วันนี้เรามาอธิบายและรีวิว (ผ่า) Xtep Ultra Fast 2.0 รองเท้าวิ่งถนนสำหรับซ้อมประจำวันที่มาพร้อมกับแผ่น TPU Plate ที่จะเป็นการเจาะลึกถึงเทคโนโลยีภายในและความคิดเห็นเกี่ยวกับรองเท้าวิ่งถนนคู่นี้ ซึ่งจะน่าสนใจเพียงใด เชิญติดตามได้เลยครับ

คำชี้แจง:
- การผ่ารองเท้าวิ่งในทุกๆ ครั้งของทางเรา Running Profiles มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการศึกษาเทคโนโลยีภายในรองเท้าและเผยแพร่ให้ความรู้แก่นักวิ่งทุกท่าน โดยรองเท้าวิ่งที่ถูกผ่าแต่ละคู่จะถูกเก็บรักษาไว้เป็นแหล่งอ้างอิงอย่างดี ไม่มีการนำไปทิ้งเป็นขยะ
- ซึ่งทางเราไม่แนะนำหรือสนับสนุนให้นักวิ่งผ่ารองเท้าวิ่ง แม้ว่าจะมีการใช้งานมาแล้วก็ตาม โดยรองเท้าวิ่งที่ถูกใช้งานแล้ว ทางเราแนะนำให้นำไปบริจาคหรือส่งต่อให้นักวิ่งที่มีความต้องการใช้งานต่อ
- โดยทางเราสนับสนุนและรณรงค์ให้ทุกท่านเห็นคุณค่าของอุปกรณ์ทุกชิ้น และส่งเสริมการใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิตอุปกรณ์กีฬา เพื่อลดปริมาณขยะและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา
ข้อมูลจำเพาะของ Xtep Ultra Fast 2.0
Xtep Ultra Fast 2.0 เป็นรองเท้าวิ่งรุ่นเริ่มต้นสำหรับซ้อมวิ่งประจำวัน (Daily Trainers) สำหรับนักวิ่งเท้าปกติ (Neutral Foot) ที่มาพร้อมกับแผ่น TPU Plate
- น้ำหนักชั่งจริง: 284 กรัม ในไซส์ 45EU ชาย (หรือเทียบเท่ากับไซส์ 11.5US ของแบรนด์ Adidas)
- Offset: 9 มม.
- ความกว้างหน้าเท้าแบบปกติ
- ราคา: 1,200 – 2,000 บาท (ขึ้นอยู่กับโปรโมชั่น)

รีวิว (ผ่า) Xtep Ultra Fast 2.0
ในส่วนของการรีวิวสามารถแบ่งประเด็นได้ดังนี้
หน้าผ้า (Upper)

หน้าผ้าของ Xtep Ultra Fast 2.0 มาพร้อมกับหน้าผ้า Mesh แบบ 2 ชั้น ที่ประกอบไปด้วย เนื้อผ้าด้านนอกที่เป็นเนื้อผ้า Jacquard Mesh หรือเนื้อผ้าที่ทอขึ้นลายนูนที่ผิว เพื่อความสวยงาม และเนื้อผ้าด้านในจะเป็นเนื้อผ้า Mesh แบบตาข่ายที่ระบายอากาศและน้ำได้ดี



และบริเวณ Toe Bumper จะมีการเสริมยางให้แข็งขึ้น เพื่อให้หน้าผ้าบริเวณปลายนิ้วเท้าอยู่ทรงและไม่ตกลงมาสัมผัสกับนิ้วเท้า รวมทั้งช่วยปกป้องนิ้วเท้า นอกจากนี้ บริเวณกลางเท้าจะมีการเสริมโครงด้านใน เพื่อช่วยเพิ่มความกระชับบริเวณกลางเท้า ซึ่งจะติดตั้งอยู่ระหว่างเนื้อผ้าด้านนอกและด้านใน ทำให้เมื่อมองจากภายนอกหรือภายในจะไม่เห็นโครงตัวนี้


