)
  • ราคา: 4,450 บาท
12
13
14
15
16
previous arrow
next arrow
Shadow

อันดับที่ 3 Mimmi Kotka

  • อายุ: 40 ปี
  • Performance Index: 735
  • เวลา: 25 ชั่วโมง 08 นาที 29 วินาที
  • สังกัดทีม: LA SPORTIVA
  • รองเท้า: La Sportiva Lycan II

Mimmi Kotka เธอคือนักวิ่งหญิงแกร่งชาวสวีเดน วัย 40 ปี จากทีม La Sportiva ผู้ที่ชื่นชอบและหลงไหลในการเล่นกีฬากลางแจ้งมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเล่นสกี, ปั่นจักรยาน, เดินป่า, ดำน้ำ, โยคะ แต่ไม่ใช่กับการวิ่ง

ชีวิตการวิ่งของเธอเพิ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 2010 เมื่อเธอได้ท้าทายตัวเองด้วยการลงแข่งขันวิ่งครอสคันทรี่รายการใหญ่ที่สุดในโลกอย่างรายการ Lidingöloppet ที่จัดขึ้น ณ ประเทศสวีเดน แต่สิ่งที่เธอได้กับมาในการลงแข่งขันครั้งนั้น คือ ความหลงไหลกับการวิ่งในธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอโหยหามาโดยตลอด

และนับตั้งแต่นั้น เธอก็วางแผนฝึกซ้อมและลงแข่งด้วยตัวเองมาโดยตลอด จนกระทั่งในปี 2016 รายการแข่งที่สร้างชื่อให้แก่เธอก็ได้มาถึง นั่นคือ การคว้าแชมป์รายการแข่ง UTMB ระยะ CCC (101 กม.) ในปี 2016 และต่อมาในปี 2017 เธอกลับมาเข้าร่วมรายการแข่ง UTMB อีกครั้ง และเป็นการคว้าแชมป์ในระยะ TDS (119 กม.)

แน่นอนว่าเธอไม่หยุดเพียงแค่นี้ ในปีต่อมาเป้าหมายของเธอคงหนีไปไม่พ้นกับการเป็นเจ้าของแชมป์ UTMB ระยะหลัก แต่ด้วยการแข่งขัน UTMB ในปี 2018 มีสภาพอากาศที่เลวร้ายและมีฝนตก รวมทั้งอากาศที่หนาวเย็นในช่วง 12 ชั่วโมงแรก ทำให้เธอจำเป็นต้องออกจากการแข่งขันในปีนั้นไป ซึ่งต่อมาในปี 2019 เธอก็ได้ลงแข่งขัน UTMB ระยะหลักอีกครั้งและจบลงด้วยการเข้าเส้นชัยเป็นอับดับที่ 20 ของฝ่ายหญิง

Mimmi Kotka ในการแข่งขัน UTMB ปี 2021

ก่อนที่ในช่วงปี 2020 เธอจะมีภาวะพร่องพลังงานในนักกีฬา (Relative Energy Deficiency in Sport หรือ RED-S) ซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลของพลังงานที่รับเข้าไป (การรับประทานอาหารไม่เพียงพอ) และการใช้พลังงานที่มากจนเกินไป โดยภาวะนี้จะกระทบโดยตรงกับสมรรถภาพร่างกายและจิตใจที่ลดต่ำลง แต่ในช่วงต้นปี 2021 เธอก็หายกลับมาเป็นปกติแล้ว

และในเดือนมิถุนายน ปี 2021 ที่ผ่านมา เธอก็ลงสนามแข่งเดียวกับ Camille Bruyas (ที่สอง UTMB ด้านบน) ณ งาน La Sportiva Lavaredo Ultra Trail (120 กม.) ซึ่งในครั้งนั้นเธอเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่สาม

นอกจากการเป็นนักวิ่งเทรลอาชีพ เธอยังทำงานเป็นนักโภชนาการและเปิดเว็บไซต์ Moonvalley ซึ่งเป็นร้านค้าออนไลน์ที่จำหน่ายบาร์ธัญพืชและเครื่องดื่มเกลือแร่ รวมไปถึงเมล็ดกาแฟ ร่วมกับเพื่อนนักกีฬาของเธออย่าง Ida Nilsson และ Emelie Forsberg (ภรรยาของ Kilian Jornet)

บาร์ธัญพืชและเมล็ดกาแฟของแบรนด์ Moonvalley
สามสาวผู้ก่อตั้ง Moonvalley (ซ้าย) Ida Nilsson, (กลาง) Emelie Forsberg, และ (ขวา) Mimmi Kotka

โดยในปีนี้เธอลงแข่งขันรายการแข่ง UTMB ในระยะ UTMB ด้วยหัวใจที่หมายมั่นที่จะคว้าแชมป์ให้ได้ แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันได้เกิดขึ้นในเวลากลางคืน ณ ช่วงประมาณกิโลเมตรที่ 70 ก่อนถึงจุดพัก Courmayeur เมื่อเธอกำลังไล่ตาม Courtney Dauwalter ที่เวลาห่างกันไม่ถึง 5 นาที เธอได้เกิดพลาดล้มระหว่างทาง จนทำให้หัวเข่าทั้งสองข้างของเธอแตก

แต่ด้วยจิตใจที่เข้มแข็งและไม่ยอมแพ้ กับระยะทางที่เหลืออีก 100 กม. เธอใส่สุดแรง และรู้หรือไม่ว่า Camille Bruyas มาไล่แซงเธอได้ในกิโลเมตรที่เท่าไหร่? คำตอบคือ ณ กิโลเมตรที่ 154 ซึ่งนั่นหมายความว่า เธอวิ่งนำ Camille Bruyas มาตลอด 84 กม. หลังจากพลาดล้ม