และแม้ว่าจะมีหน้าผ้า 2 ชั้น แต่ลิ้นรองเท้าจะแยกออกจากตัวหน้าผ้า ซึ่งไม่ได้มีการเชื่อมลิ้นรองเท้าเป็นชิ้นเดียวกันกับเนื้อผ้าด้านใน ทำให้ลิ้นรองเท้าสามารถเลื่อนไปมาขณะวิ่งได้ และในรุ่นนี้จะไม่มีรูร้อยเชือกหูสุดท้ายมาให้ แต่การมัดเชือกแบบปกติก็ให้ความกระชับที่เพียงพอต่อการใช้งาน



ในส่วนของลิ้นรองเท้าจะมีการบุฟองน้ำด้านในที่หนากำลังดี และในส่วนของ Heel Counter จะเป็นพลาสติกแข็งรอบส้นเท้า รวมทั้งมีการบุขอบบริเวณส้นเท้าด้วยฟองน้ำแบบหนา และทางแบรนด์ Xtep จะมีการออกแบบขอบบริเวณส้นเท้าให้บานออกไปด้านหลัง เพื่อช่วยลดอาการเสียดสีบริเวณเอ็นร้อยหวาย


โดยรวม หน้าผ้าของ Xtep Ultra Fast 2.0 เป็นหน้าผ้าที่ระบายอากาศได้ดี สวมใส่สบายจากเนื้อผ้าบริเวณส้นเท้าและลิ้นรองเท้าที่มีความนุ่ม และจากที่ทางเราใช้งานมาก็ไม่เคยมีอาการหน้าผ้ากัดเท้าหรือ Blister จากรองเท้ารุ่นนี้ รวมทั้งหน้าผ้ายังให้ความกระชับเท้า ไม่มีอาการส้นรูด แม้ว่าจะไม่มีรูร้อยเชือกหูสุดท้ายก็ตาม

พื้นชั้นกลาง (Midsole)

Xtep Ultra Fast 2.0 จะมาพร้อมกับพื้นชั้นกลาง Feather Foam ที่ถูกแบ่งออกเป็นส่วนบนและส่วนล่าง โดยพื้นโฟมส่วนบนจะเป็นวัสดุ EVA ที่มีความเสถียรและมีความเฟิร์มกว่าพื้นโฟมส่วนล่างเล็กน้อย และในส่วนพื้นโฟมส่วนล่างจะเป็นวัสดุ TPU ที่เด้งส่งแรงได้ดี และระหว่างกลางของพื้นโฟมทั้งสองส่วนจะมีการติดตั้งแผ่น “X-Force Plate” มาให้





โดยแผ่น X-Force Plate จะเป็นแผ่นเพลทวัสดุ TPU รูปทรงตัว X แบบก้ามปู ที่วางยาวตั้งแต่บริเวณปลายเท้าถึงบริเวณส้นเท้า เพื่อทำหน้าที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งแรงและช่วยป้องกันการบิดตัวหรือหักกลางของพื้นชั้นกลาง และทางแบรนด์ Xtep จะมีการออกแบบยกขอบของแผ่นช่วงบริเวณส้นเท้าขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มความกระชับและความเสถียรบริเวณส้นเท้า





ความนุ่มพื้นชั้นกลางของ Xtep Ultra Fast 2.0
ความนุ่มของพื้นชั้นกลาง | ค่าความนุ่ม (Durometer Shore C: HC) | ระดับความนุ่ม |
(1) เนื้อโฟมส่วนบน (โฟมสีดำ) | 45 – 50 | นุ่ม |
(2) เนื้อโฟมส่วนล่าง (โฟมสีขาว) | 40 – 45 | นุ่ม |

หมายเหตุ:
- ค่า Durometer Shore C ยิ่งค่าน้อย หมายถึง ยิ่งนุ่มมาก
- ระดับความนุ่มแบ่งเป็น นุ่ม (40-50 HC) ➞ นุ่มปานกลาง (35-40 HC) ➞ นุ่มมาก (30-35 HC)
- ระดับความเฟิร์มแบ่งเป็น เฟิร์ม (50-60 HC) ➞ เฟิร์มมาก (60-70 HC)
โดยความสูงของพื้นชั้นกลาง Xtep Ultra Fast 2.0 เมื่อวัดจริง (รวมแผ่นรองบุพื้นและดอกยาง แต่ไม่รวมแผ่นรองรองเท้า) จะมีความสูงบริเวณปลายเท้าอยู่ที่ 19 มม. และส้นเท้าสูง 29 มม. ทำให้มี Drop อยู่ที่ 10 มม.

ในส่วนของแผ่นรองรองเท้า (Insole) จะใช้เป็นแผ่นรองวัสดุ EVA หนานุ่ม ที่มีการเจาะรูทั่วทั้งแผ่น เพื่อช่วยระบายอากาศและระบายเหงื่อ โดยมีความหนาบริเวณปลายเท้าอยู่ที่ 5 มม. และส้นเท้า 7 มม. และในส่วนของแผ่นรองบุพื้น (Strobel) จะเป็นผ้าใยสังเคราะห์


ทำให้เมื่อวัดรวมความสูงทั้งหมด (รวมแผ่นรองบุพื้น แผ่นรองรองเท้า และดอกยาง) จะมีความสูงบริเวณปลายเท้าอยู่ที่ 24 มม. และส้นเท้าสูง 36 มม. ทำให้มี Drop อยู่ที่ 12 มม.

และทางแบรนด์ Xtep จะมีการออกแบบเว้าเนื้อโฟมบริเวณกลางเท้าออกไป ทั้งด้านนอกและด้านในอุ้งเท้า รวมไปถึงบริเวณพื้นด้านล่าง เพื่อช่วยลดน้ำหนักของรองเท้า

อย่างไรก็ตาม การออกแบบเว้าโฟมออกไปลักษณะนี้ ทำให้บริเวณกลางเท้าสามารถล้มด้านข้างไปมาได้ แม้ว่าจะมีแผ่นเพลทก็ตาม ซึ่งการล้มไปมาของพื้นบริเวณกลางเท้าจะทำให้เท้าและข้อเท้าของนักวิ่งสามารถล้มไปด้านใดด้านหนึ่ง ส่งผลให้หัวเข่าของนักวิ่งที่ควรจะอยู่ในแนวระนาบที่เหมาะสมเกิดการเบี่ยงเบน และเมื่อวิ่งไปนานๆ อาจจะนำไปสู่อาการบาดเจ็บที่ตามมาได้
โดยเฉพาะกับนักวิ่งเท้าแบน (Overpronation) และนักวิ่งที่เท้าล้มนอก (Supination) รวมไปถึงการวิ่งบนเส้นทางที่ไม่เรียบ เช่น การวิ่ง City Run บนฟุตบาทของประเทศไทย

ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับนักวิ่งเท้าแบน (Overpronation) คือ อาการเจ็บ Shin Splints ด้านใน (หรือ Posterior Shin Splints) และอาการเจ็บหัวเข่า และในส่วนของนักวิ่งที่เท้าล้มนอก (Supination) จะนำไปสู่อาการเจ็บเอ็นข้างเข่าด้านใน (หรือ IT Band)
และแม้ว่าทางเราจะเคยกล่าวไว้ว่า “รองเท้าวิ่งสำหรับนักวิ่งเท้าปกติเป็นรองเท้าวิ่งที่นักวิ่งเท้าแบนควรจะนำมาสลับสวมใส่ใช้งาน เพื่อช่วยปรับให้เอ็นเท้ามีความยืดหยุ่นและฝึกความแข็งแรง” แต่คำกล่าวนี้จะเป็นจริงเมื่อรองเท้าวิ่งคู่นั้นไม่เพิ่มการล้มของเท้ามากจนเกินไป หรือก็คือรองเท้าต้องไม่ทำให้หัวเข่าของนักวิ่งเบี่ยงเบนจากแนวระนาบที่เหมาะสมมากจนเกินไป
และการออกแบบเว้าโฟมออกไปลักษณะนี้ ซึ่งยังมีอีกหนึ่งรุ่นในอดีตของแบรนด์ดังที่มีชื่อคล้ายกันอย่าง Puma Ultraride ก็เป็นการออกแบบที่ส่งเสริมให้เท้าเกิดอาการล้มมากขึ้น ทำให้ไม่เหมาะเป็นอย่างมากกับนักวิ่งเท้าแบนและนักวิ่งที่เท้าล้มนอก