Mimmi Kotka ลงแข่งขันรายการแข่ง UTMB ในระยะ UTMB ปี 2021 และเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่สามของฝ่ายหญิง แม้ว่าหัวเข่าทั้งสองข้างจะแตก

สุดท้ายเธอสามารถเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่สามของฝ่ายหญิง (อันดับที่ 23 Overall) ด้วยเวลา 25 ชั่วโมง 08 นาที 29 วินาที ซึ่งเวลาก่อนที่เธอจะพลาดล้มคือ 09 ชั่วโมง 59 นาที 02 วินาที หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า เธอวิ่งแบกหัวเข่าที่แตกทั้งสองข้างเป็นเวลานานกว่า 15 ชั่วโมง จนถึงเส้นชัย ซึ่งทางเราต้องขอยกให้เธอเป็นนักวิ่งหญิงที่เข้มแข็งและแข็งแกร่งที่สุดในปีนี้เลยก็ว่าได้

ในส่วนรองเท้าที่เธอใช้คือ La Sportiva Lycan II รองเท้าวิ่งเทรลประเภทสันทนาการทั่วไป ที่ถูกออกแบบโดย Jonathan Wyatt อดีตนักกีฬาทีมชาติของประเทศนิวซีแลนด์ ที่เคยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกถึง 2 ครั้ง ซึ่งเป็นรองเท้าวิ่งเทรลอเนกประสงค์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการฝึกซ้อมในระยะกลาง ซึ่งหลังจากเปิดตัวและวางจำหน่ายรองเท้าคู่นี้ก็ขึ้นแท่นรองเท้าวิ่งเทรลยอดขายดีของแบรนด์ La Sportiva ในต่างประเทศ

สามารถเข้าไปอ่านประวัติรองเท้าวิ่งเทรลแบรนด์ La Sportiva แบบเต็มๆ ได้ที่นี่เลยครับ

ข้อมูลจำเพาะของ La Sportiva Lycan II

  • หน้าผ้า Mesh ระบายอากาศได้ดี พร้อมเสริมโครงด้วยไมโครไฟเบอร์และเคลือบกันการขีดข่วน
  • มาพร้อมกับ TPU Toe Bumper
  • พื้นชั้นกลาง Injected EVA
  • ดอกยาง FriXion Blue พร้อมเทคโนโลยี Impact Break System (ดอกยางสูง 6.5 มม.)
  • น้ำหนัก: 305 กรัม ในไซส์ 9US ชาย และ 270 กรัม ในไซส์ 8US หญิง
  • Offset: 6 มม. (ปลายเท้าสูง 20 มม. และส้นเท้าสูง 26 มม.)
  • มีเฉพาะหน้าเท้าปกติ (D)
  • ราคา: 4,450 บาท วางจำหน่ายแล้วในประเทศไทย
17
18
19
20
21
previous arrow
next arrow
Shadow

เสริมเพิ่มเติม นักวิ่งหญิงชาวไทยที่ลงแข่งในระยะ UTMB มีทั้งหมด 1 ท่าน ได้แก่

คุณ “เอ๋” พิชชานันท์ มหาโชติ จากทีม ALTRA RUNNING THAILAND โดยเข้าเส้นชัยเป็นอันดับที่ 57 ของฝ่ายหญิง (อันดับที่ 820 Overall จากนักวิ่งทั้งหมด 2,347 คน) ด้วยเวลา 42 ชั่วโมง 10 นาที 56 วินาที และสวมใส่รองเท้า Altra Olympus 4 รองเท้าวิ่งเทรลประเภทสันทนาการทั่วไปหนานุ่มสำหรับวิ่งระยะไกลและยังเป็น Zero Drop

คุณ “เอ๋” พิชชานันท์ มหาโชติ นักวิ่งหญิงชาวไทยที่ลงแข่งในระยะ UTMB

ข้อมูลจำเพาะของ Altra Olympus 4

  • หน้าผ้า Engineered Mesh
  • พื้นชั้นกลาง CMEVA
  • ดอกยาง Vibram MegaGrip (ดอกยางสูง  มม.)
  • น้ำหนัก: 329 กรัม ในไซส์ 9US ชาย และ 272 กรัม ในไซส์ 8US หญิง
  • Offset: 0 มม. (ปลายเท้าสูง 33 มม. และส้นเท้าสูง 33 มม.)
  • ราคา: 5,950 บาท วางจำหน่ายแล้วในประเทศไทย
31
32
33
34
previous arrow
next arrow
Shadow

และสำหรับบทความสรุปรองเท้าวิ่งเทรลและผลการแข่งขันรายการแข่ง UTMB ปี 2021 ทุกระยะ (ฝ่ายหญิง) ตอนที่ 2 ทางเราต้องขอจบไว้ ณ ตรงนี้ และในบทความหน้าจะเป็นของนักวิ่งของฝ่ายชายกันบ้าง ซึ่งพวกเขาจะเป็นใครกันบ้างนั้น และสวมใส่รองเท้าวิ่งเทรลรุ่นอะไร โปรดติดตามตอนต่อไปครับ

และขอฝากเอาไว้อีกครั้งว่า รองเท้าวิ่งเทรลตัวแข่งทุกคู่อาจจะไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคนทุกท่านเสมอไปนะครับ ความชอบเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ซึ่งรองเท้าวิ่งเทรลสำหรับสันทนาการทั่วไปก็ไม่ได้หมายความว่าจะใส่ลงแข่งขันไม่ได้นะครับ

หวังว่าบทความนี้เป็นจะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิ่งหรือผู้ที่สนใจในการวิ่งหลาย ๆ ท่าน ขอให้วิ่งให้สนุกครับ และสามารถติดตาม Running Profiles ได้ทั้งใน

More on this topic

Popular stories

Training Plan