ซึ่งหลังจากที่ทางเราใช้งานมา (ทางเราเป็นนักวิ่งเท้าแบน) ทั้งจากการใช้งานในชีวิตประจำวัน การซ้อมวิ่ง และการวิ่ง City Run ผลที่ออกมาคือ อาการเจ็บ Shin Splints ด้านในและอาการเจ็บหัวเข่า ซึ่งไม่น่าแปลกใจนักสำหรับรองเท้าวิ่งที่ออกแบบลักษณะนี้
ในส่วนความรู้สึกของพื้นชั้นกลาง Xtep Ultra Fast 2.0 จะให้ความรู้สึกที่นุ่ม ไม่ยวบ การวิ่งเป็นไปอย่างลื่นไหล รู้สึกวิ่งสนุกและประหยัดแรง เหมือนกับว่ารองเท้าวิ่งคู่นี้สามารถพาให้วิ่งไปได้ไกลขึ้น เมื่อเทียบกับรองเท้าวิ่งสำหรับซ้อมประจำวันที่ใช้พื้นชั้นกลางวัสดุ EVA และไม่มีแผ่น Plate

โดยรวม พื้นชั้นกลางของ Xtep Ultra Fast 2.0 เป็นพื้นชั้นกลางที่สามารถใช้ในการฝึกซ้อมประจำวันได้เป็นอย่างดี ซึ่งพื้นโฟมมีความนุ่ม รองรับแรงกระแทกได้ดี วิ่งแล้วรู้สึกประหยัดแรง อย่างไรก็ตาม การเว้าโฟมด้านข้างออกไป ทำให้รองเท้าวิ่งคู่นี้เหมาะกับนักวิ่งเท้าปกติ ที่จะนำไปใช้งานบนทางเรียบ เช่น บนถนนหรือถนนในสวนสาธารณะเท่านั้น

ดอกยาง (Outsole)

Xtep Ultra Fast 2.0 จะมาพร้อมกับดอกยางของแบรนด์ Xtep ที่จะมีการออกแบบฉลุเนื้อยางบริเวณปลายเท้าออกไป เพื่อช่วยลดน้ำหนักของรองเท้า
ในด้านประสิทธิภาพของการยึดเกาะพื้นของเนื้อดอกยาง สามารถแบ่งได้ดังนี้
- ประสิทธิภาพการยึดเกาะบนพื้นผิวแห้ง ดอกยางของ Xtep Ultra Fast 2.0 สามารถยึดเกาะพื้นได้ดีกว่าค่ามาตรฐาน โดยจะยึดเกาะอยู่ที่ 41 องศา (ค่ามาตรฐานการยึดเกาะพื้นผิวที่แห้งอยู่ 35 องศา)
- ประสิทธิภาพการยึดเกาะบนพื้นผิวที่เปียกน้ำ ดอกยางของ Xtep Ultra Fast 2.0 สามารถยึดเกาะพื้นได้ต่ำกว่าค่ามาตรฐาน โดยจะยึดเกาะอยู่ที่ 20 องศา (ค่ามาตรฐานการยึดเกาะพื้นผิวที่เปียกน้ำอยู่ 30 องศา)

โดยเป็นเรื่องปกติสำหรับรองเท้าวิ่งถนนที่จะยึดเกาะพื้นผิวที่เปียกน้ำได้ไม่ดีนัก ซึ่งการยึดเกาะที่ 20 องศา ของ Xtep Ultra Fast 2.0 ก็ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานของรองเท้าวิ่งถนนแบรนด์อื่นๆ เล็กน้อย ที่จะอยู่ระหว่าง 23 – 26 องศา เช่น ดอกยางของแบรนด์ New Balance, Brooks, และ Skechers
แต่ดอกยางของรองเท้าวิ่งถนนที่ยึดเกาะพื้นผิวที่เปียกน้ำได้ดีจะเป็นดอกยาง Continental ในรองเท้าวิ่งแบรนด์ Adidas และดอกยาง Asics Grip ในรองเท้าวิ่งแบรนด์ Asics ที่จะเกาะพื้นอยู่ระหว่าง 30 – 37 องศา
โดยรวม ดอกยางของ Xtep Ultra Fast 2.0 เป็นดอกยางที่ทนทานในการใช้งาน ซึ่งจากที่ทางเราใช้งานมามีร่องรอยจากการสึกที่น้อยมาก และในส่วนของการยึดเกาะพื้นผิวแห้งถือว่าทำออกมาได้ดี ไม่มีลื่น สามารถใช้งานซ้อมประจำวันได้เป็นอย่างดี แต่การยึดเกาะพื้นบนพื้นผิวที่เปียกน้ำก็ถือว่าทำออกมาได้ไม่ดีนัก

สรุปโดยรวม

Xtep Ultra Fast 2.0 เป็นรองเท้าวิ่งที่เหมาะกับนักวิ่งเท้าปกติ (Neutral Foot) ในการนำไปใช้ในการฝึกซ้อมประจำวัน (Daily Trainers) บนเส้นทางที่เรียบ เช่น บนถนนหรือถนนในสวนสาธารณะเท่านั้น
โดยหน้าผ้าถือว่า ระบายอากาศได้ดี สวมใส่สบาย มีความกระชับเท้า ไม่มีอาการส้นรูด แม้ว่าจะไม่มีรูร้อยเชือกหูสุดท้ายมาให้ ซึ่งอาการลิ้นรองเท้าเลื่อนขณะวิ่งที่กล่าวไปข้างต้น ในการใช้งานจริงก็ถือว่าไม่ได้เป็นปัญหามากนัก ไม่ได้มีความรู้สึกรบกวนขณะวิ่งแต่อย่างใด
ในส่วนของพื้นชั้นกลางถือว่าวิ่งสนุก มีความนุ่ม รองรับแรงกระแทกได้ดีและรู้สึกประหยัดแรง เหมือนกับว่าสามารถพาให้วิ่งไปได้ไกลขึ้น และในส่วนของดอกยางถือว่าอยู่ในมาตรฐานทั่วไปของรองเท้าวิ่งถนนส่วนใหญ่ ที่จะเกาะพื้นผิวแห้งได้ดี แต่จะมีอาการลื่นบนเส้นทางที่เปียกแฉะ

แต่ปัญหาหลักของ Xtep Ultra Fast 2.0 คือ การออกแบบเว้าโฟมบริเวณกลางเท้าออกไป ส่งผลให้กลางเท้าสามารถล้มไปมาได้ ทำให้เท้า ข้อเท้าและหัวเข่าของนักวิ่งไม่อยู่ในแนวระนาบที่เหมาะสม และจะนำไปสู่อาการบาดเจ็บ โดยเฉพาะกับนักวิ่งเท้าแบน (Overpronation) และนักวิ่งที่เท้าล้มนอก (Supination)

ซึ่งรองเท้าวิ่งสำหรับซ้อมประจำวันที่ดีควรจะต้องมีและเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้ความสามารถในการรองรับแรงกระแทก นั่นก็คือ ความเสถียรและมั่งคง เนื่องจากรองเท้าประเภทนี้เป็นรองเท้าวิ่งที่ถูกใช้งานมากที่สุดในการเก็บระยะในการฝึกซ้อม ฉะนั้นมันจึงไม่ควรที่จะสร้างอาการบาดเจ็บให้แก่นักวิ่ง
ฉะนั้น นักวิ่งเท้าแบนและนักวิ่งที่เท้าล้มนอกก็ควรจะหลีกเลี่ยงรองเท้าวิ่งคู่นี้
ในส่วนของการนำไปใช้ทำความเร็วหรือแข่งขันก็ถือว่าไม่ใช่วัตถุประสงค์ของรองเท้าวิ่งคู่นี้ เนื่องจากทั้งน้ำหนัก (284 กรัม ในไซส์ 45EU หรือ 11.5US ที่ถือว่าเบาในรองเท้าวิ่งสำหรับฝึกซ้อมประจำวัน) และการตอบสนองที่ยังไม่ได้รวดเร็วหรือส่งแรงได้ดีเท่ากับรองเท้าวิ่งสำหรับซ้อมทำความเร็วและแข่งขัน

และนี่คือทั้งหมดของรีวิว (ผ่า) รีวิว (ผ่า) Xtep Ultra Fast 2.0 รองเท้าวิ่งถนนสำหรับซ้อมประจำวันที่มาพร้อมกับแผ่น TPU Plate นะครับ
หวังว่าบทความนี้เป็นจะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิ่งหรือผู้ที่สนใจในการวิ่งหลาย ๆ ท่าน ขอให้วิ่งให้สนุกครับ
สามารถติดตาม Running Profiles ได้ทั้งใน
- FB: Running Profiles
- Website: https://runningprofiles.com/
- Youtube: Running Profiles